โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เปลี่ยนชีวิตผม : สำเริง คำพะอุ

อยู่ๆ ผมก็ถูกเกณฑ์ให้เป็นคนแก่ โดยให้เล่าความหลังครั้งที่เรียนอยู่สวนกุหลาบฯ ทั้งที่ผมก็ยังอยู่ในวัยกระชุ่มกระชวย แม้ว่าการเดินเหิน กิริยาท่าทางจะดูคล้ายๆ คนมีอายุอยู่บ้างก็ตาม

พูดกันตรงๆ ณ วันนั้น เวลานั้น ผมไม่เคยรู้หรอกครับว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีประวัติความเป็นมายิ่งใหญ่ขนาดไหน อบรมกุลบุตร (ไม่มีกุลธิดาให้อบรม) ทั้งที่มาจากตระกูลยิ่งใหญ่และลูกหลานชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านอย่างผมมาแล้วกี่รุ่น ศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ ออกไปรับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองมาแล้วกี่คน (และก็มีบ้างที่สร้างความเสียหาย เอารัดเอาเปรียบสังคมมาแล้วกี่ตัว)

ผมรู้จักชื่อโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จาก ครูเวก กาญจนสาขา ครูโรงเรียนวัดชิโนรสวิทยาลัย ตอนที่ผมกำลังจะจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ครูบอกผมว่า

“เธอต้องไปเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ไปสมัครสอบซะ”

ครูเวก กาญจนสาขา ท่านเอ็นดูผมเป็นพิเศษ คงเป็นเพราะผมเป็นเด็กบ้านนอก ตั้งอกตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนดีเป็นพิเศษ ไม่ที่ 1 ก็ที่ 2 (สมัยนั้นไม่นับเกรด 4, 3, 2 อย่างทุกวันนี้)

เป็นขณะเดียวกับที่เพื่อนที่เคยเรียนชั้นประถม (จุมพล บุญยเพ็ญ) ที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม ซึ่งไปเรียนมัธยมที่วิทยาลัยบางแสน โรงเรียนที่ค่อนข้างจะหรูในความรู้สึกของผมตอนนั้น เพราะพ่อแม่ผมไม่มีปัญญาไปส่งเรียน รุ่นผม รุ่นพี่ที่ไปเรียนแต่ละคนล้วนมีฐานะมั่งคั่งมั่นคงทั้งสิ้น ก็จะไปสอบเข้าสวนกุหลาบฯ ด้วย

ผมก็เลยคิดของผมว่าน่าจะต้องดีแน่ๆ

แต่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ อยู่ที่ไหน? นี่เป็นปัญหาค่อนข้างหนักสำหรับผม เพราะผมเป็นเด็กบ้านนอก มาอาศัยหลวงอาที่วัดระฆังฯ นอกจากเดินทางจากวัดระฆังฯ ผ่านกรมทหารตัดเข้าถนนอิสรภาพ ใกล้คลองมอญที่โรงเรียนวัดชิโนรสตั้งอยู่ ผมก็ไม่เคยไปไหนเลย นอกจากถือปิ่นโตตามก้นหลวงอาตอนที่ท่านออกบิณฑบาตเท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่พ้นวังหลัง บ้านขมิ้น สี่แยกศิริราช แล้วก็กลับกุฏิ

ใกล้สะพานพุทธ ใกล้โรงหนังเอ็มไพร์ ใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ใกล้โรงเรียนเพาะช่าง

นี่เป็นความรู้ที่ผมเลียบๆ เคียงๆ ถามได้จากเด็กวัดด้วยกันบ้าง พระเณรที่รู้จักบ้าง แต่สะพานพุทธก็ดี โรงหนังเอ็มไพร์ก็ดี โรงไฟฟ้าวัดเลียบก็ดี โรงเรียนเพาะช่างก็ดี ตั้งอยู่ตรงไหนกันละครับพี่น้อง

โชคดีวันที่ไปสมัครสอบ ผู้ปกครอง จุมพล บุญยเพ็ญ พาไป ถึงเวลาก็ไปสอบ สอบเสร็จก็กลับพยัคฆภูมิพิสัย แบบมั่นใจไม่ต้องรอลุ้น ไม่ต้องวิ่งหาคนฝากอย่างเด็กสมัยทุกวันนี้

เมื่อประกาศผลสอบ ผมกับ จุมพล บุญยเพ็ญ ก็สอบได้ด้วยกัน วันมอบตัวก็มอบพร้อมกัน เลขประจำตัว ส.ก. ก็ติดกัน

แล้วสวนกุหลาบฯ ก็เปลี่ยนชีวิตผม!

โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เปลี่ยนชีวิตผมจริงๆ เพราะผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นนักข่าว นักเขียน นักหนังสือพิมพ์

ย้ายจากโรงเรียนวัดชิโนรสมาเรียนที่สวนกุหลาบฯ นั้น เป็นเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียน เพราะผู้คนสมัยนั้นยังไม่มีการวางแผนครอบครัว ใครมีความสามารถในการผลิตลูกก็ผลิตกันอย่างเต็มที่ บางครอบครัวลูกๆ พอเล่นทีมบาสเกตบอลสบาย บางครอบครัวทีมฟุตบอลก็ยังได้ เพราะช่วงก่อนหน้านั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยากให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ จำนวนพลเมืองขณะนั้น 25 ล้านคน ยากที่จะเป็นมหาอำนาจได้ จอมพล ป. เลยสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีลูกมาก

มีเงินอุดหนุนสำหรับคนมีลูกมากเหมือนกับประชานิยมทุกวันนี้แหละครับ

กระทรวงศึกษาธิการจึงแก้ปัญหาด้วยการให้แต่ละโรงเรียนเปิดเรียน 2 รอบ รอบเช้าเข้าเรียน 08.00 น. เลิกเที่ยง รอบบ่ายเริ่มบ่ายโมง

ผมเรียนรอบเช้า เลิกแล้วก็กลับไปกินข้าวเที่ยงที่วัดสบายๆ

ผมพูดคำว่า สบายๆ ให้ดูเท่ดูดีไปงั้นแหละครับ ความจริงเมื่อโรงเรียนเลิก ผมก็ออกทางประตูสะพานพุทธ เลี้ยวขวาไปทางท่าเตียน เลาะเลียบดูพระบรมมหาราชวังเสียหน่อย ก็ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรมอู่ทหารเรือ เพราะเขามีเรือบริการทหาร และบริการให้ประชาชนข้ามฟรี จากกรมอู่ก็เดินต่อไปจนถึงวัดระฆังฯ ตอนเช้าไปโรงเรียนก็เส้นทางนี้แหละครับ

อย่าได้เข้าใจผิดว่า ผมเห็นคุณค่าของการเดินเป็นการออกกำลังกายที่วิเศษอย่างหนึ่งมาตั้งนมนานแล้ว จนทุกวันนี้ก็ยังเดินอยู่หากมีเวลา มีโอกาสหามิได้

การเดินตอนนั้นกับการเดินตอนนี้มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยครับ ตอนนั้นผมเดินเพราะไม่มีค่าเรือข้ามฟาก ไม่มีเงินค่ารถเมล์หรือรถราง แต่ตอนนี้เป็นการเดินออกกำลังกาย

รสชาติและความรู้สึกไม่เหมือนกันหรอกครับ

เรียนรอบเช้าอยู่สักพัก กระทรวงศึกษาฯ ก็แก้ปัญหาการขาดแคลนที่เรียนได้ โรงเรียนก็เปิดสอน เปิดเรียนเป็นปกติ

คราวนี้สำหรับผมก็ยุ่งละซีครับ กว่าโรงเรียนจะเลิกก็ 3-4 โมงเย็น ไอ้หิวน่ะไม่เท่าไหร่ เพราะชินเสียแล้ว

พักเที่ยงคนอื่นเขาเข้าโรงอาหาร ผมก็ต้องเข้าห้องสมุด จะเตะฟุตบอลกับเพื่อนก็ไม่ไหว

เมื่อผมนึกย้อนหลังก็สรุปได้ว่า ที่นี่แหละครับ ห้องสมุดโรงเรียนสวนกุหลาบฯ เปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง ผมอ่าน อ่าน อ่านหนังสือเกือบจะทุกเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุด ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล ปรัชญา ศาสนา การเมือง อ่านในห้องสมุดแล้วก็ยืมไปอ่านต่อที่วัด

แล้ววันหนึ่งผมก็เกิดความรู้สึกว่าน่าจะเขียนบ้าง และน่าจะเขียนได้

และก็คงจเป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะผมดำรงชีพมาได้ตั้งแต่เรียนจบสวนกุหลาบฯ ไปเรียนมหาวิทยาลัยต้องทำงานเลี้ยงตัว ต่อมาเลี้ยงครอบครัวก็ด้วยการเขียนหนังสือ ไม่ได้ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ หรือทำไร่ไถนาเยี่ยงบรรพบุรุษ ให้ไปทำก็คงทำไม่ได้ ทำไม่เป็น

