“ชีวิตที่บรรเลง” เลียบพรมแดนวรรณกรรมจีนโพ้นทะเล

หน้าปกสีแดงสดกับลายเส้นพู่กันจีนขับเน้นให้หนังสือเล่มนี้แสดงความเป็นจีนออกมาอย่างชัดแจ้ง หากมองเผินๆ ใครหลายคนอาจนึกว่านี่คือวรรณกรรมจีนอีกเล่มหนึ่งที่มีผู้แปลมาเป็นภาษาไทย

“ชีวิตที่บรรเลง” อาจเป็นชื่อเรื่องของนิยายกำลังภายในเรื่องใหม่สักเล่มหรือเปล่านะ? ทั้งชื่อผู้แต่ง-โหยวอวี๋ และผู้แปล-เสี่ยวเพ่ย ล้วนเป็นชื่อภาษาจีน

น่าจะเป็นที่แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ต้องเขียนโดยคนจีน?

หากเราตัดสินจากหน้าปกเพียงเท่านั้น ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่า แท้จริงแล้วนี่คือหนังสือที่เขียนโดยคนจีนโพ้นทะเล

หรือคนไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่งนามว่า นิวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ

นิวัฒน์หรือโหยวอวี๋ รักการเขียนและมีผลงานเขียนตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในหนังสือพิมพ์จีนซินเสียนยื่อเป้า (หนังสือพิมพ์จีนในไทย) อย่างสม่ำเสมอก่อนจะรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น

ข้อเขียนแต่ละชิ้นจึงเขียนเป็นภาษาจีน ก่อนจะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยเสี่ยวเพ่ย ผู้ทำงานแปลข่าวจีนให้แก่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์

แม้จะเขียนเป็นภาษาจีน แต่เนื้อหาภายในกลับสะท้อนมุมมองความคิดของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

“ชีวิตที่บรรเลง” เล่มนี้จึงไม่ใช่วรรณกรรมจีน แต่คือวรรณกรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ที่แม้คุณจะอ่านจีนไม่ออก คุณก็อ่านหนังสือเล่มนี้ได้

เพราะเสี่ยวเพ่ยแปลเป็นภาษาไทยได้อย่างกระชับชัดเจนและสื่ออารมณ์

สามส่วนสำคัญในชีวิตของโหยวอวี๋

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาสามส่วน ได้แก่ ส่วนบันทึกการเดินทาง บทความทั่วไป และบทกวี แต่ละส่วนมีแยกเป็นบทย่อยๆ ความยาวไม่เกินสามหน้า

ส่วนแรกคือบันทึกการเดินทาง เป็นบันทึกเฉพาะบางเหตุการณ์ที่ประทับใจในแต่ละประเทศ ประเทศที่ไปก็หลากหลาย ทั้งจอร์แดน เคนยา แคนาดา เวียดนาม จีน บราซิล เป็นต้น หลายตอนแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของผู้เขียนที่มีต่อธรรมชาติและผู้คนรอบกายตน

นอกจากนี้ยังสอดแทรกเกร็ดประวัติน่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่งด้วย เช่น ตอน “โฮจิมินห์กับดอกกานพลู” ที่เล่าถึงดอกกานพลู หรือติงเซียง ที่ปักอยู่ที่โต๊ะทำงานของโฮจิมินห์

เพราะติงเซียงคือชื่อหญิงสาวที่เคยช่วยดูแลรักษาเมื่อโฮจิมินห์บาดเจ็บสาหัสในสงคราม

โฮจิมินห์รักติงเซียงแต่ก็ไม่ได้แต่งงานสร้างครอบครัวเพราะเขาเห็นว่าภารกิจในการฟื้นฟูประเทศชาติต้องมาก่อนเรื่องหัวใจของตน

ส่วนที่สองคือบทความทั่วไป มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเยาว์ของโหยวอวี๋ที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างและผู้คนในย่านสำเพ็งมาตลอดชีวิต

เนื้อหาในส่วนนี้จึงสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้ที่สนใจศึกษามุมมองของชาวจีนโพ้นทะเลย่อมได้รับรู้ทัศนคติที่ชาวไทยเชื้อสายจีนผู้หนึ่งมีต่อตนเอง ประเทศจีน และประเทศที่ตนอาศัยอยู่

เนื้อหาในส่วนนี้มีทั้งเรื่องราววัยเยาว์ เหตุการณ์ไฟไหม้ในย่านสำเพ็ง และความเป็นไปของชุมชนวรรณกรรมจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย

ตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นจีนคือตอน “ประธานสโมสรนักเรียน” ที่ว่า

ครั้งแรกที่ได้กลับสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่ ก็มีทหารหน่วยหนึ่งมาสอบถามว่าผมมาจากที่ไหน? เป็นคนชาติอะไร?

