บทความพิเศษ : ดูมาส์ลูกพ่อ

ดูมาส์ในที่นี้คือ อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ (1802-1870) ผู้แต่งเรื่อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ”

พ่อในที่นี้คือบิดาของเขา มีชื่อและยศว่า นายพลโตมาส์ อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ (1762-1806)

บิดาเสียชีวิตเมื่อดูมาส์อายุเพียง 4 ขวบ บิดาใกล้ชิดสนิทสนมกับเขาตั้งแต่เขาเกิด และดูมาส์ก็รักบิดามาก

เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ต่อไปนี้อ้างตามหนังสือชื่อ Les Trois Dumas ของ อ็องเดร โมรัวส์

เมื่อดูมาส์อายุ 3 ขวบ บิดาพาเขากับมารดาไปปารีสเพื่อให้เพื่อนๆ นายพลรู้จัก เด็กน้อยยังจำได้ว่าเขาขี่ดาบของนายพลบรูนต่างม้าวิ่งห้อไปรอบๆ โต๊ะอาหาร ศีรษะสวมหมวกของนายพลมูร่าต์ นายพลทั้งสองเป็นเจ้าภาพวันนั้น

ในคืนที่บิดาจะเสียชีวิต เด็กน้อยดูมาส์ถูกพาตัวไปนอนที่บ้านญาติ ตอนเที่ยงคืนมีเสียงเคาะประตูดังลั่นหนึ่งครั้ง ดูมาส์ผวาตื่นแล้ววิ่งไปที่ประตู

“นั่นจะไปไหน อเล็กซองด์ร์” ญาติวิ่งตามพลางร้องถาม

“ก็ไม่ได้ยินหรือไง…หนูจะเปิดประตูให้พ่อ พ่อมาลาหนู”

ญาติผู้นั้นพาดูมาส์กลับไปนอน วันรุ่งขึ้นมีผู้บอกเขาว่า

“หนูน้อยเอ๋ย พ่อของหนูซึ่งรักหนูที่สุดตายเสียแล้ว”

“พ่อตายแล้ว…หมายความว่าอย่างไร”

“มันหมายความว่าหนูจะไม่ได้เห็นพ่ออีกแล้ว”

“แล้วทำไมหนูถึงจะไม่ได้เห็นพ่ออีกแล้วเล่า”

“เพราะว่าพระเจ้าผู้ประเสริฐมาพาพ่อไปจากหนูแล้ว”

“แล้วพระเจ้าผู้ประเสริฐนี้อยู่ที่ไหน”

“อยู่บนฟ้า”

หนูน้อยอเล็กซองด์ร์นิ่งเงียบ แต่ทันทีที่สบโอกาสเขาวิ่งหนีกลับไปบ้าน เขาเข้าไปโดยไม่มีผู้ใดรู้เห็น ตรงไปหยิบปืนยาวของบิดาแล้วขึ้นบันไดไป บนชานพักมารดาเดินร้องไห้ออกมาจากห้องนอนมรณะพอดี

“นั่นลูกจะไปไหน” มารดาถาม

“หนูจะไปบนฟ้า”

“แล้วลูกจะไปทำอะไรบนฟ้า ลูกเอ๋ย”

“หนูจะไปฆ่าพระเจ้าผู้ประเสริฐที่มาฆ่าพ่อของหนู”

มารดากอดกระชับเขาไว้แน่นในอ้อมอก

“ลูกเอ๋ย ลูก อย่าพูดอย่างนี้” มารดาบอก “เรามีทุกข์มากพออยู่แล้ว”

ทุกข์นั้นใหญ่หลวงนัก มารดาของอเล็กซองด์ร์ไม่เพียงสูญเสียสามีซึ่งเป็นขวัญกำลังใจของนาง แต่เขายังจากไปโดยไม่ได้ทิ้งทรัพย์สมบัติใดๆ ไว้เลย

