100 เรื่องดังรอบปี | MARCH

สั่งศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่ง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีมีผลวันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังนายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

จุดเริ่มต้นเกิดจากประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้อง จาก ส.ส.ฝ่ายค้าน รวม 54 คน ว่า นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ศาล รธน.จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง 54 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นตีความสถานะ รมต.’ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ก่อนที่วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยนายศักดิ์สยาม ถึงความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ วันที่ 17 ม.ค. 2567

 

เพื่อไทย ตั้งเป้าแลนด์สไลด์-ไม่จับมือซีกเผด็จการ

การเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566 เป็นเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องตั้งเป้าคว้าชัยชนะมาให้ได้ เนื่องจากเพื่อไทยถูกกีดกันจากวงจรอำนาจรัฐนานกว่า 1 ทษวรรษ 

9 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีได้ปาฐกถาชูธงปักชัย “แลนด์สไลด์ เพื่อไทย ทั้งแผ่นดิน” ประกาศตั้งเป้าคว้าเก้าอี้ 310 ที่นั่ง เพื่อกำจัดระบอบประยุทธ์ ให้สิ้นซากเป็นครั้งแรก  

ถัดจากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม ที่จังหวัดพิจิตร และ 12 มีนาคม ที่จ.พิษณุโลก นพ.ชลน่าน ยังประกาศ บนเวทีหาเสียงตรงกันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับใคร โดยเฉพาะพรรคการเมืองซีกเผด็จการ 

 

สั่งฟ้องหมอพรทิพย์ คดีจีที 200

อีกหนึ่งคดีมหากาพย์ประเทศไทยที่เคลื่อนมาถึงจุดสำคัญ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้ยื่นฟ้อง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยปรากฏชื่อ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ อย่างน้อย 4 สัญญา ในการจัดซื้อเครื่อง GT200 และ Alpha6 จากกรณีที่ประเทศไทยโดนบริษัทต้มตุ๋น หลอกขายเครื่องตรวจจับระเบิดเก๊ GT200 ในราคาเครื่องละเกือบล้านบาท ทั้งๆ ที่ ต้นทุนหลักร้อยบาท

แม้จะมีข้อผิดพลาด แต่กองทัพบกพยายามตอบโต้ข้อกล่าวหา ยืนยันว่าเครื่องนี้สามารถตรวจจับได้จริง ขณะที่แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยันจุดยืนสนับสนุนกองทัพ ด้วยประโยคทอง 

“คนไทยชอบเต้นตามกระแส ใครจะว่าอะไรก็ช่างเขา การจะทำงานจะใช้เครื่องมืออะไร คิดว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ คือพวกหมอ พวกทหารนี่โง่นักหรือ ที่จะใช้เครื่องมือโดยไม่ดูว่าเครื่องมันทำอะไรได้”

“GT200 คือเครื่องตรวจหาสารวัตถุระเบิดที่ผลิตในต่างประเทศ มีความสามารถในการค้นหาวัตถุระเบิดได้อย่างดีเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก โดยใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะสามารถตรวจจับสารวัตถุระเบิดได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งใต้น้ำ”

 

พล.อ.ประยุทธ์ เจอ ประท้วงดุ ชู 3 นิ้ว ทั่วสารทิศ

ยิ่งใกล้การเลือกตั้งใหญ่ การเมืองยิ่งเข้มข้น ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 มี.ค. มีสุภาพสตรีสูงอายุ 1 คน จะมายืนดักขบวนนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงออก พร้อมตะโกนด่าและตำหนิการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบ 2 นาย เข้าสกัด นำตัวหญิงสูงอายุออกไป ดึงตัวเข้าไปยังซอกรถตู้ และเอาร่มกาง เพื่อกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเก็บภาพ และบางช่วงได้เอามือปิดปาก เพื่อไม่ให้หญิงสูงอายุตะโกนใส่ขบวนรถนายกฯ กลายเป็นภาพข่าวดังในทันที เหตุการณ์นี้ ศาลแขวงราชบุรี พิพากษา น.ส.วันทนา โอทอง หรือ ป้านา อายุ 61 ปี ผู้ก่อเหตุ จำคุก 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท ไม่รอลงอาญา ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่

ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม ไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ที่  จ.ราชบุรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ก็ต้องเจอกับปรากฏการณ์ต่อต้านตลอดเส้นทาง ทั้งประชาชนชาวเชียงใหม่ รวมถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการชู 3 นิ้ว และชูป้ายกิจกรรมให้พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางการพยายามสกัดกั้นอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ท่อซีเซียมโรงไฟฟ้าหาย ผวากัมมันตรังสี 

ข่าวที่สร้างความตกใจและหวาดผวาของประชาชนในพื้นที่ จากการหายไปของ วัตถุบรรจุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จากโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รับรู้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม  ได้รับแจ้งจากโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ว่าท่อบรรจุสารนิวเคลียร์ซีเซียม-137 หายไปตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการแจ้งความในวันที่ 10 มีนาคม 

