100 เรื่องดังรอบปี | JULY

ดราม่าเดือดสมาคมบอลฯ

ไปต่อไม่ไหว “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ประกาศไขก๊อกผ่าน “ไลน์” ขอลาออกจากเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อ้างทำตามคำสั่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานโอลิมปิกไทย ที่ให้ตนแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ อันมีผลมาจากความล้มเหลวในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ฟุตบอลไทยไม่ได้เหรียญทอง และยังมีเหตุชกต่อยกับคู่แข่งขันอื้อฉาวไปทั่วโลก รวมถึงการบริหารงานอันล้มเหลว มูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก ลดลงจาก 1,200 ล้านบาท ต่อฤดูกาล เหลือเพียงแค่ 50 ล้านบาท

การลาออกของ “บิ๊กอ๊อด” อาจทำให้ไทยอาจโดน “ฟีฟ่า” แบน เพราะอาจถูกตีความว่าเข้าข่ายแทรกแซงจากการเมือง หรือ บุคคลที่ 3 ตาม “ธรรมนูญฟีฟ่า” ข้อที่ 19 ที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นอิสระของสมาคมฟุตบอลและคณะกรรมการผู้บริหาร เหมือนกับที่หลายๆ ชาติเคยโดนมาแล้ว แต่ “บิ๊กป้อม” แจงว่าตนไม่ได้ใช้การเมืองแทรกแซงการไขก๊อกของนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แต่พูดในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยให้พิจารณาตัวเอง ไม่ได้พูดในฐานะรองนายกฯ

แต่สุดท้าย ในการประชุมสภากรรมการสมาคมลูกหนังไทย ทั้ง 16 คน (ยกเว้น พล.ต.อ. สมยศ) มีมติให้ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ทำงานต่อไป เพราะการลาออกในตอนนี้มีความเสี่ยงต่อฟีฟ่าแบน ซึ่งแม้จะเสี่ยงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็เสี่ยงไม่ได้

 

สะพานข้ามแยกถล่ม ช็อกกลางกรุง-ดับ 3  

เหตุการณ์สุดระทึก เวลา 18.00 น. ของวันที่ 10 ก.ค. เมื่อโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง หน้าโลตัสลาดกระบัง โครงสร้างของทางยกระดับทั้งตัวคานและเสาพังครืนลงมาจากความสูงประมาณ 20 เมตร ทำให้ตัวคานและเสาหล่นทับรถที่โดยสารผ่านไปมาบริเวณถนนอ่อนนุชลาดกระบังได้รับความเสียหายและมีประชาชนรวมถึงคนงานก่อสร้างได้รับบาดเจ็บ 13ราย เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ 2 ราย รถติดอยู่ในซากปูนอีกหลายคัน นำมาสู่การตั้งคำถามแบบรัวๆ ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน ใครรับผิดชอบ

 

สั่งถอนใบอนุญาตคอนโดหรูแอชตัน อโศก 

เป็นคดีความยืดยาวมานานหลายปี กรณีคอนโดหรู “แอชตัน อโศก” จากบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว โดยถูกร้องเรียนเรื่องทางเข้า-ออกโครงการ ไม่เป็นไปตามตามข้อกำหนดอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงการใช้ที่ดินของ รฟม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ได้ออกแถลงการณ์ โดยพร้อมรับคำตัดสิน และจี้หน่วยงานรัฐให้รับผิดชอบ

ต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงว่า บริษัท อนันดาฯ สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้เวลา 30 วัน โดยอาจขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร

กรณี “แอชตัน อโศก” นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้กับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนเอง เพราะมูลค่าความเสียหายสูงมาก ที่สำคัญคือ “ลูกบ้าน” ที่ซื้อคอนโดหรูแห่งนี้ไปแล้วกลับได้รับผลกระทบ

 

ประยุทธ์วางมือทางการเมือง ลาออก รทสช.

และแล้วก็มาถึงวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศวางมือทางการเมือง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม หลังจากนำพรรครวมไทยสร้างชาติ แพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สส.เพียง 23 คน แต่ยังคงจะสนับสนุนพรรคต่อไป 

พล.อ.ประยุทธ์ สร้างสถิติครองอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร

ต่อมาในเดือนตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปพักผ่อนท่องเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี 

 

เพื่อไทย – ก้าวไกล เปิดศึกชิงประธานสภา 

เป็นเวลามากกว่า 1 เดือนหลังเพื่อไทยกับก้าวไกล ประกาศจับมือกันตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังตกลงกันว่าใครจะนั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฏรไม่ได้ ขณะที่เงื่อนไขเวลาการประชุมเพื่อโหวตเลือกก็เข้าใกล้มาทุกที 

ระหว่างนั้นก็มีรายงานข่าวต่อเนื่องว่าพรรคเพื่อไทยยอมถอย ก้าวไกลยอมถอย ชุลมุนตลอดเวลา ไม่มีใครยอมใคร จนทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงรอยร้าวของทั้งสองพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ถูกตั้งคำถามเรื่องจุดยืนนับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. จนมาถึงปมล่าสุด

