มหาเวทย์ผนึกมาร (1)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนังสือแปลไทยชุดนี้ใช้คำว่า “คำสาป” ในบทแปลหลายตำแหน่ง ส่วนใหญ่มักใช้ในความหมายว่า “ปีศาจ” เข้าใจว่านักเขียนและผู้แปลตั้งใจสื่อว่าที่เห็นเป็นตัวตนมากมายในหนังสือมิใช่รูปธรรมที่จับต้องได้หรือมองเห็นได้ดั่งปีศาจทั่วไป แต่เป็นนามธรรม หากใช้เป็นคำกริยาก็ต้องว่า “สาป” หรือ “ถูกสาป”

พูดง่ายๆ ว่าที่เห็นเป็นผีหรือปีศาจรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์นั้นมิได้มีอยู่จริง เป็นเพียงตัวแทนของ “คุณไสย” หรือ “อาคม”

ครั้นเมื่ออ่านไปจะพบว่าผู้เขียนและ/หรือนักแปลดูเหมือนจะนิยามคำว่าอาคมแตกต่างออกไปจากความเข้าใจของคนทั่วไป

โดยสรุปคือนี่เป็นหนังสือที่อ่านแล้วปวดหัวมากในตอนแรกๆ

 

จากงานเขียนของ Gege Akutami ตัวเอกชื่ออิตาโดริ ยูจิ เป็นนักเรียนโรงเรียนไสยเวทปี 1 เขาจับพลัดจับผลูกินนิ้วของเทพอสูรเรียวเมนสุคุนะไป 1 นิ้ว เทพอสูรเรียวเมนสุคุนะมีสี่มือ มันจึงมี 20 นิ้ว อิตาโดริจะพ้นจากคำสาปของสุคุนะได้คือกินให้ครบ 20 นิ้ว

แต่ปัญหาคือเพียงนิ้วเดียว เทพอสูรเรียวเมนสุคุนะก็สามารถใช้ร่างของอิตาโดริได้แล้ว อิตาโดริกลายเป็น “ภาชนะ” ของสุคุนะ

โกะโจ ซาตารุ ผู้ใช้ไสยเวทระดับพิเศษพาอิตาโดริเข้าโรงเรียนไสยเวทเพื่อฝึกวิชา โดยให้ฟุชิรุโงะ เมงุมิ นักเรียนปี 1 ที่มีวิชาแก่กล้าพอตัวคอยเป็นพี่เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีสาวคุกิซากิ โนบาระ ปี 1 เสริมทีมอีกคนหนึ่ง

บัดนี้ทีมปราบปีศาจรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เรื่องไม่ได้อ่านง่ายเพียงนั้น เหตุเพราะหนังสือใช้คำว่า “คำสาป” เป็นหลัก กริยาปราบปีศาจจึงกลายเป็นคำว่า “ปัดเป่า” นัยว่าปีศาจมิได้มีอยู่จริงตั้งแต่แรกที่เรานักอ่านเห็นนั้นเป็นเพราะนักวาดช่วยให้เรามองเห็นเท่านั้นเอง

หนังสือช่วงแรกๆ เป็นไปตามขนบนิทานการ์ตูนปราบปีศาจ นั่นคือแนะนำพื้นเพและภูมิหลังของตัวละครไปด้วยกันกับการเปิดตัวปีศาจระดับรองๆ ก่อนที่จะพบกับพวกแก่กล้าอาคมขึ้นในภายหลัง

แก่นเรื่องคือเรื่องที่อิตาโดริถูกเรียวเมนสุคุนะสิงสู่ เอ๊ะ ไม่ใช่สิ ควรเขียนว่าถูกเรียวเมนสุคุนะสาป บัดนี้สุคุนะใช้ร่างอิตาโดริได้และทำให้อิตาโดริเกือบตาย เอ๊ะ ไม่ใช่สิ อิตาโดริตายไปแล้ว ศพถูกคลุมผ้าในห้องเก็บศพรอคุณหมอมาชันสูตร คุณหมอสาวใส่ถุงมือเตรียมชำแหละหาสาเหตุการตายแล้วจริงๆ แต่เป็นอิตาโดริฟื้นขึ้นมาทันเวลา

อิตาโดริฟื้นได้เพราะสุคุนะยังมีความจำเป็นต้องใช้ “ภาชนะ” อิตาโดริอยู่ จึงมีกติกาเข้าใจยากเกิดขึ้นที่กลางเล่มสอง

สุคุนะตั้งกติกาไว้ว่า “เงื่อนไขมีสองข้อ 1.ถ้าข้าพูดว่า พันธะ ต้องมอบร่างกายให้ (ข้า) 1 นาที และ 2.คือลืมสัญญานี้”

