เรื่องสั้น | คำขอสุดท้ายของธานี

อันที่จริงแล้วพื้นเพของ “ธานี” เป็นคนอีสาน รกรากอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะระเหเร่ร่อนจากถิ่นฐานเดิม มาแรมรอนขายแรงงาน ใช้ชีวิตในไซต์ก่อสร้าง ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก โดยไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือเหมือนเพื่อนคนอื่นในวัยเดียวกัน แม่ของเขาตายเพราะอุบัติเหตุ ตกจากนั่งร้านความสูงเท่ากับตึกห้าชั้นตอนยังอยู่อีสาน ตอนนั้นเขายี่สิบกว่าๆ เริ่มรู้งานช่างปูนซึ่งพ่อเป็นผู้ถ่ายทอดให้แล้ว ส่วนพ่อเสียชีวิตอีกสามปีต่อมาด้วยโรคมะเร็งปอด จากการสูดผงฝุ่น ผงปูน สะสมต่อเนื่องยาวนาน

กรรมกรขายแรงงานแลกเงิน ปากกัดตีนถีบ หนักเอาเบาสู้ ไม่มีทางเลือกมากนัก จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับ “รากแก้ว” ของสังคม หาใช่ที่สลักสำคัญ หากแต่ดำดิ่งจมดินลึก อยู่ในระดับล่างสุดของต้นไม้ที่เรียกว่า “ประเทศ” ต่ำต้อยด้อยค่า เสมือนผงฝุ่นในเมืองใหญ่ก็คงไม่ผิดนัก ชีวิตซัดเซพเนจร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนอย่างธานีผ่านไปปีแล้วปีเล่า จนได้มาพบกับ “บุญตา” ตอนมาเป็นคนงานก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรที่จังหวัดอุดรธานี ไม่นานนักจึงตกลงอยู่กินด้วยกันก่อนจะมีลูกชายคนแรก จนมีคนที่สองตามมาขณะย้ายไปรับงานในจังหวัดนครราชสีมา อีกสองปีหลังจากนั้น

ธานีกระเตงเมียและลูกชายตัวน้อยสองคนย้ายถิ่นไปตามไซต์งานก่อสร้างอีกหลายแห่งแถบอีสานเหนือและอีสานกลางอยู่นานหลายปีทีเดียว ก่อนจะมีลูกอีกคนตอนมาปักหลักอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ลูกชายคนสุดท้องเกิดที่อำเภอโพนพิสัย ดินแดนแห่งลูกหลานพญานาค เขาจึงตั้งชื่อว่า “แถน” ด้วยศรัทธาในพระยาแถนซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งบุญบั้งไฟ แล้วจึงหอบหิ้วกันมาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี

ปี 2552 เริ่มมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สาม ห้าชีวิตถึงเวลาต้องเดินทางพร้อมกัน ครอบครัวของธานีอพยพมาอยู่จังหวัดนครพนม โดยมีลูกๆ ที่เริ่มเติบใหญ่ได้ช่วยแบ่งเบางาน แต่ฐานะยังยากจน กินอยู่ตามมีตามเกิด ไม่มีสมบัติเป็นชิ้นเป็นอัน กระทั่งครบสองปี สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สามแล้วเสร็จ การเดินทางครั้งใหม่ของครอบครัวเขาจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

ต่อมาปี 2555 ธานีพาครอบครัวย้ายมาอยู่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นการเดินทางไกลที่สุดในชีวิต ตอนนั้นเขา 43 เมีย 39 ในขณะที่ลูกคนโตกับคนรอง- “ถัง” กับ “ถม” 20 กับ 18 ปีตามลำดับ ส่วนแถนเพิ่ง 13 ทั้งสามคนไม่ได้เรียนหนังสือ สี่ปีเต็มในการมาขายแรงงานอยู่ที่นี่ ภารกิจของเขาและครอบครัวคือการเป็นคนงานก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อยกับเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2559

