เรื่องสั้น : ญาติโก โหติกา พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกัน / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ญาติโก โหติกา

พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกัน

 

ปลายถนนสุโขทัย ด้านขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดจากแม่น้ำขึ้นมาคือวังสุโขทัย อีกด้านหนึ่งของถนนคือ วชิรพยาบาล

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำสามเสน ด้านหลังวชิรพยาบาล เมื่อก่อนมีเรือนไม้ขนาดใหญ่ เป็นสถานค้าขายน้ำมัน เอเย่นต์ใหญ่ของบริษัทเชลล์ ซึ่งปู่และย่าของข้าพเจ้าเป็นเจ้าของ การค้าขายน้ำมันสมัยนั้นบรรจุถังขายเป็นแกลลอน จัดส่งน้ำมันทั้งทางเรือและรถบรรทุก มีเรือน้ำมัน 1 ลำ และรถบรรทุก 2 คัน

ปู่กับย่ามีลูกชาย 6 คน หญิง 2 คน พ่อของข้าพเจ้าเป็นบุตรชายคนโต

ครั้งเมื่อพ่ออยู่บนแพน้ำมัน ช่วยบิดา-มารดาทำกิจการน้ำมัน นับเป็นครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจดีครอบครัวหนึ่ง…แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ปู่เจ็บป่วยและตายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ปี…

ข้ามมาฝั่งจังหวัดธนบุรี เลยเข้าไปทางบางขุนเทียน เป็นบริเวณสวน มีคลองหนึ่งชื่อคลองสวนเลียบ แยกมาจากคลองภาษีเจริญ ตาเป็นคนที่นั่น ส่วนยายเป็นคนคลองต้นไทร

เมื่ออยู่กินเป็นครอบครัว ตากับยายย้ายไปอยู่ตึกแถวของราชพัสดุที่ตลาดพลู อำเภอธนบุรี พร้อมลูกซึ่งมีทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน แม่เป็นลูกคนที่สอง แต่เป็นลูกสาวคนโต

ตาของข้าพเจ้าเปิดร้านขายสุราสรรพสามิต ซึ่งมีคนแถวบ้านทำงานที่กรมสรรพสามิตติดต่อขออนุญาตให้และได้รับอนุญาต จากนั้นจึงไปติดต่อกับยี่กงสีริมคลองบางหลวง ได้ป้ายแดงบอกว่าจำหน่ายสุราสรรพสามิต และก๊ง (เท่ากับ 50 ลูกบาศก์มิลลิลิตร) สำหรับตวงสุรา สุรา 28 ดีกรี ขวดละ 12 ก๊ง ก๊งหนึ่งราคา 5 สตางค์ (เท่ากับบะหมี่แห้งหรือน้ำชามหนึ่ง)

เมื่อรัฐบาลเลิกระบบยี่กงสี ตั้งคลังสินค้าแทน โดยโอนสิทธิการซื้อสุราจากยี่กงสีไปทำ การซื้อสุราสรรพสามิตมาจำหน่ายปลีกนั้น สั่งครั้งละ 1 เท คือ 32 ขวด อย่างน้อยต้องสั่งครึ่งเท และมีใบขนย้ายเป็นหลักฐาน เมื่อเกิดสงคราม ขวดใส่สุราไม่มีจุกไม้ก๊อก ต้องใช้รากลำพูแทน ภายหลังไม่มีขวดอีก จึงบรรจุลงไห ซึ่งบรรจุไหละ 1 เท ร้านขายปลีกต้องใช้สายยางดูดสุราในไหใส่ขวด กะให้ได้ปริมาณขวดละ 12 ก๊ง น้าชายคนโตเล่าว่า เคยดูดสุราลงขวด ต้องคอยชำเลืองว่ากะให้พอดีเกือบใกล้คอขวดซึ่งประมาณ 12 ก๊ง ดูดใหม่ๆ สำลักกลืนลงคอเหมือนกัน ถึงกับเมา แต่เมื่อทำหลายครั้งจนชำนาญ ไม่สำลักและเมา

