เรื่องสั้น : ทองเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

เรื่องสั้น

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ทองเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

 

ข้อความในธนบัตรทุกใบทุกราคา พิมพ์ไว้ว่า

รัฐบาลไทย

ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

หนึ่งร้อยบาท (เปลี่ยนไปตามราคาธนบัตร)

สองข้อความบนล่างพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ อ่านได้ชัดเจน บรรทัดกลางพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก สำหรับผู้สายตาสั้นหรือสูงอายุ อาจต้องใช้แว่นขยาย บรรทัดบนและบรรทัดกลาง คือ “รัฐบาลไทย” กับ “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” พิมพ์เหมือนกันหมด อาจเล็กใหญ่กว่ากันบ้างตามแต่ขนาดของธนบัตร

ข้อความข้างล่างขนาดใหญ่เล็กเป็นไปตามราคาของธนบัตร ตั้งแต่สิบบาท ถึงหนึ่งพันบาท เป็นตัวหนังสือ ที่เป็นตัวเลข มีขนาดใหญ่ ด้านล่างเป็นเลขไทย ด้านบนมุมขวาเป็นเลขอารบิก

รายละเอียดอื่น ตัวเลขหมวดและลำดับของธนบัตรเป็นตัวเลขไทย บนด้านซ้าย ตัวเลขหมวดและลำดับของธนบัตรเป็นตัวเลขอารบิก ด้านล่างขวา คือด้านหน้าของธนบัตร

มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านกึ่งกลางขวา ลายมือชื่อและตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เหนือตัวเลขไทยราคาของธนบัตร ตัวขนาดเดียวกับคำว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”

พลิกไปด้านหลังของธนบัตร มีข้อความพิมพ์ถึงโทษของการปลอมแปลงธนบัตรด้านล่างพิมพ์ขนาดตัวเล็กพออ่านได้หรืออาจต้องใช้แว่นขยาย คือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงยี่สิบปี และปรับอย่างสูงสี่หมื่นบาท หรือข้อความ–เป็นความผิดต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา–แล้วแต่ชนิดของธนบัตร แต่การปลอมแปลงย่อมมีโทษแน่นอน

ตำหนิหรือธนบัตรที่มีการปลอมแปลงออกมาใช้มักเป็นธนบัตรราคาสูง มีข่าวปรากฏทางหนังสือพิมพ์เป็นครั้งคราว

ธนบัตร (ทะ-นะ-บัด) บัตรที่ออกมาใช้เป็นเงินตรา ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน, เงินกระดาษ มีค่าตามกฎหมาย

เงิน พจนานุกรมฉบับมติชน พุทธศักราช 2547 ธาตุโลหะสีขาว เนื้อค่อนข้างอ่อน เรียกสีอย่างธาตุเงินว่า สีเงิน ความหมายที่สอง คือสิ่งที่กำหนดขึ้นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายหรือชำระหนี้ เงินที่รัฐกำหนดขึ้นไว้เพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทั้งในรูปของเหรียญกษาปณ์ หรือธนบัตร เงินตรา ก็เรียก ฯลฯ

เงิน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ธาตุลำดับที่ 47 สัญลักษณ์ Ag เป็นโลหะสีขาว เนื้อค่อนข้างอ่อน หลอมละลายที่ 960.8 องศา ซ. วัตถุที่ใช้ในการวัดราคาในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน วัตถุที่มีตราของรัฐ ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ได้แก่ เหรียญกษาปณ์และธนบัตร เงินตราก็เรียก วัตถุที่กำหนดให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือชำระหนี้ ฯลฯ

การชำระหนี้ตามกฎหมายด้วยธนบัตร เป็นไปตามราคาของธนบัตร ซึ่งมีมูลค่าตายตัว ตลอดเวลาที่ยังเป็นธนบัตรในราคานั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่การเพิ่มราคาในธนบัตร เช่นธนบัตรเมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเล็กอยู่มีธนบัตรราคา 50 สตางค์

 

