หยก-บุ้ง | ก้อนกรวดในรองเท้าสังคมไทย 

หยก-บุ้ง

ต้องยอมรับว่า ภาพการทะเลาะกับรปภ.ศาล, ภาพความรุนแรงจากปฏิบัติการการเมืองหน้าพรรคเพื่อไทย, ภาพการนอนขวางล้อรถบัสทัศนศึกษา, ภาพการโต้เถียงกับ รปภ.-อาจารย์หน้าโรงเรียน, ภาพการปีนข้ามรั้วโรงเรียน ตลอดปีที่ผ่านมา มีผลให้คนจำนวนไม่น้อยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบการเคลื่อนไหวของ “บุ้ง ทะลุวัง” หรือเนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี และ “หยก” ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 15 ปี

ไม่ใช่เพียงฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ชอบ แม้แต่คนที่นิยามตัวเองว่าชื่นชอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ถูกใจกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวบางอย่างของ “บุ้ง และ หยก” ที่มีท่าทีดูรุนแรงก้าวร้าว บางช่วงมีการกล่าวหาบุ้งว่ามีการบงการหรือใช้ประโยชน์จากเด็ก

แต่คำถามสำคัญที่ได้จากปฏิบัติการการเมืองของทั้งคู่ที่หน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ คือ ระหว่างสิทธิการศึกษาของคนๆหนึ่งที่มีสัญชาติไทยโดยแท้ กับเรื่องเครื่องแบบ ทรงผม หรือแค่การไม่มีผู้ปกครองในสายเลือดมามอบตัววันเรียน 

อะไรสำคัญกว่ากัน? สังคมเราจะให้คุณค่ากับอะไรมากกว่ากัน? ทำไมโรงเรียนและคณะผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยดูเหมือนจะให้ความสำคัญอย่างหลังมากกว่า

ไม่นับว่าทั้งคู่ถูกกระทำจากโครงสร้างการเมือง ถูกดำเนินคดีอาญา คดีความมั่นคง จากการแสดงความคิดทางการเมือง ถูกคุมขัง คนรอบข้างตัดขาด และด้วยความเป็นนักกิจกรรม การสู้กับระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนอย่างเรื่องเครื่องแบบนักเรียน เรื่องสิทธิการศึกษา ก็ไม่น่าจะใช่สิ่งต้องห้ามมิใช่หรือ?

การเมืองของ หยก และ บุ้ง อาจเป็นเหมือนก้อนกรวดในรองเท้า ปฏิบัติการของเขาสร้างความน่ารำคาญให้ผู้มีอำนาจในสังคม แต่ลึกๆเบื้องหลังมันก็ตีแผ่ สะท้อนปัญหาระดับใหญ่โตทั้งวงการศึกษาและการเมืองได้ดีเลยทีเดียว