เรื่องสั้น : การรอคอยที่ไม่มีคำตอบใดๆ จากยา ดะ นา (2) / สาโรจน์ มณีรัตน์

เรื่องสั้น
สาโรจน์ มณีรัตน์

การรอคอยที่ไม่มีคำตอบใดๆ จากยา ดะ นา (2)

แทนชนขี่มอเตอร์ไซค์กลับเกสต์เฮาส์ในเมืองมัณฑะเลย์ด้วยอารมณ์เศร้าใจจนบอกไม่ถูก แม้ระยะทางจากเมืองสะกายไปยังที่พักเพียง 30 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่เป็น 30 กว่ากิโลเมตรที่เขาต้องขี่ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดี เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงรัตนปุระอังวะ และอมรปุระที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของเชลยชาวอโยธยาเมื่อ 252 ปีก่อน ตอนนี้ในสมองของเขามีเรื่องราวต่างๆ ผุดซ้อนขึ้นทีละภาพอย่างช้าๆ แม้เขาพยายามไม่คิดอะไร แต่สิ่งที่ไกด์สาวชาวพม่าพูดถึงสกุลช่างเมืองเพชรที่อาจถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่นี่กลับทำให้เขารู้สึกเศร้าใจมากขึ้นไปอีก

แทนชนขี่ผ่านกรุงรัตนปุระอังวะอย่างช้าๆ เพื่อมองสภาพบ้านเมืองในวันนี้ ในวันที่อดีตเคยเป็นเมืองหลวง เคยเป็นจุดรวมพลของเชลยชาวอโยธยาราว 1 แสนกว่าคนเมื่อ 252 ปีก่อน

แต่มาวันนี้เชลยชาวอโยธยาทั้งหมดอาจผสมข้ามเผ่าพันธุ์จนกลายเป็นพม่าไปหมดสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ลูก หลาน เหลน โหลนของพวกเขา ป่านนี้คนรุ่นหลังๆ คงลืมบ้านเกิดเมืองนอนกันหมดแล้ว พวกเขาคงไม่อยากตามหาญาติพี่น้อง และพวกเขาคงไม่รู้ว่าตอนนี้ลูก หลาน เหลน โหลนชาวเมืองเพชรคนหนึ่งมาขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ในสถานที่ที่พวกเขาเคยเดินจากบ้านมาด้วยระยะทางไกลแสนไกล

กรุงรัตนปุระอังวะวันนี้ แม้จะมีความเจริญขึ้นตามยุคสมัย แต่ไม่ได้ทำให้แทนชนรู้สึกยินดี เพราะจิตใจของเขารู้สึกขุ่นมัว จนเมื่อเขาขี่ผ่านกรุงอมรปุระ สภาพจิตใจก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งสายลมหนาวบางๆ มาปะทะใบหน้าบ่อยครั้ง

กอปรกับสายตาที่เริ่มมองเห็นหมู่ทะเลเจดีย์ของเมืองมัณฑะเลย์อยู่ไม่ไกลนัก จึงทำให้เขาสบายใจขึ้นบ้าง เพราะอีกไม่นานคงถึงเกสต์เฮาส์แล้ว

แทนชนนึกถึงตัวเองก่อนจะตัดสินใจมาเมืองมัณฑะเลย์เพียงลำพัง ด้วยเหตุผลง่ายๆ คืออาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมหานครกรุงเทพต้องการอาสาสมัครไปช่วยสเกตช์ภาพจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมตามวัดต่างๆ ที่เชลยชาวอโยธยาเป็นคนวาดและสร้างขึ้น

เพราะโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอนุรักษ์ศิลปกรรมสมัยโยเดียของรัฐบาลพม่า เพื่อต้องการนำข้อมูลเกี่ยวภาพจิตรกรรม สถาปัตยกรรมในอดีตมาศึกษาเปรียบเทียบกับศิลปะสมัยอโยธยา เพื่อจัดทำเป็นหนังสือวิชาการเรื่องการเดินทางข้ามกาลเวลาของศิลปะอโยธยาสู่ศิลปะโยเดีย

เมื่อฟังจบ แทนชนสมัครทันที เพียงแต่ตอนนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าจะได้รับการคัดเลือกหรือเปล่า เพราะมีคนสมัครจำนวนมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยรับเพียง 2 คนเท่านั้น ที่สำคัญ 2 คนที่ถูกคัดเลือกต้องอยู่คนละเมือง แต่เขาก็แอบมีความหวัง เพราะอยู่ชั้นปีที่ 5 และเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมไทย พอจะมีความรู้ทางด้านโครงสร้างสถาปัตย์อยู่บ้าง

ทั้งยังวาดรูปได้อีกด้วย ตรงนี้จึงเป็นความหวังว่าน่าจะถูกคัดเลือก และที่สุดคณะกรรมการก็เลือกเขาจริงๆ
ยิ่งเมื่อแทนชนฟังบรรยายจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าการเดินทางของศิลปะอโยธยามาสู่โยเดียเป็นอย่างไร เขายิ่งอยากมาเร็วๆ และก่อนที่จะมาในราวกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม 2562 เขาก็พบข้อมูลจำนวนมากว่าประวัติศาสตร์ศิลปะของทั้ง 2 ประเทศในช่วงก่อนและหลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ต่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ

แทนชนถูกส่งมาทำงานที่เมืองสะกาย เพียงแต่ที่พักแถบละแวกนี้ไม่สะดวกด้วยประการทั้วงปวง เพราะบ้านเมืองยังไม่เจริญ คล้ายๆ กับชนบทของไทยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขาจึงตัดสินใจมาพำนักที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ เพราะที่นี่เคยเป็นอดีตเมืองหลวง ทั้งยังเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากเมืองย่างกุ้ง

ดังนั้น การติดต่อสื่อสารจึงค่อนข้างสะดวก รวมถึงการให้บริการรถมอเตอร์ไซค์เช่าด้วย เพราะที่เกสต์เฮาส์แห่งนี้มีบริการพร้อมสรรพคล้ายๆ กับโรงแรมระดับ 3 ดาวของไทย

ที่สำคัญ เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองเก่าแก่ มีทัศนียภาพงดงามที่ถูกโอบล้อมไปด้วยหมู่ทะเลเจดีย์ ดังนั้น ไม่ว่าจะมองออกไปทางไหน จะเห็นยอดของเจดีย์โผล่แทงแสงฟ้าระยิบระยับอย่างสวยงาม
โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตกดิน

แทนชนถึงที่พักแล้ว เขารีบอาบน้ำ เพื่อเดินออกมาหาอะไรกินในตอนเย็น และระหว่างทางที่เขาเดินเลาะเลียบตลาดในย่านเมืองเก่า เขาพบเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มเดิมเดินพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน โดยมีไกด์สาวชาวพม่าเป็นคนนำทาง

เขาไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงชื่อแก้ว?

ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นคนพม่าหรือคนไทย แต่จากการคาดเดากฎหมายการท่องเที่ยวของที่นี่ เขามักจะให้คนท้องถิ่นเป็นไกด์ได้เท่านั้น ห้ามคนประเทศอื่นเป็น

“เธอคงเป็นพม่าจริงๆ” แทนชนรำพึงกับตัวเอง

และระหว่างทางไปตลาด แทนชนเดินสวนไกด์สาวชาวพม่าและนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกครั้ง คราวนี้เขาไม่ได้นุ่งโสร่ง แต่ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สวมรองเท้าแตะ

จนดูไม่เหมือนคนพม่า

แต่ไกด์สาวชาวพม่าและนักท่องเที่ยวชาวไทยจำเขาได้ จนมีใครคนหนึ่งในกลุ่มเอ่ยทักก่อนบอกว่า…คนนี้ที่วาดรูปที่วัดนี่

“เออ…ใช่…จริงๆ ด้วย” เสียงนักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งร้องตอบ พร้อมกับพูดว่า…ทำไมไม่นุ่งโสร่งล่ะ

“คงเบื่อแล้ว อยากเป็นนักท่องเที่ยวบ้างมั้ง” ใครคนหนึ่งในกลุ่มพูดลอยๆ ขึ้นมา
จนทำให้ทุกคนหัวเราะพร้อมกัน

“ผมคนไทยครับ” แทนชนตอบกลับด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

“อ้าว…คนไทยหรือนี่” นักท่องเที่ยวหลายคนพูดเกือบจะพร้อมกัน และใครคนหนึ่งในนั้นก็ถามแทนชนว่า…มาทำอะไรที่พม่า

“มาทำงานส่งอาจารย์ครับ” แทนชนตอบด้วยน้ำเสียงสุภาพ

จากนั้นแทนชนก็พูดคุยกับพวกเขาอยู่ระยะหนึ่ง จนทุกคนเริ่มเข้าใจ และรู้สึกดีที่เห็นนักศึกษาหนุ่มชาวไทยมาทำงานทางด้านศิลปะให้กับบ้านเมืองของตัวเองและประเทศเพื่อนบ้าน

ไกด์สาวชาวพม่าที่ยืนอยู่ตรงนั้นได้ยินในสิ่งที่แทนชนเล่าให้ทุกคนฟังด้วย จนมีความรู้สึกดีที่เขาอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปกรรม

และก่อนที่ทุกคนจะแยกย้าย ผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งถามเขาว่า…ชื่ออะไร?

“แทนชนครับ” พูดจบเขาหันไปทางไกด์สาวเหมือนอยากจะบอกเธอให้ทราบด้วย แต่เธอไม่หันมามอง เพราะมัวแต่คิดว่าจะส่งลูกทัวร์ให้ถึงโรงแรมเร็วๆ ได้อย่างไร เหตุนี้เองไกด์สาวชาวพม่าจึงส่งเสียงบอกลูกทัวร์ทุกคนให้ทราบว่า…ไปกันเถอะค่ะ พรุ่งนี้เรายังมีอีกหลายวัดที่ต้องไปชมในเมืองมัณฑะเลย์ วันนี้ต้องพักผ่อนเอาแรงเยอะๆ นะคะ

ทุกคนแยกย้ายกันหมดแล้ว

แต่สิ่งที่คาใจและเป็นคำถามที่ทำให้แทนชนคิดต่อคือ พรุ่งนี้พวกเขาคงอยู่ตามวัดต่างๆ ในเมืองมัณฑะเลย์ ใจหนึ่งก็อยากเจอพวกเขาอีก ขณะที่อีกใจหนึ่งย้อนแย้งว่าอยากเจอนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือเจอไกด์สาวชาวพม่ากันแน่

แทนชนครุ่นคิดอยู่นาน

ที่สุดจึงตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าต้องไปวัดมหาเตงดอจี เพื่อทำงานให้เสร็จ เพราะเขามาอยู่ที่นี่ 3-4 วันแล้ว งานคืบหน้าเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง ตอนนี้มีเวลาเหลือแค่ 20 กว่าวัน

“ถ้าไม่เสร็จตายแน่” แทนชนบอกตัวเอง

แล้วจากนั้นเขาก็เดินหาของกินในตลาด และระหว่างทางเดินกลับที่พัก แทนชนบังเอิญเจอไกด์สาวชาวพม่าอีกครั้ง

“พักอยู่แถวนี้หรือคะ” ไกด์สาวชาวพม่าคนเดิมทักแทนชน

“พักเกสต์เฮาส์ตรงนี้เองครับ” แทนชนตอบอย่างสุภาพ พร้อมกับชี้หมุดหมายให้เธอมองตาม

“อ๋อ…อยู่ใกล้ๆ โรงแรมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยพักเลยค่ะ”

“คุณชื่อแทนชนหรือคะ” ไกด์สาวชาวพม่าถามต่อ

“ใช่ครับ” แทนชนตอบเสียงสั่น

“ดิฉันชื่อยา ดะ นา นะคะ” ไกด์สาวชาวพม่าแนะนำตัวเอง

“ไม่ใช่ชื่อแก้วหรือครับ” แทนชนถามด้วยความสงสัย

“ยา ดะ นา เป็นภาษาพม่า ตรงกับภาษาไทยว่ารัตนะที่แปลว่าแก้ว ดิฉันจึงให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเรียกแก้ว เพราะจำง่ายดี”

“อ๋อ…อย่างนี้เอง แสดงว่าคุณเป็นคนพม่า” แทนชนถามขึ้นบ้าง

“ไม่เชิงค่ะ” ยา ดะ นา ตอบแทนชน

“ลูกครึ่งหรือครับ” แทนชนถามต่อ

“ค่ะ”

“พรุ่งนี้คุณไปไหนคะ” ยา ดะ นา ถามแทนชนบ้าง

“ผมคงอยู่ที่วัดมหาเตงดอจี” แทนชนตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

“แล้วคุณล่ะ” แทนชนถามกลับ

“พรุ่งนี้คงพานักท่องเที่ยวไปชมพระราชวังมัณฑะเลย์และวัดต่างๆ เพราะพวกเขาอยู่ที่นี่อีกเพียง 2 วันก็จะกลับเมืองไทยแล้ว จากนั้นจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งมา และบางทีเราอาจเจอกันที่วัดมหาเตงดอจีอีกก็ได้ ถ้าคุณยังอยู่” ยา ดะ นา พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ

“อ้อ…คราวหน้าถ้าเจอกันอีก เรียกยา ดะ นา ก็ได้นะคะ ไม่ต้องเรียกแก้วหรอก” ยา ดะ นา ย้ำอีกครั้ง

“ครับ…ได้ครับ ยินดีที่รู้จักนะ ยา ดะ นา” แทนชนตอบกลับอย่างดีใจ แต่ไม่วายที่จะถามเธอต่อว่า…พักอยู่ที่ไหน ไกลจากที่นี่มากหรือเปล่า

“ผมมีมอเตอร์ไซค์ ไปส่งได้นะครับ” แทนชนพูดด้วยน้ำเสียงเชื้อเชิญ

“ไม่เป็นไรหรอกค่ะ อยู่หลังตลาดนี่เอง เดินแป๊บเดียวก็ถึง ขอบคุณมากนะคะ และยินดีที่รู้จัก” ยา ดะ นา บอกแทนชน ก่อนจะขอตัวเดินจากมาอย่างช้าๆ

จนทำให้แทนชนรู้สึกถึงมิตรภาพที่งดงามในต่างแดน เพราะถ้าเขาไม่เจอเธอในวันนี้ คงไม่รู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดมหาเตงดอจีที่ต่างเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลมากมาย

ตรงนี้จึงเป็นแรงปรารถนาในใจลึกๆ ที่ทำให้เขาอยากเจอยา ดะ นา อีก เพราะเชื่อว่านอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เธอมีความรู้อยู่ในอาชีพ เธอน่าจะมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเชลยชาวอโยธยา

โดยเฉพาะเชลยสกุลช่างเมืองเพชร

แทนชนอยากคุยกับยา ดะ นา อีกครั้ง แต่ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เจอ เขาจึงปลอบใจตัวเองว่าแล้วแต่โชคชะตาฟ้าลิขิตก็แล้วกัน เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง

เธอก็ทำหน้าที่ของเธอ

เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราเช่นกัน