เรื่องสั้น : ‘ห้องพิเศษ’ / กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร

 

เรื่องสั้น / กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร

 

‘ห้องพิเศษ’

 

เช้าตรู่วันนั้น ผมกระวีกระวาดพาพ่อวัยแปดสิบสองมายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลาง อันเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของประชาชนมายาวนาน ด้วยเป็นวันนัดผ่าตัดไส้เลื่อนของพ่อ เผื่อเวลาไว้พอสมควรจะได้ไม่ขลุกขลัก

อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ตรงหน้า โอ่อ่าทันสมัย เพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นาน ผมพาพ่อไปเจาะเลือดที่ชั้นสองก่อน แล้วขึ้นไปหาอาหารอ่อนๆ ให้พ่อที่ศูนย์อาหารชั้นสามตามที่พยาบาลแนะนำ ก่อนลงมาแผนกศัลยกรรมผู้ป่วยนอกที่ชั้นหนึ่ง รอรับเอกสารส่งตัวด้วยใจจดจ่อ

ขณะนั่งรอ ให้ย้อนนึกถึงตอนเดินออกจากลิฟต์ผ่านโถงชั้นหนึ่งเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา มีเรื่องน่าตื่นเต้นหวาดเสียวเกิดขึ้น พร้อมเสียงดังโครมคราม

“คนตกบันไดเลื่อน!” หญิงวัยหลักสี่ร้องขึ้น ตามด้วยเสียงกรีดร้องอึกทึก

“กดปุ่มสีแดงตรงขอบราวจับด้านล่างเร็วค่ะ” พยาบาลหน้าห้องทำแผลตะโกนบอก

บันไดเลื่อนหยุดทำงานทันทีเมื่อพนักงานทำความสะอาดถลันเข้ามาถึงจุดเกิดเหตุ ปฏิบัติตามที่พยาบาลคนนั้นร้องบอก ท่ามกลางความโล่งอกของผู้มารับบริการ ที่ต่างลุกขึ้นชะเง้อมองไปทางต้นเสียง

ผมเห็นชายสูงวัยนั่งทรุดอยู่ตรงบันไดเลื่อนช่วงต้น กับหญิงสาวรุ่นหลานกำลังยงโย่ยงหยก หน้าตาตื่นทำอะไรไม่ถูกอยู่เคียงข้าง ก่อนพยาบาลอีกคนจะมาถึง

“ผู้สูงอายุควรจะใช้ลิฟต์ด้านข้างจะปลอดภัยกว่านะคะ” เธอบอกด้วยน้ำเสียงห่วงใย

ผมกับพ่อชะงักอยู่พักหนึ่งจนเหตุการณ์คลี่คลาย นับว่ายังโชคดีที่บันไดตัวนั้นกำลังเลื่อนขึ้น ถ้าหากกลับกันล่ะ ผมไม่อยากคิดต่อเลย อนิจจา! โรงพยาบาลก้าวล้ำรุดหน้าเสียจนชาวบ้านก้าวตามไม่ทัน…

 

ช่วงสายพนักงานเปลจึงมารับพ่อไปยังตึกผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารค่อนข้างเก่าและมีสภาพแออัดตั้งอยู่อีกฟาก มีทางเชื่อมกับตึกใหม่ ภายในแผนกศัลยกรรมชายผู้ป่วยในแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งละแปดเตียง สลับซ้าย-ขวาด้านละสี่ หันปลายเท้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ เรียงไปจนสุดระเบียง

พ่อได้เตียงที่สอง ขณะเตียงหนึ่งมีผู้ป่วยสูงวัยเพิ่งผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ลูกสาววัยทำงานสองคนสลับกันเฝ้าดูแล เตียงสามยังว่าง ถัดไปเตียงสี่ริมหน้าต่างเป็นวัยรุ่นท่าทางกร่างไม่ยอมใคร มีบาดแผลถูกแทงตรงชายโครง

