เรื่องสั้น : สิ่งที่ไม่เคยบอก

 

“สวัสดีค่ะ ใช่คุณเรวัตร์หรือเปล่าคะ?”

“ใช่ครับ”

“ทางเราจะแจ้งว่าเรื่องสั้นที่คุณส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลค่ะ”

“ว่าไงนะครับ!”

มันเป็นสถานที่ค่อนข้างใหญ่ภายในสำนักพิมพ์ชื่อดัง ผู้คนแวดวงวรรณกรรมคับคั่ง หลายคนคุณคุ้นหน้าตามสื่อออนไลน์ หลังรับรางวัลและถ่ายรูปเสร็จสิ้น หญิงคนหนึ่งขอสัมภาษณ์คุณ ประเด็นที่พูดเกี่ยวกับงานเขียนและแรงบันดาลใจ

เช้าวันที่ไม่แตกต่างจากเช้าวันอื่น ขณะนั่งคัดแยกตราประทับ หัวหน้างานคุณพูดขึ้น

“เดี๋ยวบ่ายโมงเข้าประชุมกับพี่ด้วยนะ”

ภายในห้องประชุมขนาดเล็ก โต๊ะกลมกลางห้อง เก้าอี้ไม้สามตัว ผนังแขวนภาพวาดสีน้ำมัน หลอดไฟเพดานเปิดส่องสว่าง

“เดือนหน้าพี่จะลาออก พี่อยากให้เรวัตร์มาทำงานแทนพี่” หัวหน้างานคุณพูดขึ้น

“พี่ก็ว่าเรวัตร์น่าจะทำได้เพราะรู้ระบบงานดีอยู่แล้ว เดี๋ยวพี่จะหาเด็กจบใหม่มาช่วย พี่เสนอเรื่องนี้กับเจ้านายใหญ่ ท่านไม่มีปัญหา ส่วนเงินเดือนพี่จะปรับให้ตามตำแหน่ง” เสียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลพูดสนับสนุน เป็นคำพูดแกมบังคับ

คุณไม่มีทางเลือกนอกจากพยักหน้ารับ

แสงแรกของเช้าวันอาทิตย์สาดเข้ามาทางช่องหน้าต่าง คุณลุกจากเตียงทำกิจวัตรเหมือนทุกวัน หยิบโทรศัพท์เปิดดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนในโปรแกรมเฟซบุ๊ก เดินลงมาชั้นล่างเห็นแม่กำลังจัดเตรียมอาหาร

“เดี๋ยวผมไปตลาด เหมือนเดิมนะแม่” คุณพูดพร้อมหยิบกุญแจรถจักรยานยนต์

“อื้อ” แม่ตอบสั้นๆ รู้ว่า “เหมือนเดิม” ของคุณหมายถึงอะไร

คุณหยุดที่หน้าแผงหนังสือ เอื้อมหยิบนิตยสารเล่มหนึ่ง สัปดาห์ก่อนมีอีเมลแจ้งว่าบทความพิเศษที่คุณส่งไปพิจารณาได้รับการตีพิมพ์ คุณเปิดไปหน้ากลางเห็นชื่อตัวเองบริเวณมุมซ้ายบน ผลิรอยยิ้ม หยิบอีกสองเล่มไปจ่ายเงิน ก่อนกลับไม่ลืมซื้อ “เหมือนเดิม” ให้แม่

“ได้ลงอีกแล้วหรือลูก?” แม่เอ่ยถามขณะคุณวางนิตยสารกับน้ำเต้าหู้บนโต๊ะ

“เดี๋ยวผมลงมากินครับ”

ภายในห้องขนาดสี่คูณห้าตารางเมตรมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มุมห้องวางนิตยสารกองโตสูงประมาณหนึ่งเมตร มันคืองานเขียนที่คุณได้รับการตีพิมพ์ คุณหยิบสมุดบันทึก ค้นหารายชื่อบทความที่ส่งออกระบุท้ายข้อความว่าตีพิมพ์แล้ว

คุณสนใจการอ่านการเขียนตั้งแต่เด็ก นิสัยนี้ได้มาจากพ่อ พ่อเป็นนักอ่านตัวยง เมื่อก่อนบริเวณกลางบ้านจะวางตู้หนังสือ (ปัจจุบันอยู่ในห้องคุณ) ภายในบรรจุงานวรรณกรรมนักเขียนไทยมากมาย เช่น มนัส จรรยงค์, ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว, “รงค์ วงษ์สวรรค์, อาจินต์ ปัญจพรรค์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, พนมเทียน, ชาติ กอบจิตติ, วินทร์ เลียววาริณ รวมทั้งงานแปลต่างประเทศไม่ต่ำกว่าสองร้อยเล่ม!