ประเทศไทยจากหลักฐานค้นพบในบริเวณที่ตั้งปัจจุบันมีเงินตรายุคแรกได้แก่ เหรียญฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัย ส่วนภาคเหนือมีเงินล้านนา

ก่อนที่จะนำธนบัตรเข้ามาใช้ร่วมกับเงินตราชนิดอื่นในระบบเงินของประเทศ ชนชาติไทยได้ใช้หอยเบี้ย ประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง

ทั้งก่อนจะนำเงินตรามาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายกันปัจจุบัน คนเราได้ระบบแลกเปลี่ยนผลิตผลของตนกับสิ่งอื่นที่ต้องการมาใช้ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2445 ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมธนบัตรในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตร รับจ่ายเงินซื้อธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2445 นับว่าธนบัตรเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา

ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที

ต่อมาในรัฐสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 กำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอยอย่างสมบูรณ์

คำว่า “เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 7

เหรียญกษาปณ์และธนบัตรมีหลายราคา ดังที่ข้าพเจ้าว่าไว้ ข้าพเจ้าเคยใช้ธนบัตรหรือที่เรียกกันว่า “แบงก์” ราคา 50 สตางค์ ขณะที่มีเหรียญกษาปณ์ราคา 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 20 สตางค์ ต่อมาจึงมีเหรียญ 1 สลึง หรือ 25 สตางค์ และเหรียญ 50 สตางค์ ที่สุดจึงมีเหรียญ 1 บาท เหรียญ 2 บาท เหรียญ 5 บาท เหรียญ 10 บาท และเหรียญ 20 บาท

เช่นเดียวกับธนบัตร เมื่อมีแบงก์ใบละ 50 สตางค์ ต่อมาจึงมีแบงก์ใบละ 1 บาท บางคนยังมีธนบัตรใบละ 1 บาทเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดลเก็บไว้และแจกจ่ายให้เป็นที่ระลึกกับผู้ที่สนิทสนม รวมทั้งธนบัตรราคาใบละ 5 บาท ซึ่งหายากแล้ววันนี้ เช่นเดียวกับธนบัตรราคา 10 บาท

ธนบัตรมิได้ขึ้นราคา หากแต่ธนบัตรวันนี้มีถึงราคา 1,000 บาท และที่มีราคาสูงสุดคือ 100,000 บาท

การต้องมีธนบัตรราคาสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 3 สตางค์ มีเงินเพียง 30-50 สตางค์ไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมากินกันทั้งบ้าน

วันนี้ใช้เงิน 100 บาท กินอาหารมื้อเดียวอิ่มคนเดียว ค่าของเงินจึงสูงขึ้นตามค่าสินค้าของซื้อ-ขาย

 

เมื่อพูดถึงเงิน ต้องพูดถึงทอง “ทองคำ” (gold) ควบคู่ไปด้วย

ทองคำ คือธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 79 สัญลักษณ์คือ Au (มาจากภาษาละตินว่า aurum) กับลักษณะภายนอกที่เป็นประกาย จึงทำให้ทองคำเป็นที่หมายปองของมนุษย์มาเป็นเวลานับพันปี

ทองคำเรียกโดยทั่วไปว่า “ทอง” เป็นธาตุลำดับที่ 79 เป็นโลหะแข็งสีเหลือง เป็นโลหะมีค่าประเภทเดียวกับเงิน แพลทินัม แพลเลเดียม โรเดียม อิริเดียม รูธินัม และออสเมียมที่หายาก เป็นธาตุธรรมชาติมีอยู่ในปริมาณน้อยมาก สามารถยืดและตีแผ่เป็นแผ่นได้ (เช่น แผ่นทองคำเปลว) สันนิษฐานว่าทองคำคงจะเป็นโลหะอิสระโลหะแรกที่มนุษย์รู้จักมาอย่างน้อยตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน

ทองคำสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดกาล แต่อาจผสมกับธาตุอื่น เช่น เงิน ทองแดง เหล็ก ลักษณะที่พบทั่วไปเป็นเกล็ด หรือเม็ดกลม หรืออาจพบเป็นก้อนใหญ่ ที่มีรูปเป็นผลึกนั้นหายาก ความบริสุทธิ์ของทองคำคิดเป็นกะรัต หรือไฟน์เนส (Karat or Fineness) ละลายในกรดกัดทอง (aqua regia)

นราธิวาสเป็นแหล่งในสายแร่ทองเกิดอยู่ในสายแร่เขี้ยวหนุมาน

ราคาทองคำสำหรับประเทศไทยนับย้อนหลังไปกว่า 60-70 ปีที่ผ่านมา คิดราคาเป็นบาท (15 กรัม) บาทละ 400 บาทอยู่นาน เมื่อก่อนการไปหมั้นหมายผู้หญิงเรียกว่าสินสอดทองหมั้น นอกจากเรียกค่าสินสอดเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้หมื่น ดังเพลงหลายเพลงร้องว่า “จะซื้อทองรูปพรรณ รีบไปหมั้นคนรัก” หรือ “สิบหมื่น สิบหมื่น สิบหมื่น แหมยิ้มระรื่น…คุณพ่อครับผมแย่ คุณแม่ครับผมจน…อย่าขายลูกกิน…”

แม้แต่เรียกค่าลวนลามสาว ผู้ใหญ่เขายังเรียกเงินพันหนึ่งกับสองบาท… ไอ้หนุ่มไม่รู้เรื่อง หาเงินได้หนึ่งพันกับเศษสองบาทไปให้ผู้ใหญ่ฝ่ายผู้หญิง ดีแต่ว่าผู้ใหญ่ของผู้หญิงเห็นใจผู้ชาย เช่าห้องพักอยู่ข้างบ้าน ไม่มีญาติพี่น้อง จึงเออออไปตามนั้น แล้วให้ลูกชายที่เป็นเพื่อนไอ้หนุ่มไปบอกว่า

“หมายถึงหนึ่งพันบาทกับทองสองบาทโว้ย”

 

เมื่อก่อนที่ว่า ทองบาทหนึ่งราคา 400 บาท ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเหมือนญาติท่านหนึ่งเล่าเรื่องของท่านให้ฟังว่า

ครั้งที่ท่านเริ่มเป็นหนุ่มรุ่นตะกรอ ทั้งที่บ้านท่านเป็นร้านชำ เรียนพาณิชย์ มีเพื่อนเป็นลูกชายเจ้าของร้านชำในตลาด เรียนชั้นมัธยมด้วยกัน สนิทกันมาก ท่านมักไปคุยกับเพื่อนที่ร้าน เคยช่วยเตี่ยของเพื่อนขายของบ่อย บางเย็นเตี่ยชวนกินข้าวเย็น ตกกระไดพลอยโจนไปด้วย

ท่านว่าโชคดีอิ่มไปอีกมื้อหนึ่ง

ระหว่างเรียนพาณิชย์ ไม่ไกลบ้าน แต่เพื่อนชื่อสุรศักดิ์เรียนชั้นมัธยมปลายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย กระนั้นเมื่อกลับมาบ้าน มีเวลาไปมาหาสู่กันบ่อย ยังชวนเดินเล่นช่วงเย็นถึงหัวค่ำด้วยกัน จะห่างกันบ้างเมื่อใกล้สิ้นปี ต่างคนต่างต้องดูหนังสือสอบไล่ปลายปี (จากนี้ไปขอใช้สรรพนาม “ข้าพเจ้า” แทนคำว่า “ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเหมือนญาติท่านหนึ่ง”) ใช้เวลาท่องอ่านหนังสือไม่นาน สอบเพียงสองสามวันก็เสร็จ เช่นเดียวกับเพื่อน