สักครู่ผู้ช่วยพยาบาลนำชุดผู้ป่วยสีขาวสกรีนชื่อโรงพยาบาลสีเขียว เป็นเสื้อแบบผูกแทนกระดุมพร้อมผ้านุ่งมาให้เปลี่ยน ก่อนพ่อจะหายเข้าไปในห้องน้ำ ไม่นานนักก็ออกมานอนรอบนเตียง

“ปวดแผลมากมั้ยคะลุง” นักเรียนพยาบาลหนึ่งในสองที่เดินคู่กันมาเอ่ยถามพ่อ ขณะอีกคนถือปากกาเตรียมจดบันทึก

“ยังไม่ได้ผ่า!” พ่อตอบยิ้มๆ

“อ้าว เหรอคะ ขอโทษนะคะลุง” พวกเธอเขินอาย หันไปยิ้มให้กัน คงได้รับคำสั่งจากพยาบาลให้ติดตามสอบถามอาการหลังผ่าตัดจากผู้ป่วยรายเตียงเป็นระยะ โดยพวกเธอลืมไปว่า ผู้ป่วยบางคนเพิ่งมาเพื่อเตรียมพร้อม ยังไม่ได้ขึ้นเขียงแต่อย่างใด

ใกล้เที่ยงพยาบาลวัยใกล้สามสิบท่าทางใจดี นำอาหารเหลวใส่ขวดพร้อมดื่มมาให้พ่อ เธอกำชับว่ารับประทานเสร็จแล้วให้ทำความสะอาดบริเวณท้องน้อยให้เรียบร้อย ตอนบ่ายเจ้าหน้าที่จะมาช่วยโกนขนออก เตรียมผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้น

พ่อปฏิบัติตามคำแนะนำของพยาบาลเสร็จสรรพ บ่ายโมงนักเรียนพยาบาลก็ตรงมาที่เตียง พร้อมมีดโกนคมกริบ พอเห็นเธอดึงผ้าม่านล้อมรอบเตียงพ่อมิดชิดแล้ว ผมจึงแวบออกไปหากาแฟดื่มตรงมุมตึก…

 

ผมกลับเข้ามาในตึก ก็พบว่าเตียงสามใกล้ๆ กันมีพระสงฆ์รูปหนึ่งมานอนอยู่แล้ว ไม่นานหญิงท้วมสูงวัยก็ลากสังขารตามมาพร้อมสัมภาระ วางกระเป๋าหนักอึ้งสองใบลงปลายเตียงได้ก็หยุดหอบจนตัวโยน หันรีหันขวางหาเก้าอี้หย่อนก้น ทว่าขณะนี้แต่ละเตียงต่างรายล้อมไปด้วยญาติสนิทมิตรสหายมาเยี่ยมผู้ป่วย ไม่มีเก้าอี้ว่างเลย

“โอ้ย เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน เดือนๆ อยู่โรงพยาบาลนานกว่าอยู่บ้านเสียอีก” หญิงสูงวัยเว้นจังหวะหายใจ บ่นอุบต่อ “อีกหน่อยคงต้องย้ายสำมะโนครัวเข้ามาอยู่นี่กันมั่งละ”

สิ้นเสียงนั้น ผมจึงรีบลุกเอาเก้าอี้พลาสติกตัวที่ผมนั่งอยู่ให้ พลางหันไปสนทนากับหลวงพ่อ…

ได้ความว่าท่านเป็นไส้เลื่อนเช่นเดียวกับพ่อผม ต่างกันที่ท่านเป็นที่ข้างขวา ขณะพ่อผมเป็นทั้งสองข้างมาราวหนึ่งปี ป้าคนนั้นเป็นคู่ชีวิตของท่าน มีลูกชายด้วยกันสองคนก่อนออกบวช พวกเขาไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด ทุกครั้งที่เข้าโรงพยาบาลไม่อยากรบกวนลูกๆ ให้เป็นกังวล จนต้องละทิ้งงาน ภาระทั้งหมดจึงตกไปที่คู่ทุกข์คู่ยาก ที่พอได้ฝากผีฝากไข้

