100 เรื่องดังรอบปี | APRIL

สิ้น เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม

เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ทายาทการเมือง ตระกูลอัศวเหม แกนนำกลุ่มปากน้ำ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ สร้างผลงานโดดเด่นในการเลือกตั้ง ปี 2562  นำกลุ่มปากน้ำชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกถึง 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ช่วงท้ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีอิทธิพลขนาดกล้าแหกมติพรรค โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จนพล.อ.ประยุทธ์ยอมให้โควต้า “รมช.เกษตรฯ”

เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ ถูกหามส่งไอซียู รพ.บุรีรัมย์ จากอาการฮีทสโตรกไม่ได้สติ ขณะกำลังซ้อมแข่งรถยนต์ ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยวัย 55 ปี

 

แจกดิจิทัลคนละหมื่นสุดฮือฮา  

หลังการยุบสภา การเมืองในศึกเลือกตั้งเริ่มดุเดือด เพื่อไทยเต็งหนึ่ง ประกาศยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ขอ 310 ที่นั่ง เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. แต่แล้วพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านเดิมอย่างก้าวไกล กลับมีคะแนนนิยมพุ่งตามมาติดๆ  

วันที่ 5 เมษายน ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี พรรคเพื่อไทย จัดงานปราศรัยใหญ่ในกรุงเทพมหานครครั้งแรก มีการเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ

ความสำคัญของงานนี้นอกจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะประกาศขอให้ประชาชนเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์แล้ว ยังมีบิ๊กซอร์ไพรส์จากนายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศหากได้เป็นรัฐบาลจะแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลมูลค่า10,000 บาท เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ   

นโยบายนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนมีคนร้องให้กกต.ตรวจสอบนโยบายดังกล่าวว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ ก่อนที่ท้ายที่สุด กกต. จะตีตกคำร้องไป 

 

โพล “มติชนxเดลินิวส์” ที่เดียว ก้าวไกลแซงเพื่อไทย 

ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.66 ได้เกิดการสำรวจโพลการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ เกิดจากความร่วมมือของสองสื่อสารมวลชนชั้นนำระดับประเทศ มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง’66 ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ และสื่อเครือมติชนเพื่อสำรวจเสียงของประชาชนว่าอยากสนับสนุนใครสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

โพลรอบที่ 1 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย. 2566 มีผู้ร่วมโหวต 84,076 ราย โดยผลประชาชนจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย

โพลครั้งที่ 2 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 66 มีผู้ร่วมโหวต 78,583 ราย  โดยผลประชาชนจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเหมือนการสำรวจครั้งแรก

ทั้งนี้ เมื่อนำจำนวนการโหวตครั้งที่ 2 ดังกล่าวมาบวกรวมกับการโหวตรอบแรก ทำให้มียอดโหวตโพลเลือกตั้งครั้งนี้มากถึง 162,659 โหวต

แม้จะมีคำถามถึงความแม่นยำของโพล แต่เมื่อผลเลือกตั้งปรากฏขึ้น โพลดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมจากคนทั้งประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากโพลอื่น ที่ทำการสำรวจก่อนหน้านี้

“…เซอร์ไพรส์มาก แง่หนึ่งต้องให้เครดิตมติชน กลายเป็นว่า โพล มติชน-เดลินิวส์ แม่นสุด เพราะเป็นโพลเดียวที่ออกมาใกล้เคียงว่าเพื่อไทย ก้าวไกล สูสี กระทั่งก้าวไกลนำ พื่อไทยในปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่น่าเชื่อ…”  ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566

เพื่อไทย ไม่เอา 3 ป. – ไม่จับมือ 2 ลุง  

ปลายเดือนเมษายน ต้นเดือนพฤษภาคม ช่วงเข้มข้นของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่กระแสพรรคเพื่อไทยกลับไม่ค่อยสู้ดีนักดังที่ตั้งเป้าไว้ แม้ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยจะแสดงออกในการอยู่ตรงข้ามกับ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ – 3 ป. มาโดยตลอด แต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อไทยเกิดเพลี่ยงพล้ำไม่ประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดว่าจะจับมือกับกลุ่ม 3 ป. ที่แตกพรรคอออกมาเป็น พรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติหรือไม่ในช่วงแรก

กระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม วันที่ 3 จึงมีการแถลงข่าวยืนยันจุดยืนของ แพรทองธาร ชินวัตร  หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯของพรรค ว่าเพื่อไทยไม่เอาพรรค 2 ลุงอย่างแน่นอน นอกจากนี้ แพรทองธารยังขึ้นเวทีปราศรัย จนมีประโยคทองในการหาเสียงติดหูว่า “ปิดสวัตซ์ 3 ป. ปิดสวิตซ์ ส.ว. คนไทย มีกินมีใช้ไปพร้อมๆกัน..”  

