แม่หวาน ละมุนมัม : ความจำสีรุ้ง บ้านสวนธรรม (7)

คอลัมน์ปรุงในครัวทัวร์นอกบ้าน


วันสงบใต้ต้นมะขามใหญ่อายุร้อยกว่าปีที่ชื่อว่าปู่ขามและย่าขาม คือวันดีๆ ของฉันและลูกที่จะได้พัก ได้ผ่อนคลายความเครียดตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา

ปัง ปัง ปัง!

เสียงคล้ายๆ เสียงปืนดังรัวขึ้นอย่างน่าตกใจ ในสมองฉันทำงานอย่างเคร่งเครียด พลุ? หรือ ประทัด? หรือปืน? แล้วควรจะพาลูกวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในบ้าน หรือควรจะนั่งชิลต่อไปดี?

ฉันหันไปมองลูกที่นั่งไกวชิงช้าใต้ต้นมะขามอย่างเพลิดเพลิน เธอหันมามองฉันแล้วทำตาโตเล็กน้อยแต่ก็ยังคงนั่งชิลต่อไป

ปัง วี้ดดดดดด บึ้ม!

เสียงคล้ายปืนที่ดังจนแสบแก้วหูทำให้หัวใจฉันสั่นสะท้าน หน้าตาฉันเหลอหลาเมื่อมองผ่านหัวขึ้นไปแล้วเห็นดวงไฟสว่างพุ่งข้ามหัวฉันตัดผ่านกิ่งย่าขามพุ่งเข้าไปยังตัวบ้าน ดวงไฟนั้นตกลงข้างๆ กับกอต้นไผ่

วิ่ง! สมองฉันตัดสินใจอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ฉันวิ่งไปจูงมือลูกแล้วกระโดดเข้าบ้านปิดประตูแน่นหนา นั่งหอบอยู่สักพักก็เห็นดวงไฟพุ่งมาอีกครั้งซ้ำกับที่เดิม คงด้วยความกลัวผสมความโกรธ ฉันจึงเปิดประตูออกมาเสี่ยงดวงนอกบ้าน

–คุณแม่อย่าออกไป

อายากะห้ามด้วยความห่วงใย แต่ในยามนี้เอาช้างมาลากก็คงไม่อยู่ ฉันจึงตอบไปว่า

–ลูกห้ามออกมานะ ไม่ต้องห่วงแม่ แม่ไม่เป็นไรหรอกค่ะ

 

ฉันออกไปเผชิญกับประทัดริมรั้วข้างบ้านทันที

–อันตรายรู้ไหม? หยุดยิงนะ

ฉันตะโกนสุดเสียง และยิ่งโกรธเมื่อเห็นดวงไฟจากประทัดเริ่มติดไฟอยู่ริมรั้ว กองใบไผ่แห้งช่วยเพิ่มเติมเชื้อให้ดวงไฟลุกไหม้สว่างไสวเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น ฉันคงยับยั้งสถานการณ์นี้ได้ยากแน่ๆ จึงรีบโทร.ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ช่วยทันที ผู้ช่วยก็ว่องไวปานลมกรด มาทันกลิ่นไหม้ของกิ่งไม้และความร้อนของดวงไฟตรงจุดเกิดเหตุพอดิบพอดี

–เกิดอะไรขึ้นพี่?

เธอถามอย่างห่วงใยก่อนแนะนำผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ของฉันไม่ค่อยทำงานตรงตามจุดประสงค์ แม้จะเรียกหาก็ยาก ถึงแม้เรียกได้ก็จะเฉไฉทุกครั้งจนเอือมระอา) และตำรวจอีกสองนาย

–อย่างที่เห็นนี่ล่ะค่ะ พี่ก็กลัวไฟไหม้บ้าน อีกอย่างถ้าพุ่งมาโดนคนก็สาหัสมากเลยนะคะ ไม่ทราบว่าเด็กๆ ทางฝั่งโน้นเล่นสนุกสนานกันบนความเดือดร้อนของคนอื่นได้อย่างไร?

พี่คงต้องไปแจ้งความแล้วล่ะ เล่นอย่างนี้ไม่สนุกค่ะ ต้องเอาเรื่องให้ถึงที่สุด

 

–ใจเย็นๆ พี่

เป็นครั้งแรกที่ผู้ช่วยมีสติและใจเย็นกว่าฉัน

–เดี๋ยวหนูไปคุยกับครอบครัวเด็กๆ ให้พี่ บางครั้งอาจจะเล่นกันแล้วพลาดก็ได้นะ ช่วงนี้ลมแรงอาจทำให้ลมพัดผิดทาง เด็กๆ อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้นะพี่

–ผมว่าเรื่องแจ้งความเอาไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ให้พวกผมเข้าไปเตือนไปคุยกับพ่อแม่เค้าก่อนแล้วกันครับ

ตำรวจอีกนายเสริมความคิดผู้ช่วย หลังจากเดินสังเกตการณ์สักพักแล้วพูดต่อว่า

–เราไปแจ้งความไปเอาเรื่องเค้า เรื่องมันจะไม่จบพี่ เค้าจะหาว่าเรากลั่นแกล้ง พวกนี้เค้ากลัวและเกลียดเรื่องนี้กัน เดี๋ยวเค้าจะยิ่งแกล้ง ยิ่งหาเรื่องเราแล้วเราจะอยู่ลำบากเปล่าๆ ครับพี่

–ก็สนุกสิ! ได้ยังไงคะ? พี่เป็นเหยื่อ เป็นผู้รับเคราะห์นะคะ เรื่องแจ้งความเราก็ทำตามกฎหมาย ทำตามขั้นตอน บ้านเมืองมีขื่อมีแปนะคะ แล้วจะมาอ้างว่าเราแกล้งได้อย่างไร? ชาวบ้านไม่คิดง่าย คิดสบายไปหน่อยเหรอคะ?

เวลาเอาเรื่องฉันก็ดื้อด้านหัวชนฝาไม่ยอมคนเช่นกัน เป็นไงเป็นกัน ถ้าจะต้องตายก็ตายไปด้วยกัน เปอร์เซ็นต์ความตายเราเท่ากันคือ 50-50 ไม่ใช่คนรวย หรือคนเมืองจะต้องตาย 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วคนจน คนบ้านนอกจะไม่ตายเสียเมื่อไรล่ะ?

“ยอมได้ยอม ยอมไม่ได้ก็ต้องเห็นดีกัน” นี่คือคติของฉัน

 

–พี่ฟังหนูสักครั้งนะ นะพี่ ครั้งนี้หนูขอจัดการให้ พี่ไม่ต้องทำอะไรนะ

ผู้ช่วยเดินหน้าตาขึงขังจริงจังเข้ามาหาหลังฉันพูดจบ อายากะก็โผล่ใบหน้าเล็กๆ จิ้มลิ้มออกมามองฉันจากประตูบ้านด้วยความห่วงใย อืม…

–ก็ได้ ลองดู

ในที่สุดฉันก็โอนอ่อนผ่อนตามจนได้

ก็แม่เคยสอนว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”

เอาน่า…ลองดูสักหน่อยจะเป็นไรไป คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วล่ะ