ผมบอกว่า “มาจากประเทศไทย เป็นคนไทย”

ทหารถามอีกว่า “พ่อแม่ของเธอเป็นคนชาติอะไร”

ผมบอกว่า “ท่านเป็นชาวจีน”

ทหารหัวเราะพลางพูดว่า “พ่อแม่ของเธอเป็นคนจีน เธอก็เป็นคนจีน”

ดวงตาของผมเป็นประกายวูบหนึ่ง ใช่สิ ช่างเลอะเลือนจริงๆ ได้มาเสาะหาพี่สาวร่วมสายโลหิตบนแผ่นดินแม่ ผมได้ทำในสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวจีนอีกครั้ง

(หน้า 184-185)

นอกจากนี้ในบางบทตอนโหยวอวี๋ยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับการควบคุมดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไว้อย่างน่าสนใจว่า

เสียอารมณ์ทำร้ายร่างกาย ไม่กี่วันยังสามารถฟื้นฟูได้เช่นเดิม แต่เสียความรู้สึกทำร้ายจิตใจ บางครั้งเวลาหลายชั่วอายุคนยังไม่อาจทุเลาได้ จึงต้องระมัดระวังต่อการเสียความรู้สึกมากกว่าการเสียอารมณ์ให้มาก หากยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวยังสามารถปล่อยให้เวลาค่อยๆ ชำระล้างจิตใจให้ลืมเลือน แต่เมื่ออายุมากขึ้นแก่ตัวลง เวลาเหลือไม่มากนัก อาจต้องเก็บความช้ำใจเข้าโลงไปด้วย ถึงตอนนั้นต่อให้ปากอมไข่มุก ก็เกรงว่ายังต้องมีโลหิตไหลหลั่งทั้งเจ็ดทวาร

(หน้า 213-214)

บทความทั่วไปแต่ละบทในเล่มนี้ได้เปิดเผยตัวตนของโหยวอวี๋อยู่มากพอสมควร ครั้งหนึ่งเขาเล่าถึงเรื่องปากกาหมึกซึมของพี่สะใภ้ที่พี่ชายให้ยืมมาใช้แต่เขาก็กลับทำพังเสียโดยไม่ได้ตั้งใจ

บางตอนก็เล่าถึงครูในวัยเด็กของเขาที่มักจะให้นักเรียนเขียนเรียงความ แล้วเขาก็จะแสดงความคิดเห็นตอบกลับไปในงานของนักเรียนเสมอ

หากใครเขียนดีมากจะได้ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โรงเรียนด้วย จึงทำให้เด็กๆ รวมทั้งโหยวอวี๋กระตือรือร้นในการเขียนงาน

ความรักการเขียนติดตัวโหยวอวี๋สืบมา จนกระทั่งช่วงปี 2545-2547 เขาได้เขียนข้อเขียนเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะหลายชิ้นจนรวมได้เป็นหนังสือเล่มนี้ในท้ายที่สุด

พลังและความรักการเขียนของเขานั้น เราเห็นได้ชัดเจนจากผลงานทุกบทในเล่มนี้ และจากข้อความในบท “ความคิดคำนึงในหนึ่งปี” ดังนี้

ไม่ทราบว่าเพราะอะไร ยิ่งเขียนก็ยิ่งรัก ความรู้สึกทุกตัวอักษรปรากฏอยู่บนกระดาษ เหมือนการได้ชื่นชมตัวเองในกระจก ประโยชน์ที่เห็นผลที่สุดเห็นจะเป็นการลืมเรื่องวุ่นวายใจทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าหากเป็นเวลาที่ผมทุ่มเทจิตสมาธิทั้งมวลให้กับงานเขียนแล้ว ขณะที่นั่งนิ่งๆ ยังอาจเกิดความกระวนกระวายใจบ้าง มีแต่ตอนที่ได้ขีดเขียน ที่อารมณ์ความรู้สึกพลุ่งพล่านขึ้นมา ได้ออกท่องเที่ยวไปทั่ว ตัวอักษรปรากฏขึ้นทีละตัวทีละตัว จากดวงดาว จันทร์สกาว ติดตามมาด้วยแสงสุริยันสาดส่องผ่านปลายปากกาที่อยู่ในลิ้นชัก เป็นลิ้นชักที่เก็บประกายน้ำตาและเสียงหัวเราะของผมเอาไว้

(หน้า 170)

ส่วนที่สามคือบทกลอน ซึ่งเมื่อแปลออกมาเป็นไทยแล้วมีท่วงทำนองอย่างกลอนเปล่า จำนวนทั้งสิ้น 16 บท เนื้อหาของบทกลอนมักเกี่ยวข้องกับการชมธรรมชาติทั้งแม่น้ำ ทะเล ดอกไม้นานาพรรณ รวมถึงการกล่าวถึงมิตรภาพระหว่างบุคคล หากใครสนใจด้านการแปลบทกวีจีน-ไทย ก็น่าจะนำไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ได้ด้วย

จากเนื้อหาทั้งสามส่วน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนประเภทใด โหยวอวี๋ล้วนแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวที่เขามีต่อสรรพสิ่ง และสำหรับเขาแล้วงานเขียนคือการงานที่ซึมลึกเข้าไปในจิตใจและเป็นสิ่งที่ทำให้เขาหลั่งน้ำตาได้เสมอ ดังที่เขาได้เขียนไว้ว่า

การเขียนเรื่องราวหนึ่ง แม้ว่าจะใช้เพียงหนึ่งสมองกับสองมือ แต่น้ำตาที่ร้องไห้ออกมาทุกครั้ง ยังมีมากกว่าเหงื่อที่หลั่งออกมา เมื่อยามออกกำลังกายตอนเช้าเสียอีก มิน่าเล่าปัญญาชนคนโบราณจึงซูบผอมนัก

(หน้า 242)

วรรณกรรมจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย

พื้นที่ว่างที่รอการศึกษา

นอกจาก “ชีวิตที่บรรเลง” แล้ว วรรณกรรมพิมพ์ที่เขียนเป็นภาษาจีนโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังคงมีการจัดพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าในอดีต กระนั้นก็ยังมีกำลังสำคัญหลักคือสมาคมนักเขียนไทย-จีน และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีนคอยจัดการสนับสนุนการจัดพิมพ์อย่างน้อยปีละเล่มสองเล่มเสมอ

แม้ทุกวันนี้วรรณกรรมที่เขียนเป็นภาษาจีนและพิมพ์ในประเทศไทยเช่นนี้จะซบเซาและมีไม่มากนัก แต่นับว่าเป็นกลุ่มวรรณกรรมที่น่าสนใจศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดานักเรียนนักศึกษาผู้รู้ภาษาจีนทั้งหลาย

ส่วนผู้ไม่รู้ภาษาจีน “ชีวิตที่บรรเลง” ของโหยวอวี๋ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความรู้จักกับวรรณกรรมประเภทนี้ เพราะเป็นหนังสือที่มีสองภาษา (ไทย-จีน) ผู้อ่านจะได้เปิดรับและเรียนรู้เขตแดนใหม่ทางวรรณกรรม ที่ว่าด้วยวรรณกรรมจีนโพ้นทะเลซึ่งดำรงอยู่ร่วมกับวรรณกรรมไทยในยุคปัจจุบัน

พื้นที่ของวรรณกรรมจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย แม้จะเล็กแต่ก็นับได้ว่าน่าสนใจยิ่ง เพียงแต่ยังขาดผู้ที่จะมาศึกษาและกล่าวถึงให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

และนอกจากการศึกษาด้านเนื้อหาแล้ว ผู้สนใจศาสตร์ด้านการแปลจีน-ไทย ก็ยังสามารถเรียนรู้การแปลข้อเขียนประเภทต่างๆ ทั้งสารคดีท่องเที่ยว บทความทั่วไป และบทกวี ผ่านการศึกษาต้นฉบับของโหยวอวี๋ และสำนวนแปลของเสี่ยวเพ่ยด้วย