ผมไม่เข้าใจเอาเสียเลย ว่าเหตุใดทางโรงพยาบาลจึงต้องจัดให้พระภิกษุมานอนรวมกับฆราวาส ทั้งๆ ที่ด้านหน้ามีตึกสงฆ์อาพาธอยู่ทนโท่ คิดแล้วก็ยิ่งสะท้อนใจ

สักพักพยาบาลนำใบสั่งยาฉีดที่จะใช้ในวันพรุ่งนี้ ส่งให้ผมไปเบิกที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน

ระหว่างทางผมมัวแต่มองหาห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน เดินสวนกับผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ก็ไม่ทันสังเกตว่าใครเป็นใคร

“อ้าวเพื่อน ใครไม่สบายหรือ” เพื่อนสมัยมัธยมไม่ได้เจอกันนานปรากฏตัวตรงหน้า เขาทักทายอย่างแปลกใจที่เห็นผมเดินเตร่อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อนเก่าผมเป็นนักวิชาการสาธารณสุขรับผิดชอบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาล มีลูกน้องตามหลังมาอีกคน

“พ่อผมรอผ่าตัดไส้เลื่อนพรุ่งนี้ นอนพักอยู่ห้องรวม” ผมบอก ไม่ลืมทักทาย “เพื่อนสบายดีนะ”

“ก็โอเค แล้วไม่ได้จองห้องพิเศษไว้หรือ” เขามีท่าทีแปลกใจเล็กน้อย

“ผมพยายามจองล่วงหน้าตั้งแต่รู้กำหนดวันผ่าตัดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับจอง ให้แจ้งพยาบาลในตึกวันมาโรงพยาบาลเลย” ผมสาธยายด้วยน้ำเสียงปกติ ข่มความขุ่นเคืองไว้ในใจ “นี่ก็แจ้งไว้แล้ว เขาว่าได้คิวลำดับที่สี่”

“แล้วนี่ได้ติดต่อใครไว้บ้างหรือยัง” เขาถามผมราวกับว่า การติดต่อเจ้าหน้าที่ที่รู้จักกันดีสักคน เป็นขั้นตอนสำคัญและเป็นเรื่องปกติเมื่อผู้ป่วยต้องมานอนโรงพยาบาล

“ถ้าหมายถึงเส้นสายในโรงพยาบาลนี้ ผมไม่มีหรอก” ผมแกล้งหยั่งเชิง

“พูดเป็นเล่น” เขามีท่าทางแปลกใจไม่น้อย

“เอาเป็นว่า ถ้าคนอื่นนอนห้องรวมได้ พ่อกับผมก็นอนได้เหมือนกัน” ผมพูดไปอย่างนั้น เพราะมั่นใจว่าอย่างไรเสีย ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้คงได้ห้องพิเศษอย่างแน่นอน

“แน่ใจนะ ถ้ามีอะไรให้ช่วย ค่อยโทร.หาผมก็แล้วกัน” เขาบอกแบบไม่ค่อยเต็มปาก ก่อนขยับยิ้ม ตบไหล่ผมเบาๆ แล้วขอตัวไปทำงานต่อ

 

ตอนเย็นผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเริ่มออกจากห้องรวมและห้องพิเศษ พร้อมญาติที่หิ้วกระเป๋าข้าวของกลับด้วยสีหน้าท่าทางดีใจ ผมไม่รอช้าเดินแน่วไปถามพยาบาลที่เคาน์เตอร์ทันที

“ตกลงวันนี้ คนไข้เตียงสองได้เข้าห้องพิเศษไหมครับ” ผมเอ่ยถามอย่างระมัดระวังคำพูด เกรงจะไปก้าวก่ายกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของเธอ แต่โชคกลับไม่เข้าข้าง

“คงไม่ได้เข้าค่ะ วันนี้คนไข้ห้องพิเศษออกไปสองห้องเอง” เธอเงยหน้าตอบ หลังตรวจดูสมุดคิว

“อ้าวเหรอครับ งั้นพรุ่งนี้ก็เลื่อนขึ้นเป็นคิวที่สองสินะครับ” ผมตั้งใจย้ำ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นพรุ่งนี้หลังผ่าตัด พ่อคงมีสิทธิ์ลุ้นเข้าห้องพิเศษมากขึ้น เธอได้แต่ยิ้มแกนๆ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธใดๆ

ผมกลับมาที่เตียงพ่ออีกครั้ง ปรากฏว่าลุงเตียงแรกย้ายเข้าห้องพิเศษไปแล้ว พร้อมชายวัยกลางคนซึ่งอยู่อีกฟาก เป็นอันว่าคืนนี้ผมกับพ่อคงต้องนอนห้องรวม แม้ไม่คุ้นเคย แต่ห้องรวมก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป ผู้ป่วยไม่ได้แออัดยัดทะนานเหมือนบางที่ แถมพัดลมเพดานที่ติดตั้งได้ระยะ ก็ทำหน้าที่ปัดเป่าความร้อนระอุของอากาศภายในห้อง ขับไล่กลิ่นน้ำเสียรอการบำบัดและกองทัพยุงที่ซ่องสุมกำลังบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ไกลออกไปได้เป็นอย่างดี

อย่างน้อยบรรยากาศก็ดูอบอุ่น หันไปทางไหนก็มีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน แม้จะแปลกหน้าสักหน่อย หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถตามพยาบาลได้ทันท่วงที

 

พอพลบค่ำ ญาติกลุ่มใหม่ก็สลับสับเปลี่ยนกันมาเยี่ยมผู้ป่วยหนาตาขึ้น ผมมาอยู่โรงพยาบาลผ่านไปหนึ่งคืน แต่ก็เริ่มรู้สึกชินกับบรรยากาศที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเอื้ออาทร ห่วงใยปนเปกับความวุ่นวายได้บ้างแล้ว

สองทุ่มหมดเวลาญาติเข้าเยี่ยมแล้ว ต่างกุลีกุจอทยอยออกจากหอผู้ป่วยอย่างรู้เวลา เหลืออนุญาตให้เฝ้าได้เพียงเตียงละคนเท่านั้น ก่อนพยาบาลจะออกมาปิดไฟที่สว่างจ้าเมื่อตอนหัวค่ำ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพียงไม่กี่จุด ญาติเฝ้าไข้ที่อยู่มาก่อนเริ่มปูเสื่อตรงพื้นข้างเตียงอย่างรู้งาน เตรียมเอนกายนอนพักผ่อนเอาแรงกันอีกคืน ผมได้แต่เลิ่กลั่ก แล้วจัดแจงปูเสื่ออย่างเขาไป นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเฝ้าไข้ในห้องผู้ป่วยรวม

ขณะนอนเหม่อมองเพดานห้อง ผมครุ่นคิดถึงคำพูดของเพื่อนเมื่อตอนกลางวันขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย… “แล้วนี่ได้ติดต่อใครไว้บ้างหรือยัง”

อันที่จริงพ่อเป็นข้าราชการครูบำนาญ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย หลากหลายอาชีพ จะว่าไปที่เป็นหมอเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลนี้ก็หลายคน ผมเองก็มีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่นี่บ้างเหมือนกัน อีกอย่างตอนที่โรงพยาบาลนี้จัดทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนปรับปรุงห้องพิเศษเมื่อปีกลาย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมบริจาคให้ไปไม่น้อย

ทั้งที่มีเส้นทางลัดให้เลือกเดิน แต่ผมกลับสบายใจมากกว่าที่ได้เลือกเดินในเส้นทางอันแสนธรรมดา นอกจากกระดากอายและรู้สึกเกรงใจแล้ว รังแต่จะสร้างความลำบากใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ แล้วไหนจะต้องตอบแทนบุญคุณกันไปไม่สิ้นสุดอีก