เป็นไปตามขนบการ์ตูนญี่ปุ่นอีกเช่นเดียวกัน ช่วงแรกๆ ของหนังสือเป็น “สิ่งที่กำหนดให้” หลังจากนั้นจึงวาดลวดลายวายป่วงภายใต้สิ่งที่กำหนดให้ จะว่าไปนี่เป็นโครงเรื่องการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นั่นคือถ้าเป็นแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะแตกต่างกันก็เพียงแค่ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไรรองรับ

แต่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้าถึงจิตวิญญาณนักอ่านได้อย่างน่าทึ่งเสมอๆ เช่น สิ่งที่กำหนดให้อีกข้อหนึ่งคือคำสาปที่เห็นเกิดขึ้นจากพลังงานด้านลบของมนุษย์ ถ้าเป็นภาษาสตาร์วอร์สก็ต้องใช้คำว่าด้านมืด ความเศร้า ความลุ่มหลง ความโกรธ ความเกลียด สี่อย่างนี้เป็นพลังงานด้านลบตัวสำคัญ หากใครปล่อยให้ด้านมืดครอบงำนานเกินไปย่อมถูกสาปได้โดยง่าย

กล่าวคือ ถูกปีศาจสิงสู่หรือกลายเป็นปีศาจได้โดยง่าย

บทสนทนาของปีศาจสองตนน่าสนใจ

“มนุษย์เกิดจากความหลอกลวง” ปีศาจตาเดียวมีปล่องไฟบนหัวพูดขึ้น “ความรู้สึกและการกระทำที่ถูกต้องจะมีเบื้องหลังเสมอ แต่ความรู้สึกด้านลบอย่างความเกลียดชังหรือเจตนาฆ่า ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงที่ไม่หลอกลวง”

ข้อความท่อนนี้เข้าใจได้ไม่ยาก และเป็นคำพูดที่ตีแสกหน้ามนุษย์ตรงๆ เหมือนที่ฟรอยด์ว่าไว้ ความรู้สึกและการกระทำใดๆ ของคนเรามีเบื้องหลังเสมอ พูดอีกนัยหนึ่งคือเราหลอกตัวเองได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่เราทำดีหรือใจบุญสุนทานเราก็ไม่พ้นทำไปเพราะหลอกตัวเองหรือปิดบังซ่อนเร้นบางสิ่ง

แต่ที่จริงแท้แน่นอนกลับเป็นสัญชาตญาณดิบ (basic instinct) นั่นคือเซ็กซ์และการทำลายล้าง “โดยพวกเราคำสาปที่ถือกำเนิดมาจากตรงนั้นนี่ล่ะ” ปิดบัลลูนด้วยบทแปลเข้าใจยากอีกเช่นกัน แต่ใช่

 

เกิดคดีฆาตกรรมวิตถารในโรงหนัง ศพสามศพมีสภาพหัวบิดเบี้ยวน่าอุจาด ผู้ต้องสงสัยเป็นเด็กนักเรียนชื่อ จุนเป ที่ชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ บัดนี้เขาโดนสาป ผู้สาปคือมาฮิโตะ สมุนของปีศาจสองตนที่กำลังคิดการใหญ่

มาฮิโตะพูดกับจุนเปตอนหนึ่งว่า “เพราะว่ามนุษย์ ถ้าไม่หาข้ออ้างก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้”

เป็นเช่นนี้จริงๆ คนเรายากที่จะรู้จริงๆ ว่าตนเองคิดอะไร อะไรที่เราคิดส่วนใหญ่จะอยู่ใต้กลไกการป้องกันตัวทางจิตที่เรียกว่า “ข้ออ้าง” หรือ rationalization แล้วมีหลายครั้งที่เราอ้างซับอ้างซ้อนหลายชั้นจนกระทั่งตนเองเชื่อว่าเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ยกตัวอย่าง คิดว่างานที่เราทำมีคุณค่า นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิค หากงานที่ทำมาทั้งชีวิตไม่มีคุณค่าจิตใจย่อมยอมรับไม่ได้ คนเราจึงต้องอ้างเหตุผลมาให้จงได้ว่าที่แท้งานที่เราทำมีคุณค่า และเราได้ทำดีต่อแผ่นดินมากมาย เป็นต้น บางคนเผลอทวงบุญคุณเฉย จะว่าไปมาฮิโตะก็เป็นคำสาปหรือปีศาจที่กำลังใช้ข้ออ้างว่างานของตนมีคุณค่าอยู่เช่นกัน

อิตาโดริ ยูจิ เป็นภาชนะของจอมปีศาจเรียวเมน สุคุนะ เมื่อถึงตอนกลางเล่มสี่ เมื่ออิตาโดริต่อสู้ดุเดือดกับมาฮิโตะโดยที่สุคุนะไม่ยอมช่วย สุคุนะรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองก็จำเป็นต้องพึ่งพิงอิตาโดริเพื่อเก็บรวบรวมนิ้วทั้งยี่สิบมาให้ครบ แต่มันก็มี “ข้ออ้าง” ที่จะปล่อยให้อิตาโดริสู้จนตัวตายได้เช่นกัน •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์