ร่วมรำลึก “หนึ่งศตวรรษ” ศิลาจารึกมีชีวิต ปีที่ 100 ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร

  • หมายเหตุบทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรก ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 – 21 มิถุนายน 2561

คนจะมีอายุยืนถึง 100 ปี มีจำนวนไม่มาก ในจำนวนนั้น ผู้ที่ครอบครองสายตายาวนานมองเห็นโลกและสังคมที่จะได้สร้างคุณประโยชน์ไว้แก่โลกจนเป็นที่ยอมรับยิ่งมีน้อยกว่าลงไปอีก

ด้วยอายุย่างเข้า 100 ปี การที่จะมีพลานามัยที่แข็งแรง สติปัญญาสดใส ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้กับทุกคน บางคนไม่ทันพ้น 70 ปี โรคภัยก็รุมเร้าจนทำอะไรไม่ได้ไปแล้ว

แน่นอน คนที่มีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษและยังมีพลานามัยแข็งแรง สติปัญญาสดใส คนหนึ่งในประเทศไทยคือ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร

หากนับแบบสุริยคติ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เพิ่งจะฉลอง 99 ปีให้อาจารย์ประเสริฐไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แต่หากนับทางโหราศาสตร์บางแขนง นับแต่วันเกิดมาถึงบัดนี้ และบวกกับอายุในครรภ์อีก 9 เดือน ขาดเพียงไม่กี่เดือน อาจารย์ก็น่าจะมีอายุหนึ่งศตวรรษ

“ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลๆ ชุ่มชื่นฤทัย หวานใดจะปาน…” หากคุ้นหูกับเนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพลงนี้ก็ย่อมต้องทราบไว้เสียเลยว่า นี่คือฝีมือการแต่งเพลงของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยนามว่า ประเสริฐ ณ นคร

และท่อนที่ว่า “เพลิดเพลินฤทัย ฟังไก่ประสานเสียงกัน” นั้นก็คือเสียงไก่ที่อาจารย์ประเสริฐมักบอกเสมอว่าเป็นไก่ในฟาร์มไก่หลวงสุวรรณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นั่นเอง

นอกจากเนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์หลากหลายแล้ว เพลงสำคัญเพลงหนึ่งที่ท่านแต่งถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็คือ เพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ อันเป็นเพลงที่พระองค์พระราชนิพนธ์ให้กับมหาวิทยาลัยเพียง 3 แห่ง

คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณูปการสำคัญของอาจารย์มี 3 ข้อใหญ่ คือ เป็นผู้วางรากฐานวิชาสถิติ หนึ่ง เป็นผู้บุกเบิกคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่ง และเป็นผู้วางรากฐานการอ่านและแปลศิลาจารึกให้กับประเทศไทย หนึ่ง

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติขึ้น ตั้งแต่หลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะอาจารย์เป็นนักเรียนทุน ก.พ. สำเร็จการศึกษาด้านสถิติจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ.2500 นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาทางสถิติ

หลังจากเข้าทำงานในมหาวิทยาลัย ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัย ช่วงชีวิตนี้เองที่อาจารย์ได้วางระบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ทั้งการสรรหาผู้บริหาร และการดำเนินงานองค์กรกิจกรรมนิสิต ศาสตร์ทางการศึกษาในตัวอาจารย์นี้เองคงเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์ต้องการนำศาสตร์เหล่านี้ไปสู่ครู อาจารย์รุ่นใหม่ๆ ก่อให้เกิดเป็นคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามมา รวมทั้งก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่นอกจากจะเป็นที่ฝึกสอนของนิสิตแล้วยังเป็นสวัสดิการทางการศึกษาให้ลูกหลานบุคลากรที่เสียสละมาสอนในอำเภอชั้นนอกอย่างบางเขนในขณะนั้นด้วย

จวบจนปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่ามีแต่คนแย่งกันที่จะให้ลูกหลานเข้าเรียนที่นี่ ทั้งบุคลากรและคนภายนอก

คุณูปการสำคัญที่สุดของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร คือการแปลศิลาจารึก

วงการประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยได้รับความเมตตาจากอาจารย์ประเสริฐเป็นอย่างสูง เพราะสมัยก่อน เวลาที่เราค้นพบจารึกต่างๆ ในประเทศไทย เราต้องทำสำเนาและส่งเอกสารไปที่ปารีส เพื่อให้นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีตะวันออกเฉียงใต้นาม George C?d?s (ฌอร์ฌ เซร์แด็ส) เป็นผู้อ่าน แปลและถอดความให้

และยิ่งนานวัน ท่านศาสตราจารย์เซร์แด็สก็ยิ่งจะมีอายุมากขึ้น และจะยิ่งเป็นการยากลำบากในการทำงานทางประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้นไปอีกหากศาสตราจารย์เซเดย์เสียชีวิตไปแล้ว

อาจารย์ประเสริฐจึงตั้งปณิธานไว้ว่า

“…เมื่อก่อนเมืองไทยพบศิลาจารึกก็จะต้องทำสำเนาส่งไปให้ศาสตราจารย์เซร์แด็สอ่านที่ปารีส ท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป มิเป็นอันว่าจะไม่มีคนไทยอ่านศิลาจารึกในเมืองไทยได้เชียวหรือ ผมคิดว่าถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องเป็นคนอ่านให้ได้”

และอาจารย์ประเสริฐก็เป็นคนไทยคนแรกที่อ่านศิลาจารึกภาษาโบราณต่างๆ ได้ นับเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการประวัติศาสตร์ไทย ผลงานชิ้นสำคัญอย่างเช่น ตำรามังรายศาสตร์ อันเป็นที่ประจักษ์

ในทางดนตรี นอกจากจะเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้ว อาจารย์ประเสริฐยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งชมรมวงดนตรีสากลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือเคยูแบนด์ กด้วย

ด้วยการวางรากฐานและพัฒนาต่อมาทำให้เคยูแบนด์ เป็นชมรมวงดนตรีประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นองค์กรที่แสดงให้เห็นว่า รั้วสีเขียวนี้มีความสามารถทางด้านดนตรีไม่น้อยหน้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ

ช่างเป็นช่วงชีวิตหนึ่งศตวรรษที่มีคุณค่ายิ่งนัก

มีคุณค่าและความสำคัญทั้งต่อวงการวิทยาศาสตร์ (สถิติ) วงการการศึกษา วงการดนตรี รวมไปถึงวงการประวัติศาสตร์และวรรณคดีด้วย

ด้วยเหตุฉะนี้จะไม่นับว่าตัวศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นหลักศิลาจารึกศิลปวิทยาแห่งสยามประเทศได้หรือ!

ไม่เพียงเป็นหลักศิลาจารึกธรรมดาๆ แต่เป็นศิลาจารึกมีชีวิตที่มีอายุยาวนานถึงหนึ่งศตวรรษ

ข้อมูลบางส่วนจาก http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p086.html