ปีนี้เป็นปีที่พรรคก้าวไกลสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ ชนะการเลือกตั้งคว้าเก้าอี้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ถึง151 ที่นั่ง ล้มแชมป์พรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แม้จะเป็นการแข่งขันภายใต้รัฐธรรมนูญคสช.ฉบับปี 2560
ต้องยอมรับว่าบทบาทของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความโดดเด่นมากในสังเวียนการเมืองปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ความนิยมของพิธาพุ่งสูงสุด จนกลายเป็นกระแสพิธาฟีเวอร์ เดินทางไปไหนก็มีแต่คนมารอต้อนรับจำนวนมาก
ชัยชนะของพิธาและพรรคก้าวไกล สร้างเซอร์ไพร์สกับสื่อต่างชาติ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่จับจ้องจากนานาชาติในแง่คนรุ่นใหม่ที่สามารถเอาชนะฝ่ายอนุรักษ์นิยมผ่านการเลือกตั้งสำเร็จ
แต่แม้จะชนะเลือกตั้ง และรวมเสียงข้างมากได้สำเร็จ แต่พิธาก็เจอวิบากกรรมรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกแบบให้วุฒิสภายังมีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ อีก 1 ครั้ง พิธาขาดอีก 51 คะแนน เขาอดเป็นนายกฯในวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค.เขาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวเหตุถือหุ้นสื่อไอทีวีท่ามกลางเสียงวิจารณ์ แถมรัฐสภายังมีมติห้ามไม่ให้พิธาได้รับพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีรอบที่สองในวันเดียวกัน
เงื่อนไขการเมืองบีบให้พรรคก้าวไกลกลับมาเป็นฝ่ายค้าน แต่พิธาก็ไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้อีก เพราะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงตัดสินใจลาออก เมื่อวันที่ 15 ก.ย. โดยมีชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะของพิธา และพรรคก้าวไกลในปีนี้ สะท้อนพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญที่เกิดขึ้น มันคือพลังของความไม่พอใจการปกครองและการพัฒนาประเทศแบบเดิมที่เคยเป็นมา ซึ่งพลังกลุ่มนี้มีจำนวนมหาศาล
“เมื่อมีคนถามผมว่า ‘ผมรู้สึกอย่างไรที่ผมตั้งรัฐบาลไม่ได้’ ผมตอบกลับพวกเขาว่า ‘ผมชนะ ผมจัดตั้งรัฐบาลได้ และผมถูกห้าม ผมไม่ได้ตั้งรัฐบาลไม่ได้….”
― พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ (18 ก.ค. 2566)