การซื้อสุราจากหอสินค้าต้องมีโผวหรือโควต้า เมื่อตาตาย น้าชายให้ร้านรู้จักกันใช้โผวของทางบ้านซื้อสุราจากหอสินค้า

พี่ชายแม่เป็นทหารเรือ ประจำการบนเรือ ร.ล.ตราด เมื่อแม่แต่งงานกับพ่อ ได้ย้ายจากตลาดพลูไปอยู่กับพ่อที่แพน้ำมันหลังวชิรพยาบาล เพื่อนของพ่อรู้จักกับพี่ชายของแม่ เป็นผู้พาพ่อให้มารู้จักกับแม่

ข้าพเจ้ามีญาติผู้ใหญ่ 2 ฝ่าย คือข้างแม่ มีลุง พี่ชายของแม่ที่เป็นทหารเรือ มีน้าผู้หญิงน้องของแม่คนหนึ่ง และน้าผู้ชายถัดจากนั้นอีก 2 คน

ส่วนญาติผู้ใหญ่ข้างพ่อ ด้วยพ่อเป็นลูกชายคนโต จากนั้นจึงเป็นอาทั้งหมด คืออาผู้หญิง 2 คน และอาผู้ชาย 5 คน

บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนสามเสน หน้าเรือนแพน้ำมัน กว้างขวางพอจะจอดเรือรบหลวงได้ เมื่อแม่ไปอยู่ที่แพน้ำมันแล้ว แม่เคยเล่าให้น้าชายคนโตฟังว่า วันหนึ่งเมื่อเรือรบหลวงตราด ซึ่งเป็นเรือตอร์ปิโดขนาดใหญ่ไปจอดทอดทุ่นอยู่ตรงหน้าแพน้ำมัน พี่ชายคือลุงของข้าพเจ้าส่องกล้องเห็นแม่ของข้าพเจ้าเดินอยู่บนบ้าน จึงลงเรือกรรเชียงไปหา แม่ของข้าพเจ้ายังให้เงินพี่ชาย 20 บาท น่าจะเท่ากับเงินเดือนของพี่ชายขณะนั้น

ระหว่างนั้น น้องสาวแม่ น้าสาวของข้าพเจ้าเคยพาน้องชายทั้งสองคน (น่าจะ) ขึ้นรถเมล์ไปลงเชิงสะพานพุทธ (สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์) ฝั่งจังหวัดพระนคร แล้วขึ้นรถสามล้อไปบ้านพี่เขย คือสามีของแม่ข้าพเจ้า แถวโรงพยาบาลวชิระ ราคา 12 สตางค์ บ่อยๆ ทั้งบอกด้วยว่า เวลานั้นมีรถรางแล้ว จะไปรถรางก็ได้ แต่พี่สาวชอบพานั่งรถสามล้อ เพราะสนุกดี

น้าชายเล่าว่า เคยเห็นการกินอาหารกลางวันของลูกจ้างแพน้ำมันที่เป็นคนจีนตอนใกล้เที่ยงลงไปใต้ถุนแพซึ่งเป็นเลนจับปูเปี้ยวใส่อ่างน้ำ นำมาล้างด้วยน้ำประปา แล้วเทน้ำปลาดีลงไปดองปูนำมากินพร้อมกับข้าวต้มอื่น

 

แม่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของข้าพเจ้า ครอบครัวพ่อยังมีฐานะดี ด้วยช่วยย่าขายน้ำมัน พี่สาวคนโตจึงไปคลอดที่โรงพยาบาล “วชิรพยาบาล” เมื่อปี พ.ศ.2480 หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือ พ.ศ.2482 พี่สาวคนที่สองจึงคลอดที่แพน้ำมัน

กิจการค้าน้ำมันยังคงดำเนินการจากลูกเขยคนแรก สามีของลูกสาวคนโต คือน้องสาวของพ่อข้าพเจ้า ส่วนพ่อของข้าพเจ้าขณะนั้นเป็นแต่เพียงผู้ช่วยน้องเขยเท่านั้น

เมื่อกิจการค้าน้ำมันในแม่น้ำเริ่มชะลอตัวลง และชะงัก จนเลิกกิจการในที่สุด เขยคนโตกับลูกสาวคนแรกของปู่ที่ดำเนินกิจการได้ย้ายปั๊มน้ำมันในแพขึ้นมาอยู่ที่บริเวณถนนสามเสน เยื้องกับกรมชลประทาน ย่าย้ายมาทำมาค้าขายที่บริเวณตลาดนางเลิ้ง และอยู่บ้านใกล้วัดโสมนัสราชวรวิหารซึ่งพี่ชายของย่าเช่าที่ดินวัดปลูกไว้

เดิมปู่กับย่ามีภูมิลำเนาที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ก่อนจะย้ายมาค้าขายน้ำมันบนแพ เมื่อปู่ตาย ย่าจึงย้ายตามญาติซึ่งเป็นน้องของย่ามาอยู่ที่วัดโสมนัสฯ บนที่ดินให้เช่าของวัด มีคลองเล็กๆ แยกจากคลองผดุงกรุงเกษมคั่นระหว่างที่ดินกับบริเวณวัด ติดกับถนนผดุงกรุงเกษม ที่พี่ชายของย่าเช่าที่ของวัดปลูกบ้านอยู่ ทั้งยังปลูกบ้านใต้ถุนสูงไว้ใกล้กันนั้นอีกหลังหนึ่งยกให้พ่ออยู่กับแม่และลูกสาวทั้งสองคนอาศัย

ข้าพเจ้าเกิดที่บ้านหลังนี้ เมื่อต้นปี พ.ศ.2486 จึงเป็นคนนางเลิ้ง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ปลายปีมะเมีย 2485 น้ำท่วมใหญ่ เดินลุยน้ำไปตลาดนางเลิ้งขณะที่ข้าพเจ้ายังอยู่ในท้อง

ข้าพเจ้าเติบโตละแวกวัดโสมนัสฯ ได้พักหนึ่ง เป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 หลังจากคลอดข้าพเจ้าได้ 2 ปี แม่จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านตึกแถวของตาที่ตลาดพลู แล้วคลอดน้องชายข้าพเจ้าที่บ้านตึกแถวแห่งนี้ พ.ศ.2489

หลังสงคราม แม่ย้ายกลับมาอยู่กับพ่อที่บ้านหลังวัดโสมนัสฯ นางเลิ้งอีกครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าเติบโตอายุได้สักสี่ขวบ พอรู้ความบ้างแล้ว แต่จำความอะไรได้กระท่อนกระแท่นไม่ปะติดปะต่อ

ต่อมา แม่พาลูกทั้ง 4 คนกลับไปอยู่ที่ตึกแถวตลาดพลู ด้วยเหตุระหองระแหงกับพ่อ เนื่องจากพ่อมักดื่มสุรา ในที่สุดจึงแยกกัน ข้าพเจ้ากับพี่สาวสองคนและน้องชายจึงอยู่ที่ตึกแถวย่านตลาดพลูจนโต

ข้าพเจ้ามีญาติผู้ใหญ่ตามลำดับที่เป็นอาผู้ชาย 5 คน อาผู้หญิง 2 คน เมื่อข้าพเจ้ากับพี่น้องไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ ซึ่งแยกกันแล้ว กับอาทั้งผู้ชายผู้หญิง ซึ่งยังอยู่ที่นางเลิ้ง บางคนเมื่อมีครอบครัวย้ายไปอยู่กับสามี จึงไม่สนิทกันเท่าที่ควร เพียงแต่รู้ว่า ข้าพเจ้าและพี่น้องเป็นลูกของพ่อซึ่งเป็นพี่ชายของอา มีแต่พี่สาวคนโตกับพี่สาวคนที่สองเท่านั้นที่พอจะสนิทกับบรรดาอา เนื่องจากเติบโตมาระหว่างพ่อกับแม่ยังอยู่ที่นางเลิ้ง

ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเล็ก แต่ยังพอลำดับญาติหลังจากที่ข้าพเจ้าเติบโตขึ้นมาแล้วได้บ้าง ส่วนน้องคนเล็กแทบว่าไม่ทั้งเคยเห็นและรู้จัก

กับทางญาติของแม่ มีแต่ลุงที่ห่างกัน เนื่องจากมีครอบครัว หลังออกจากราชการทหารเรือ มีร้านค้าขายที่ตึกแถวบริเวณท่าเตียน ตรงข้ามวัดโพธิ์ ไม่ค่อยได้พบกันนัก นานๆ ทีจึงจะพบกันบ้าง มีแต่น้าสาวซึ่งเป็นโสดทำงานเป็นแม่บ้านให้กับญาติห่างๆ ที่มาเยี่ยมพี่สาวและน้องชายสองสามเดือนครั้ง ทั้งยังให้สตางค์เป็นค่าขนมแก่หลานสาว พี่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากับน้องชาย

พี่สาวคนโตมักจะไปอยู่กับแม่ ซึ่งไปทำงานเป็นแม่บ้านบ้าง เป็นแม่ค้าบ้าง ที่สุดจึงเช่าที่ทำแผงขายหนังสือพิมพ์ที่บริเวณปากทางเข้าตลาดบำเพ็ญบุญ ซึ่งน้าชายไปอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นๆ ที่ร้านของพี่สาวเป็นประจำ โดยเฉพาะหนังสือพยากรณ์สารของสมาคมโหร และนิตยสารโหราศาสตร์รายเดือนของอาจารย์จรัญ พิกุล จึงสนใจเรื่องของโหราศาสตร์มากระทั่งใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวต่อมา

บ้านตึกแถวที่ตลาดพลู ข้าพเจ้า พี่สาวคนที่สอง และน้องชายอยู่กับน้าชายทั้งสองคน ภายหลังน้าชายคนเล็กไปรับราชการเป็นทหารเรือ และมีครอบครัว จากนั้น จึงพาภรรยาและลูกสาวคนแรกกลับมาอยู่ที่ตึกแถวตลาดพลู ทำให้ข้าพเจ้าสนิทมีญาติผู้ใหญ่ข้างแม่ที่เป็นน้าทั้ง 3 คน

วันหนึ่ง น้าผู้ชายคนเล็กเสียชีวิตกะทันหัน หลังมีลูกสาวอีกคนและลูกชายคนสุดท้อง เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าพบกับความตายจากผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ทำให้ญาติข้างแม่เหลือเพียงน้า 2 คน และลุงคนหนึ่ง ส่วนญาติข้างพ่อซึ่งเป็นอา ขณะนั้นยังอยู่ครบทั้ง 7 คน

เมื่อข้าพเจ้าเข้าสู่วัยรุ่นหลังน้าชายคนเล็กเสียชีวิต ระหว่างเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษา อยู่กับครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะทางการเงินแต่อย่างใด แต่นานๆ ทีน้าสาวมาเยี่ยมและให้สตางค์เป็นค่าขนมบ้างแก่พี่สาวข้าพเจ้าและน้องชาย ส่วนน้าชายนอกจากค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นค่าอาหารประจำวัน ก็แทบไม่มีค่าขนมไปโรงเรียนให้พี่สาว ข้าพเจ้ากับน้องชาย เราจึงขาดแคลนค่าใช้จ่ายอื่น เมื่อข้าพเจ้าโตพอจะหาค่ารถเมล์ประจำทางไปขอสตางค์อาบางคนที่นางเลิ้งเป็นครั้งคราว จึงทำให้เป็นที่รู้จักของอาผู้ชายและอาสะใภ้บ้าง

จนเมื่อเติบโตพอทำงานมีรายได้ จึงห่างจากบรรดาอาทั้งหลาย แต่กับน้าอยู่ด้วยกันมาอีกหลายปี กระทั่งลุงเสียชีวิต จึงไม่ได้ติดต่อกับป้าสะใภ้และลูกของลุงคนหนึ่งอีกเลย

กับอา หลังจากห่างเหินแล้ว นานๆ จึงได้รับทราบจากลูกของอาบางคนถึงการเสียชีวิตของพ่อเขาบ้าง อาเขาบ้าง

 

นับวันญาติผู้ใหญ่ข้างพ่อของข้าพเจ้าเริ่มหายไปทีละคนสองคนจากความตาย

ที่สุด อาคนสุดท้ายหลังจากเกษียณจากหน้าที่การงานได้ไม่กี่ปีมาจากไปอีกคน ข้าพเจ้าจึงไม่มีญาติผู้ใหญ่ข้างพ่อเหลือสักคน ทั้งลูกของอาแต่ละคนแทบไม่รู้จักกัน ขณะที่อาผู้หญิงใช้นามสกุลของสามี อาผู้ชายแต่ละคนต่างตั้งนามสกุลของตัวเอง การลำดับญาติข้างพ่อของข้าพเจ้ากับลูกอาจึงแทบไม่ทราบว่าใครเป็นใคร

ญาติผู้ใหญ่ข้างแม่ ลุงมีลูกชายคนเดียว ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทั้งไม่เคยติดต่อกันเพื่อทำความรู้จัก อย่างน้อย ข้าพเจ้าและพี่น้องลูกของแม่มีศักดิ์เป็นน้องของเขา

นอกจากแม่มีลูก 4 คน น้องสาวแม่เป็นโสด ส่วนน้าชายคนถัดไปแม้มีครอบครัวก็ไม่มีลูก ยกเว้นข้าพเจ้ากับน้องชายที่รับเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อจะได้ใช้นามสกุล พี่สาวคนโตของข้าพเจ้าเป็นโสดแล้วตั้งนามสกุลของตัวเอง พี่สาวคนที่สองมีสามี ใช้นามสกุลของสามี ข้าพเจ้ามีบุตรสองคน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง น้องชายมีบุตรชาย 2 คน

น้าชายคนสุดท้ายมีครอบครัวพร้อมบุตรหญิง 2 คน บุตรชาย 1 คน

เมื่อวันคืนล่วงไป หลังจากน้าชายคนสุดท้องเสียชีวิต ลุงเสียชีวิตตามไปอีกหลายปี และอีกหลายปีต่อมา ความตายก็มาเยือนน้าสาว และแม่ของข้าพเจ้าเมื่ออายุเกินกว่า 90 ปี

แล้วที่สุด คืนวันนั้น น้าสะใภ้ ฐานะเป็นมารดาบุญธรรมของข้าพเจ้า โทรศัพท์มาแจ้งว่า น้าชาย “เสีย” เสียแล้ว ซึ่งน้าชายคนนี้เคยเขียนถึงแม่ตัวเองว่า แม่ก็ตายตอนอายุ 38 ปี จำได้ว่าเมื่อมีคนถามถึงแม่ พ่อตอบว่า “เสียเสียแล้ว” จึงรู้จักคำว่า “เสีย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เป็นอันว่า ตั้งแต่คืนวันนั้น ญาติข้างแม่ของข้าพเจ้าทั้งลุง ทั้งน้า และแม่ไม่มีแล้ว เช่นเดียวกับญาติข้างพ่อเมื่ออาคนสุดท้องเสียชีวิต ญาติข้างพ่อคือตัวพ่อและอาทั้งหมด 8 คนไม่มีอยู่เช่นกัน

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนถึงความเป็นมาทั้งตระกูลทางฝ่ายข้างบิดา และตระกูลทางฝ่ายข้างมารดา เป็นความตั้งใจที่จะบันทึกเรื่องราวของบรรพบุรุษที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่านผู้ใหญ่ทั้งในส่วนที่ดีน่าพอใจและส่วนที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีของอนุชนรุ่นหลัง

หนังสือเล่มนั้นชื่อ “โครงกระดูกในตู้” ในเล่มใช้คำว่าญาติทั้งสองฝ่ายคือ “สาแหรก” ซึ่งให้ความหมายถึงการสืบต่อความเป็นญาติของทั้งสองฝ่ายให้เข้าใจได้ง่าย

“สาแหรก” ของญาติแต่ละฝ่ายโยงกันขึ้นไปเป็นหาบมี “ไม้คาน” เป็นตัวเชื่อม ทั้งทำให้ทราบว่าญาติผู้ใหญ่ฝ่ายไหนมีใครบ้าง ยังมีชีวิตอยู่หรือล้มหายตายจากไปแล้ว ลูกหลานของแต่ละคนแต่ละฝ่ายมีใครบ้าง หากทำความรู้จักกันได้ อย่างน้อยแค่ทักทายว่าเป็นญาติกันยังดีกว่ารู้จักกันแล้วไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

 

วันนี้ สาแหรกฝ่ายข้าง “แม่” ของข้าพเจ้า หลานข้างแม่ของข้าพเจ้าทั้งหมดน่าจะพอรู้ดีว่าใครเป็นใคร ใครเป็นลูกใคร นับญาติกันอย่างไร อย่างน้อยนับขึ้นไปได้กว่าหนึ่งร้อยปี ตาเกิดเมื่อปี พ.ศ.2433 นับถึงปีนี้ 131 ปี ส่วนปู่ไม่ทราบว่าเกิดปีอะไร แต่นับถึงปี พ.ศ.นี้ คงไม่น้อยไม่มากไปกว่ากันกี่มากน้อย เอาไว้ข้าพเจ้าจะไปสืบหามาบันทึกให้ลูกและหลานของข้าพเจ้าได้ทราบ

เมื่อญาติทางฝ่ายแม่ “เสีย” หมด น้าชายของข้าพเจ้าที่เป็นญาติผู้ใหญ่เหลืออยู่คนเดียว เคยเขียนถามในหนังสืองานศพว่า “พวกเขาไปอยู่ไหนกัน”

นั่นซิ วันนี้ข้าพเจ้าคงไม่ทราบเช่นกันว่า “พวกเขาไปอยู่ไหนกัน”

 

วันก่อนพบคำตอบที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เป็นคำตอบเชิงธรรมะที่นำมาผูกร้อยเป็นเพลง ว่า เมื่อมนุษย์ตายไปแล้วมีทางไป 7 ทางคือ

ทาง 7 สายของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่

1. ทางไปนรก ได้แก่ โทสะ คือ ความโกรธ

2. ทางไปเปรตและอสุรกาย ได้แก่ โลภะ คือ ความโลภ

3. ทางไปดิรัจฉาน ได้แก่ โมหะ คือ ความหลง

4. ทางไปมนุษย์ ได้แก่ ศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10

5. ทางไปสวรรค์ ได้แก่ มหากุศล 8 หรือหิริโอตตัปปะ

6. ทางไปพรหมโลก ได้แก่ สมถกรรมฐาน

7. ทางไปนิพพาน ได้แก่ วิปัสสนากรรมฐาน

นั้นคือทางธรรม

ส่วนทางโลก หากมีเงินทอง ส่งถึงโรงพยาบาล มีลูก-หลาน ส่งถึงหลุมศพ หรือเชิงตะกอน บุญกุศลส่งถึงภพหน้า ภาวนาส่งถึงนิพพาน

ดังนั้น หากอยากทำบุญ แต่ไม่มีเวลาไปวัด ไม่มีเวลาทำบุญ ถึงเวลายังมีลมหายใจใช้ลมหายใจนั้นให้เป็นประโยชน์ ด้วยการทำใจให้สงบ!!!

หายใจเข้า ภาวนา “พุท” หายใจออกภาวนา “โธ”

แค่นี้ก็ได้บุญมหาศาลแล้ว ไม่เชื่อต้องลองปฏิบัติ!!

พระพุทธองค์สอนให้รู้จักทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ และเข้าใจทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ แล้วกลับไปแก้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

หรืออยากรู้ให้ลึกให้ซึ้ง หาหนังสือชื่อ “ตายแล้วไปไหน” ซึ่งพระเดชพระคุณเจ้า พระธรรมวิสุทธิกวี (วิจิตร ฐิตะวัณโณ)–วันนี้คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร พิมพ์เนื่องในโอกาสในการบำเพ็ญกุศลอายุครบ 6 รอบของพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2528 ถึงวันนี้พิมพ์เป็นครั้งที่สิบเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ

ท่านผู้ขียนบอกไว้ในคำนำการจัดพิมพ์ครั้งที่ 10 ว่า

ด้วยความมั่นใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งนำมาชี้แจงไว้ในหนังสือถึง 3 ตอน ข้าพเจ้าได้ประเมินผลที่พึงจะเกิดต่อท่านผู้อ่านว่า ถ้าหากผู้อ่านมีสติสมบูรณ์ ไม่พิการทางสมองหรือทางด้านจิตใจแล้ว จะมีผลออกมา 3 กลุ่ม คือ

1. หากผู้ใดยังไม่เชื่อบุญ บาป ไม่เชื่อนรก สวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ถือว่าตายแล้วสูญหมด หากมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ “ตายแล้วไปไหน” จนจบด้วยความตั้งใจหาเหตุผลตามความเป็นจริง จะเกิดความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอย่างน้อย 50%

2. หากผู้ใดซึ่งมีความเชื่อหลักพุทธศาสนาประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ยังลังเลเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรกสวรรค์และผีสาวเทวดา ถ้าผู้นั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ จะมีความเชื่อต่อหลักพุทธศาสนาในเรื่องบาปบุญ และเรื่องเวียนว่ายตายเกิดเพิ่มขึ้นเกือบสิ้นเชิง ที่ยังไม่เต็ม 100% เพราะอาจยังมีประสบการณ์ด้านนี้ไม่เต็มที่

3. ผู้ใดมีความเชื่อหลักพุทธศาสนาเกือบสิ้นเชิง เช่น มีอายุมาก นับถือพุทธศาสนามานาน มีประสบการณ์ชีวิตมามาก เช่น เคยเห็นคนผีเข้า เห็นคนที่ได้รับผลดีผลร้าย เพราะกรรมดีกรรมชั่วของตน หากมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้จบ จะเชื่อมั่นในเรื่องบุญบาป และเรื่องเวียนว่ายตายเกิดเต็ม 100%

ส่วนผลที่แท้จริงอาจแตกต่างไปจากการประเมินนี้บางก็เป็นได้ เพราะสติปัญญาและบุญบารมีที่สั่งสมของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน

 

ข้าพเจ้าอาศัยในโลกใบนี้ยาวนานเกือบ 80 ปีรอมร่อแล้ว ปฏิบัติภาวนามาตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ทุกเวลานาที ทั้งคำตอบของหนังสือ “ตายแล้วไปไหน” ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า “คนเราตายแล้วต้องไปตามกรรมของตน” ก็เถอะ

วันนี้ยังมีคำถามติดอยู่ในใจว่า

“นั่นซิ ญาติโก ตั้งแต่ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อ-แม่ ป้า-น้า-อา ตายแล้วไปไหน”