เช็กสต๊อกหนังสือ : บันทึกประเทศไทย ปี 2563 / แผนชิงชาติไทย / แจ๊ค หม่า ผู้เปิดขุมทรัพย์อาลีบาบา

กาสะลอง

เช็กสต็อกหนังสือ

บันทึกประเทศไทย ปี 2563 สำนักพิมพ์มติชน เรียบเรียงโดยศูนย์ข้อมูลมติชน จำนวน 535 หน้า ราคา 400 บาท

ปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจจะคาดหวังว่าจะเป็นปีทองของความก้าวหน้า เป็นยุคสมัยของการเติบโตทางวิทยาการของมนุษย์โลก แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ามีหลายอุบัติการณ์เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

เริ่มจากโควิด-19 โรคร้ายที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ก่อนจะกลายเป็นโรคระบาดครั้งร้ายแรงในรอบศตวรรษส่งผลให้มีผู้เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก สร้างความหวาดกลัวสับสนและส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ไปทั่วทุกมุมโลก มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตภายใต้วิถีใหม่หรือ New Normal

พอล่วงเข้ากลางปี แม้รัฐไทยโดยเฉพาะคุณหมอจากกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถคุมการระบาดไม่ให้แพร่ไปในวงกว้าง เปิดทางให้รัฐพอมีจังหวะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็กลับเกิดอุบัติการณ์ทางการเมืองจากม็อบของนักเรียน-นักศึกษาและบรรดาคนรุ่นใหม่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งคำถามต่อรัฐและสังคมแหลมคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมคิดที่ทะลุเพดานในหลายเรื่อง

หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวสำคัญในปีที่ผ่านมาและยืนยันด้วยคุณภาพว่าเป็น “Timeline ประเทศไทยที่ดีที่สุด” ที่ใช่เพียงทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ แต่ถือว่าเป็นผลงานเชิงวิชาการและประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำหรับการเรียนรู้ การทำความเข้าใจและจดจำความเป็นไปในสังคมไทย ที่ควรค่าแก่การมีไว้ครอบครอง

แผนชิงชาติไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3) สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้เขียน จำนวน 448 หน้า ราคา 300 บาท

ในฐานะผู้เขียนคำนำเสนอ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึง “แผนชิงชาติไทย” ที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท จุฬาฯ ที่มีชื่อยาวเหยียดว่า “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500)” ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ล่วงลับ ว่า น่าจะเป็นหนังสือที่ดีที่สุด ละเอียดลออที่สุด เป็นวิชาการที่สุด เกี่ยวกับรัฐประหาร 2490 และระบอบทหาร ระบอบพิบูลสงครามกับการเมืองไทยในช่วง 2491-2500 เพราะในทางประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับกันว่า รัฐประหาร 2490 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการของการเมืองไทย ดูเผินๆ เหมือนการฟื้นคืนชีพของจอมพล ป. ขณะที่ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ค่อยๆ จบบทบาทไป แต่ลึกลงไปคือการพังพินาศของแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ การสิ้นสุดแทบจะสิ้นเชิงของคณะราษฎร และเริ่มสู่ศักราชใหม่ของคณะรัฐประหารซึ่งนำมาซึ่งระบอบทหาร รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สืบทอดมายาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน การทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปศึกษาต้นตอของมัน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มการเมืองต่างๆ กับทหาร สมัยทศวรรษที่ 2490

เล่มนี้อาจเป็นหนังสือหายากไปแล้วในปัจจุบัน แต่ก็มีข่าวดีว่าสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเตรียมจะนำกลับมาพิมพ์จำหน่ายอีกครั้งในเร็วๆ นี้

แจ๊ค หม่า ผู้เปิดขุมทรัพย์อาลีบาบา สำนักพิมพ์แสงดาว เหยียน ฉี่ เฉิง เรียบเรียง ธัญปวีณ์ อธิเลิศรัตนชัย แปล จำนวน 173 หน้า ราคา 170 บาท

แจ๊ค หม่า เจ้าพ่ออาลีบาบา หายหน้าหายตาไปจากแวดวงข่าวสารมาพักใหญ่ตั้งแต่ 24 ตุลาคมปีที่แล้ว หลังเขากล่าวสุนทรพจน์ถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อคนรุ่นต่อไป ท่ามกลางข่าวว่าเขาถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากรัฐบาลจีน อันเนื่องมาจากอาณาจักรธุรกิจของเขาขยายตัวเติบใหญ่แบบก้าวกระโดดจนน่าวิตกว่าจะคุมไม่อยู่ แล้วจู่ๆ ต้นเดือนพฤศจิกายน หุ้น “แอนต์กรุ๊ป” ในเครืออาลีบาบาก็ถูกรัฐบาลจีนสั่งระงับการขายไอพีโอในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ หลังนักลงทุนแห่จองซื้อถล่มทลาย ทุบสถิติไอพีโอใหญ่ที่สุดในโลกถึง 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ต่อมาเขาก็ปรากฏตัวอีกครั้งหลังมีข่าวลือว่าลี้ภัยออกนอกแผ่นดินจีนไปแล้ว โดยเป็นประธานในการประชุมออนไลน์กับครูในชนบทจีนในนามประธานมูลนิธิแจ๊ค หม่า ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก

เพื่อทบทวนว่า แจ๊ค หม่า เป็นใคร และสร้างขุมทรัพย์อาลีบาบามา-บริษัทขายสินค้าทางออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร ภายใน 20 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซที่รวยที่สุดในโลก หนังสือเล่มนี้น่าจะให้คำตอบในเบื้องต้นได้ รวมทั้งพาเราไปรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา กับหลักคิดในการทำธุรกิจที่ทำให้เขาได้มายืน ณ จุดนี้ ที่ว่า “ถ้าคุณฝันอยากทำอะไรสักเรื่อง ต้องกล้าออกไปลุยทำ ถ้าไม่สำเร็จหรือเดินต่อไปไม่ได้ก็เพียงแค่เดินหันหลังกลับ แต่ถ้าไม่ลงมือทำ มันก็ไม่ต่างอะไรกับความฝันในยามค่ำคืน ถึงพบหนทางเดินพันเส้นทาง แต่เมื่อตื่นมา ก็จะกลับสู่หนทางเดิม ไม่ได้เรียนรู้อะไร และจะถอดใจไปในที่สุด”

ร่วมเรียนรู้ไปกับเขาและติดตามกันต่อไปว่าชะตากรรมเขาจะลงเอยอย่างไร

คํ า คม คิด

“วิธีการนอกประชาธิปไตยเพื่อปรับปรุงประชาธิปไตย ไม่มีในความเป็นจริงที่อยู่เหนือความกะล่อน”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2564