จากนักธุรกิจดังที่มีสไตล์การบริหารโดดเด่น-แตกต่าง มีความเป็นซีอีโอสูง บุคลิกคล่องแคล่วว่องไว ถึงไหนถึงกัน กลายเป็นนายกรัฐมนตรี 30 ของประเทศไทย สามารถฝ่าด่านสภาได้ หลังจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ผ่านด่าน และมีความพยายามไม่ให้มีการเสนอชื่อซ้ำ ทำให้ เพื่อไทยรับไม้ต่อโอกาสนี้ จึงเสนอชื่อนายเศรษฐา 1 ใน 3 แคนดิเดตของพรรคที่ได้อับดับสองในการเลือกตั้ง
ทุกอย่างเป็นไปตามการตกลง “นายกฯนิด” ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง จากจำนวนสมาชิกที่ลงคะแนนทั้งหมด 728 คน ส.ว.ส่วนใหญ่ที่โหวตให้เป็น “สายตรงของพล.อ.ประยุทธ์” (อดีตนายกฯ) ทำให้เรามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในรอบเกือบทศวรรษ ภายใต้การสนับสนุนของขั้วอำนาจเก่า
ก่อนที่จะมาเป็น สร.1 ในวันนี้ นายเศรษฐา มีความสนใจในการเมืองมานานแล้ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย จนปรากฎชื่อว่าเป็น1ในบุคคลที่ คสช.เรียกไปรายงานตัวหลังจากมีการยึดอำนาจเมื่อปี 2557
นายเศรษฐามักเป็นผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสาร โดยแสดงความเห็นหรือตอบโต้ประเด็นต่างๆเสมอ
สำหรับ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” ถือว่ามีสไตล์ของตัวเอง มีความตั้งใจในการทำงาน ตารางชีวิตแน่น เช้าอยู่จังหวัด บ่ายไปอีกที่ ตกเย็นอยู่อีกหลายงาน
ที่เด่นชัดและแตกต่างจากนายกฯคนก่อนมากที่สุด คือความพยายามเดินทางไปเจรจาการค้า เชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นนายกฯเพียงแค่2-3 เดือน แต่ก็ไปมาแล้วนับสิบประเทศ
ภาพจำและดาบอีกคมที่นายกฯเศรษฐามีอยู่คือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ประกาศเป็นท่าไม้ตายเมื่อตอนหาเสียงเดือนเมษายน 2566 กลายเป็นหนึ่งในประเด็นกระสุนตกของเพื่อไทย บ้างวิจารณ์ว่าไม่ตรงปก หรือจะสร้างภาระหนี้ให้ประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่จริง มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงความเป็นห่วงนับร้อยคน
อีกประเด็นที่กองเชียร์ทางการเมืองอดเป็นห่วงไม่ได้คือ ความขาลอยทางการเมือง ไม่มีกลุ่ม ก๊วนหรือฐานสส.สนับสนุนโดยตรง จนทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์และตั้งคำถามว่า เฉพาะตัวนายกฯเองจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ? หรือจะมีการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” เสียก่อน