คุมนำเข้าข้าวสาลี…หายนะปศุสัตว์ไทย : โดย ดำรง พงษ์ธรรม

ผมมักจะเห็นด้วยเสมอกับนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกร ดังเช่นเรื่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา ที่เคยอรรถาธิบายแล้วว่ามันก่อประโยชน์หลายอย่าง และเคยเห็นด้วยแม้กระทั่งกับนโยบายควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีที่โรงงานอาหารสัตว์จะนำเข้าแป้งสาลีได้ 1 ส่วนก็ต่อเมื่อรับซื้อข้าวโพดในประเทศก่อนเป็นจำนวน 3 ส่วน ด้วยราคาที่แพงกว่าตลาดโลก …ก็เพราะเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่ามาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเท่าที่ควร ยังถือเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นและหากินบนความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไปเสียอีก

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ตั้งใจจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้รับราคาผลผลิตที่ดี โดยขอให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. ณ โรงงานกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดที่มีปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกัน โดยกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอัตราส่วน 1:3 เพื่อให้เกิดการรับซื้อข้าวโพดในประเทศให้มากที่สุด

แต่ปรากฏว่าปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรในประเทศไทยผลิตได้มีเพียง 4.6 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีถึง 8.1 ล้านตัน เมื่อซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์เกิดเป็นความขาดแคลน ส่งผลให้มีช่องว่างในการทำกำไรของพ่อค้าคนกลางทันที ขณะที่เกษตรกรก็ไม่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในมือแล้ว เนื่องจากผลผลิตทั้งหมดถูกขายให้แก่พ่อค้าไปจนหมดตามฤดูกาล

ด้วยข้อจำกัดจากมาตรการนำเข้าข้าวสาลี ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดที่ขาดแคลนได้อย่างเพียงพอ สายการผลิตแทบหยุดชะงัก โรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งจึงจำเป็นต้องเฉือนเนื้อยอมจ่ายราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตราที่สูงกว่าตลาดโลกเป็นเท่าตัวให้แก่พ่อค้าคนกลางที่จ้องแต่จะเอากำไร โดยไม่สนใจห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ที่จะกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เลยแม้แต่น้อย

ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ที่กิโลกรัมละกว่า 9 บาท แต่โรงงานอาหารสัตว์ก็ยังไม่สามารถซื้อข้าวโพดเข้าสู่โรงงานได้ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางต้องการขายในราคาที่สูงกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท เพราะทราบดีว่าโรงงานอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบมาทดแทนได้ เนื่องจากติดที่มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี

คำนวณง่ายๆ คือพ่อค้าต้องการจะทำกำไรเพิ่มขึ้นฟรีๆ อีกกิโลกรัมละ 1 บาท สมมุติว่าพ่อค้าขายได้ 2 ล้านตัน (ไม่ต้องถึง 4 ล้านตัน ที่ขาดแคลน) ก็คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้นฟรีๆ ได้ถึง 2 พันล้านบาทแล้ว เป็นการหากินบนความเดือดร้อนของผู้อื่น โดยที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และคงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า มาตรการนี้กำลังเปิดช่องว่างให้พ่อค้าคนกลางทำกำไรอย่างมหาศาล

ไม่เพียงเท่านั้น…เมื่อเห็นกำไรสูงล่อใจขนาดนี้ จึงนำไปสู่การลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเก็บในไซโลเพื่อเก็งกำไรด้วย นี่จึงเป็นจุดอ่อนอีกข้อหนึ่งที่มาตรการดังกล่าวกำลังสนับสนุนให้เกิดการทำทุจริตผิดกฎหมายของพ่อค้าเหล่านี้

ยังไม่พอ…ผลกระทบของมาตรการนี้ยังต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรภาคปศุสัตว์โดยตรง ด้วยระดับราคาข้าวโพด 9 บาท/กก. สูงกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกที่ขายกันอยู่ที่ 4-5 บาท/กก. ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์และต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นทันที โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ซึ่งประสบภาวะราคาตกต่ำอยู่ก่อนหน้านี้ กลับต้องเผชิญปัญหาต้นทุนสูงขึ้นซ้ำเติมเข้าไปอีก …เค้าลางของหายนะเริ่มชัดเจนขึ้น

ห่วงโซ่การผลิตอาหารเป็นห่วงโซ่ที่ใหญ่มากและเกี่ยวข้องกับคนในกระบวนการนับหมื่นนับแสนครอบครัว เริ่มตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าว มัน กากถั่ว ฯลฯ ไปจนถึงพ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตมากำจัดความชื้นหรือเก็บสต๊อกแล้วนำไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานก็จะนำไปผลิตตามสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะกับสัตว์แต่ละประเภทแต่ละช่วงวัย จากนั้นอาหารสัตว์จะถูกขายออกไปให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ นำไปเลี้ยงสัตว์ เมื่อสัตว์โตได้ที่สัตว์เหล่านั้นก็เข้าโรงชำแหละ และแปรรูปออกมาเป็นอาหารขายให้ผู้บริโภคในประเทศรวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

เมื่อเป็นห่วงโซ่เดียวกันการกระทำใดๆ ย่อมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน ตอนนี้ข้อต่อของวัตถุดิบอาหารสัตว์กำลังปั่นป่วนด้วยการกระทำของคนบางกลุ่มย่อมกระทบไปถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องขาดทุนไหนเลยเกษตรกรจะอยู่รอด?

ผมจึงไม่แปลกใจที่กลุ่มเกษตรกร 11 สมาคมภาคปศุสัตว์ จะรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดียว หากรัฐไม่ทบทวนมาตรการดังกล่าวแล้ว ย่อมก่อเกิดหายนะต่อภาคปศุสัตว์ที่อาจต้องล้มครืนกันเป็นลูกโซ่

เจตนาที่ดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การรู้เท่าทันพ่อค้าหัวใสก็เป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ และต้องไม่ลืมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่กำลังเผชิญความกดดันหลายด้านด้วย …คงได้แต่ฝากความหวังสุดท้ายไว้กับท่านรัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่แล้วล่ะครับ