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเล่า

นายพลลูกครึ่งผิวดำคนแรกของฝรั่งเศสผู้นี้มีบิดาเป็นขุนนางตระกูลเก่าของแคว้นนอร์มังดีซึ่งไปลงทุนทำไร่ทำนาที่เกาะแซ็งต์-โดแมงก์ (เกาะเฮติในปัจจุบัน) เมื่อบิดากลับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1774 ได้พาตัวเขาซึ่งเกิดจากทาสผิวดำมาด้วย บิดาส่งเขาเข้าโรงเรียนประจำที่ปารีส ช่วงเช้าเขาเรียนหนังสือ ช่วงบ่ายฝึกใช้อาวุธประเภทต่างๆ เขาเก่งเป็นเลิศในการใช้ดาบ เขาได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและบิดาจ่ายค่าเครื่องแต่งกายหรูหราสมฐานะในการเข้าสังคม เมื่อเขาอายุ 20 บิดาก็จัดการให้เขามีที่พักส่วนตนบนถนนเอสเตียนใกล้กับพระราชวังลูฟว์ร์

อย่างไรก็ตาม เขาขัดแย้งกับบิดาเมื่อฝ่ายนี้ซึ่งอายุ 78 ปีแล้วแต่งงานใหม่เมื่อต้นปี 1786 กับหญิงแม่บ้านซึ่งอายุอ่อนกว่าถึง 30 ปี เขาตัดสินใจสมัครเข้าเป็นพลทหารในกองทหารม้าดรากูนของพระราชินีและเลือกใช้นามสกุลดูมาส์ของมารดา

เขามีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็วเพราะมีพละกำลังมหาศาลเยี่ยงเฮอร์คิวลิส เขาสามารถโหนคานหลังคาโรงเลี้ยงม้าแล้วใช้สองขาหนีบม้าลอยขึ้นจากพื้นได้ เขาสอดนิ้วสี่นิ้วในลำกล้องปืนยาวสี่กระบอกแล้วเหยียดแขนยกชูขึ้นได้ ไม่มีทหารม้าคนใดทำได้เช่นเขา

เนื่องจากเขาใช้นามสกุลสามัญชนว่า ดูมาส์ จึงไม่ได้รับเลื่อนขั้นแม้จะมีผลงาน

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เขาเริ่มได้รับยศและก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจากการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ให้แก่คณะปฏิวัติจนได้รับแต่งตั้งเป็นนายพลเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1793 เป็นนายพลลูกครึ่งผิวดำคนแรกของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ในการปราบปรามพวกชาวไร่ชาวนาในแคว้นวองเด้ (ค.ศ.1793-1796) ซึ่งต่อต้านพวกรีพับลิกันเพื่อพวกนิยมเจ้าและเพื่อศาสนาคริสต์ นายพลดูมาส์ปฏิเสธที่จะกวาดล้างพวกชาวไร่ชาวนาซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือ เขาจึงได้รับสมญาแบบเสียดสีว่า Monsieur de l”Humanit? หรือสุภาพบุรุษผู้เชิดชูมนุษยธรรม

นายพลโบนาปาร์ต (จักรพรรดินโปเลียนในอนาคต) ซึ่งอาสาคณะปกครองประเทศ (Le Directoire) ขณะนั้นไปยึดประเทศอิตาลี ได้ตัวนายพลดูมาส์ไปร่วมรบซึ่งมิได้ทำให้ผิดหวัง โบนาปาร์ตเองเขียนบันทึกไว้ว่าดูมาส์รบชนะกองทหารอิตาลีซึ่งมีจำนวนคนมากกว่าและยึดธงมาได้ถึง 6 ผืน และยังมีชัยชนะอื่นๆ อีก

สมรภูมิในสงครามอิตาลีนั้นอยู่ทางเหนือของประเทศอิตาลีและในดินแดนของประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ.1797 นายพลดูมาส์ขวางกองทหารออสเตรียเพียงลำพังบนสะพานมิให้ข้ามไปยังเมืองบริกเซ่นใน Tyrol ได้ เนื่องจากสะพานนั้นแคบ ทหารผ่านได้เพียงครั้งละ 2-3 คน นายพลดูมาส์จึงฟาดฟันทหารเหล่านั้นล้มตายเป็นจำนวนมาก ตัวเขาเองได้แผลไม่น้อยและเสื้อคลุมทะลุเป็นรูกระสุนผ่าน

พวกทหารออสเตรียจึงเรียกเขาว่า le Diable noir หรือซาตานผิวดำ เมื่อกองทหารฝรั่งเศสตามมาถึง ฝ่ายออสเตรียก็พ่ายกระเจิง

ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1798 โบนาปาร์ตอาสาคณะปกครองประเทศทำสงครามยึดประเทศอียิปต์จากอังกฤษซึ่งครอบครองอยู่ นายพลดูมาส์นำกองทหารเดินทัพจากเมืองอเล็กซานเดรียถึงกรุงไคโร ทหารจำนวนไม่น้อยอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจนเสียชีวิตเพราะความร้อน ในการประชุมนายทหาร นายพลดูมาส์ไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นสงครามเพื่อประเทศฝรั่งเศสหรือเพื่อความยิ่งใหญ่ของโบนาปาร์ตกันแน่

แน่ละความคิดเห็นของเขาถึงหูโบนาปาร์ต และเมื่อดูมาส์ยืนยันความคิดเห็นของตนต่อหน้า โบนาปาร์ตก็แตกหักกับเขาทันที

เขาได้รับอนุญาตให้กลับประเทศฝรั่งเศสแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ

เรือเล็กที่พานายพลดูมาส์กลับสู้แรงคลื่นลมไม่ได้ จำเป็นต้องเทียบฝั่งที่เมืองเนเปิ้ลส์

เขาถูกจับเป็นเชลยติดคุกนาน 2 ปี ถูกยึดเงินทอง ถูกวางยาและถูกทารุณ เมื่อออกจากคุกเขากลายเป็นคนพิการอ่อนแอ

ที่ฝรั่งเศสพ่อตาของเขารับภาระค่าใช้จ่าย นายพลดูมาส์พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากบรรดาเพื่อนๆ นายพล แต่ไม่มีผู้ใดกล้ายื่นมือเพราะเกรงอำนาจนโปเลียนซึ่งผูกใจอาฆาตคนที่ไม่สวามิภักดิ์ต่อเขา

จดหมายที่ฝ่ายนี้เขียนถึงเพื่อขอรับสิทธิ์อันชอบธรรมในฐานะนายทหารผู้เคยออกรบกลับได้รับคำสั่งให้ปลดประจำการโดยไม่มีเบี้ยหวัดเป็นคำตอบ

แม้เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว และภรรยาของเขาทำเรื่องขอให้เด็กน้อยดูมาส์ได้รับทุนการศึกษาและได้เข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับลูกนายทหาร ก็ไม่มีการตอบรับ

ทุกข์นั้นจึงใหญ่หลวงนักสำหรับครอบครัวดูมาส์

เด็กน้อยดูมาส์เรียนหนังสือลุ่มๆ ดอนๆ ประกอบกับเจ้าตัวค่อนข้างเกียจคร้านเรื่องการเรียน ไม่ชอบวิชาคำนวณ ไม่ชอบอ่านบทกวีซึ่งวิเคราะห์อารมณ์มนุษย์ (สิ่งนี้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเขาโตขึ้น) แต่ชอบฟันดาบฟันกระบี่ ชอบยิงปืนล่าสัตว์ (เมืองที่เขาอยู่มีป่าหลวงสำหรับพระราชามาล่าสัตว์และญาติของมารดาเป็นผู้ดูแล)

แม้จะไม่ชอบอ่านเขียนเรียนหนังสือ แต่เขามีลายมืองดงามซึ่งเป็นประโยชน์อย่างที่เขียนไว้ในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ”

แม้จะไม่มีความรู้ใดๆ แต่ลายมืองดงามนี้เบิกทางให้เขาได้เข้าทำงานเป็นคนคัดลอกเอกสารในสำนักเลขานุการของดยุคดอร์เลอ็องส์ที่ปารีส เมื่อเขาอายุ 21 ปี เขาเริ่มสนใจการแต่งบทละครอันเป็นขนบหลักด้านวรรณคดีในสมัยนั้น นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับโรงละครที่มีชื่อเสียงและนักแสดงละครเอกของเมืองหลวงแล้ว เขายังได้รับแรงกระตุ้นจากผู้ช่วยเลขานุการคนหนึ่งซึ่งประทับใจในความเฉลียวฉลาดพอๆ กับความไม่รู้อะไรเลยของเขา ให้ศึกษาบทละครสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคกรีกโรมันถึงปัจจุบัน ให้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ วรรณคดี และบันทึกความทรงจำ

ดูมาส์ใช้เวลา 4 ปีในการศึกษาด้วยตนเอง กลายเป็นนักแต่งบทละครที่มีชื่อเสียงหลังจากฝึกฝนอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นหันมาแต่งนวนิยาย