คุณรู้ว่าพ่ออยากเป็นนักเขียน แต่ด้วยสถานะหัวหน้าครอบครัว พ่อทำอย่างนั้นไม่ได้ เวลาว่างจากงาน คุณจะเห็นพ่อนั่งเขียนหนังสือ เสียงพิมพ์ดีดดังรัวตามจังหวะความคิด เมื่อเขียนเสร็จพ่อจะเก็บใส่ลิ้นชักไม่เคยส่งออก คุณแอบอ่านเป็นบางครั้ง มันเป็นความสุขเล็กๆ ของพ่อ

คุณเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกมาหลายปี หนึ่งเดือนคุณจะมีงานตีพิมพ์ลงนิตยสารอย่างน้อยหนึ่งถึงสองชิ้น เรื่องสั้น บทกวี หรือบทความพิเศษ ทุกเช้าคุณตื่นนอนตีสี่ สองชั่วโมงก่อนไปทำงานคือช่วงเวลาแห่งความสุข หลายครั้งที่คุณกำลังเพลิดเพลินกับความคิดใหม่ๆ ที่แปรรูปเป็นงานเขียน ต้องหยุดกะทันหันด้วยข้อจำกัดของเวลา ออกจากโลกจินตนาการสู่สายธารชีวิตจริง คุณเหลียวมองรูปพ่อที่อุ้มคุณตอนเด็กบนชั้นวางโทรทัศน์เอ่ยขึ้น

“พ่อ… ผมอยากเป็นนักเขียน”

ทุกเช้า รปภ. ที่ป้อมประตูทางออกจะนำสลิปที่มีตราประทับบริษัทมาส่งที่แผนก คุณมีหน้าที่คัดแยกแต่ละบริษัท มัดรวมเป็นกอง นำส่งฝ่ายบัญชีเพื่อเก็บเงินลูกค้าสิ้นเดือน

“ทำงานหาประสบการณ์ไปก่อนนะลูก หากทำดีๆ ต่อไปจะมีตำแหน่งใหญ่โต” แม่พูดคำนี้เสมอทุกครั้งที่คุณระบายความเบื่อหน่ายให้ฟัง

คุณทำงานบริษัทนี้มาสามปีโดยการฝากฝังของแม่ แม่เคยทำงานที่นี่ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชี บริษัทประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ภายในอาคารทำสำนักงาน คุณอยู่แผนกบัตรจอดรถ เป็นพนักงานไร้ระดับที่ไม่มีใครมองเห็นหรือสนใจ แผนกคุณมีสามคน หัวหน้างาน คุณ และน้องผู้หญิงคนหนึ่ง

คุณนำเรื่องที่ได้รับการปรับตำแหน่งบอกแม่ในเช้าวันถัดมา

“เห็นมั้ย แม่บอกต้นแล้ว เจ้านายเขาเลี้ยงคน ใครทำดีเขาก็ให้โอกาส ต้นต้องตั้งใจทำงานนะลูก อย่าทำให้แม่เสียชื่อ” แม่พูดขณะตักแกงจืดสาหร่ายใส่ถ้วยแล้ววางบนโต๊ะ

“แม่ภูมิใจในตัวลูก ถ้าพ่ออยู่พ่อคงภูมิใจด้วย”

พ่อทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนเกี่ยวกับเสื้อผ้าส่งออก ทุกคืนวันเสาร์พ่อต้องเข้าไปอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจเช็กสินค้าที่ส่งมาทางเรือก่อนขนถ่ายเข้าโกดัง งานหนัก เงินเดือนไม่มากแต่ก็สามารถส่งให้คุณกับพี่ชายเรียนจนจบมัธยม ไม่แปลก, เรื่องสั้นหลายเรื่องที่พ่อเขียนจะมีฉากท่าเรือและแก่นเรื่องเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบ

พ่อไม่ดื่มเหล้า แต่สูบบุหรี่จัด พ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดตอนคุณอายุสิบเจ็ด

หลังทำงานตำแหน่งใหม่ได้สามเดือน คุณมีงานตีพิมพ์ในนิตยสารลดลง เรื่องสั้น บทกวี หรือบทความพิเศษที่ส่งออกล้วนเงียบหาย คุณยังตื่นนอนตีสี่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือพลังสร้างสรรค์ เพราะในหัวครุ่นคิดกับปัญหาที่ต้องแก้ไขแต่ละวันในแผนก อาการเบื่อหน่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนวัน แม้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นแต่กระนั้นความสุขในชีวิตกลับลดลง ระยะหลังคุณไม่เคยนำเรื่องงานมาปรึกษาแม่เพราะกลัวแม่ไม่สบายใจ สัปดาห์ต่อมาคุณขอลาพักร้อนเพื่อทบทวนตัวเอง

เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงสแล็กส์ เน็กไทสีน้ำเงิน คุณไม่ได้บอกแม่เรื่องลาพักร้อน แต่งตัวออกจากบ้านด้วยชุดทำงานมุ่งตรงไปห้องสมุดประชาชน

ห้องสมุดมีทั้งหมดสามชั้น คุณเดินสำรวจภายในรวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านกาแฟสด และสวนสาธารณะฝั่งตรงข้าม คุณสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิ์ยืมหนังสือกลับบ้าน คุณใช้เวลาอยู่ห้องสมุดทั้งวันอ่านจบไปหนึ่งเล่ม ยืมกลับบ้านสองเล่ม

ไม่รู้คืนๆ หนึ่งมีคนนอนไม่หลับด้วยเรื่องทุกข์ร้อนจำนวนเท่าไหร่ แต่คืนนั้นมีคุณรวมอยู่ด้วย คุณเดินไปเคาะห้องพี่ชาย เล่าสิ่งที่คิดให้เขาฟัง พี่ชายเห็นด้วยแต่ขอให้เก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน เขาจะลองพูดกับแม่ให้

เดือนต่อมาคุณตัดสินใจลาออกจากงาน คุณไม่ได้บอกแม่ ทำทุกอย่างเป็นปกติ ออกจากบ้านด้วยชุดทำงาน กลับบ้านเวลาเดิม สิ้นเดือนให้เงินแม่ไม่เคยบกพร่อง แม้ไม่ได้ทำงานประจำ แต่คุณมีเงินเก็บพอสมควร

แม่จัดเตรียมอาหารเหมือนทุกเช้า ไข่ดาวและขนมปังปิ้ง วันนี้พี่ชายมากินด้วย คุณปาดแยมสับปะรดใส่ขนมปังปิ้ง แม่ตักแกงจืดวุ้นเส้นของโปรดคุณใส่ถุงพลาสติก

“เดี๋ยวเอาแกงจืดไปกินที่บริษัทนะลูก จะได้ไม่ต้องไปซื้อ แล้วช่วงนี้ที่ทำงานเป็นไงบ้าง?”

“ก็ดีครับแม่” คุณตอบขณะเคี้ยวขนมปังปิ้ง ปัดเศษที่ตกบนเสื้อเชิ้ต เอาจานไปวางในอ่าง แม่ยื่นถุงแกงจืดให้ คุณเหลียวมองพี่ชายที่มองอยู่ก่อนแล้ว

บางครั้งการโกหกก็ทำให้เรื่องบางอย่างดีขึ้น บางทีการไม่รู้ความจริงอาจดีกว่า

แม่มาทราบเรื่องในคืนวันหนึ่ง วันนั้นคุณกลับผิดเวลามากเพราะติดสัมภาษณ์ คุณไม่ได้โทร.บอก ทันทีที่เปิดประตูเข้ามา เห็นแม่นั่งบนโซฟาสีหน้าเคร่งเครียด สัมผัสสัญญาณบางอย่างที่รู้ว่าไม่ปกติ คุณยกมือไหว้แม่ กำลังเดินขึ้นห้อง เสียงแม่พูดขึ้น

“ต้นไปไหนมาลูก?” เสียงแม่เบาแต่ชัดเจน

“ทำงานสิแม่ ช่วงนี้บริษัทค่อนข้างยุ่ง วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบาย ขอตัวนะแม่” คุณโกหก!

พี่ชายเดินสวนลงมาพอดีสีหน้าไม่สู้ดีนัก

“คุยกับแม่ก่อนสิ แม่นั่งรอเรานานแล้วนะ” ไม่ใช่ประโยคขอร้อง แต่เป็นประโยคคำสั่ง

แม่ลุกจากโซฟาเดินมาหาคุณ ยื่นโทรศัพท์สมาร์ตโฟนให้ คุณกดดู เป็นข้อความในกลุ่มไลน์ที่มีเฉพาะญาติพี่น้องของแม่ ข้อความถูกส่งมาจากอาผู้หญิงเป็นรูปคุณรับรางวัลพร้อมบทสัมภาษณ์

