รายงานพิเศษ /โชคชัย บุณยะกลัมพ/AI เอาชนะหมอจีน ในการแข่งขันวินิจฉัยโรค 225 เคส ภายใน 15 นาที แม่นยำ 87 เปอร์เซ็นต์

รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

AI เอาชนะหมอจีน

ในการแข่งขันวินิจฉัยโรค

225 เคส ภายใน 15 นาที

แม่นยำ 87 เปอร์เซ็นต์

 

“การตรวจวินิจฉัยโรค” โดยทั่วไป แพทย์เรียกย่อๆว่า Diagnosis เป็นกระบวนการซึ่งเป็นขั้นตอนในการตรวจโรคของแพทย์ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดโรค อาการ หรือภาวะผิดปกติต่างๆ เพื่อการรักษา ติดตามผล การรักษาที่รวมทั้งผลข้างเคียงจากวิธีรักษา และการประเมินสุขภาพผู้ป่วย
การตรวจสมองด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography : CT Scan) คือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะฉายรังสีเอ็กซเรย์ตามร่างกายในบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพฉายลักษณะอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกาย
วิธีนี้แพทย์จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอ็กซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน
CT Scan มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค ติดตามการรักษา และเป็นแนวทางประกอบการรักษา เนื่องจากให้รายละเอียดได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย ในการตรวจความผิดปกติของโรคระบบประสาทและสมองด้วยการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์
ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี CT Scan สามารถทำงานได้ซับซ้อนกว่าการเอ็กซเรย์แบบธรรมดา แสดงภาพเป็น 3 มิติ และยังซอยภาพอวัยวะออกเป็นแผ่นบางๆ ในภาพลักษณะตัดขวางได้หลายสิบแผ่น
ช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ ได้อย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะสรุปผลการตรวจและพูดคุยกับผู้ป่วยต่อไป
ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในการทราบผล
และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของวิวัฒนาการทางการแพทย์ วิเคราะห์ความผิดปกติของอวัยวะ ที่นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้นำระบบ ‘ไบโอมายด์ (BioMind)’ ทำการทดสอบความสามารถกับมนุษย์ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลชื่อดังทั่วประเทศในการ ‘วินิจฉัยโรค’ ที่กรุงปักกิ่งของประเทศจีน
ในการจัดแข่งขันวินิจฉัยโรค จากภาพ CT Scan และการเอ็กซเรย์สมองของมนุษย์

ในการแข่งวินิจฉัยครั้งนี้ ผู้จัดการแข่งขันให้ทั้งสองฝ่ายแข่งขันวินิจฉัยโรคผ่านภาพการเอ็กซเรย์สมองของมนุษย์จาก CT and MRI โดยประเด็นหลักๆ ที่แข่งกันคือ ดูว่าฝ่ายไหนจะวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แม่นยำ และทำได้รวดเร็วกว่ากัน
ซึ่งผลการแข่งขันวินิจฉัยโรคครั้งนี้ก็ออกมาว่า BioMind AI สามารถเอาชนะไปได้ถึงสองรอบ เป็นสกอร์ 2-0 ด้วยการวิเคราะห์โรคร้าย 225 เคสในเวลา 15 นาที (BioMind)
AI เอาชนะทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแข่งขันวินิจฉัยโรคในครั้งนี้ที่ประเทศจีน
ระบบปัญญาประดิษฐ์ BioMind AI ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยระบบประสาทเทียมสำหรับความผิดปกติทางระบบประสาทสมองที่โรงพยาบาล Beijing Tiantan และทีมวิจัยจาก Capital Medical University ได้ทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องใน 87 เปอร์เซ็นต์ของ 225 ตัวอย่างในเวลาประมาณ 15 นาที ในขณะที่ทีมงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 คน มีความแม่นยำเพียง 66 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ BioMind AI ยังใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลเพียง 15 นาที ขณะที่ทีมแพทย์ใช้เวลาไปทั้งหมด 30 นาที
ปัญญาประดิษฐ์ BioMind AI ยังให้การคาดการณ์ที่ถูกต้อง 83 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 นาทีของกรณีการขยายตัวของเม็ดเลือดสมองที่ดีกว่าความแม่นยำร้อยละ 63 ระหว่างทีมแพทย์จากโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