ขอเข้าเรื่องความเป็นลูกพ่อของดูมาส์กับการแต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ

ที่มาของการแต่งนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนบทความได้เขียนไว้ในบทความพิเศษเรื่อง “ดูมาส์กับมาเก้ต์ : ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1939 ประจำวันที่ 13-19 ตุลาคม 2560

เหตุใดจึงเป็นสามทหารเสือ

เหตุใดจึงไม่ใช่สอง หรือสี่ หรือห้าทหารเสือ

ดูมาส์บันทึกไว้ใน “บันทึกของข้าพเจ้า” (Mes M?moires) บทที่ 9 ว่าบิดามีเพื่อนรัก 3 คน ซึ่งคบหากันมาตั้งแต่เริ่มรับราชการทหารในกองทหารม้าดรากูนของพระราชินี

ทั้งสามคนนี้ได้แก่ Jean-Louis Espagne, Louis-Chr?tien Carri?re และ Joseph Piston

ทั้งสี่ร่วมรบในสมรภูมิเดียวกันหลายครั้ง บางครั้งเพื่อนทั้งสามก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลดูมาส์

ทั้งสี่ได้เป็นนายพลในช่วงสมัยการปกครองของคณะปฏิวัติ และเพื่อนทั้งสามได้อยู่ยงต่อมาเป็นนายพลสมัยจักรวรรดิ

นักวิชาการฝรั่งเศสหลายคนระบุตรงกันว่าสามคนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ดูมาส์สร้างตัวละครสามทหารเสือ

ชื่อ อาโธส ปอร์โธส และอะรามิส ยืมมาจาก “บันทึกความทรงจำของเมอสิเยอร์ดาร์ตาญัง” เขียนโดย Courtilz de sandras ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1704

อาโธสและอะรามิสเชี่ยวชาญเชิงกระบี่เหมือนนายพลดูมาส์ ปอร์โธสทรงพลังเหมือนนายพลดูมาส์เช่นกัน

ในสามคนนี้อาโธสเป็นคนเดียวที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นขุนนางและเป็นทหารมูสเกอแตร์รักษาพระองค์ระหว่างปี ค.ศ.1640-1645

ตัวละครทั้งสามเป็นขุนนางแต่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามตระกูล เหมือนนายพลดูมาส์ที่ปฏิเสธนามตระกูลขุนนางของบิดาตน

ในนวนิยายบทที่ 19 ในภารกิจลับเพื่อพระราชินี ดาร์ตาญังวางแผนจรยุทธ์ให้ตนและเพื่อนทั้งสามเดินทางออกจากปารีสเพื่อไปให้ถึงลอนดอน ฝ่าด่านการขัดขวาง การดักซุ่มทำร้ายและกับดักของเหล่าบริวารพระคาร์ดินัล ดาร์ตาญังคนเดียวที่รอดไปถึงลอนดอน

ความสำเร็จของภารกิจนี้มีนักวิชาการฝรั่งเศสเปรียบเทียบไว้ว่ารวดเร็วและบรรลุเป้าหมายดังประหนึ่งสงครามพิชิตอิตาลี (24 มีนาคม 1796-7 เมษายน 1797) ซึ่งนายพลดูมาส์มีบทบาทสำคัญยิ่งคนหนึ่ง

ในนวนิยาย อาโธสรักและเอ็นดูหนุ่มน้อยดาร์ตาญังเหมือนบุตร คอยใส่ใจดูแล ดาร์ตาญังเองก็รักและชื่นชมอาโธสดุจบิดา ผู้เขียนบทความใคร่กล่าวว่านี้เป็นการโหยหาอ้อมกอดของพ่อที่ดูมาส์ผู้ประพันธ์ต้องร้างไปตั้งแต่อายุยังไม่สี่ขวบเต็ม