ฝั่งเพื่อไทย นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำการจุดกระแสค้านยกประธานสภาให้ก้าวไกล จนมีการ เปิดศึกชิงพื้นที่สื่อตลอดสัปดาห์ก่อนการโหวต

สุดท้ายทั้ง 2 พรรคตกลงกันได้ พรรคก้าวไกลยอมถอยภายใต้ข้อตกลงการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ และการสนับสนุนกฏหมายประเด็นก้าวหน้าต่างๆเมื่อวันที่ 3 ก.ค.  1 วันก่อนวันโหวตเลือก โดยเสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาฯ คนที่ 1 คือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ประชุมมีมติโหวตเลือกในวันที่ 4 ก.ค.

 

มติ 2 สภา ไม่ให้โหวตพิธารอบ 2

หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำรวมเสียงตั้งรัฐบาล ไม่สามารถผ่านการโหวตในรอบแรก เนื่องจากเสียงไม่ถึง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

การโหวตเลือกนายกฯในรอบ 2 วันที่ 19 ก.ค. ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า การเสนอโหวต พิธา เป็นนายกฯ รอบ 2 จะกระทำไม่ได้ เนื่องจากเสี่ยงผิดข้อบังคับการประชุมสภา ชื่อ นายพิธา จึงต้องควรตกไป 

ต่อมาผลการลงมติ ที่ประชุมร่วม 2 สภา เห็นด้วย 395 คะแนน ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ ไม่เห็นด้วย 312 คะแนน โหวตนายกฯ รอบ 2 ของนายพิธาเป็นอันจบลง 

เรื่องนี้มีเสียงค้านอย่างหนัก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังออกมาแสดงความผิดหวัง สส.โหวตเห็นด้วย ห้ามเสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำ ทำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย

ตามด้วย วันที่ 25 ก.ค. 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ จาก 19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภาที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญอีกด้วย 

 

โกดังพลุระเบิดสุไหงโกลก ตาย 10 เจ็บเกินร้อย 

เป็นอีกหนึ่งเหตุสลดครั้งใหญ เหตุการณ์โกดังเก็บพลุและประทัด ภายในตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ผู้บาดเจ็บ 121 ราย บ้านเรือนประชาชนพังพินาศ

เหตุสลดครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 กรกฎาคม  พบภาพความเสียหายเป็นวงกว้าง บ้านเรือนและอาคารจำนวนมากพังราบเป็นหน้ากลอง มีเสียงร้องขอความช่วยเหลือดังออกมาจากซากบ้านบางหลัง แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากยังมีเสียงระเบิดดังปะทุขึ้นตลอดเวลา ต้องวางแผนเข้าช่วยเหลืออพยพผู้ที่ยังติดค้างอยู่ในบ้านเรือน แรงระเบิดสร้างความเสียหายรัศมีวงกว้างกว่า 500 เมตร ทำให้ตลาดมูโนะที่อยู่ห่างออกไปได้รับความเสียหายทั้งหมด

 

เพื่อไทยจับมือ 2 ลุง ช็อกมิ้นต์ เมนูตั้งรัฐบาล 

เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนไม้จาก พรรคอันดับหนึ่ง ‘ก้าวไกล’ มาเป็น พรรคอันดับสอง ‘เพื่อไทย’  ‘มินต์ช็อก’ ในฐานะเครื่องดื่มแก้วโปรดของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถูกนำมาเสิร์ฟ แขก จาก 5 พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย ภูมิใจไทย, ชาติพัฒนากล้า, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนาและพลังประชารัฐ ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 

ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลายว่าเพื่อไทยตระบัดสัตย์ จับมือกับขั้วอำนาจเก่าตั้งรัฐบาล จากที่เคยประกาศจะไม่จับมือ โดยผลการหารือทุกพรรคมีแนวทางร่วมกันได้ในการตั้งรัฐบาล แต่มีเงื่อนไขตรงกันคือต้องไม่มีพรรคก้าวไกล  

ช่วงเย็นของวันที่ 23 ก.ค. มีเหตุประท้วงขึ้นที่พรรคเพื่อไทย เมื่อทะลุวังบุกสาดแป้ง รวมถึงเทช็อกมิ้นต์ คัดค้านการที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคการเมืองทหารจำแลง 

วันเดียวกัน ที่แยกอโศกมนตรี สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้นัดชุมนุมแปรอักษร ‘ค’ สื่อสารถึง ส.ว. เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อมาวันที่ 29 ก.ค. ยังได้มีการจัดกิจกรรมเดินขบวน พร้อมรองเท้าผ้าใบ จากแยกอโศกถึงแยกราชประสงค์ แปรอักษร ‘ห’ มีความหมายว่า เห็นหัว,อย่าเห็นแก่ตัว, เห็นสว.ชั่ว และเห็บหมัดเผด็จการ