“แม่รู้เรื่องทั้งหมดแล้วนะลูก”

“ไปคุยกันที่โซฟาดีกว่าครับ” พี่ชายคุณพูดพร้อมประคองแม่ไปนั่งบนโซฟา

เมื่อหยุดตรงหน้าแม่ คุณคุกเข่าทั้งสองพร้อมพนมมือกราบเท้าแม่อย่างช้าๆ ค้างตรงนั้นช่วงเวลาหนึ่ง รู้สึกถึงน้ำในตาไหลซึมออกมา คุณเงยหน้าขึ้นแล้วพูดว่า

“แม่… ต้นขอโทษที่ทำให้แม่ผิดหวัง ต้นอยากเป็นนักเขียน”

แม่นิ่งเงียบ ดวงตาเริ่มมีน้ำตากลบ คุณก้มหน้าลงไม่กล้าสบตา สักพักสัมผัสถึงน้ำหนักมือที่วางบนไหล่ เงยหน้าขึ้น แม่ระบายยิ้มพูดเสียงอันสั่นเครือว่า

“ทำไมไม่บอกแม่ว่าต้องการอย่างนี้ แล้วนี่เอาเงินที่ไหนใช้”

แม่ก็คือแม่ น้ำเสียงเต็มไปด้วยความห่วงใยไม่มีแววตำหนิแม้แต่น้อย ใบหน้าสงบนิ่งเหมือนพระพุทธรูปในโบสถ์ น้ำใสๆ ที่สะสมอยู่ในหน่วยตาค่อยๆ เอ่อท่วมและไหลลงมาอาบแก้ม

เมื่อเรื่องดำเนินถึงจุดนี้ คุณเล่าทุกอย่างให้แม่ฟัง ว่ามีความรักในงานเขียนอย่างไร ตื่นนอนกี่โมงเพื่อเขียนหนังสือ หลังรับตำแหน่งใหม่มีความทุกข์กับงานอย่างไร ลาออกมานานแค่ไหน และหลังลาออกแต่ละวันทำอะไรบ้าง

แม่ปาดน้ำตาด้วยนิ้วมือขวา ดึงคุณขึ้นมานั่งบนโซฟา

“แม่รักต้น ไม่ว่าต้นจะเป็นอะไรไม่สำคัญ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ลูกรัก แม่พร้อมสนับสนุน ถูกแล้ว ชีวิตเป็นของลูก ต้นต้องเลือกทางเดินของตัวเอง” แม่เปลี่ยนสายตามาจับจ้องรูปภาพครอบครัวบนผนังที่มีพ่อรวมอยู่ด้วย

“เฮีย… ต้นได้รางวัลชนะเลิศประกวดงานเขียนระดับประเทศเชียวนะ เฮียน่าจะดีใจกับลูก”

แม่ลุกจากโซฟาเดินขึ้นชั้นบน กลับลงมาพร้อมสมุดบัญชีเล่มหนึ่ง

“เงินที่ต้นให้แม่ทุกเดือน แม่เก็บเข้าบัญชีนี้ไม่เคยเบิกมาใช้ ตั้งใจเก็บให้ต้นไว้สร้างครอบครัว เอาเงินนี้ไปทำในสิ่งที่ลูกรัก แม่ขออวยพรให้ต้นประสบความสำเร็จ เป็นนักเขียนที่โด่งดังในอนาคต”

คุณโผกอดแม่ทันที น้ำในตาไหลเป็นทาง แม่ยังเป็นแม่คนเดิม คนที่พร้อมเข้าใจและอยู่เคียงข้างเสมอ คุณกระชับวงแขนให้แน่นขึ้นและแน่นขึ้น

หลังลาออกได้หนึ่งเดือน วันหนึ่งคุณเห็นประกาศในนิตยสารฉบับหนึ่งจัดประกวดเรื่องสั้นเป็นงานระดับประเทศ คุณตั้งใจเขียนส่งประกวด

กิจวัตรทุกอย่างคงเดิม เขียนหนังสือช่วงเช้า พักกินข้าวเที่ยง อ่านหนังสือช่วงบ่าย วิ่งสวนสาธารณะช่วงเย็น กลับบ้านเวลาเดิม คุณใช้ชีวิตแบบมีวินัยและตั้งใจเด็ดเดี่ยว วันแล้ววันเล่าจนเรื่องสั้นถูกเขียนจบลง คุณตั้งชื่อว่า “สิ่งที่ไม่เคยบอก”

วันหนึ่งโทรศัพท์ก็ดังขึ้น…