รายงานพิเศษ/Hyperloop รูปแบบการเดินทางในอนาคต รวดเร็ว สะดวก ประหยัด ปลอดภัย

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

Hyperloop

รูปแบบการเดินทางในอนาคต

รวดเร็ว สะดวก ประหยัด ปลอดภัย

 

ไฮเปอร์ลูปคือระบบการขนส่งแบบใหม่ ถูกคิดค้นเพื่อหาแนวทางในการขนส่งให้มีความเร็วขึ้น ลดต้นทุนถูกลง ใช้เงินเพียงครึ่งเดียวของรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการใช้งบประมาณน้อยกว่า เท่ากับระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่า

ไฮเปอร์ลูปเป็นนวัตกรรมล้ำยุคก็จริง แต่ระบบทั้งหมดกลับเรียบง่ายจนสามารถผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก

นอกจากระบบขับเคลื่อนที่เป็นเทคโนโลยีของ Virgin Hyperloop

ระบบอื่น เช่น ราง ตัวรถ รวมถึงอุโมงค์สุญญากาศที่ใช้สำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบรางรถไฟ สามารถผลิตได้ในแต่ละประเทศ สามารถก่อเกิดการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศนั้น

หลักการคือขนส่งผ่านท่อความดันโดยมีห้องโดยสารที่เป็นแบบแคปซูลวิ่งในท่อด้วยความเร็วสูง ให้ความสะดวกสะบาย ปลอดภัย และปราศจากมลพิษ

ไฮเปอร์ลูปนับเป็นเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ใครๆ ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้

องค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ ท่อแรงดันต่ำ และแคปซูลโดยสาร ที่สามารถวิ่งได้ทั้งความเร็วสูงและความเร็วต่ำตลอดแนวท่อ ตัวแคปซูลโดยสารจะถูกพยุงไว้ด้วยความดันอากาศและระบบแอโร่ไดนามิกทำให้ทรงตัวได้โดยไม่เกิดการกระทบกระแทกกับผนังของท่อส่งแรงดันต่ำ

ซึ่งแคปซูลโดยสารนี้จะเร่งความเร็วด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งไปตลอดแนวท่อจากต้นทางถึงปลายทาง ผู้โดยสารสามารถขึ้น-ลงได้ที่สถานีต้นทางและปลายทาง

หรืออาจจะมีสถานีระหว่างทางก็ได้โดยทำเป็นอุโมงค์แขนงออกมา

ระบบ Hyperloop ระบบการคมนาคมแห่งอนาคตที่ขนส่ง “พ็อด” ลอยตัวความเร็วสูงผ่านท่อสุญญากาศที่จะใช้สำหรับการขนส่งมนุษย์และสินค้าได้ในความเร็วสูงระดับ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของ Virgin Hyperloop ที่เรียกว่าใกล้จะเปิดให้ใช้งานได้จริงกับการเดินทางรูปแบบใหม่ เพราะเขาเพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบคนนั่งจริงๆ

จากรายงานสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า บริษัท Virgin Hyperloop ของริชาร์ด แบรนสัน ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบไฮเปอร์ลูปแบบมีผู้โดยสารจริงๆ ได้เป็นครั้งแรกของโลก

ถือเป็นการสิ้นสุดการทดสอบระบบโดยสารความเร็วสูงโดยใช้มนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรก

ซึ่งเป็นความก้าวหน้าสำคัญของระบบใหม่ที่เป็นการปฏิรูปการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าแห่งอนาคต

การทดสอบครั้งนี้ผู้โดยสารเป็นชาย 1 หญิง 1 ผู้โดยสารสองรายคือ Josh Giegel ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท และ Sara Luchian หัวหน้าฝ่าย Passenger Experience ที่มารับผิดชอบลองนั่งเที่ยวโดยสารแรก และซาร่า ลูเชน ผู้อำนวยการด้านประสบการณ์ผู้โดยสาร