ขณะที่เศรษฐา ทวีสิน ก็ขึ้นเวทีปราศรัย ในหลายจังหวัดประกาศ เพื่อไทยไม่จับมือ พปชร.-รทสช. เพราะมีส่วนร่วมรัฐประหาร ในช่วงเวลาเดียวกัน

“เราไม่เคยมีการตกลงว่าถ้าชนะเลือกตั้ง แล้วนายกฯจะเป็นลุงนั้นลุงนี้ นายกฯ ต้องมาจากเพื่อไทยเท่านั้น ขอเสียงโห่ร้องไล่ลุงทั้ง 2 กลับไปอยู่บ้านอีกที” นายเศรษฐา กล่าวบนเวทีปราศรัย ที่จ.นครพนม ช่วงเดือนพ.ค.

 

ดราม่า ความสุขอยู่ที่ใจ กินไข่ต้มสอนเด็ก 

สังคมวิพากษ์วิจารณ์หนักถึงแบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 บทที่ 9 “ชีวิตมีค่า” ซึ่งมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลาหรือข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นการพอเพียง เห็นคุณค่าของชีวิต ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามถึงโภชาการของเด็กและตั้งคำถามถึงการคัดเลือกแบบเรียนให้นักเรียน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับเนื้อหาที่ปรากฏ เนื่องจากการปล่อยให้เด็กกินข้าวกับผัดผักบุ้งและไข่ต้มหนึ่งซีกไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาดังกล่าวยังสอนให้เด็ก จำนนต่อโชคชะตายอมรับสภาพกับการกิจเข้าเปล่าราดน้ำปลาบี้ไข่ หรือข้าวเปล่าคลุกกับน้ำผัดผักบุ้ง” พร้อมระบุว่าไทยควรลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็นและแพงเกินจริง เพื่อนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับเด็ก ๆ 

ดราม่ายิ่งบานปลายขึ้นไปอีก เมื่อชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์คลิปวิดีโอขณะลูกชายกินข้าวกับไข่ต้ม พร้อมแคปชั่น “ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ ครับ” และติดแฮชแท็ก #Saveไข่ต้ม 

 

แอม ไซยาไนต์ วางยาเหยื่อ

ฆาตกรต่อเนื่องเลือดเย็นข่าวดังระดับโลก “แอม ไซยาไนด์” คดีวงแชร์มรณะ วางยาฆ่าล้างหนี้-หวังทรัพย์สิน จากปี 2558 ต่อเนื่องปี 2566 ยาวนานกว่า 8 ปี มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย

จุดเริ่มต้น เกิดจาก เมื่อวันที่ 19 เมษายน ครอบครัวของ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย อายุ 32 ปี ชาว จ.กาญจนบุรี เข้าร้องเรียนที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของ “ก้อย” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่าก้อยเสียชีวิตขณะไปปล่อยปลากับเพื่อนสนิท ที่ริมท่าน้ำแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ต่อมาเกิดเป็นลมวูบหมดสติ เสียชีวิตที่บริเวณศาลาประชาคมริมแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีทรัพย์สินส่วนตัวสูญหายไปกว่า 4 หมื่นบาท ทั้งนี้ ตอนแรกไม่ทราบว่าไปกับใคร

จนกระทั่งตรวจสอบวงจรปิด พบว่ามีหญิงคนหนึ่งขับรถพาไป และทราบว่าชื่อ “แอม” หรือนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 36 ปี โดยพบว่าเป็นภรรยาของนายตำรวจระดับรอง ผกก.ในพื้นที่ เกรงว่าคดีจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในส่วนฉายา “แอม ไซยาไนด์” นั้นเกิดจากผลการตรวจพิสูจน์สารคัดหลั่งจากศพของ “ก้อย” ก็พบสารไซยาไนด์ในเลือด โดยมีปริมาณที่เป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จึงเชื่อว่าเป็นการวางยาพิษโดย “แอม” เพื่อหวังผลเอาทรัพย์สิน

คดีนี้ใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน รวมพยานอื่นๆ ทั้งหมดกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น รวมกว่า 75 ข้อหา เหยื่อตายมากกว่า 14 คน