โดยพื้นฐานทั้งหลายทั้งปวงนั้นแน่นอน นอกจากคลังมหาสมบัติที่เรียกกันว่าห้องสมุดแล้ว อาจารย์วรากร กันตามระ อาจารย์ฉวีวรรณ อารยะศาสตร์ อาจารย์ศิริเพ็ญ ชัยรัตน์ อาจารย์อัธยา สุดบรรทัด อาจารย์อัมพา เขมะอุดม ก็ได้อบรมสั่งสอนให้คิดเป็น เขียนเป็นด้วยต่างหาก

และเมื่อเผชิญโลกงานข่าว งานเขียนที่เป็นอาชีพจริงๆ ก็ได้รุ่นพ่ออย่าง ทองเติม เสมรสุต รุ่นพี่อย่าง ทวี เกตะวันดี ทนง ศรัทธาทิพย์ นเรศ นโรปกรณ์ เจน จำรัสศิลป์ ชี้แนะแนวทางด้วยความเมตตาการุญทั้งเรื่องงานและวัตรปฏิบัติ

เอาละ เดี๋ยวจะกลายเป็นอัตชีวประวัติไป กลับมาที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ

ตึกยาวของโรงเรียนจะครบร้อยปี ปีหน้า นั่นก็แสดงว่า ผมนั่งเรียนที่ตึกนี้ ยืนเข้าแถว เคารพธงชาติที่ตึกนี้ ยืนดูนักเรียนรุ่นพี่อย่าง ทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ กนก เทพหัสดิน ณ อยุธยา ณรงค์ สังขสุวรรณ เล่นฟุตบอล ซ้อมฟุตบอลที่ตึกนี้เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

แต่มีความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นวานนี้ หรือไม่เกินสัปดาห์สองสัปดาห์นี้เอง

รู้สึกเหมือนว่างานแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียนเพิ่งจบ มีนักเรียนทั่วกรุงเทพฯ ไปแออัดกันที่ตึกยาวเพื่อชมงาน หมดงานศิลปะก็เป็นงานวิทยาศาสตร์ ผมจำได้ว่าเพื่อนที่เรียนวิทยาศาสตร์เก่งๆ จะทำเป็นโง่ หรือเข้าใจยาก ต้องอธิบายซ้ำๆ ซากๆ จึงจะเข้าใจ เพราะผู้อธิบายคือนักเรียนสตรีวิทย์ สายปัญญา หรือไม่ก็ศึกษานารี แถมสวยอีกต่างหาก

รู้สึกเหมือนเพื่อนๆ กำลังเตะฟุตบอลกันกลางสนาม ผมและเพื่อนอีกกลุ่มยืนมองดูอยู่ตึกยาว แล้วมีชายคนหนึ่งมาตามใครบางคน และใครคนนั้นคือ วราทร พินทุสมิต

พอรู้ชื่อ ใครบางคนก็ตะโกนบอกวราทรทันที

“ป๊อก ป๊อกโว้ย พ่อนายมา”

“ลูกชายผมชื่อวราทร ป๊อกน่ะชื่อผมครับ” พ่อวราทรบอกเสียงเรียบๆ

เพื่อนรุ่นเดียวกับผมหลายคนเรียกกันด้วยชื่อพ่อ ชื่อแม่ จนทุกวันนี้ เช่น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ คุยกับ ทวีสิน คลงมณี บทสนทนาก็จะเป็นดังนี้

“เรื่องนี้ ชั้น มีความเห็นอย่างไร?” เพราะพ่อของวสันต์ชื่อชั้น

วสันต์ก็จะตอบคำถามของทวีสิน ให้ความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อย แล้วก็จะจบลงด้วยประโยคว่า

“คราวนี้เข้าใจหรือยัง เที่ยง” เป็นที่รู้กันว่า พ่อของทวีสินชื่อ “เที่ยง”

ถ้าหากทวีสินเข้าใจก็จะพยักหน้า ถ้าสงสัยก็ถามต่อ การสนทนาปราศรัยเป็นที่เรียบร้อย เต็มไปด้วยสันถวไมตรีอันดียิ่ง ประหนึ่งว่าคู่สนทนาคือ นายชั้นกับนายเที่ยง ยังไงยังงั้น

สำหรับผมไม่นิยมการล้อชื่อพ่อชื่อแม่เพื่อน แต่เพื่อนฝูงที่คบหาสมาคมกันอยู่ทุกวันนี้ ผมต้องบันทึกเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ ผมใช้ชื่อพ่อเพื่อนแม่เพื่อนแทนตัวมันเพราะจำได้ง่าย และดูสนิทสนมเป็นกันเองดี