ชีวิตที่เกาะลันตาเหมือนจะไปได้ดี ทุกคนขมีขมันทำงาน ประหยัดอดออม ลูกชายทั้งสามไม่เกกมะเหรกเกเร พอได้มีเงินเหลือเก็บบ้าง ธานีตั้งใจว่าจะเก็บเงินให้ได้สักก้อน เมื่อสะพานเสร็จจะพาครอบครัวย้ายกลับอีสานบ้านเกิด จนเข้าสู่ช่วงท้าย ในขณะที่สะพานใกล้เสร็จอยู่รอมร่อ ธานีเริ่มมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ มีไข้เป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ยอมหาย ร่างกายซูบผอมลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยกินไม่ค่อยอยากเหมือนเคย ปวดท้องหนักหน่วง บางวันอ่อนเพลียมาก และยิ่งนับวันอาการปวดท้องยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ต่อมาท้องของเขาค่อยๆ บวมเป่งจนกลายเป็นลูกโต แล้วจึงตามมาด้วยตัวเหลือง-ตาเหลือง

เช้าวันหนึ่ง ธานีมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถึงกับนอนกระสับกระส่าย บิดตัวไปมาอย่างทรมาน แม้ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งผู้เป็นพ่อเผชิญอยู่คืออะไร แต่ที่เมียและลูกทุกคนรู้แน่ๆ คือมันต้องเป็นความเจ็บปวดทุกข์ทนอย่างแสนสาหัส พวกเขาถึงได้เห็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ซึ่งเคยแข็งแกร่งและไม่เคยยอมแพ้ต่อสิ่งใดไหลออกมาในวันนั้น

เขาถูกหามส่งโรงพยาบาลเกาะลันตา ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดในเวลาต่อมา ทุกคนในครอบครัวยังจำวันที่แพทย์เจ้าของไข้โรงพยาบาลกระบี่เชิญเข้าไปพบได้ไม่มีวันลืม…

“ก่อนอื่น หมออยากให้ครอบครัวทำใจดีๆ นะครับ” นายแพทย์เจ้าของไข้วัยสามสิบเศษเปรยขึ้น สัมผัสได้ถึงความอาทร ในขณะที่ทุกคนเริ่มรู้สึกใจคอไม่สู้ดี แถนพลางหันไปสบตาแม่และพี่ๆ

“หมอตรวจพบว่า คุณพ่อของคุณ…เป็น…โรคมะเร็งตับครับ” นายแพทย์หนุ่มดูอ่อนโยน พูดเว้นระยะ ก่อนจะว่าต่อ “คนไข้น่าจะเป็นมาสักพักใหญ่ แต่อาจจะปกปิดเอาไว้จนกระทั่งเข้าระยะสุดท้าย” สิ้นเสียงนั้นทุกคนรู้สึกตกใจมาก เย็นเยียบไปทั้งตัว คล้ายโลกหยุดหมุนไปชั่วขณะ

“คนไข้น่าจะมีอาการปวดท้องมาสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่ทราบทางครอบครัวได้สังเกตเห็นความผิดปกติบ้างหรือเปล่าครับ” นายแพทย์ซักถามอย่างใจเย็น

“ก็น่าจะราวสามเดือนได้จ้ะหมอ ที่แกบ่นๆ ว่าปวดท้อง ช่วงแรกยังปวดไม่มาก กินยาพาราก็ดีขึ้น แล้วก็เป็นๆ หายๆ เรื่อยมา จนมาตอนหลังกินยาพาราทีละหลายเม็ด ก็เอาไม่อยู่…” บุญตานึกย้อนกลับไป เริ่มสะอื้นไห้ขณะเล่า

“อ้อ อย่างนี้นี่เอง งั้นหมอพอจะทราบสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาการของคนไข้ทรุดเร็วมากอย่างนี้แล้วนะครับ” แพทย์หนุ่มขยับแว่นตา ก้มลงพลิกแฟ้มประวัติ “คนไข้มีประวัติดื่มสุราค่อนข้างหนักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ใช่ไหมครับ?”

“ใช่จ้าคุณหมอ แกนั่งก๊งกับเพื่อนคนงานจนค่ำมืดแทบจะทุกวัน ฉันห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง…” บุญตาส่ายหน้าด้วยความเหนื่อยหน่าย ดวงตาหม่นหมอง

“นั่นน่าจะเป็นสาเหตุทำให้คนไข้เป็นโรคตับแข็งนะครับ” หมออธิบายให้เห็นต้นตอของโรค “แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การที่คนไข้ได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นการเร่งให้ตับถูกทำลายเร็วขึ้นกว่าปกติ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด” นายแพทย์หนุ่มหยุดครู่หนึ่ง ก่อนจะให้ความรู้ต่อ “พาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดที่ค่อนข้างปลอดภัยก็จริง แต่มีข้อห้ามใช้ในคนไข้โรคตับนะครับ”

