จดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึก “โทษประจาน”สุดสยอง แม้ไม่ได้ทำผิด ก็ถูกเอา”หัวแขวนคอ”

ญาดา อารัมภีร
พระลบและพระมงกุฏจับม้าอุปการของพระราม

ประจาน (ตอนที่ 1)

‘ประจาน’ คือ ประกาศเปิดเผยความชั่วให้รู้ทั่วกันด้วยสารพัดวิธี

ดังที่ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้รายละเอียดว่า ประจานมีทั้ง ‘พูด’ และ ‘ทำ’ อาทิ พูดประจาน ตัดหัวเสียบประจาน พาตระเวนประจานทั่วเมือง

หนังสือเก่าๆ บางเล่มใช้ว่า “ประจาร”

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) บันทึกเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาไว้ตอนหนึ่งว่า

“การลงโทษแบบประจาน เป็นที่น่าอัปยศอดสูนัก เช่น นำนักโทษล่ามโซ่ไปประจานไว้ในที่สาธารณะ หรือเอาคอใส่เครื่องจองจำรูปร่างคล้ายกระได ที่เรียกกันว่า Cangue ในภาษาสยามเรียกว่า คา (ka)”

“เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ในประเทศสยาม มีผู้เห็นออกพระศรีมโหสถ ซึ่งเป็นชาติแขกพราหมณ์ต้องถูกจำคาประจานอยู่ถึง 3 วัน โดยมีศีรษะนักโทษที่ต้องรับพระราชอาญาประหารชีวิตแขวนอยู่ที่คอ ทั้งนี้หาใช่ท่านต้องหามีส่วนร่วมประกอบกรรมทำผิดกับผู้ที่เขาเอาศีรษะมาแขวนไว้ที่คอก็หาไม่ เป็นแต่ว่าทอดธุระไม่เอาใจใส่ดูแลคนที่อยู่ในปกครองของท่านเท่านั้นเอง…”

“ลางทีก็เห็นขุนนางตั้งหลายคนต้องจำคาประจานล้อมกันอยู่เป็นวง กลางวงนั้นมีศีรษะของนักโทษที่ถูกประหารชีวิต และศีรษะนั้นผูกด้วยเชือกหลายเส้น โยงไปล่ามไว้กับคอขุนนางเหล่านั้นทุกคน”

 

การประจานในวรรณคดีแม้ไม่สยองเท่าของจริง แต่สะท้อนแนวทางการลงโทษสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ดังกรณีของไวยทัต นางคันธมาลี และยายเฒ่าทัศประสาทในบทละครนอกเรื่อง “คาวี” ถูกพระคาวีจัดเต็ม สั่งเสนาว่า

“จงจองจำขื่อคาพาตัว ตระเวนไปให้ทั่วเขตขัณฑ์

ทั้งทางเรือทางบกสักหกวัน แล้วพิฆาตฟาดฟันให้บรรลัย”

สามแสบที่ร่วมกันเล่นงานพระคาวีได้รับโทษอย่างสาสม

“จองจำพันธนาห้าประการ นครบาลถือดาบเดินหน้า

ให้ร้องตามโทษตัวที่ชั่วช้า เสนาตีฆ้องป่องป่องไป”

ในที่นี้มีทั้งร้องประกาศความชั่วของตัวเอง และถูกพาตระเวนประจานทั่วเมืองให้เสื่อมเกียรติและอับอาย

คำว่า ‘ตระเวน – ทเวน’ หรือ ‘ทะเวน’ หนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของสังฆราชปาลเลกัวซ์ (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ให้ความกระจ่างว่า

“ยังมีโทษสถานหนักอีกประการหนึ่ง เรียกว่า ตระเวน (ta – ven) คือดังนี้ : อาชญากรใส่ตรวนที่ขา และใส่คาที่คอถูกนำตระเวนไปทั่วเมือง มีการตีฆ้องนำและแห่ห้อมล้อมโดยตำรวจถืออาวุธ แล้วถูกบังคับให้ร้องบอกกล่าวด้วยเสียงอันดังว่า : ตูข้ากระทำความผิดอย่างนั้นๆ สูเจ้าอย่าได้เอาเยี่ยงอย่างตูข้าเลย ถ้านักโทษไม่ร้องบอกกล่าวหรือร้องไม่ดัง ตำรวจที่อยู่ข้างหลังก็จะฟาดเข้าให้ด้วยสันดาบ การแห่ตระเวนดังนี้ กระทำอยู่ถึงสามวันติดต่อกัน หลังจากนั้นก็จะถูกนำไปตระเวนทางน้ำรอบเมืองโดยทำนองเดียวกันนี้อีกสามวัน”

 

ชายที่ทำมิดีมิร้ายกับผู้เยาว์ “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ระบุโทษไว้ว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าชายมีเมียแล้วก็ดี หาเมียไม่ก็ดี กระทำทุราจารข่มขืนเดกไม่รู้เดียงษาแต่อายุศม 12 ขวบลงมามิได้ถึงชำเราให้ไหมโดยประถมผิดเมีย ถ้าโลหิตตกถึงชำเราให้ไหมโดยประถมผิดเมีย ทวีคูนตามบันดาศักดิ์ เปนสินไหม เปนพิไนยกึ่งให้ลงพระราชอาญา เฆี่ยน 100 ที ทเวนบก 3 วัน ทเวนเรือ 3 วัน แล้วส่งไปเปนตะพุ่นย่าช้างหลวง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นี่ก็ทเวนบก 3 วัน ทเวนเรือ 3 วันเช่นกัน

ตัวละครเด็กในวรรณคดีที่ต้องโทษตระเวน ได้แก่ โอรสของพระรามและนางสีดาในบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราม “ให้จองจำทำโทษพระมงกุฎ จะรู้ว่าเป็นบุตรก็หาไม่”

“บัดนั้น องค์จักรนารายณ์ซ้ายขวา

จองจำทำโทษกุมารา แล้วพาตัวเที่ยวทะเวนไป

ข้างหน้านั้นมีคนตีฆ้อง มาตามท้องถนนหนทางใหญ่

สอนให้พระกุมารชาญชัย ร้องไปตามโทษที่ถึงตาย”

ระหว่างถูกพาตัวตระเวนรอบเมือง เจ้าหน้าที่ก็สอนให้พระมงกุฎร้องประกาศความชั่วตัวเองว่าเป็นกบฏ ต้องโทษถึงชีวิตเพราะขี่ม้าอุปการและทำร้ายหนุมาน ทหารเอกของพระราม

“บัดนั้น เหล่าพวกเพชฌฆาตอาจหาญ

เที่ยวตระเวนเวียนรอบขอบปราการ ครั้นถึงที่สถานตะแลงแกง

จึ่งเอากุมาราขึ้นขาหย่าง ประจานไว้ที่กลางทางสามแพร่ง”

‘ขาหยั่ง’ – ‘ขาหย่าง’ เกี่ยวกับการประจานอย่างไร

ติดตามฉบับหน้า •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร