เรื่องสั้น : เ(ค)รื่องกีดขวาง (1) / สุขุม คัมภีรภาพ

เรื่องสั้น

สุขุม คัมภีรภาพ

 

เ(ค)รื่องกีดขวาง (1)

 

หลังไวรัส covid-19 ระบาดรอบสอง เขากับออริยาตกลงใจลาออกจากงานประจำ พวกเขาจะไปเปิดร้านกาแฟที่อีสาน หรือไปทำสวนที่ใต้ สุดท้ายเขาตามใจเธอ กลับใต้ไปดูลู่ทางทำมาหากิน ก็พอดีแม่ยายผ่าตัดไส้ติ่งและเพิ่งออกจากโรงพยาบาล

เขาขับรถกระบะสี่ประตูจากกรุงเทพฯ มาถึงห้วยยอด จอดรอหลังเครื่องกั้นรถไฟ 10 นาทีผ่านไป เขาหันมองออริยาที่จดจ่ออยู่กับไอโฟน

“ปกติเวลานี้มีรถไฟผ่านมั้ย” เขาถาม บรรยากาศนอกรถครึ้มฝน ระหว่างรอคำตอบ เขาเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับอ้อมเครื่องกั้น ตามด้วยรถเก๋งคันสีม่วงเปลือกมังคุด

“ไม่น่ามีนะ” เธอตอบ แล้วหันมองนอกตัวรถ

“หรือว่าเครื่องกั้นเสีย” เขาสงสัย “คุณลองโทร.ไปแจ้ง เบอร์ติดอยู่ตรงนั้น” เขาพูดและชี้นิ้ว

“รอก่อน เผื่อรถไฟกำลังจะมา” เธอบ่ายเบี่ยง

“ธุระก็ไม่ใช่” ออริยาไหวไหล่ เขาได้ยินเสียงบ่นอุบอิบ

ขณะนั้นฝนโปรยเม็ดเปาะแปะลงมาแล้ว ลมพัดยอดหญ้าคาข้างทางพะเยิบ เขาเปิดที่ปัดน้ำฝนรอ สะดุ้งเสียงก๊อกๆ เคาะหน้าต่างฝั่งคนขับ ชายแปลกหน้าสวมเสื้อแขนยาวลายตาราง สีหน้าบูดบึ้ง แบกพร้าคมวาวก้มตัวบอกให้ลดกระจกลง

“เครื่องกั้นเสีย โทร.ไปแจ้งหลายวันแล้ว ยังไม่มีใครมาซ่อม ขับรถอ้อมไปเลย” ชายแปลกหน้าสีหน้าบูดบึ้งบอก ออริยาหันมาหาต้นเสียง ก่อนจะยกมือไหว้

“ลุงหมาย จะไปไหนคะ ขึ้นรถๆ ฝนตกหนักแล้ว” เธอวางไอโฟนไว้บนตัก “ไม่เป็นไร ไหนๆ ก็เปียกแล้ว ลุงนั่งกระบะหลังดีกว่า จำทางไปบ้านลุงได้ใช่มั้ย” ลุงหมายสีหน้าบูดบึ้งคลี่ยิ้ม คนเราเวลายิ้มหน้าตาดูดีขึ้น เขาไม่รู้ว่าลุงหมายเคยสังเกตเห็นรึเปล่า

“ค่ะ” ออริยาตอบรับ เขามองกระจกหลังและเปิดไฟเลี้ยว

ออริยาหยิบไอโฟนบนตัก แล้วเปิดคลิปฟังข่าวมติชนออนไลน์รายงาน “จากกรณีที่รัฐบาลได้นำตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ที่มีโลโก้ของบริษัท ‘MAERSK’ ซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งยักษ์ใหญ่ของโลก พร้อมกับลวดหนามมาปิดถนน ก่อนที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรจะประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)”

“รัฐบาลเล่นใหญ่นะ” ออริยาเปรย ขณะฝนลงหนาเม็ด

“ตู้คอนเทนเนอร์ปลดระวางแล้วรึเปล่า บริษัทใหญ่ขนาดนั้นไม่น่าสนับสนุนเผด็จการ” เขาเอ่ย มือยังจับพวงมาลัยแน่น

 

คืนนั้นเขาฝัน หลังรถยนต์สี่ประตูจะขับผ่านรางรถไฟ เขาชะลอรถ หันซ้ายแลขวาจนแน่ใจ แต่ก็ต้องสะดุ้งกับสัญญาณไฟเตือนว่ารถไฟจะมา

ออริยานั่งหน้าซีด มือกุมสายคาดเข็มขัดนิรภัยแน่น ปากพึมพำภาษาพระสวด เขาฟังไม่เข้าใจ ขณะสองล้อหน้ารถยนต์สี่ประตูคร่อมราง เขาเหยียบคันเร่งให้รถเคลื่อนตัวผ่านพ้น จู่ๆ รถดับ สตาร์ตเท่าไรไม่ติด เหงื่อออกชุ่มแผ่นหลังและหน้าผาก ออริยาปากยังพึมพำ เร็วๆ สิพี่ เธอเร่ง คนฉี่จะราดแล้ว เธอว่า ลงไปเข็นรถกันเถอะ เขาชวน ก่อนปลดเข็มขัดนิรภัยออกและเปิดประตูลงไป

เขาไปยืนหน้ารถ พยายามออกแรงผลักกระโปรงรถ ให้สองล้อหน้าถอยห่างจากราง ไฟจากสัญญาณเตือนยังกะพริบ ถนนเล็กๆ สายนี้ไม่มีเครื่องกั้น ผู้ขับรถต้องใช้ความระมัดระวังกันเอง คนในพื้นที่จะรู้ว่ารถไฟมาเวลาไหนบ้าง เขาหันมองออริยา เธอไปอยู่ท้ายรถ ใช้สองฝ่ามือดันสุดแขน หวังให้รถเคลื่อนผ่านรางไปข้างหน้า เสียงหวูด โว้ด โว้ดดังมาแต่ไกล เขาตะโกนบอกออริยาให้มาช่วยกันด้านหน้า เธอส่ายหัว ต่างคนต่างออกแรงผลักอีกครั้ง เหมือนล้อรถจะถูกดูดติดรางรถไฟ มันไม่ขยับเขยื้อน เสียงหวูดโว้ด โว้ด ดังเข้ามาใกล้ รางเหล็กสั่นสะเทือน

เขาสะดุ้งตื่น เหงื่อแตกพลั่ก หัวใจหวิวหวั่น หันมองออริยาในความมืด เธอนอนตะแคงข้าง เขาขยับตัว กระเถิบไปประชิด แล้วใช้แขนโอบกอด

 

เขาไม่เคยรู้ว่าออริยาขอเช่าพื้นที่สวนยางของพ่อตัวเอง ตกลงกันปีละหนึ่งหมื่นบาท ล้มไม้ยางอายุสิบกว่าปีไปสี่ห้าแถวทำโรงเลี้ยงไก่เนื้อระบบปิด สวนยางของพ่อตาอยู่ห่างหมู่บ้าน ช่วยลดปัญหากลิ่นขี้ไก่คลุ้ง เธอตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาเขา แต่คิดในทางที่ดี เธอคงวางแผนจะให้เขามาอยู่ที่ใต้มากกว่า ก็อีสานบ้านเขาไม่เหลือพ่อ-แม่ให้ดูแลแล้ว นอกจากนาสิบไร่ที่ให้ญาติพี่น้องเช่าทำ การกลับมาอยู่ระยะยาวที่นี่สร้างความกังวลใจพอสมควร พ่อตาไม่ค่อยถูกชะตากับเขาเท่าไร สังเกตหลายครั้งช่วงลาพักร้อน มื้อสายๆ หลังกลับจากสวนกรีดยาง ต่างคนต่างกินข้าว หากพ่อตานั่งอยู่ในครัว พอเขาเข้าไปตักข้าวราดแกงจะมานั่งที่โต๊ะด้วย พ่อตามักลุกขึ้นและถือจานข้าวไปนั่งกินที่อื่น ช่วงค่ำๆ หลังกินข้าวเสร็จ เขาหยิบหนังสืออ่าน พ่อตาจะหมุนลำโพงฟังหนังน้องเดียวเสียงดัง บางครั้งออริยาต้องเดินไปหรี่เสียงปี่อี้แอ่หนวกหู

“เปิดดังเกินละพ่อ เดี๋ยวลำโพงแตก” เธอบอก พลางไหวไหล่

“กูเปิดฟังของกูทุกวัน ไม่เชื่อถามแม่มึง” พ่อแย้ง ถามหาแนวร่วม

“ไม่เสียงดังรบกวนชาวบ้านไปหน่อยเหรอ” ออริยาสวน ปากคอเริ่มสั่น

“ชาวบ้านที่ว่าหมายถึงคนข้างบ้านหรือผัวมึง” พ่อตาไม่ลดราวาศอก

“จะพูดเรื่องสิทธิ์พ่อคงไม่เข้าใจ” ออริยาเสียงแข็ง ยืนกำหมัด

“ทำไม เรื่องแค่นี้ก็จะประท้วงเหรอ อย่าเอานิสัยคนกรุงเทพฯ มาใช้แถวนี้” พ่อตาลุกขึ้นและหยิบมือถือเข้าบ้าน ออริยาเดินส่ายหัวมานั่งข้างเขา ปัดยุงจากใบหน้า หยิบไอโฟน ก่อนเข้ารหัสเฟซบุ๊ก โพสต์วิดีโอเสียงหริ่งแร้ร่ำไร

เขาจำได้ว่า หลังออริยาปะทะคารมคืนนั้น หลายวันต่อมาเขาไม่เห็นพ่อตาอีกเลย แม่บอกว่าตักข้าวสาร ห่อปลาเค็มปลากระป๋องไปนอนที่ขนำในสวนยาง “บางครั้งแม่ก็รำคาญ คนจะหลับจะนอน บางคืนต้องออกมาตาม” แม่เอ่ย ไม่มีความลับใดซ่อนในประกายตา “อย่าไปถือสาพ่อเลยนะลูกนะ แกเป็นคนโผงผางแบบนี้แหละ” น้ำเสียงแม่ประนีประนอม

แต่เขาเริ่มคิด หากวันใดต้องย้ายมาอยู่ที่นี่ คงอึดอัดน่าดู

 

ออริยาเล่าว่า หลังลุงหมายสูญเสียภรรยาไปเมื่อ 7 ปีก่อน สีหน้าแกก็บูดบึ้ง ทำแต่งาน เป็นแกนนำสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านสวนสมรมที่เราไปส่ง แม้ดูน่าอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าไปยุ่งเกี่ยว ขนาดติดป้ายรับซื้อเศษใบไม้กระสอบละยี่สิบบาท ยังไม่มีใครเอาไปขาย ปกติคนที่นี่ชอบเผา ตะวันไม่ทันตกดินเผาแล้ว หญ้าแห้ง ใบไม้ชื้นๆ พลาสติกกลิ่นฟุ้ง ชวนเวียนหัว ออริยาบุ้ยปากไปที่พ่อ อ้างว่าไล่ยุง เหม็นจะตาย จะพูดจะห้ามเดี๋ยวทะเลาะกันอีก หาว่าเราอยู่กรุงเทพฯ ดมฝุ่น PM 2.5 ยิ่งกว่านี้ เขาได้แต่ใคร่ครวญปัญหาแต่ละข้อที่ต้องปรับตัว

ระหว่างใช้ความคิด ออริยายื่นไอโฟนให้ ปกติเขาไม่ละลาบละล้วง ต่างคนต่างเคารพความเป็นส่วนตัว ที่จริงเขาเชื่อใจเธอมากกว่า คนภายนอกอาจมองว่าเขาอะไรก็ได้ ดูไม่เป็นผู้นำ เฉื่อยชา ข้อนี้เองที่ทำให้พ่อตาไม่พอใจ “เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำตัวเป็นใหญ่” พ่อตาเสียงเข้มและกวาดสายตาดุกร้าวไปยังแม่กับออริยา “ชวนไปใส่ปุ๋ยยางก็ไปเลย ไม่ต้องถามเมีย ชวนไปแทงปาล์ม ได้เงิน ไม่ใช่ไปเฉยๆ ถามเมียทุกเรื่องทำไม” พ่อตาเอะอะ ไม่เคยบอกล่วงหน้า ไม่ถามว่าเขาอยากไปหรือทำงานนั้นได้หรือเปล่า เขาได้แต่อ้ำอึ้งอึกอัก มีปากแต่ไร้เสียง

ออริยาเคยบอก พ่ออยากได้ลูกชาย จะได้คอยช่วยงานในสวน ลูกสาวไม่เหมาะกับงานแบกหามบุกตะลุย แม่จึงถูกตราหน้า ผิดที่คลอดเธอออกมา พอเธอคบและจดทะเบียนสมรสกับเขา ความเป็นลูกอีสาน ทำงานแต่ในห้องแอร์ ชีวิตไม่เคยเกี่ยวข้องวิถีเกษตรกรรม ยิ่งทำให้พ่อก่อปราการกับเธออีกชั้น

ผู้สื่อข่าวข่าวสดรายงานพร้อมเปิดภาพชุด “กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ดำเนินการปิดการจราจรถนนราชดำเนิน บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยวางสิ่งกีดขวางตลอดแนวขวางถนน ทั้งรั้วเหล็ก ลวดหนามหีบเพลง และรถเมล์จำนวนหลายคัน หลังจากผู้ชุมนุมคณะราษฎรประกาศรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่…”

“ลวดหนามหีบเพลงเอามาขวางม็อบได้ แต่วางตามชายแดนไม่ได้” ออริยาบ่น แล้วยื่นมือไปรับไอโฟนคืน

“โควิดระบาดเพราะอะไรล่ะ เจ้าหน้าที่มาอยู่กรุงเทพฯ กันหมด” เขาผสมโรง

 

ลมโหมพัด กระแทกประตูหลังบ้าน เหมือนมียักษ์ใหญ่มองไม่เห็นตัวใช้กำปั้นทุบ ใบยางปลิวเวี่ยว่อนบนลานหน้าบ้าน ฟ้าร้องครืนไกลๆ จากนั้นไฟดับ ฝนตกเปาะแปะ เหมือนใครเอาทรายโปรยหลังคาบ้าน ก่อนจะขาดเม็ดหายไป ออริยาโทร.ให้น้าชายไปดูโรงเลี้ยงไก่ หากไฟยังไม่มาภายในชั่วโมงนี้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟเปิดพัดลม ส่วนเขาโทร.ออกไปแจ้งการไฟฟ้า ไม่มีใครรับสาย ลมพัดวนเมื่อครู่หยุดนิ่ง เมฆเป็นสีเดียวกับขี้เถ้า เขาชวนออริยาขับรถไปดูว่ากิ่งไม้ ต้นไม้บริเวณไหนหักโค่น จะได้แจ้งการไฟฟ้าให้รีบมาจัดการ ระหว่างนั้นออริยากดไอโฟนโทร.ออก ไม่มีเสียงจากเลขหมายปลายทางที่เธอเรียก ตู้ด ตู้ด ตู้ด…

“ไปตายห่าไหนกันหมด” เธอกัดริมฝีปากเป็นรอย ขมวดคิ้วยุ่ง มือขวาขยุ้มหัวเข่า

แต่ละชั่วโมงที่ใช้เครื่องปั่นไฟ หมายถึงต้นทุนเลี้ยงไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เขาไม่เคยรู้มาก่อน ขณะขับรถผ่านหน้าบ้านสวนสมรม เขาเห็นไม้ใหญ่พิงสายไฟ ก่อนชะลอรถแล้วชี้ให้เธอดู “การไฟฟ้าน่าจะมารานกิ่งบ้างนะ” เขาแสดงความเห็น ไม่มีเสียงตอบรับจากออริยา เขาหันไปมอง เธอใบหน้ากลมเกลี้ยง เขาชอบแก้มสีกุหลาบเวลาเธอโกรธ ออริยามือกำไอโฟนแน่น มองไปข้างหน้าแน่วแน่

“อาหารไก่ก็แพง ไฟมาดับอีก ส่วนที่จะได้กำไรเอาไปลงค่าน้ำมันหมด” เธอบ่นงึมงำ

 

เขาขับรถมาถึงทางเข้าหมู่บ้าน น้าชายโทร.บอกว่าไฟติดแล้ว ออริยาดูอารมณ์ดีขึ้น แต่ต้นยางสองสามต้นล้มพาดหลังคาโรงเลี้ยงไก่เนื้อ น้าชายพูดอ้อมแอ้ม ออริยาถอนหายใจ ใบหน้าซีดขาวเหมือนแผ่นกระดาษ เครื่องกั้นรถไฟยังกีดขวางถนน

“ปกติเวลานี้มีรถไฟผ่านมั้ย” เขาถาม

“ไม่น่ามีนะ” เธอตอบ

“โทร.ไปแจ้งหน่อยดีมั้ย” เขาขอความเห็น

“น่าจะมีคนแจ้งแล้วล่ะ อีกอย่างให้เป็นหน้าที่ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน อบต.จัดการบ้าง” เธอใช้นิ้วสไลด์ข้อความในไอโฟน

“จะหวังน้ำบ่อหน้าทำไม งั้นเดี๋ยวโทร.ไปเอง ช่วยบอกเบอร์หน่อย” เขาคว้าไอโฟนอีกเครื่อง เปิดหน้าจอรอ

“ธุระก็ไม่ใช่” เธอบ่น เขาคิดในใจ ออริยามักจะสนใจแต่เรื่องส่วนตัวกับม็อบคณะราษฎรเท่านั้น

เขาขับรถอ้อมเครื่องกั้น เธอบอกเส้นทางสวนอีกแห่งที่ใช้เงินออมซื้อเก็บไว้ เป็นอีกเรื่องที่เธอไม่เคยปรึกษา เขางงและสงสัย เธอใช้เงินออมซื้อมาราคาเท่าไร นึกไม่ถึงว่าที่ดินจะติดบ้านสวนสมรมลุงหมาย แต่วันก่อนเธอทำไมไม่บอก เขาเพิ่งสังเกตว่ายางมะตอยลาดไม่ตลอดสาย น่าจะขาดไปประมาณ 200 เมตรก่อนถึงถนน

“ไม่ใช่ถนนส่วนบุคคลใช่มั้ย” เขาถาม ออริยาเงยหน้าจากจอไอโฟน

“หมายถึง” เธอเอียงคอ พร้อมกับไหวไหล่น้อยๆ

“ก็เห็นมันลาดยางไม่สุดซอย” เขาพูดต่อ

“งบฯ คงมาแค่นี้มั้ง” เธอตัดบท ก้มมองไอโฟนสั่น

พ่อตาโทร.มา แกบอกจะเข้าไปเลื่อยไม้ยางที่ล้มใส่หลังคาโรงเลี้ยงไก่เอง ค่าไม้ยางกูเอานะ ออริยาเปิดลำโพง ค่าไม้ยางต้องเป็นของคนเช่าไม่ใช่เหรอพ่อ เธอหงุดหงิด งั้นมึงมาเลื่อย ให้ผัวช่วยแบกขึ้นรถ พ่อตาว่า แบ่งคนละครึ่ง แค่นี้นะ ออริยาตัดบท หัวแข็ง ดื้อด้าน ไม่เงียบ ไม่เออออเหมือนแม่มึงเลย พ่อตารัวคำพูด ออริยารีบกดวางสาย วันนี้เธอดูเหนื่อย นั่งไหล่ห่อจมเบาะข้างคนขับ เงียบนิ่งไปตลอดทาง บางครั้งเขาเหมือนปีนกำแพงข้ามไปไม่ถึงโลกของเธอ

77 ข่าวเด็ดรายงาน “ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว มวลชนกลุ่มคณะราษฎรรวมตัวจัดกิจกรรมทางการเมือง ‘ซ้อมต้าน รปห.’ เต็มพื้นผิวจราจรถนนพหลโยธิน ส่งผลให้การจราจรติดขัด มีการนำห่วงยางรูปเป็ดเหลือง ยูนิคอร์น เอเลี่ยนและตุ๊กตามาสูบลมกันกลางถนน สร้างความคึกคักและสีสันให้ผู้ชุมนุมร่วมถ่ายภาพและทำกิจกรรม ‘พาเหรดเป็ด’ การมาชุมนุมที่บริเวณนี้ เนื่องจากทุกครั้งที่เกิด รปห. ถนนพหลโยธินและวิภาวดี-รังสิตมักถูกปิด มวลชนต่างชูสามนิ้วเพื่อต่อต้าน รปห. ขณะผู้ชุมนุมบางส่วนแต่งแฟนซีล้อการเมือง ผูกริบบิ้นขาวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์”