ภายหลังการตรวจสอบพบว่า มีโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากการผลิตโลหะ สันนิษฐานว่าจะมาจากวัตถุบรรจุสารซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้า และผ่านระบบเข้าโรงหลอมเรียบร้อย กลายเป็นความหวาดผวาว่าจะฟุ้งกระจาย และปนเปื้อนลงสู่แหล่งธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน

ทั้งนี้ ฝุ่นละออง ซีเซียม-137 สามารถพัดไปได้ไกลกว่า 1 พันกิโลเมตร สามารถปนเปื้อนเข้าไปในทุกที่ ทั้งแหล่งน้ำ ดิน อากาศ ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ สามารถสะสมในร่างกายจนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ จนกลายเป็นที่หวาดกลัวกังวล มีผลทำให้ยอดจองห้องพักที่ท่องเที่ยวพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี-นครนายก ตกลงอย่างมาก  

ปฏิบัติการ สยบสารวัตรคลั่งหลังปิดล้อมนาน

14 มี.ค. 66 เวลา 8.30 น. เกิดเหตุยิงกราดจากบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านมั่นคง เขตสายไหม กรุงเทพฯ ทราบภายหลังว่า ผู้ก่อเหตุคือ พ.ต.ท. กิตติกานต์ แสงบุญ หรือ “สารวัตรกานต์” สารวัตรฝ่ายปกครอง ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล นายตำรวจฝีมือดีที่ผ่านหลักสูตรยุทธวิธีมากมาย มีความสามารถด้านการยิงปืนสูง กองบัญชาการตำรวจหางชาติจึงส่งตำรวจและคอมมานโด 100 นาย ลงระงับเหตุในพื้นที่

ตำรวจพยายามเจรจา แต่ถูกยิงสวนกลับหลายนัด จึงอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันอันตราย และทำการตัดไฟฟ้าเพื่อกดดันให้สารวัตรกานต์ออกจากบ้านมามอบตัว แต่ไม่เป็นผล รุ่งเช้าเวลา 06.00 น. ตำรวจร้องเพลงเกลี้ยกล่อมแต่ไม่เป็นผล

กระทั่งเวลา 12.20 น. หลังการเจรจาครั้งสุดท้าย จึงตัดสินใจนำกำลังบุกเข้าจับกุม เกิดการยิงต่อสู้กัน สารวัตรกานต์ถูกยิง 6 นัด และเสียชีวิตในเวลาราว 22.00 น. ของวันที่ 15 มี.ค. 66

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้น ยืนยันว่า การพยายามเจรจากับสารวัตรกานต์นั้น เป็นเพราะตำรวจทุกนายมองเขาเป็น “ผู้ป่วย” ไม่ใช่คนร้าย โดยประเมินว่าแรงจูงใจว่าการคลุ้มคลั่งไม่ได้เกิดจากเรื่องงาน “สารวัตรกานต์เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ผ่านการประเมินด้านสุขภาพจิต แต่ก่อนที่คณะแพทย์พยาบาลและตำรวจจะไปรับตัวเขา สารวัตรกานต์ได้ใช้ปืนก่อเหตุอาละวาดเสียก่อน”

ด้าน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เดินทางมาที่เกิดเหตุ ระบุเหตุผลที่ตำรวจไม่บุกควบคุมตัวในทันทีว่าเพราะสารวัตรกานต์ “เป็นผู้ป่วย” “ไม่มีตัวประกัน” และ “ยังไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น”

ยุบสภา 14 พ.ค. กาบัตร  

หลังการครองอำนาจมานานเข้าสู่ปีที่ 9 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนสร้างสถิติเป็นนายกฯที่อยู่ในตำแหน่งนานเป็นอันดับ 3 ของประเทศ วันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภา เป็นอันจบสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลประยุทธ์ 2 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะยุบสภา 2 วันก่อนหมดวาระของรัฐบาลตามที่กฏหมายกำหนด การยุบสภาโค้งสุดท้ายดังกล่าวจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่การคืนอำนาจ เป็นการยื้อเวลาเลือกตั้งให้ช้าลงที่สุด ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้นักการเมืองมีเวลาเพิ่มในการหาพรรคใหม่สังกัด รวมถึงมีเวลาหาเสียงเพิ่มขึ้นขึ้น หากเทียบกับการปล่อยให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ กรอบเวลาหาเสียงจะน้อยลง 

 

 

คุก 13 กปปส.ขวางเลือกตั้ง 2556   

การชุมนุมของกลุ่มกปปส.เริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 กระทั่งจบด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 นำมาสู่คดีความจำนวนมาก  

หลังเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี  จนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566  ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ขัดขวางรับสมัคร ส.ส. คดีดำ อ.231/2565 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายชานนท์ ขันทอง กับพวกรวม 13 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ บุกเข้าไปในภายอาคาร กีฬาเวสน์ 2 ปิดล้อมอาคาร ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่รับสมัครเลือกตั้งส.ส. โดยศาลอาญา สั่งจำคุกจำคุก 13 ‘กปปส.’ คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา