“ชู้ซ้อนชู้” ในวรรณคดี “กากีคำกลอน” รักวุ่นๆของนางกากีกับ ‘คน’ ‘นก’ และ ‘คนธรรพ์’

ญาดา อารัมภีร

เคยได้ยินคำเก่าเล่าขาน “หนามตำเล็บ เห็บเข้าหู เมียมีชู้” คือเจ็บสามประการสุดทานทน โดยเฉพาะ ‘เมียมีชู้’ คือเจ็บที่สุดของชาย เจ็บไม่รู้หาย ทำร้ายจิตใจสาหัส เสียหน้าเสียเกียรติ ความภาคภูมิใจความมั่นคงทางใจไม่เหลือซาก

คิดๆ ดูก็จริงตามนั้น แทบทุกวันไม่ขาดพาดหัวข่าวทำนองนี้ เมื่อความเจ็บมาพร้อมกับความแค้น จบลงที่

“ผัวเดือด เมียซุกชู้ คว้าปืนยิงแสกหน้า ชู้สาหัส”

“บาดตา! เมียพาชู้เข้าบ้านฟันหัวแบะ”

“ผัวหึงโหดคว้ามีดแทงชายชู้ดับคาบ้าน”

อีกทั้งชื่อเพลงสมัยนี้ไม่ต่างจากพาดหัวข่าว “ผัวน้อยคือชู้ ผัวรู้คือตาย” ตายเดี่ยวหรือตายคู่ ฟังเพลงก็รู้

 

ระหว่าง ‘ผัว’ กับ ‘ชู้’ ยังแค้นขนาดนี้ ถ้าเป็น ‘ชู้’ กับ ‘ชู้’ จะแค้นขนาดไหน เรื่องราว ‘ชู้ซ้อนชู้’ อยู่ในวรรณคดีเรื่อง “กากีคำกลอน” กวีใช้บทบาทและพฤติกรรมสัมพันธ์รักยุ่งเหยิงระหว่างนางกากีกับ ‘คน’ ‘นก’ และ ‘คนธรรพ์’ (เทพชั้นต่ำชำนาญการขับร้องดนตรี) เพื่อ ‘หวังแสดงแห่งจิตหญิงพาล ให้ชายชาญรู้เชิงกษัตรีย์’ ว่ามากมารยา

ด้วยรูปลักษณ์ตรึงตาและกลิ่นกายตรึงใจ ใครได้สัมผัสนาง กลิ่นหอมจะติดกายผู้นั้นนานถึง 7 วัน สาวน้อยกากีจึงเป็นมเหสีที่ท้าวพรหมทัตทั้งรักทั้งหวงถึงขั้นหลงใหล

ดอกไม้ดึงดูดใจแมลงฉันใด หญิงงามก็ดึงดูดใจชายฉันนั้น วันหนึ่งเมื่อนางกากีสบตาพญาครุฑที่แปลงกายเป็นมนุษย์หนุ่มน้อยรูปงามมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัต

“ต่างประหวัดหัททัยให้ไหววาบ เพลิงราคซ่านซาบเสียวกระสัน

สองจิตสองคิดประจวบกัน นางป่วนปั่นรันทดระทวยกาย”

 

เมื่อปล่อยกายปล่อยใจให้ความปรารถนานำทาง พญาครุฑก็ตกที่นั่งชายชู้ด้วยความยินยอมพร้อมใจของนางกากี ฝ่ายท้าวพรหมทัต อยู่ๆ พระมเหสีหายไปไร้ร่องรอย ทรงกินไม่ได้นอนไม่หลับ ราวกับโลกทั้งโลกถล่มทลาย

นาฏกุเวรคนธรรพ์ทูลว่า เห็นหนุ่มน้อยที่เล่นสกากับพระองค์สบตานางกากี ฉับพลันท้องฟ้าโกลาหลนางหายไป หนุ่มที่ว่าน่าจะเป็นพญาครุฑแปลงกายมาลักพานาง ขออาสาสืบหาความจริง เจ็ดวันข้างหน้าพญาครุฑมาเล่นสกา ตนจะแปลงกายเป็นไรแทรกขนพญาครุฑไปยังวิมานสิมพลี (ฉิมพลี) และพยายามหาวิธีให้ตัวการนำนางมาส่งคืนให้จงได้ ในที่สุดโอกาสก็มาถึง นาฏกุเวรแปลงเป็นไรให้พญาครุฑพาไปยังที่พำนัก กิจกรรมทำรักระหว่างพญาครุฑกับนางกากีเต็มสองตานาฏกุเวร

รุ่งเช้าทันทีที่พญาครุฑบินไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ไรก็คืนร่างเป็นนาฏกุเวรคนธรรพ์ และแล้ว ‘ชู้ซ้อนชู้’ ก็เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร

“กากีสมปองสองชื่น กลางคืนครุฑแอบอยู่แนบข้าง

ทิวาวันคนธรรพ์เข้าแนบนาง ต่างรสสดชื่นให้โอชา”

ถึงกำหนดพญาครุฑไปเล่นสกากับท้าวพรหมทัต นาฏกุเวรคนธรรพ์ใช้วิธีเดิมกลับมาพร้อมพญาครุฑ และส่งสัญญาณให้ท้าวพรหมทัตรู้ว่าคู่ดวลสกาคือผู้ลักพาพระมเหสี หลังพญาครุฑกลับไป นาฏกุเวรเบี่ยงเบนความจริงทูลว่าพบนางกากีที่วิมานฉิมพลี เกรงนางจะบอกพญาครุฑ จึงปิดปากนางโดยเป็นชู้ซ้อนชู้ ด้วย “หวังจะแก้แค้นครุฑให้ส่งนาง”

จิตใจท้าวพรหมทัตยามนี้ กวีนำ ‘ไฟ’ และ ‘พญานาค’ มาเปรียบเทียบ

“หทัยวับเพียงเพลิงเถกิงผลาญ

เปรียบดังวาสุกรีไกรชัยชาญ ใครประหารขนดหางให้โกรธา”

 

ถึงจะแค้นแสนแค้น ท้าวพรหมทัตก็ข่มใจไม่ทำลายชีวิตนาฏกุเวร ‘เมื่อหญิงร้ายชายโหดสันดานพาล ไม่ต้องการที่จะก่อเวราไป’ ทรงปรารภว่า

“เราเสียดวงสมรไปได้อัปยศ จะหย่อนยศทั่วทิศทั้งสี่

ทำไฉนจึ่งจะได้กากี คืนบุรีให้เรืองเดชาชาญ”

นาฏกุเวรคนธรรพ์ทูลว่ามีวิธีทำให้พญาครุฑนำนางมาคืน เจ็ดวันต่อมาเมื่อพญาครุฑมาเล่นสกา นาฏกุเวรดีดพิณครวญเพลงที่มีเนื้อหาราวคมมีดกรีดใจพญาครุฑเกี่ยวกับกลิ่นกายนางที่ติดร่างผู้สัมผัส สื่อสัมพันธ์แนบชิดระหว่างกัน

“โอ้พระพายชายกลิ่นมารัญจวน หอมหวนนาสาเหมือนกากี

รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้ เหมือนเมื่อไปร่วมภิรมย์ประสมศรี

ในสถานพิมานสิมพลี กลิ่นยังซาบทรวงพี่ทั้งวรกาย

นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน กลิ่นสุคนธรสรื่นก็เหือดหาย

ฤๅว่าใครแนบน้องประคองกาย กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา”

คำเสียดสีในเนื้อเพลงทำให้พญาครุฑทั้งโกรธทั้งงุนงงสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีใครข้ามห้วงน้ำกว้างใหญ่ไพศาลไปวิมานสิมพลี จึงกล่าวแกมเย้ยหยันนาฏกุเวรว่า

“ผู้ใดข้ามนทีสีทันดร ก็ม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น

แสนมหาพระยาครุฑยังเต็มบิน จึ่งล่วงสินธุถึงพิมานทอง

นี่แนะนายไปได้ไฉนเล่า ฤๅโดยเดาว่าเล่นพอเห็นคล่อง

ฤๅเหาะเหินเดินได้ดั่งใจปอง จึงไปเห็นห้องพิมานชัย

ฤๅประกอบกายสิทธิ์ฤทธิเวท วิเศษด้วยมนตราเป็นไฉน

เราก็หวังอยู่ด้วยยังไม่เคยไป คิดจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์”

พระพี่เลี้ยงท้าวพรหมทัตจะ ‘วางเฉย’ หรือ ‘ตอบโต้’

ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร