กบฎเพื่อสันติภาพ | ‘ปักกิ่งไม่อิงนิยาย’

“อย่าลืมที่ครูบอกละ ต้องไปพบให้ได้นะคะ” เป็นคำพูดของอาจารย์ที่ได้สั่งเอาไว้ก่อนที่ผมจะเดินทางมาทำงานที่สถานีวิทยุนานาชาติจีนประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่เดียวกับที่อาจารย์เคยทำมาก่อนเมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว อาจารย์บอกให้ผมไปพบผู้อาวุโสชาวไทยท่านหนึ่ง ซึ่งได้มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลานานหลายสิบปีทีเดียว

แรกเริ่มเดิมทีผมเองไม่ได้ใส่ใจมากนัก เพราะเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ใหม่ๆ มีเรื่องให้ทำให้จัดการหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงาน เรื่องหาบ้านเช่า ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่  และต้องอดทนกับความคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว จนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็นเดือน ผมจึงมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้อาวุโสท่านนั้นตามที่อาจารย์ได้สั่งไว้

รถแท็กซี่จอดที่หน้าคอนโดย่านใจกลางกรุงปักกิ่ง ผมขึ้นลิฟต์ไปชั้น 2 แม้จะจำหมายเลขห้องไม่ได้ก็พอจะรู้ได้ว่าเป็นห้องไหน เพราะมีรูปเด็กน้อยผมจุกยกมือไหว้และมีคำว่า สวัสดี ติดอยู่ที่หน้าประตู ผมกดกริ่ง ผู้มาเปิดเป็นหญิงสูงวัย แต่ดวงหน้ายังมีเคล้าความงามในอดีต ผมยกมือไหว้และแนะนำตัวตามที่ได้คุยกันทางโทรศัพท์มาก่อนหน้านี้ หญิงสูงวัยรับไหว้และเชื้อเชิญให้เข้ามาในบ้าน ผมมองไปรอบๆ ที่นี่กว้างขวางน่าอยู่ มีห้องรับแขก ระเบียงนั่งเล่น มุมทานข้าว ครัว ห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วน และมีห้องนอนอีก 3 ห้อง นับว่าเป็นบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากทีเดียวสำหรับเมืองใหญ่ที่มีประชากรแออัด และอาศัยกันอยู่แต่บนตึกสูงอย่างปักกิ่ง

ชายชรานั่งตัวตรงอยู่ที่เก้าอี้ห้องรับแขก ผมสีดอกเลาบางเบา ดวงหน้าเรียบเฉยแต่มีรอยยิ้มน้อยๆแสดงออกถึงความเมตตาแฝงอยู่ ผมเดินเข้าไปสวัสดีพร้อมกับแนะนำตัว บอกไปว่า ผมมาทำงานในหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยที่สถานีวิทยุนานาชาติจีน เป็นลูกศิษย์อาจารย์สุธาทิพย์ อาจารย์บอกว่าถ้ามีโอกาสให้ผมมาเยี่ยมและฝากความคิดถึงถึงคุณลุง  ชายชรายิ้มพร้อมกับพยักหน้ารับ ไถ่ถามชีวิตความเป็นอยู่และหน้าที่การงานในต่างแดนของผม งานการหนักหนามากน้อยแค่ไหน ชาวจีนที่หน่วยดูแลดีหรือไม่ และบอกอีกว่า ถ้ามีอะไรให้บอกได้

“ต้องถือว่า เรามาช่วยเขาอย่างมิตรที่ดี เขาต้องดูแลเราอย่างมิตรที่ดีเช่นเดียวกัน” ผู้อาวุโสว่า

“ครับ” ผมตอบไปว่า เพื่อนชาวจีนที่หน่วยดูแลผมอย่างดีตั้งแต่ลงจากสนามบิน ช่วยหาบ้าน พาไปต่อวีซ่า รวมถึงกิจธุระอื่นๆอีกจิปาถะ คุณลุงพยักหน้ารับ

“เห็นว่าเป็นลูกศิษย์ของสุธาทิพย์เหรอ” ผู้อาวุโสถามขึ้น ผมตอบว่าใช่ ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์สุธาทิพย์ที่ไม่เคยได้เรียนในห้องเรียนที่อาจารย์สอน   แต่ผมนำเรื่องสั้นที่เขียนไปให้อาจารย์ช่วยวิจารณ์อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ จนกระทั่งจบและทำงานแล้วอาจารย์ก็ยังช่วยอ่านช่วยวิจารณ์ให้

“อือ… ชอบเขียนหนังสือเหรอ”

“ครับ ก็เขียนอยู่ ได้พิมพ์บ้าง ไม่ได้บ้าง” ผมตอบ ผู้อาวุโสมองหน้า

“เราต้องตอบตัวเองก่อนนะว่า เราจะเขียนเพื่อใคร สิ่งที่เราเขียนจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่” คุณลุงหยุดและพูดต่อ “จะเลือกให้ดอกไม้หอมหรือยาพิษกับประชาชน ลองไปคิดดู” ผมไม่ตอบ ได้แต่นิ่งฟัง

แต่พอคุยไปได้สักพักผมเองกลับไม่รู้จะพูดอะไร ความที่เป็นคนพูดน้อย และถ้ายังไม่คุ้นก็จะไม่พูดอีกทั้งต้องยอมรับว่า การมาครั้งนี้ผมทำการบ้านมาไม่ดีเท่าไหร่ ไม่รู้เรื่องราวของผู้อาวุโสท่านนี้เลย รู้จากคำบอกเล่าของอาจารย์เพียงว่า ท่านมาเมืองจีนพร้อมกับศรีบูรพา หรือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งยงในอดีต เมื่อมาแล้วต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ที่จีนจนกระทั่งปัจจุบัน

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยอ่านหนังสือหลายเล่มที่รัฐบาลในอดีตสั่งห้ามเผยแพร่ ที่เรียกกันว่า หนังสือต้องห้าม พบว่ามีนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษาปัญญาชนมากมายต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ประเทศอื่นบ้าง เข้าสู่เขตป่าเขาบ้าง เพื่อหนีการตามล่าของรัฐบาลเผด็จการ  หนีข้อหาคอมมิวนิสต์ที่ถูกยัดเยียด และออกไปค้นหาความหมายของการปฏิวัติสังคมใหม่

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง และพบว่าการค้นหาความหมายนั้นไม่ประสบความสำเร็จจึงเลือกที่จะกลับมาตุภูมิเป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน วันนี้ผมได้มาพบกับบุคคลในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งกระโน้น บุคคลที่ผมเคยได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง และคิดวาดภาพไว้ในใจ แต่เมื่อมาพบเข้าจริงๆกลับรู้สึกเหมือนมีอะไรมาจุกที่ลำคอ

“ลุงก็เคยเขียนหนังสือนะ” ลุงชวนคุย “ชื่อ อีสานแผ่นดินที่นองไปด้วยเลือดและน้ำตา หนังสือเล่มนี้   เดี๋ยวนี้ยังเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่” ผู้อาวุโสบอกเล่าความหลัง

“ทำไมละครับ เดี๋ยวนี้เพลงต้องห้าม หนังสือต้องห้ามหลายเล่มมีขายกันตามร้านหนังสือเต็มไปหมด” ผมว่า ลุงไม่ตอบทันที ทำหน้าครุ่นคิดและว่า

“ตำรวจที่จับลุงไปสอบสวน เขาว่า หนังสือนี่จะทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เป็นการปลุกระดม”

ผมนิ่งฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้อ่านในหนังสือเล่มไหน โดยเฉพาะหนังสือเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษา  รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนลูกกบตัวน้อยที่ถูกครอบอยู่ในกะลาใบใหญ่ และกะลาใบนั้นก็อยู่ใกล้ๆกับสนามหลวง  ที่แห่งนั่นมีปืนใหญ่มากมายล้อมรอบป้องกันอยู่ มันครอบงำเรามานานมาก นานแสนนาน จนบางครั้งเราเองก็หลงไปรวมอยู่ในวังวนน้ำเน่าของกะลาใบนั้น…

ก่อนลากลับ จำได้ว่า ผมเอ่ยถามถึงการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นในบ้านเรา  ผมอยากจะรู้ว่า ผู้อาวุโสท่านนี้คิดเห็นอย่างไร ลุงเงียบ หน้าขรึม ก่อนตอบว่า

“ประเทศไทยยังไม่เคยมีการปฏิวัติหรอกพ่อหนุ่ม ไม่มีเลยจริงๆ” ผู้อาวุโสหยุดและมองออกไปนอกหน้าต่างเหมือนจะรำลึกถึงความหลังครั้งก่อน “ล้มล้างผู้ปกครองสำเร็จ เรียกว่ารัฐประหารแต่ถ้าล้มไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ   แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”

ผมลากลับพร้อมกับเรื่องราวและคำถามมากมายที่ยังค้างคาอยู่ในใจ คำว่า กบฏ ปฏิวัติ และรัฐประหาร วนเวียนอยู่ในห้วงความคิด ประเทศไทยของเรานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 ยังวนเวียนวกวนอยู่กับคำเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบัน ประชาธิไตยที่กล่าวอ้างกันจากปากคำของผู้นำรัฐบาล หรือจากปากของนักการเมืองเวลาหาเสียง ความจริงแล้วยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆเลย เป็นเพียงคำพูดสวยหรูและคำกล่าวอ้างเพื่อหลอกลวงชาวบ้านตาดำๆเท่านั้นเอง

ในอดีตมีประชาชนมากมายที่ต้องสังเวยชีวิต พลัดพราก พลัดถิ่น ชีวิตหักเหและเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการ  นี่เป็นเรื่องราวที่ผมเรียบเรียงจากถ้อยคำของผู้อาวุโสและจากการหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักและกระจัดกระจายพอควร  เรื่องราวของนักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่ง ที่รัฐบาลในยุคนั้นตั้งข้อหาให้เป็น กบฏ

 

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ปัจจุบันอายุ 79 ปี เป็นชาวชัยภูมิโดยกำเนิด อาศัยอยู่ที่ประเทศจีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 49 ปีแล้ว ก่อนมาอยู่ประเทศจีน สุชาติเป็นนักหนังสือพิมพ์มากอุดมการณ์คนหนึ่ง ทำหน้าที่เสนอข่าวสารอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาตราบเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะสมัยนั้นเป็นยุคเผด็จการครองเมือง การเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ทุกหน้าทุกตัวอักษร

          ช่วงปีพ.ศ.2495 หนังสือพิมพ์ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างหนัก ถูกตรวจสอบ ถูกเซ็นเซอร์ประชาชนไม่ได้รับรู้ข่าวสารตามความเป็นจริง มีการใส่สี บิดเบือน หนังสือพิมพ์ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ตามหน้าที่ หนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสนอแต่ข่าวอาชญกรรมและเรื่องบันเทิงเริงรมย์ก็รอดตัวได้ดิบได้ดี แต่ถ้าฉบับไหนไม่ยอมตาม  ผู้ปกครองจะส่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้เอาโซ่ไปล่ามแท่นพิมพ์ ไม่ให้พิมพ์หนังสือออกขาย เอาฆ้อนมาทุบจนแท่นพิมพ์ให้ใช้การไม่ได้  และสุดท้ายก็จับบรรณาธิการและนักข่าวไปเข้าคุกเข้าตะรางให้มันเข็ดหลาบ

มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยนักหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ปกครองในการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนได้มารวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ ยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ และจัดตั้งคณะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หัวขบวนของการเรียกร้องคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และสุชาติในตอนนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สันติภาพก็ร่วมกระทำการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นด้วย

แต่การเรียกร้องดังกล่าวไม่เป็นผล และไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง ซ้ำยังมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ จึงได้ทำการจับกุมผู้เรียกร้องทุกคนในข้อหากบฏ และศาลพิพากษาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน จองจำอยู่ที่เรือนจำบางขวาง หนังสือพิมพ์ลงข่าวและเรียกกลุ่มผู้เรียกร้องในครั้งนั้นว่า กบฏสันติภาพ

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2500 กลุ่มกบฎสันติภาพได้รับการนิรโทษกรรมในวาระครบรอบ 25 ปีพุทธศตวรรษ หลังจากถูกจองจำอยู่ที่บางขวางนานถึง 4 ปีกว่า ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 สุชาติได้ไปเยือนประเทศจีนในฐานะ คณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยมีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะ สุชาติทำหน้าที่เป็นเลขาของกุหลาบ

ขณะปฏิบัติภาระกิจอยู่ในประเทศจีน ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารขึ้น โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ได้จับกุมบุคคลฝ่ายตรงข้ามที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงคณะของกุหลาบที่อยู่ประเทศจีนด้วย ถ้าเดินทางกลับจะต้องถูกจับอย่างแน่นอน ทั้งคณะจึงขอลี้ภัยการเมืองอยู่ที่จีนตั้งแต่นั้นมา

“ตอนนั้นนายกโจวเอินไหลมาพบกับคณะของเราและบอกว่า ถ้ากลับไม่ได้ก็ให้อยู่ที่นี่ ขอให้คิดว่าที่นี่เป็นบ้านของพวกคุณ รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจมาก ก็อยู่ทำงานกับคุณกุหลาบและทำงานที่จีนเรื่อยมา” ลุงสุชาติว่าเรียบๆ

คณะผู้แทนที่เดินทางมาในครั้งนั้นมีอยู่ด้วยกัน 12 คน นอกจากกุหลาบ สุชาติ ยังมีทองใบ ทองเปาด์ ทนายความรางวัลแมกไซไซรวมอยู่ด้วย ส่วนใหญ่เมื่อเวลาผ่านพ้นก็เลือกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด เหลือกุหลาบกับสุชาติทำงานอยู่ที่ประเทศจีน จนกระทั่งปีพ.ศ. 2517 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมและเส้นเลือดหัวใจตีบที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง

หลังจากนั้นสุชาติยังทำงานที่จีนเรื่อยมา ได้ศึกษาภาษาจีน แนวคิดทางปรัญชาและแนวทางการประพันธ์ของจีน ทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยให้กับหน่วยงานสื่อสารมวลชนของจีน  เขียนและแปลวรรณกรรมจีนหลายต่อหลายเล่ม  นอกจากชีวิตการทำงานแล้ว การที่ต้องมาลี้ภัยการเมืองในต่างที่ต่างถิ่น ทำให้สุชาติได้พบกับคู่ชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนนั้นป้าเขามาเรียนหนังสือที่ปักกิ่ง เขามาเยี่ยมคณะของเราเพราะรู้ว่ามีคนไทยมาลี้ภัยการเมือง ได้รู้จัก   คบหาและแต่งงานกันอย่างเรียบง่ายที่นี่” ลุงว่าพร้อมกับยิ้มน้อยๆ และพูดต่อ “บางทีชีวิตคนก็เป็นยิ่งกว่านิยาย เอาแน่นอนอะไรไม่ได้”

สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่ได้เจริญรุ่งเรือง สะดวกสบายหรือทันสมัยอย่างปัจจุบัน  เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ หลายครั้งที่ข้าวยากหมากแพง เสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยมีจำกัด บางช่วงถึงกับต้องใช้คูปองเพื่อนำไปแลกอาหารและของใช้ก็ยังมี  สุชาติและภรรยาทำงานในฐานะมิตรที่ดีของจีน ผ่านยุคสมัยที่ยากลำบาก ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเปิดประเทศสู่โลกภายนอก จนกระทั่งกลายมาเป็นจีนที่มีสีสันใหม่ๆอย่างในปัจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบาย ทันสมัย และมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

ปัจจุบันสุชาติเกษียณจากหน้าที่การงานแล้ว รัฐบาลจีนได้ตอบแทนน้ำใจแก่มิตรเก่าแก่ที่ทำงานให้กับจีนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ด้วยที่พักอาศัยที่กว้างขวางและน่าอยู่พร้อมด้วยเงินบำนาญ สุชาติกับภรรยาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ในปักกิ่ง มีลูกหลานมิตรสหายมาเยี่ยมเยียนเสมอๆ และเคยเดินทางกลับไปเยี่ยมแผ่นดินเกิด 2-3 ครั้ง แต่ทั้งคู่เลือกที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายที่จีน แผ่นดินที่เป็นที่พึ่งพิงในยามยาก

“เราทำงานให้เขาอย่างมิตรที่ดี เขาก็ตอบแทนเราด้วยดีเช่นกัน” ลุงสุชาติพูดขึ้นในบ่ายวันหนึ่งที่ผมเดินทางไปเยี่ยม และลุงได้เล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาให้ฟัง

ผมมักจะเดินทางมาเยี่ยมลุงกับป้าเสมอเท่าที่เวลาจะอำนวย นอกจากได้มาพูดคุยกับผู้อาวุโสชาวไทยแล้วยังได้รับความรู้ ความคิดของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าที่มากด้วยอุดมการณ์ รวมทั้งแนวคิดทางการเมืองที่ปัจจุบันดูจะห่างหายไปเสียทุกที แนวคิดที่ยึดถือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็คือ ชาวนาและกรรมกรเป็นหัวใจของระบอบ

“สมัยลุงเขาเอาโซ่เอาฆ้อนมาทุบแท่นพิมพ์และจับเข้าคุก สมัยนี้เขาฟ้องศาลครับ ฟ้องทั้งแพ่งทั้งอาญา เรียกเงินทีเป็นร้อยเป็นพันล้าน หนังสือพิมพ์ที่ไหนจะมีจ่าย หรือไม่เขาก็ซื้อกิจการเอาเสียเลย บ้านเราก็วนเวียนกับการปฏิวัติรัฐประหารวนอยู่อย่างนี้” ผมว่า ลุงไม่ว่าอะไรได้แต่ยิ้มปลงๆ แล้วพูดขึ้น

“อย่าไปเรียกว่าปฏิวัติ ลุงเคยบอกแล้วไง เมืองไทยไม่เคยมีปฏิวัติที่แท้จริงสักครั้งเดียว มีแต่ยึดอำนาจจากผู้ปกครองคนเก่า แล้วคนใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ทำสำเร็จเรียกรัฐประหาร ทำไม่สำเร็จเป็นกบฏ แต่สังคมยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชาวนา กรรมกร ชาวบ้านยังอดอยากปากแห้งอยู่เหมือนเดิม” ลุงสุชาติหยุดและพูดต่อด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“ปฏิวัติที่แท้จริง ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบอบ เปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมใหม่”

“ปีหน้าลุงจะครบ 80 ปีแล้ว ยังเห็นเมืองไทยเราวนเวียนอยู่กับการยึดอำนาจกันอยู่เลย ไม่รู้ว่าต่อไปบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร” ผมพูดเหมือนตัดพ้อ ลุงสุชาติมองเหมือนเข้าใจ พูดขึ้นเรียบๆว่า

“สังคมต้องก้าวต่อไป ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้หรอก เพียงแต่ว่า บ้านเรานะมีไดโนเสาร์กับพวกตะกละตะกรามมากเกินไป มันเลยยังต้องวนเวียนอยู่อย่างนี้”