ครั้นข้าพเจ้าจบพาณิชย์ชั้นต้น 3 ปี ขึ้นไปเรียนชั้นสูงอีก 2 ปี เป็น 5 ปี เทียบเท่าอนุปริญญา ขณะสุรศักดิ์เรียนมัธยมปลาย 2 ปี สอบ “เอ็นทรานซ์” เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนอีก 4 ปีเต็ม ได้ปริญญาตรี

วันรับพระราชทานปริญญาบัตร ข้าพเจ้ายังไปเป็นเพื่อนช่วยดูแลเตี่ยและอาม่ากับน้องๆ ทั้งที่น้องดูแลเตี่ยกับอาม่าได้ดีกว่า แต่เพราะความเป็นเพื่อนอย่างน้อยจะได้ช่วยจับโน่นหยิบนี่ เสร็จจากรับพระราชทานปริญญา ยังมีโอกาสรับชวนไปร่วมรับประทานอาหารเย็นฉลองกับเขาอีกคน

ก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร สุรศักดิ์มีเวลาห่างจากเรียนจบเทอมสุดท้ายสองสามเดือน ส่วนข้าพเจ้าเรียนจบก่อน 1 ปี เข้าทำงานเป็นพนักงานแผนกบัญชีกับบริษัทของญาติ มีรายได้เป็นเงินเดือน ยามเย็นจึงพอไปกินข้าวเย็น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้างพอเป็นกระสาย ทั้งข้าพเจ้ากับสุรศักดิ์ไม่ใช่นักดื่ม แม้สุรศักดิ์เรียนรัฐศาสตร์วิชาการปกครอง มีเพื่อนนักดื่มตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่นักดื่มเหมือนเพื่อนคนอื่น

เมื่อสุรศักดิ์เรียนจบ จึงสมัครสอบเป็นข้าราชการชั้นตรี เขาตั้งใจว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสไปเป็นนายอำเภอ และอนาคตคือผู้ว่าราชการจังหวัด คงไม่เป็นคนค้าขายเหมือนเตี่ย ซึ่งมีน้องมารับช่วงต่อเรื่องค้าขาย อย่างน้อยน้องผู้หญิงกับน้องผู้ชายที่ช่วยดูแลร้านมาตลอด

หลังจากข้าพเจ้าเข้าทำงานเป็นเสมียนบัญชีของญาติได้สักพัก พอดีมีงานเป็นผู้ช่วยงานก่อสร้างกับเพื่อนที่เรียนจบช่างก่อสร้าง แต่ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด เป็นช่วงเดียวกันที่สุรศักดิ์สอบเข้าเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และต้องไปอยู่ต่างจังหวัดเช่นกัน

ระหว่างนั้นพ่อของข้าพเจ้าล้มป่วย ทำให้การเงินทางบ้านฝืดเคือง ที่สุดเมื่อพ่อตาย ต้องกลับมากรุงเทพฯ จัดการเรื่องงานศพ สุรศักดิ์มาช่วยงานศพวันเสาร์-อาทิตย์ได้สองวัน ต้องกลับไปทำงานไม่มีเวลาลงมาอีกเลย

ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าต้องกลับไปช่วยเพื่อน หลังงานศพของพ่อเสร็จสิ้นลง ร้านของพ่อมีน้องชายที่โตแล้วดูแลร่วมกับน้องสาว แต่เป็นช่วงเวลาที่การเงินยังไม่คล่องเท่าที่ควร ข้าพเจ้าแม้จะมีเงินช่วยเหลืองานศพจากเพื่อนและผู้มาช่วยงาน กระนั้นตัวเองไม่มีเงินพอจะหมุนเวียนในระยะนั้น จึงหารือกับสุรศักดิ์จะหยิบยืมจากเตี่ย

“ที่ต้องใช้ด่วน 400 บาท อาทิตย์นี้ต้องใช้เสียด้วย หยิบยืมจากนายคงไม่ได้ ต้องขอให้นายช่วยพูดกับเตี่ยขอยืมก่อนได้ไหม คงบอกไม่ได้ว่าจะใช้คืนเมื่อไหร่ ตอนนี้ทำงานมีเงินเดือนก็จริง แต่ต้องช่วยทางบ้านส่งให้น้องสองคนเล็กเรียนด้วย การค้า…” ข้าพเจ้าว่าถึงเหตุที่ต้องใช้เงิน สุรศักดิ์โบกมือ รู้ว่าข้าพเจ้าจะพูดอย่างไรต่อไป ด้วยตลอดเวลาที่คบกันตั้งแต่เด็ก ข้าพเจ้าไม่เคยบอกถึงความเดือดร้อนให้เขารู้ เพียงสุรศักดิ์ทราบว่าฐานะทางบ้านของข้าพเจ้าไม่สู้ดีนัก แม้เงินค่าเทอมเมื่อก่อนยังผัดผ่อนทางโรงเรียนจนแทบวันสุดท้าย แต่ไม่เคยเอ่ยปากกับสุรศักดิ์สักครั้ง

สุรศักดิ์บอกเพียงว่า อาทิตย์นี้กลับบ้านจะไปบอกให้ “อาทิตย์หน้าคงทันนะ” เขาบอก ข้าพเจ้าได้แต่พยักหน้ารับรู้

 

เงิน 400 บาทมิใช่จำนวนน้อย อย่างที่ทราบว่า ขณะราคาทองคำบาทละ 400 บาท ฐานะอย่างข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่มีโอกาสมีเงินซื้อทองได้ถึงบาท แค่มีเงินซื้อได้สลึงเฟื้องก็เก่งแล้ว ภาษิตไทยยังว่า มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว

หลังจากน้องชายเรียนจบมัธยมหก น้องสาวเพิ่งขึ้นมัธยมต้น ร้านขายของชำแม้อยู่ไม่ไกลจากตลาด หากเป็นขณะที่เริ่มมีร้านประเภทที่เรียกว่า “ห้าง” ขึ้นใกล้บริเวณนั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีย่านการค้าเพิ่มมากขึ้น ความเจริญของกรุงเทพฯ ดูได้จากมีโรงภาพยนตร์เพิ่มพร้อมกับสถานที่เรียกว่าศูนย์การค้า ซึ่งขณะนั้นมีแต่เพียงย่านบางลำพู ที่ไกลออกไปคือย่านประตูน้ำ ต่อมาจึงมีย่าน “วังบูรพา”

ข้าพเจ้าเมื่อไปทำงานต่างจังหวัดกับเพื่อนจึงไม่ค่อยได้รู้ถึงความเจริญในกรุงเทพฯ กับใครเขา วันๆ ได้แต่ออกไปคุมงานก่อสร้างบ้าง คอยช่วยเพื่อนรับสินค้าวัสดุก่อสร้างบ้าง บางครั้งยังต้องช่วยดูแลเรื่องบัญน้ำบัญชี ส่วนเพื่อนไม่ค่อยมีเวลาต้องออกหางานทั้งในจังหวัดใกล้เคียง บางครั้งต้องเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งละเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์

ลูกน้องลูกจ้างช่างตกเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่ต้องเพิ่มการเรียนรู้เมื่อแรกเข้ามาทำงานเพียงสองสามปี

จนเวลาล่วงไปถึง 10 ปี สุรศักดิ์ขยับขึ้นไปเป็นนายอำเภอ จึงไม่ค่อยได้พบหรือติดต่อ เจอะเจอบ้าง ข้าพเจ้าได้แต่บอกเรื่องเงินที่หยิบยืมจากเตี่ยซึ่งมีอายุอานามเพิ่มมากขึ้น แต่ยังแข็งแรงว่ายังไม่สะดวกคืนให้

ปีหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสลงมากรุงเทพฯ จึงนัดกับสุรศักดิ์ไปกราบเตี่ย ไม่ใช่เพื่อเอาเงินไปใช้คืน เมื่อพบกันทั้งข้าพเจ้าทั้งสุรศักดิ์กับเตี่ยไม่ได้พูดกันถึงเรื่องเงินแม้แต่น้อย เอาแต่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบการงานทั้งของข้าพเจ้าและลูกชาย ในที่สุดเมื่อได้เวลาจึงไหว้กราบลากลับ

“เลยไม่ได้บอกเตี่ยเรื่องเงินว่าจะให้เมื่อไหร่ ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่เราไม่ลืม ถึงยังไง อีกไม่นานคงมีมาใช้คืน” บอกกับสุรศักดิ์ ซึ่งเพื่อนบอกว่าไม่เป็นไร ป่านนี้เตี่ยคงลืมแล้วกระมัง ไม่เห็นพูดถึง

 

อีกสองปีต่อมาสุรศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับเพื่อนที่เรียนรัฐศาสตร์ด้วยกัน ทั้งเพื่อนของสุรศักดิ์ที่ได้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเดียวกับข้าพเจ้าซึ่งเป็นเพื่อนรับเหมางานของจังหวัดนั้นงานหนึ่ง

เมื่อมีโอกาสแนะนำให้รู้จักกัน เพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้รับเหมาอยู่แล้วจึงมีโอกาสเข้านอกออกในจังหวัด ที่สุดจึงได้รับงานชิ้นหนึ่งของจังหวัด ไม่ใหญ่แต่ไม่เล็ก ซึ่งสุรศักดิ์เชื่อว่าข้าพเจ้าคงไม่ทำให้เขาเสียชื่อเสียงในความเป็นเพื่อน ทั้งเพื่อนของข้าพจ้าได้ชื่อว่าไม่มีนอกมีใน เว้นแต่จะเป็นไปตามเกณฑ์เช่นเดียวกับผู้รับเหมาคนอื่นปฏิบัติ เพียงได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น และลูกน้องของเพื่อนสุรศักดิ์ให้ความเกรงใจ ด้วยเพื่อนของข้าพเจ้าเป็นคนใจกว้างพอสมควร

ช่วงนั้นจึงทำให้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เพราะไม่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางมากนัก ข้าพเจ้าจึงได้รับ “โบนัส” พิเศษจากเพื่อนไม่น้อย

ช่วงนี้แหละที่ข้าพเจ้าคิดถึงเงินที่หยิบยืมมาจากเตี่ยสุรศักดิ์ คิดตามลำพังว่า เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว เงิน 400 บาท มีค่าเท่ากับราคาทองหนึ่งบาท ซึ่งวันนี้ทองหนึ่งบาทขึ้นราคาไปหลายพันบาทแล้ว

ระยะนั้น ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเข้าไปในตลาด มักแวะดูราคาทองคำที่ร้านขายทองในตลาดบ่อยๆ จนเพื่อนสงสัยว่าข้าพเจ้าจะซื้อทองแต่งเมียกระมัง

“เฮ่ย!! ยังไม่คิดหรอกน่าเรื่องนั้น น้องนุ่งเพิ่งเรียนจบ ยังตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ จะมีเมียมีครอบครัว หาความลำบากมาให้ตัวเองเปล่าๆ” เช่นเดียวกับสุรศักดิ์ ขนาดเป็นถึงรองผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่หาสะใภ้หาหลานมาให้เตี่ยได้เป็นอากงสักที-ได้จะ-อยู่นั่นแล้ว เตี่ยจึงมีหลานสาวจากลูกสาว น้องของสุรศักดิ์ล่วงหน้าไปสองสามคนแล้ว

“คงไม่นานหรอกเตี่ย ตอนนี้ขอทำงานให้เต็มที่ก่อน เอาไว้เป็นผู้ว่าฯ จะแต่งเมีย หาสะใภ้มาดูแลเตี่ย…เอาน่า ได้สะใภ้แล้วจะรีบมีหลานชายให้อากงอาม่า” สุรศักดิ์ได้แต่ยั่วเย้าเตี่ยกับอาม่าด้วยหลานลูกของน้องเป็นผู้หญิงทั้งคู่ และรู้ทั้งรู้ว่าอาม่ารออุ้มหลานชายจากลูกชายคนโต

อีกไม่ถึงปี ก่อนตรุษจีนปีนั้น สุรศักดิ์มีโอกาสจะได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ของทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนนักการเมืองพรรคการเมืองที่สุรศักดิ์เคยช่วยงานเมื่อครั้งเป็นนายอำเภอ และยังติดต่อช่วยเหลือเฟือฟายมาถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับข้าพเจ้าที่เพื่อนได้แบ่งงานใหญ่ซึ่งเรียกว่า “รับช่วง” ในกรุงเทพฯ ส่วนงานที่ทำแต่เดิม เพื่อนมอบให้ข้าพเจ้าดูแล โดยเพิ่มส่วนแบ่งให้ในลักษณะหุ้นส่วน ปีต่อมาข้าพเจ้าจึงได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรมาพอมีส่วนช่วยน้อง และคิดอยู่ว่า ส่วนที่เหลือไม่น้อย จะนำไปใช้คืนให้เตี่ย ซึ่งคิดมาหลายปีแล้วว่า จะนำเงิน 400 บาทไปใช้คืนเตี่ยก็กระไรอยู่ เวลาผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ดอกเบี้ยคงทบต้นท่วมดอก

แล้วข้าพเจ้าคิดไปถึงทองคำ ที่ขณะหยิบยืมมาจากเตี่ยทองราคาเพียงบาทละ 400 บาท วันนี้ทองขึ้นไปใกล้หมื่นบาทแล้ว

 

ที่สุดข้าพเจ้าตัดสินใจไปซื้อทอง ซึ่งราคาวันนั้นลงมาเหลือเพียงบาทละแปดพันเศษสองสามร้อย เป็นสร้อยทองคำสวยงามหนักหนึ่งบาทเต็ม พร้อมค่ากำเหน็จยังไม่ถึงห้าร้อยบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเก้าพันหนึ่งร้อยห้าสิบบาท บรรจุกล่องกลมสีแดง มียี่ห้อร้าน พร้อมกับถุงกำมะหยี่สีแดงเพลิง เตรียมไว้ ไม่ให้เพื่อนกับสุรศักดิ์รู้เด็ดขาด

ระหว่างตัดสินใจว่าจะนำทองไป “ใช้คืน” เตี่ยอย่างไร และเมื่อไหร่ เป็นโอกาสเดียวกับที่ได้รับบัตรเชิญแต่งงานของสุรศักดิ์อย่างไม่คาดคิดเช่นกัน สุรศักดิ์ไม่บอกระแคะระคายว่าจะแต่งงานกับรุ่นน้องอดีต “แฟน” ที่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดซึ่งสุรศักดิ์เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด พบกันในงานเลี้ยงผู้ว่าราชการจังหวัดคนนี้ ซึ่งมารับตำแหน่งก่อนสุรศักดิ์เพียงปีเดียว พอรู้ว่าเธอยังไม่แต่งงานเหมือนกัน กามเทพจึงปฏิบัติหน้าที่แผลงศรรักปักอกสุรศักดิ์ทันที ทั้งที่เธอ “มลฤดี” ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะพบกับสุรศักดิ์วันนั้น

บุพเพสันนิวาสย่อมมีอันเป็นเช่นนี้เสมอ… เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด… สุรศักดิ์ไม่คิดว่าจะมีโอกาสร้องเพลงนี้กับใครเขา แว่วเสียงเพลงนี้ดังขึ้นมาเมื่อวันที่ได้พบกับมลฤดีเพียงสายตาผ่านพบสบตากันเท่านั้น

ข้าพเจ้าคิดเพียงว่า ไม่ใช่ของขวัญแต่งงานของสุรศักดิ์แน่นอน แต่จะนำไปให้เตี่ยเมื่อไหร่ดี และจะบอกอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม และไม่น่าเกลียด

ที่สุด หลังคิดกลับไปกลับมาสองสามวัน ขณะที่ข้าพเจ้ามองออกไปนอกหน้าต่างที่พัก แลเห็นต้นมะขามสูงใหญ่ มีฝักระย้าเต็มหลายกิ่ง พลันกลิ่นดอกราตรีโชยเข้ามาสู่ปลายจมูก

เปล่า-เปล่า-ทั้งมะขามและราตรีไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่คิดแม้แต่น้อย แต่ทำให้ข้าพเจ้าจินตนาการได้ว่า สัปดาห์หน้าเพิ่งผ่านปีใหม่มาได้ครึ่งเดือน ต้นเดือนถัดไปคือตรุษจีน สุรศักดิ์กำหนดวันแต่งงานเดือนมิถุนายน

ไม่เร็วไม่ช้าที่ข้าพเจ้าจะนำทองไปให้เตี่ย “ใช้หนี้” ว่างั้นเถอะ กับสุรศักดิ์ ข้าพเจ้าคงไม่ต้องบอก เดี๋ยวเตี่ยก็บอกกับลูกชายซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเอง แต่จะบอกกับเตี่ยว่าอย่างไรล่ะ

เคยรับฟังมาว่าคิดอะไรไม่ออกให้นอนหลับสักตื่น รุ่งขึ้นเช้าคิดได้เอง จริงเท็จอย่างไร คืนนี้คงคิดไม่ออก

ก่อนนอน สวดมนต์ตามปกติ และเป็นธรรมดาที่ข้าพเจ้ามักฝันโน่นฝันนี่กว่าจะหลับ

แล้วเป็นปกติเช่นทุกคืนที่ผ่านมาตั้งแต่หนุ่มจนอายุใกล้ครึ่งร้อยแล้ว…

 

รุ่งขึ้น ข้าพเจ้าตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ วันเสาร์นี้ วันอาทิตย์จะได้ไปพบเตี่ยช่วงเช้า คงได้พบกับสุรศักดิ์ เพราะรู้ว่าจะเข้ากรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้เช่นกัน

ข้าพเจ้าคิดถึงประโยคที่จะบอกกับเตี่ยขณะส่งถุงแดงใส่กล่องของห้างทองสีแดง

ไหว้ทักทายเรียบร้อย ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบตามระเบียบ ข้าพเจ้ามองหน้าสุรศักดิ์พร้อมรอยยิ้ม แล้วมองใบหน้าเตี่ย เช้านี้มีกันสามคนเท่านั้น อาม่าออกไปตลาดยังไม่กลับ…

ข้าพเจ้าหยิบถุงกระดาษที่วางบนตักพลิกขึ้นมา ล้วงมือลงในถุง พร้อมกับหยิบถุงผ้ากำมะหยี่สีแดงเพลิงขึ้นมาดึงเชือกที่รูดไว้ หยิบกล่องแดงขนาดย่อมออกมาถือไว้ในมือ ก้มลงกราบใกล้ตักเตี่ย

เงยหน้าขึ้นมาส่งถุงผ้าแดงให้เตี่ยแล้วบอกว่า

“ผมขอบพระคุณเตี่ยที่ช่วยเหลือผมคราวนั้น ผมเพิ่งมีโอกาสมาทดแทนบุญคุณเตี่ยวันนี้ครับ”

เตี่ยเหมือนกับผงะไปนิดหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ในท่าเดิม ขณะที่สุรศักดิ์ทำท่าจะไปหยิบของจากมือเตี่ย แล้วชะงัก เมื่อเห็นเตี่ยล้วงมือลงไปในถุงแดง หยิบกล่องแดงขึ้นมาเปิดดู เมื่อเห็นสร้อยคอทองคำเส้นนั้น ทำท่าเหมือนกับไม่รับ พร้อมจะยื่นคืน ขณะเปิดปากอึกอักว่า อะไร ไม่เป็นไร ไม่ต้องมาคืน…

แต่ข้าพเจ้าชิงบอกพร้อมถอนใจโล่งอกว่า “เป็นของรับขวัญหลานเตี่ย ลูกชายสุรศักดิ์ครับ…”