แต่ถ้าหากพรุ่งนี้พ่อยังไม่ได้ห้องพิเศษล่ะ ญาติพี่น้องใครต่อใครคงตำหนิว่าผมช่างไร้น้ำยาสิ้นดี ห้องพิเศษแค่นี้ยังหาให้พ่อไม่ได้ ความคิดนี้วนเวียนในหัวอยู่หลายรอบ ความเครียดเข้าจู่โจมหนักหน่วง

ทั้งๆ รู้สึกแปลกที่ แต่ผมกลับงีบไปตอนไหนก็ไม่รู้ แต่ที่รู้สึกคือต้องหลับๆ ตื่นๆ ด้วยเสียงสนทนากันอย่างออกรสของญาติคนไข้เตียงถัดไป จนราวเที่ยงคืนจึงค่อยซา

บรรยากาศนอนเฝ้าไข้ในห้องรวมมันเป็นแบบนี้นี่เอง

 

จวนหกโมงเช้า ฟ้าเริ่มสว่าง ทว่าดวงจันทร์หลังคืนพระจันทร์สีเลือดยังคงแขวนสุกปลั่งอยู่ปลายฟ้า พลันเสียงหญิงชราคนหนึ่งที่มาเฝ้าไข้ดังขึ้นจากห้องน้ำ เสียงบ่นอันดุดันทำลายความเงียบแห่งอรุณรุ่งลงสิ้น ปลุกให้ทั้งคนไข้และญาติตื่นจากภวังค์ทันทีทันใด…

“ใครวะ ขี้แล้วก็ไม่ราด อุบาทว์จริง!!”

เสียงตำหนิบ่งบอกถึงอาการฉุนจัดโพล่งขึ้นแค่นั้น แล้วค่อยเงียบไป หลายคนเริ่มจัดเก็บที่หลับที่นอน บ้างทยอยออกไปเข้าห้องน้ำ ต่างค่อยแง้มประตูทีละห้อง หลีกเลี่ยงห้องต้นตอของปัญหา

แม้จะอดขำไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความจริงในสังคมของเราได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้ประเทศชาติมีคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไม่ค่อยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม แถมคนเพียงไม่กี่คนยังมักเอาตัวรอดสร้างปัญหาไว้ให้คนส่วนใหญ่ต้องตามแก้ ตามล้างตามเช็ดกันไม่ได้หยุดหย่อน

พ่อต้องงดน้ำและอาหารมาตั้งแต่หลังสองทุ่มเมื่อคืน ตื่นมารีบอาบน้ำแปรงฟันแต่เช้า เดินเลยไปสูดอากาศ แกว่งแขนยืดเส้นยืดสายตรงระเบียง ครู่หนึ่งจึงกลับมาที่เตียง

ตอนสายพนักงานเปลนำหลวงพ่อไปห้องผ่าตัดเป็นคิวแรก ผมกับพ่อได้แต่เฝ้ารอเวลาอย่างใจจดใจจ่อ จากชั่วโมงเป็นหลายชั่วโมงก็ยังไม่มีวี่แววพนักงานเปลจากห้องผ่าตัดมารับ ดูท่าวันนี้คงอีกยาวไกล…

กระทั่งบ่าย พนักงานเปลจึงเข็นหลวงพ่อที่ผ่าตัดเสร็จกลับเข้ามา แล้วรับพ่อขึ้นไปยังห้องผ่าตัดเป็นรายต่อไป ผมจึงค่อยคลายความกังวลไปเปลาะหนึ่ง ระหว่างนั้นผมยังไม่ละความพยายาม หมั่นติดต่อพยาบาลเรื่องห้องพิเศษอยู่เป็นระยะ

“ถ้าห้องพิเศษตึกนี้ไม่ว่าง ห้องพิเศษตึกอื่นก็ได้นะครับ ยินดีจ่ายค่าเกินสิทธิ์” ผมเสนอทางเลือกให้ พยาบาลเวรเป็นคนละคนกับเมื่อวาน “พ่อผมใช้สิทธิ์จ่ายตรงได้”

“พยาบาลที่ตึกหรือคุณหมอต้องเป็นผู้ประสานมาเองค่ะ” เธออธิบายด้วยน้ำเสียงเรียบๆ

จนบ่ายแก่ๆ ผมลองทำใจดีสู้เสือ ตรงเข้าไปถามที่เคาน์เตอร์อีกครั้ง

“ขอโทษนะครับ ตกลงวันนี้มีคนไข้ห้องพิเศษออกไหมครับ”

“มีค่ะ แต่แค่ห้องเดียว” พยาบาลตอบเพียงสั้นๆ

ปกติตึกศัลยกรรมชายมีห้องพิเศษเพียงห้าห้อง วันนี้ออกห้องเดียว พ่อผมเป็นคิวที่สอง ก็เป็นอันว่าคืนนี้ผ่าตัดเสร็จต้องกลับมานอนพักห้องรวมอีกหรือนี่! ช่างเป็นสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมเสียจริง

คิดไปผมก็ว้าวุ่นใจยิ่งนัก เพราะผ่านมาหนึ่งคืน สัมผัสได้เลยว่า ไม่สะดวกเอาเสียเลย แล้วยิ่งพ่อเพิ่งผ่าตัด โอกาสเสี่ยงติดเชื้อก็อาจเพิ่มขึ้น หากต้องมาพักฟื้นอยู่ในห้องซึ่งมีผู้ป่วยสารพัดโรคแวดล้อมเช่นนี้

พ่อออกมาจากห้องผ่าตัดเกือบหกโมงเย็น รวมเวลาเข้าไปอยู่ในนั้นราวห้าชั่วโมง พ่อบอกว่าเวลาผ่าตัดจริงๆ ไม่นาน แต่ที่นานเพราะคิวผ่าตัดในห้องมีผู้ป่วยรออยู่หลายคน ด้วยศัลยแพทย์มีน้อย โชคดีที่ใช้วิธีบล็อกหลัง ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยกว่าการดมยาสลบ พ่อจึงออกมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะครบถ้วนดีอยู่

 

ตอนกลับมาในตึก ปรากฏว่าเตียงแรกมีผู้ป่วยใหม่นอนอยู่แล้ว เป็นชายชราน่าจะจวนเก้าสิบ ผอมแห้ง น่าสงสาร นอนบิดตัวกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ปลายเตียงติดป้าย-งดน้ำและอาหาร น่าจะเป็นหลานชายอายุเฉียดเบญจเพสเฝ้าอยู่ข้างเตียง สองหูอัดด้วยหูฟัง สองตาจดจ้องจอโทรศัพท์มือถือไม่ละวาง ไม่ค่อยใส่ใจผู้เฒ่าบนเตียงเท่าที่ควร หรืออาจพาเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อย จนรู้สึกชินไปแล้วก็เป็นได้

ท้องฟ้าข้างนอกมืดลงแล้ว พ่อหลับๆ ตื่นๆ บางช่วงได้ยินเสียงทอดถอนลมหายใจแรง หลุดเสียงโอดครวญแผ่วเบา นั่นคงเป็นเพราะยาชาหมดฤทธิ์ ความเจ็บปวดแผลผ่าตัดเริ่มแสดงอาการ

เกือบสองทุ่ม ญาติเยี่ยมไข้กลับกันไปหมดแล้ว พยาบาลเดินมาปิดไฟบางดวง พร้อมแจ้งข่าวดี…

“คุณลุงได้ห้องพิเศษแล้วนะคะ สามทุ่มจะมีเจ้าหน้าที่มารับไปส่งที่ตึกพิเศษค่ะ”

เสียงของพยาบาลสาวราวเสียงสวรรค์ ราวกับมีใครจุดเทียนเล่มน้อยขึ้น ส่องสว่างวาบท่ามกลางความสลัวรางของห้องผู้ป่วยรวม แล้วยื่นส่งต่อให้ผม ทว่าพอหันไปยิ้มบอกพ่อ กลับพบว่าในแสงเรื่อเรืองนั้น สีหน้าของพ่อไม่สู้ดีเลย ความเจ็บปวดแผลผ่าตัดได้เวลาทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ จนหน้านิ่วคิ้วขมวด กำมือทั้งสองข้างจนแน่นเกร็ง

ผมรีบแจ้งพยาบาล ได้รับยาระงับปวดเข็มหนึ่ง สักพักพ่อจึงค่อยหลับลงได้

ใกล้สามทุ่ม พยาบาลมาแจ้งว่าพนักงานเปลมารับไปห้องพิเศษแล้ว ผมพลางปลุกพ่อ ขณะที่ได้จัดเตรียมข้าวของไว้พร้อมนานแล้ว ผมสอบถามพยาบาลว่าพ่อได้ย้ายไปตึกไหน แต่พอได้ทราบคำตอบ ผมเหลือบเห็นแววตาที่เริ่มมีประกายหวังของพ่อก่อนหน้า พลันแปรเปลี่ยนเป็นขุ่นหมองลงทันที

พ่อก็ตัดสินใจยืนกรานพักห้องรวมในตึกศัลยกรรมชายต่อไป ก่อนบอกให้ผมแจ้งพยาบาลขอสละสิทธิ์ห้องพิเศษให้แก่หลวงพ่อเตียงถัดไป ในที่สุดพ่อก็ดับเทียนในมือผมเล่มนั้น ให้แสงสว่างดับวูบลงในพลัน

ถึงแม้เสียดายโอกาสที่จะได้ย้ายเข้าห้องที่ดีกว่า ทั้งที่รอคอยมาสองวันเต็ม แต่ที่สุดผมคิดว่าผมเข้าใจเจตนารมณ์ของพ่อเป็นอย่างดี หลายครั้งการตัดสินใจในชีวิตก็ต้องยึดหลัก ‘ถูกต้อง’ มากกว่า ‘ถูกใจ’ ผมลองหยั่งใจตัวเองเล่นๆ ถ้าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ผมจะตัดสินใจเช่นไร

แล้วผมก็ยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง จนกระทั่งบัดนี้…

ท่ามกลางความเงียบงันของเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายในหอผู้ป่วยรวมอันขมุกขมัว พ่อข่มตาลงอีกครั้ง ขณะเอ่ยขึ้นแผ่วเบาด้วยความอ่อนล้า หากแต่ก้องกังวานอยู่ในใจผมทุกถ้อยคำ

“ปวดแผลนี่ก็ทุกข์กายพอแล้ว อย่าต้องทุกข์ใจเพราะไปแย่งเตียงพระอีกเลย บาปกรรม! โรงพยาบาลมีตึกสงฆ์อาพาธอยู่ทนโท่ แต่ผู้มีสิทธิ์ที่แท้กลับไม่ได้ใช้”

ก่อนหลับลงตรงพื้นห้องข้างเตียงพ่อเป็นคืนที่สอง ผมได้แต่คิดทบทวนสิ่งที่พ่อทำ ปูนนี้แล้วพ่อยังอาศัยความเจ็บปวดเป็นเครื่องมือสอนเรื่องจิตสำนึกบาปบุญและความเสียสละให้ผมได้ประจักษ์ แม้จะเกษียณมานาน ทว่ามโนธรรมและมนุษยธรรมของครูเก่ายังคงเต็มเปี่ยม นี่แหละครูคนแรกของผม สามารถสอนลูกสอนหลานได้ทุกแห่งหน แม้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน

หลังจากนั้นข้อความในป้ายวิสัยทัศน์แผ่นใหญ่ซึ่งติดอยู่ตรงทางเข้าด้านหน้าโรงพยาบาล พลันผุดพร่างขึ้นมาขณะผมหลับตา… ‘เราจะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดชั้นนำระดับประเทศ’ ก่อนเสียงหนึ่งจะดังขึ้น พร้อมการปรากฏตัวของนางฟ้าในชุดขาว

“ตอนนี้มีห้องว่างอีกห้องค่ะ คุณลุงได้ห้องพิเศษแล้วนะคะ”