บทความพิเศษ : “ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ” กับอันตรายบางอย่าง ของอินเตอร์เน็ต

บทความพิเศษ : “ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ” กับอันตรายบางอย่าง ของอินเตอร์เน็ต

ทุกวันนี้เราทุกคนต่างเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้สร้างโอกาสให้กับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างยากที่จะจินตนาการถึง

โลกของเรามีบล็อกเกอร์เพิ่มขึ้น 120,000 คนทุกวัน

เครือข่ายสังคมคือชุมชนรูปแบบใหม่ เฟซบุ๊กมีสมาชิกราว 600 ล้านคน มายสเปซมีสามชิกราว 100 ล้านคน

กระนั้นก็ตาม แม้จะมีพัฒนาการอันน่าทึ่งเหล่านี้

แต่คำถามหลักก็ยังคงเดิม นั่นคือความเป็นส่วนตัวจะอยู่ด้วยกันกับเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างไร?

คำถามดังกล่าว เรย์มอนด์ แวกส์ (Raymond Wacks) ได้ให้เหตุผลว่าอะไรที่ทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยมีความชอบธรรม?

เหตุผลที่ใช้สนับสนุนเสรีภาพโดยมากมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า การใช้เสรีภาพจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี

หรือมาจากความเชื่อที่ต้องการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนในการแสดงออก

การให้เหตุผลแบบแรกเป็นการให้เหตุผลแบบ “ผลลัพธ์นิยม” (consequentialist) ซึ่งอ้างอิงคำอธิบายที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ จอห์น มิลตัน (John Milton) และจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ส่วนการให้เหตุผลแบบที่สองวางอยู่บนฐานของสิทธิ (right-based) มองว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นส่วนสำคัญของสิทธิในการเติมเต็มตัวเองของปัจเจกบุคคล (right to self-fulfilment)

แต่โธมัส อีเมอร์สัน (Thomas Emerson) ได้เสนอว่ามีเหตุผลพื้นฐานที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมอยู่ 4 ประการ ซึ่งรวมวิธีการให้เหตุผล 2 แบบข้างต้นเอาไว้ด้วย ได้แก่

การเติมเต็มตัวตนของบุคคล

การได้มาซึ่งความจริง

การสร้างหลักประกันว่าสมาชิกจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางสังคมและการเมือง

และการตระเตรียมหนทางในการรักษาสมดุลระหว่างเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ดังนั้น การปะทะกันระหว่าง 2 คุณค่าใหญ่อย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับความเป็นส่วนตัว อาจเป็นแค่การปะทะกันในจินตนาการเท่านั้น เพราะ “โดยส่วนใหญ่แล้ว กฎหมายความเป็นส่วนตัวและกฎหมายที่ให้หลักประกันเสรีภาพกับสื่อนั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน ตรงกันข้าม กฎหมายทั้งสองส่งเสริมกันและกัน เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของระบบพื้นฐานว่าด้วยสิทธิของปัจเจก”

ในบทความชิ้นนี้จะมุ่งนำเสนอ อันตรายบางอย่างของอินเตอร์เน็ต จากเรื่องสั้น ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ ของ ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2530 จากรวมเรื่องสั้นชุด “ก่อกองทราย” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2559

โดยจะกล่าวถึงอันตรายบางอย่างของอินเตอร์เน็ตและความฝันของตัวละคร “ต่อไปนี้รัฐบาลจะสแกนความคิดของประชาชน” (น.202)

เรื่องสั้น ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ใช้ผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลัก (character-narrator) ผ่านสรรพนามบุรุษที่ 1 “ผม” โดยใช้ภาษาที่เป็นกันเองกับผู้อ่าน มีทั้งศัพท์เฉพาะทางวิชาการและวัยรุ่น ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของภาษาผ่านยุคสมัย

ผมมักตื่นตีสามทุกเช้าเพื่อส่องเฟซบุ๊กของคนอื่น ทั้ง “ใครก็ตาม กรูไม่ปลื้ม” กับ “สอศอจอ.” ที่วิเคราะห์การทำงานของรัฐบาลและ “สาวน้อยแมคโดนัลด์” ที่ต่างมีส่วนสร้างสีสันในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัย การนินทาบนหน้ากระดาษ การล้อเลียนพฤติกรรมของผู้คนบนโลกออนไลน์ ที่ล้วนขับเคลื่อนเรื่องราวในเรื่องสั้นให้น่าติดตาม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สะท้อนเหตุการณ์การเมืองและสังคมปัจจุบันแบบไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะมันเป็นแค่ “ทุทรรศนะนิยม” และความวิตกกังวลของปัจเจกบุคคลเท่านั้น

แต่พฤติกรรมการส่องเฟซบุ๊กของผม ที่เรียกได้ว่าติดแจทั้งสามคนนั้นแฝงไปด้วยความเป็นส่วนตัวและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ริชาร์ด โพสเนอร์ (Richard Posner) ได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษ 4 ประการ ของวิธีการใหม่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจมองว่าเป็นการขยายอันตรายของการพูดที่ไร้ความรับผิดชอบให้เพิ่มมากขึ้น

ลักษณะพิเศษเหล่านี้ได้ส่งผลต่อวิธีคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย

1. ความเป็นนิรนาม (Anonymity) อินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ใช้และผู้สร้างการสื่อสารหลบซ่อนตัวได้ ประเด็นนี้ทำให้เป็นการง่ายที่จะผลิต สร้างหรือบริโภคเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย

2. ขาดการควบคุมคุณภาพ (Lack of quality control) แทบทุกคนโพสต์ได้แทบทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ต เรื่องนี้แตกต่างอย่างมากจากการพิมพ์แบบดั้งเดิมซึ่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เข้าใจผิดส่วนมากจะถูกคัดกรองออกโดยระบบการพิมพ์

3. มีคนที่จะเป็นผู้อ่านผู้ชมจำนวนมหาศาล (Huge potential audience) อินเตอร์เน็ตเปิดช่องให้ผู้อ่านและผู้ชมนับล้านทั่วโลกเข้าถึงสิ่งที่หมายจะแสดงออกได้ เรื่องนี้อาจทวีความรุนแรงของภยันตรายใดๆ ที่มาจากการพูด

4. พวกต่อต้านสังคมได้พบพวกเดียวกัน (Antisocail; people find their soul mates)

กรณีดังกล่าว คนที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงผู้อ่าน ผู้ชมจำนวนมหาศาลได้โดยไม่ต้องมีตัวการมาคอยควบคุมสิ่งที่พวกเขาพูด

อนาคตของเสรีภาพในการพูดจึงยึดโยงอยู่กับแนวทาง ซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้ปัจเจกทั้งหลายได้ใช้อินเตอร์เน็ต เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นต้น และข้อจำกัดในทางปฏิบัติของรัฐบาลที่จะใช้อำนาจควบคุมพลเมืองว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตอย่างไร เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … เป็นต้น

ดังนั้น ทั้งผู้ใช้และผู้ชมควรคำนึงถึงข้อดีข้อเสียและข้อควรระวังจากอันตรายจากการใช้อินเตอร์เน็ตด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องสั้นนี้คือตัวละคร “ผม” ฝันว่ารัฐบาลพยายามสร้างเครื่องมือเพื่อสแกนตรวจสอบว่าประชาชนคิดอะไร จนเกิดเป็นความครุ่นคิด วิตกกังวล อึดอัด จนกระทั่งฟุ้งซ่าน

สาเหตุอาจเพราะหมกมุ่นอยู่กับข่าวสารจากหน้าเฟซบุ๊กของ “สอศอจอ.” และ “ใครก็ตาม กรูไม่ปลื้ม” มากเกินไป จนนำความคิดฝันดังกล่าวมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพื่อรับฟังความคิดเห็นและจากหลากหลายความเห็น ทั้งไร้สาระและมีหลักการ ทำให้ “ผม” กลายเป็นโรคนอนไม่หลับและหวาดระแวงอย่างไร้เหตุผลว่ารัฐบาลอาจกำลังเดินหน้าเรื่องดังกล่าว

“ร้ายไปกว่านั้น พวกเขาอาจใช้กลไกของกระทรวงดิจิทัลปล่อยโปรแกรมสแกนความคิดประชาชนทางออนไลน์ แบบที่พวกอาชญากรคอมพิวเตอร์ชอบปล่อยไวรัสมัลแวร์และโทรจันออกมาทำลายระบบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้มันมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น” (น.212)

จากข้อความข้างต้น ขยายความได้ว่า สังคมที่เต็มไปด้วยการสอดส่องจะทำให้เกิดบรรยากาศความไม่ไว้วางใจและระแวงสงสัยกันได้ง่ายนั่นเอง

ในเรื่องสั้น ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ ของ ไพฑูรย์ ธัญญา นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน นินทา สอดส่อง ซึ่งล้วนสะท้อนพฤติกรรมของคนร่วมสมัยที่มีชีวิตเสพติดอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังพาดพิงถึงประเด็นความเป็นส่วนตัว สิทธิของปัจเจก เสรีภาพในการพูดและแสดงออกทางการเมือง รวมถึงข้อควรระวังจากการใช้อินเตอร์เน็ตที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย

เนื่องจากข้อสนับสนุนเสรีภาพในการพูดเป็นทั้งเครื่องมือในการสงวนรักษาและแสดงออก และยังเป็นข้อโต้แย้งเชิงศีลธรรม

การจำกัดการพูดถือเป็นการล่วงละเมิดอัตตาณัติ (autonomy) หรือศักดิ์ศรี (diginity) ของใครบางคน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟังหรือเป็นทั้งสองอย่าง เป็นเรื่องผิดที่จะห้ามไม่ให้ใครพูดถึงมุมมองของตัวเอง (หรือห้ามไม่ให้ได้ยินมุมมองของคนอื่น) เพราะการทำเช่นนั้นถือเป็นการไม่เคารพปัจเจกชนในฐานะที่สามารถคิดและตัดสินใจเพื่อตัวเองได้

สุดท้าย ไม่ว่าอินเตอร์เน็ตจะวิวัฒนาการไปทางทิศไหน เรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคที่น่าตื่นตาของเสรีภาพในการพูด ซึ่งไพฑูรย์ ธัญญา กำลังส่งสารถึงผู้อ่านให้ตระหนักว่า ทั้งความคิด ความฝันและโลกต่างรูดเลื่อนเคลื่อนไหวไปตามความเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดติดหรือปล่อยวางอินเตอร์เน็ตเพื่อนอนพักสักงีบได้หรือไม่นั่นเอง

บรรณานุกรม

กลุ่มนาคร. (2560). ราหูอมจันทร์ Vol.19 เมืองไม่หลับไม่นอน. ปทุมธานี : นาคร.

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2560). เสรีภาพในการพูด : ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.

เรย์มอนด์ แวกส์. (2556). ความเป็นส่วนตัว:ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.