ในการฝึกปัญญาประดิษฐ์ BioMind AI นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทจำนวนหมื่นรูปที่โรงพยาบาล Tiantan เก็บไว้ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทางระบบประสาททั่วไป เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มสมองอักเสบและ glioma ได้ด้วยอัตราความถูกต้องแม่นยำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เทียบเท่ากับแพทย์อาวุโส
ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับทีมแพทย์ที่เป็นมนุษย์ค่อนข้างปกติและดียิ่งกว่าความแม่นยำเฉลี่ยในโรงพยาบาลทั่วไปในประเทศจีน Gao Peiyi หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาของโรงพยาบาล Tiantan สถาบันชั้นนำด้านประสาทวิทยาและศัลยกรรมระบบประสาทกล่าว
Wang Yongjun รองประธานบริหารของโรงพยาบาล Tiantan กล่าวว่า เขาเองไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์ต่อต้านเทคโนโลยี
แต่จะช่วยให้แพทย์สามารถเรียนรู้พัฒนาทักษะและปรับปรุงวินิจฉัยโรคทางระบบประสาททั่วไป โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์กับเทคโนโลยีได้
“ฉันหวังว่าการผ่านการแข่งขันการวินิจฉัยโรคครั้งนี้ทีมแพทย์สามารถสัมผัสกับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพทย์บางคนที่ไม่เชื่อถือในความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ BioMind AI ฉันหวังว่าพวกแพทย์สามารถเข้าใจในระบบ AI และขจัดความกังวลของพวกเขาได้”
Wang กล่าว

ดร. Gauden Galea ตัวแทนขององค์การอนามัยโลกในประเทศจีนกล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ AI เป็นเครื่องมือที่น่าตื่นเต้นสำหรับความสามารถในการดูแลสุขภาพ แต่ยังคงให้อยู่ในขั้นตอนปฏิบัติของแพทย์แบบเดิม
แต่อย่างไรก็ดี อาจจะขึ้นอยู่กับขนาดของประชากรและปริมาณข้อมูลทางการแพทย์ ระบบดิจิตอลในปัจจุบันที่เข้าถึงได้มากเช่นนี้ ประเทศจีนมีข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ในการพัฒนาทางการแพทย์ที่มีอยู่แล้ว
Gao Peiyi ผู้อำนวยการจาก Imaging Center of Neuroscience แห่งโรงพยาบาล Beijing Tiantan มองว่า ในอนาคต AI น่าจะเข้ามาช่วยงานทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและพัฒนาการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ตอนนี้ตารางการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลมันหนักหนาเอาการมากๆ พวกเราหวังว่า ในอนาคต AI (BioMind) จะเข้ามาช่วยแพทย์ให้มีเวลาทำวิจัยหรือเทกแคร์ดูแลเอาใจใส่คนไข้ได้มากยิ่งขึ้น” Gao กล่าว

 

ปัญญาประดิษฐ์ BioMind ของเครื่อง AI อยู่ภายใต้การตรวจสอบและอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศจีน และคาดว่าจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในทางคลินิกในการแพทย์ในปีหน้า
ประเทศจีนได้แนะนำแผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ แอพพลิเคชั่น AI ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ.2560 สภาแห่งรัฐได้ออกแผนการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่
และกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ออก “แผนปฏิบัติการสามปีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ในปี พ.ศ.2561-2063
แผนปฏิบัติการเสนอการพัฒนาระบบการวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการแพทย์ในสาขาต่างๆ
การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ AI ที่สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานและการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิตอลอย่างมาก จนมีคนตั้งคำถามว่า AI สามารถนำมาสร้างประโยชน์อะไรกับธุรกิจได้บ้าง มีคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและความฉลาดคล้ายคลึงกับมนุษย์ จุดเด่นที่มีคือ ความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง คิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี แม้ผลการแข่งขันจะออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับทีมปัญญาประดิษฐ์ BioMind AI แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีข้อน่าสังเกตถึงความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะจากในมุมของคนไข้ว่าจะมีความไว้ใจใน AI มากกว่าแพทย์จริงๆ แค่ไหนกัน

https://www.straitstimes.com/…/singapore-firms-ai-machine-t…
https://news.cgtn.com/…/3d3d414d776b444e78457a…/share_p.html
http://www.xinhuanet.com/english/2018-06/30/c_137292451.htm
https://thenextweb.com/…/chinese-ai-beats-15-doctors-in-tu…/