เมียและลูกๆ ของธานีได้แต่นิ่งงัน แถนกระเถิบเข้าไปโอบไหล่มารดา ในขณะที่ทุกคนยังตั้งตัวไม่ทันกับมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในครอบครัว

“แล้วพ่อจะเหลือเวลาอีกนานแค่ไหนครับหมอ?” ถังที่นั่งเงียบมาตลอด ตัดสินใจเอ่ยถามขึ้นทำลายความเงียบในห้องลง ด้วยเสียงสั่นเครือ ท่ามกลางความช็อกและกระวนกระวายใจของทุกคน

“คงไม่เกินหนึ่งเดือนหลังจากนี้ครับ” คำตอบของแพทย์ ทำให้ทุกคนยิ่งใจหายกับสิ่งที่ได้ยินหนักเข้าไปอีก แถนหันไปมองถมที่น้ำตาเริ่มคลอหน่วย ก่อนจะเหลือบเห็นน้ำตาแม่ไหลพรากราวน้ำป่าล้นทะลัก

แพทย์เจ้าของไข้บอกต่อไปว่า… ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะแจ้งให้ทราบ คำพูดนั้นทำให้ทุกคนมีสติกลับมาตั้งใจฟังอีกครั้ง ก่อนหน้าจะเชิญครอบครัวเข้ามาพบนั้น ได้เปิดอกคุยกับคนไข้หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องโรคที่เป็น ตลอดจนแนวทางการรักษา ทั้งยังเปิดโอกาสให้ได้ระบายสิ่งที่ยังห่วงกังวลเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด และได้ถามคนไข้ด้วยว่า ตอนนี้มีสิ่งใดบ้างที่อยากจะทำแต่ยังคั่งค้างหรือยังไม่ได้ทำ เผื่อทางโรงพยาบาลจะช่วยแบ่งเบาได้บ้าง คนไข้นิ่งไปเพียงครู่ แล้วจึงบอกว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้ช่วยเหลือ ถือเสียว่าเป็นคำขอสุดท้าย…

“ผมกับเมียเร่ร่อนรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้าง ที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง มีลูกสามคน ลูกแต่ละคนคลอดกันคนละที่ คนละจังหวัด คนโตกับคนกลางคลอดนอกโรงพยาบาล จึงไม่ได้ไปแจ้งเกิด คนสุดท้องมีสูติบัตรตอนไปแจ้งเกิดที่อำเภอ แต่ไม่นานเกิดไฟไหม้ที่พักคนงาน เอกสารสูญหายหมดรวมทั้งสูติบัตร หากก่อนตายผมขออะไรได้…” ธานีสบตาแพทย์หนุ่ม นัยน์ตารื้น “หมอครับ ทุกวันนี้ลูกๆ ผมยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะขาดหลักฐานการเกิด พวกเขายังไม่เป็นคนไทยตามกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาไม่อาจเข้าถึงบริการของรัฐและสิทธิต่างๆ ที่พึงได้ ผมเคยปรึกษาทางอำเภอ เขาบอกว่ามีทางเดียวคือต้องตรวจเลือดทั้งครอบครัว แต่หมอครับ ชาตินี้ผมคงไม่มีเงินมากมายที่จะใช้เพื่อการพิสูจน์สายเลือด

สิ่งสุดท้าย…ก่อนที่ผมจะหมดลมหายใจ ผมอยากขอความเป็นคนไทยกลับมาให้กับพวกเขา ขอบัตรประชาชนให้ลูกๆ ทุกคนของผมจะได้ไหมครับหมอ”

เช้าวันต่อมา นายแพทย์เจ้าของไข้เริ่มหาหนทางเพื่อให้การช่วยเหลือทันที แม้ว่ายังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามคำขอของคนไข้นั้นได้อย่างไร แต่ก็เคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาบ้าง จากข่าวคราวทางสื่อโทรทัศน์

ขณะนี้เขานึกถึงหน่วยงานหนึ่ง จึงเริ่มสืบหาที่ตั้ง ต่อมาจึงทราบว่าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ซึ่งห่างจากศาลากลางจังหวัดกระบี่ไม่มากนัก นายแพทย์หนุ่มไม่เคยรู้จักหน่วยงานนี้มาก่อน แต่ทว่าความมุ่งมั่นได้พาเขามาถึงหน่วยงานราชการแห่งนั้นจนได้ แม้ต้องใช้เวลาตระเวนหาอยู่นานเป็นชั่วโมงก็ตาม