แต่ก่อนจะมานั่งทดสอบได้จะต้องมีการผ่านการทดสอบสภาพร่างกายว่ามีสุขภาพดี รวมถึงมีการเตรียมพร้อมก่อนทดสอบจริง

ทาง Virgin Hyperloop นั้นให้ความสำคัญที่สุดกับเรื่องของความปลอดภัย โดยใส่ใจกับทุกจุดของการเดินทาง พร้อมมีการอธิบายการทำงานของท่อสุญญากาศที่มีทางออกฉุกเฉินกระจายอยู่ รวมถึงมาตรการรับมือต่างๆ ในกรณีที่เครื่องทำงานล้มเหลว

โดยทั้งคู่นั่งในพ็อดทดสอบได้อย่างสบาย ตัวเครื่องได้จำกัดความเร็วไว้ที่ 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วแค่ครึ่งเดียวของความเร็วสูงสุดที่ทำได้ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือตัวท่อสุญญากาศนั้นสั้นแค่ 500 เมตรทำให้ใช้ความเร็วสูงไม่ได้

ตัวยานพาหนะที่โดยสารนั้นพัฒนาขึ้นเป็นรุ่นที่สองแล้วในรหัส XP-2 หรือมีชื่อว่า “Pegasus Pod.” ออกแบบมาให้นั่งสบาย รองรับการโดยสารสองคน โดยพนักพิงนั้นจะมีจุดรองรับแผ่นหลัง 5 จุดเหมือนรถแข่งความเร็วสูง เพื่อสร้างประสบการณ์เดินทางหลายๆ อย่างถูกออกแบบมาให้เหมือนเรานั่งรถไฟใต้ดินมากกว่าจรวดความเร็วสูง

Virgin Hyperloop ตั้งเป้าให้บริการผู้โดยสารนับหมื่นคนต่อหนึ่งชั่วโมง (ยาน XP-2 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดที่ 28 ที่นั่ง แต่ยานที่ถูกนำมาใช้สาธิตนั้นลดขนาดที่นั่งลงให้เหลือ 2 ที่นั่ง)

การทดสอบดังกล่าวที่มีขึ้นเพื่อทดลองด้านความปลอดภัย นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่มีผู้โดยสารเป็นมนุษย์ครั้งแรกของโลก และน่าจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนและผู้ควบคุมต่างๆ เห็นศักยภาพของการเดินทางรูปแบบใหม่

ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วขึ้นจนสามารถนำไปใช้งานได้จริง

ระบบไฮเปอร์ลูปเป็นระบบการขนส่งแห่งอนาคตใช้ระบบแม่เหล็กในการยกพ็อดขึ้นและเคลื่อนที่ไปผ่านท่อสุญญากาศ สามารถทำความเร็วสูงถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในแบบเกือบไร้เสียง สามารถเดินทางจากนิวยอร์กถึงวอชิงตันได้ด้วยเวลา 30 นาที เร็วกว่าเครื่องบินโดยสาร 2 เท่า และเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูง 4 เท่า

บริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ได้ตัดสินใจเลือกรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเป็นสถานที่สร้างรางทดสอบและศูนย์วิจัยมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกใช้เป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป Virgin Hyperloop ทำการทดสอบแบบไม่มีผู้โดยสารมาแล้วกว่า 400 ครั้ง โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถผ่านการรับรองด้านความปลอดภัยได้ภายในปี ค.ศ.2025 และออกให้บริการได้จริงภายในปี ค.ศ.2030

ทั้งนี้ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง Virgin Group บริษัทแม่ของ Virgin Hyperloop กล่าวว่า

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทีมงานของ Virgin Hyperloop ได้ทำงานกันอย่างหนักเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการเดินทางรูปแบบใหม่นี้ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง และด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการทดสอบวันนี้ เราได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะจิตวิญญาณของนวัตกรรมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงการใช้ชีวิต การทำงาน และการเดินทางของผู้คนที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้”

 

ที่มา – https://www.engadget.com/virgin-hyperloop-one-crewed-test-trip-success-070619690.html