ในบทที่ 46 และ 47 ในนวนิยาย อาโธสเป็นผู้วางยุทธวิธีที่ดูเหมือนเสี่ยงตายที่ชานป้อมแซ็งต์-แฌร์เว่ส์ เขาคาดการณ์ล่วงหน้าจากสถานการณ์ในชานป้อมซึ่งการโจมตีตอนกลางคืนมีทหารฝรั่งเศสและทหารลา โรแชลตายประมาณยี่สิบคน ชานป้อมว่างเปล่าเหมาะใช้เป็นทำเลในการปรึกษาหารือโดยมิมีผู้ใดล่วงรู้และสงสัย และไม่จำเป็นต้องขนอาวุธไปเพราะมีเหลือเฟือที่นั่น เมื่อพวกทหารลา โรแชลยกมาใหม่ เขาให้ล้มกำแพงด้านที่ง่อนแง่นอยู่แล้วลงทับจนล้มตายบาดเจ็บ เขาใช้ประโยชน์จากศพทหารในป้อมโดยให้จัดวางเหมือนยังมีชีวิตในมือถืออาวุธ

ในการวางยุทธวิธีนี้ดูมาส์ให้อะรามิสอุทานว่า “โอ้โฮ อาโธส แกเป็นมหาบุรุษโดยแท้”

ขณะอ่านประโยคภาษาฝรั่งเศสก่อนแปล ผู้เขียน-ผู้แปลรู้สึกว่าคำว่า “มหาบุรุษ” เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ ทำให้อดคิดอดรู้สึกไม่ได้ว่าการแสดงความชื่นชมตัวละครดังกล่าวน่าจะมาจากจิตใต้สำนึกความเป็นลูกพ่อของดูมาส์

ใครเล่าจะเหมาะกับคำว่า “มหาบุรุษ” เท่าผู้เป็นบิดา

ในท้ายเรื่อง เมื่อหญิงคนรักของดาร์ตาญังถูกมิลาดีวางยาพิษจนตาย ดาร์ตาญังร้องไห้ อาโธส “กอดเขาไว้อย่างอ่อนโยน” และปลุกปลอบว่า “เพื่อนรัก เพื่อนเป็นชายชาติอาชาไนย อิสตรีร่ำไห้ให้คนตาย บุรุษจะแก้แค้นให้”

ดาร์ตาญังจึงมีพลังขึ้นมาใหม่ ทั้งหมดออกจากที่เกิดเหตุ ดูมาส์บรรยายว่า

“เขาพาเพื่อนของเขาไปในลักษณาการของบิดาผู้รักบุตร ของพระผู้เป็นที่พึ่งทางใจ ของบุรุษยิ่งใหญ่เพราะเคยรู้รสทุกข์”

อาโธสยังยินยอมเผยความลับในชีวิตตนเพื่อรักษาสัญญาในการแก้แค้นให้ดาร์ตาญัง เหมือนดั่งบิดาที่ยินดีเชือดแผลในใจของตนเพื่อปกป้องบุตร

อาจกล่าวได้ว่าความชื่นชมที่ดูมาส์มีต่อบิดาผู้ล่วงลับปรากฏชัดในตัวของอาโธส ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกลักษณะ ความคิดความอ่าน ความเป็นนักรบ และการห่วงหาอาทรต่อดาร์ตาญัง

แม้บิดาจะจากไปตั้งแต่ดูมาส์ยังอายุไม่เต็มสี่ขวบ แต่เด็กน้อยก็คุ้นกับความเป็นนายทหารของบิดาดังกล่าวแล้วในตอนต้นบทความ ในวัยเยาว์เขาชื่นชอบรับฟังวีรกรรมของบิดาในสงคราม เขาเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่อโตขึ้นมาเขาสอบถามและค้นคว้าหารายละเอียดการทำสงครามแต่ละครั้งของบิดาดังปรากฏใน “บันทึกของข้าพเจ้า” ที่เขาเขียนขึ้นในเวลาต่อมา

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ประกอบกับความรักบูชาบิดาผู้เป็นวีรบุรุษในสายตาของเขาทั้งในแง่ความเป็นนักรบที่ผ่านสมรภูมิใหญ่ถึง 5 ครั้ง การเห็นแก่มนุษยธรรมและการยึดมั่นในระบอบสาธารณรัฐ

อีกทั้งศิลปะการประพันธ์ชั้นเลิศของดูมาส์เอง ล้วนร่วมกันหล่อหลอมให้ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” เป็นนวนิยายเปี่ยมเสน่ห์เปี่ยมมนต์ขลัง ตรึงตาตรึงใจผู้อ่านทุกชาติทุกภาษา ผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งยังเป็นแหล่งและแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินแขนงอื่นนำไปสร้างสรรค์ต่อตามความถนัดของตน