เรื่องราวทั้งหมดของธานีถูกถ่ายทอดจากนายแพทย์ไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ครอบครัวอย่างทันท่วงที เพื่อให้คนไข้หมดห่วงในช่วงสุดท้ายของชีวิต

“ระยะเวลาราวหนึ่งเดือนจะดำเนินการทันไหมครับท่าน?” นายแพทย์หนุ่มสีหน้าจริงจัง แววตามีกังวลขณะเข้าหารือกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในห้องทำงาน

“ถ้าดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ไม่น่าจะทันครับหมอ คนไข้อาจจะเสียชีวิตก่อน” พัฒนาสังคมฯ หยุดครุ่นคิด “เอาเป็นว่า ผมจะรับเรื่องนี้ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งประสานอำเภอในเรื่องการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พร้อมสมบูรณ์ก่อน ควบคู่ไปกับการตรวจดีเอ็นเอเพื่อประกอบกัน” ข้าราชการผู้น่าเลื่อมใส วัยใกล้ห้าสิบ อธิบายขั้นตอน พร้อมยืนยันให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ขอบพระคุณท่านมากๆ เลยครับ” นายแพทย์หนุ่มยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ประกายตามีความหวังขึ้น

“ไม่ต้องห่วงครับหมอ พรุ่งนี้ผมจะให้นักสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นกระบวนการทำงานกันเลย” ผู้อาวุโสกว่ายื่นมือสัมผัสแขนนายแพทย์ผู้มีจิตเอื้ออารีเป็นกำลังใจ ยิ้มให้อย่างชื่นชม ขณะออกมาส่งหน้าห้อง “ขอบคุณคุณหมอมาก ที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ จะเพิกเฉยเสียก็ได้ ช่างมีจิตเป็นกุศลและเสียสละโดยแท้ สมัยนี้หาคนอย่างหมอได้ยากนัก”

พัฒนาสังคมฯ กลับเข้ามาในห้อง หันไปลองใจนักสังคมสงเคราะห์สาวรุ่นน้อง… “กรณีนี้เราจะช่วยเขาดีไหม?”

“หัวหน้าคะ ที่ผ่านมาเราช่วยคนอื่นมาตั้งมากมาย นี่แค่สามคน ที่สำคัญ การช่วยครั้งนี้เป็นการช่วยเพื่อให้คนเป็นคนเลยนะคะ” ลูกน้องสาวเอ่ยขึ้น ขณะดวงตาเป็นประกาย “หนูขอรับอาสาทำเรื่องนี้เองค่ะ”

ผู้เป็นหัวหน้าพยักหน้า ยิ้มมุมปาก รู้สึกภูมิใจกับความกระตือรือร้นช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยงานอยู่ในที พลางคิดในใจว่า “นี่สิ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการของพระราชา”

ที่ผ่านมาแถนได้แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเหมือนคนอื่นๆ ที่เกิดในประเทศไทย เขาได้แต่โหยหาความเท่าเทียม แต่ไม่เคยเรียกร้อง ตั้งแต่จำความได้ ทุกครั้งที่แถนทะเลาะมีเรื่องมีราวกับเพื่อนตอนเป็นเด็ก เขาไม่เคยมีสิทธิเป็นผู้ชนะ เพราะหากเป็นเช่นนั้นฝ่ายผู้ปกครองของเพื่อนก็จะไปแจ้งความ เขากลัวการถูกจับและกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว อีกทั้งยามเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าโรงพยาบาล พ่อกับแม่ก็ต้องเจียดเงินมาจ่ายค่ารักษาเอง แทนที่จะสามารถใช้สิทธิบัตรทองเหมือนคนอื่นๆ

การประสานงานระหว่างองค์กรต่างๆ เริ่มเป็นรูปธรรม นับหนึ่งจากการสืบค้นสูติบัตรของแถนจากทะเบียนราษฎร แต่ด้วยเวลาผ่านมานานหลายปี ขาดเอกสารหลักฐานยืนยัน อีกทั้งไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ ของพี่ชายทั้งสองในฐานข้อมูลเลย อุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถสืบค้นสิ่งที่ต้องการได้ในช่วงเวลาอันจำกัด การตรวจดีเอ็นเอจึงน่าจะเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนี้

การดำเนินการขอรับสนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอเริ่มขึ้น โดยความร่วมมือของบางกอกคลินิก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกองทุนยุติธรรมจังหวัดกระบี่ จากการประสานงานระหว่างบางกอกคลินิก โรงพยาบาลกระบี่และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้มีการเก็บตัวอย่างเลือดของทุกคนในครอบครัวส่งตรวจดีเอ็นเอ ระหว่างรอผล อีกด้านหนึ่งการขอเพิ่มชื่อรายการบุคคลในทะเบียนราษฎร ฐานะคนสัญชาติไทยก็ดำเนินการควบคู่กันไป

เวลาแต่ละวันดูเหมือนจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า นาฬิกาชีวิตของธานีเริ่มเดินถอยหลัง ในขณะที่บุญตาเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะและมีอาการเซื่องซึม ลูกทั้งสามต้องผลัดกันดูแลอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความไม่สบายใจ แต่นับว่ายังโชคดี แพทย์บอกว่า แม่ของพวกเขาแค่เครียดและอ่อนล้า ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าอย่างที่เป็นกังวล พักผ่อนมากๆ ไม่นานก็คงดีขึ้น

ดวงอาทิตย์กำลังจะหย่อนตัวลงตรงขอบทะเลระหว่างสองเกาะ ลมทะเลพัดมาเอื่อยๆ ราวกับคนที่เหนื่อยอ่อน วันนี้เป็นวันที่สะพานคอนกรีตความยาว 650 เมตรในชื่อ “สะพานสิริลันตา” จากเรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อของธานีกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งคนงานอีกนับร้อย ได้ทำหน้าที่เชื่อมเกาะลันตาใหญ่กับเกาะลันตาน้อยเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ ผู้คนมากมายจากทุกสารทิศแห่แหนมาร่วมยินดีกันอย่างมืดฟ้ามัวดินตั้งแต่ตอนกลางวัน ทุกคนต่างชื่นชมความสวยงามและยิ่งใหญ่ของสะพาน แต่จะมีใครสักกี่คนเล่า นึกถึงผู้ซึ่งก่อร่างสร้างมันขึ้นมาด้วยสองมืออย่างแท้จริง…

แล้วสุดท้าย การรอคอยของครอบครัวธานีก็สิ้นสุดลง เมื่อถึงวันที่สามพี่น้องได้รับบัตรประจำตัวประชาชน เป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่น่าเสียดายที่ในวันนั้น ธานีไม่ได้อยู่กับครอบครัวแล้ว

ธานีจากโลกนี้ไปก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน แต่แถนเชื่อมั่นเหลือเกินว่าพ่อกำลังเฝ้ามองเขากับพี่ๆ อยู่ด้วยความปีติจากเบื้องบน เพราะพ่อสามารถทำใบเบิกทางให้พวกเขาได้สำเร็จแล้ว

คำขอสุดท้ายของธานี ส่งผลให้ลูกชายทั้งสามได้มีบัตรประจำตัวประชาชนเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ถือกำเนิดบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งอย่างน้อยมันก็ทำหน้าที่ยืนยันตัวตนการมีอยู่จริง และช่วยตอกย้ำว่าพวกเขาก็เป็นหนึ่งในพลเมืองของประเทศนี้ ทั้งยังเปิดทางให้แถนซึ่งกำลังย่างเข้า 18 ปีรวมทั้งพี่ชายทั้งสองสามารถใช้สิทธิ์ออกเสียงและทำหน้าที่ของพลเมืองในฐานะคนไทยคนหนึ่งเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ยิ่งใกล้ถึงวันนั้นพวกเขายิ่งรู้สึกตื่นเต้น ทว่ากลับคิดถึงพ่ออย่างสุดหัวใจ

จากกลางสะพานยามนี้ มองเห็นดวงอาทิตย์จมหายไปในแผ่นน้ำเกินครึ่งดวงแล้ว แผ่นฟ้าฟากฝั่งที่ไกลออกไปเริ่มมีสีส้มเข้าแต่งแต้ม พื้นน้ำราบเรียบเรื่อเรืองสีทองอร่าม อีกมุมหนึ่งหอประภาคารสีขาวยังคงตั้งตระหง่านตะคุ่มๆ ท้าคลื่นลมอยู่บนโขดหินอย่างเช่นที่ผ่านมา ก่อนม่านดำทะมึนจะคืบคลานเข้าครอบคลุมแผ่นน้ำและผืนฟ้า

ราวกับว่าจะร่วมปิดฉากชีวิตของกรรมกรนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ในสำนึกของลูกๆ ทั้งสามคน