เรื่องสั้น : การรอคอยที่ไม่มีคำตอบใดๆ จากยา ดะ นา (1) /สาโรจน์ มณีรัตน์

การรอคอยที่ไม่มีคำตอบใดๆ จากยา ดะ นา (1)

ตลอดปลายฝนต้นหนาวของฤดูกาล สภาพอากาศยังคงทำหน้าที่ของมันโดยธรรมชาติ แม้ผมจะอยู่ห่างไกลจากภาคเหนือ และภาคอีสานของประเทศไทย แต่กระนั้น ลมฝนและลมหนาวคงยังหอบความฉ่ำเย็นโชยมาจนทำให้ผมสัมผัสได้ถึงใจกลางเมืองเพชร

หากเป็นเมื่อก่อนคงไม่รู้สึกอะไร

แต่สำหรับปีนี้ ผมถามตัวเองบ่อยครั้งว่าทำไมถึงรู้สึกหนาวใจจนบอกไม่ถูก หรืออาจเป็นเพราะผมขาดการติดต่อจากผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ไกลห่างถึงเมืองสะกาย ประเทศพม่า

หรืออาจเป็นเพราะไลน์ของเธอไม่ส่งเสียงทักทาย

ทั้งๆ ที่ช่วงผ่านมาในเดือนที่คาบเกี่ยวระหว่างกันของปีที่แล้ว ไลน์ของผมและเธอต่างส่งเสียงทักทายกันเป็นระยะๆ จนทำให้รู้สึกอบอุ่น คล้ายกับมีมิตรต่างแดนคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

แต่ปีนี้ทุกอย่างตรงข้าม

แม้ผมจะปลอบใจตัวเองจากรูปโปรไฟล์ของเธอและผมที่ถ่ายคู่กัน ณ วัดมหาเตงดอจีที่ยังไม่ถูกลบก็ตาม แต่คำถามก็เกิดขึ้นในใจเสมอว่า…ทำไมเธอถึงไม่ตอบไลน์

ทั้งๆ ที่ผมให้คำมั่นสัญญากับเธอว่า หลังจากส่งแบบร่างภาพสเกตช์อาคารสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังของวัดแห่งนี้ให้อาจารย์เสร็จเรียบร้อย ผมจะกลับไปหาเธอ เพราะงานยังไม่เสร็จ ต้องไปสเกตช์แบบร่างอีกหลายวัดในเมืองอื่นๆ ด้วย

แต่ผมยังกลับไม่ได้ เพราะเกิดมหันตภัยไวรัสร้ายแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและพม่า

ผมไลน์บอกเธอให้ทราบถึงความคืบหน้า

แต่ไม่มีเสียงใดๆ ตอบกลับมา

“เธอคงจะยุ่ง” แทนชนรำพึงกับตัวเอง

“จริงๆ นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีโอกาสมาเมืองสะกายเท่าไหร่นัก เพราะส่วนใหญ่ถ้านั่งเครื่องบินมาลงมัณฑะเลย์ พวกเขามักจะเลือกชมพระราชวังมัณฑะเลย์เป็นหลัก นอกนั้นคงอยากให้พาไปชมสะพานไม้อูเบ็ง, วัดกุโสดอว์ และอื่นๆ อีกมากมาย”

“ดิฉันจึงค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมพวกคุณถึงอยากมาเมืองสะกาย โดยเฉพาะที่วัดมหาเตงดอจี จนทราบจากผู้นำทัวร์คนหนึ่งว่าพวกคุณอยากเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดแห่งนี้ เพราะเป็นฝีมือเชลยช่างชาวโยเดียเมื่อ 252 กว่าปีก่อน”

“ถูกต้องแล้วค่ะ เพราะหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามขุนหลวงหาวัด พร้อมกับพระราชวงศานุวงศ์ชาย-หญิงราว 2,000 กว่าคนต่างถูกกวาดต้อนมายังกรุงรัตนปุระอังวะ โดยมีเหล่าบรรดาขุนนางและศิลปินช่างแขนงต่างๆ เดินทางมาด้วยประมาณ 1 แสนกว่าคน”

แทนชนหันมองต้นเสียงอย่างฉงนสนเท่ห์ในคำอธิบายของเธอ แม้เขาจะพอมีความรู้ประวัติศาสตร์อยู่บ้าง แต่ด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำในภาษาไทย จึงทำให้เขาแอบมองเธอไม่ได้ ยิ่งเมื่อดูจากชุดที่สวมใส่ แทนชนก็รู้ในทันทีว่าเธอไม่ใช่คนไทย

“เธอคงเป็นไกด์สาวชาวพม่า” แทนชนนึกในใจ

เขาจึงลงมือนั่งสเกตช์แบบร่างจิตรกรรมฝาผนังวัดมหาเตงดอจีต่อ โดยไม่สนใจอะไร เพราะรู้ดีว่ายิ่งช้าก็จะยิ่งทำให้เขาต้องอยู่ที่นี่นานขึ้น และระหว่างที่กำลังวาดรูป เสียงไกด์สาวชาวพม่าก็เริ่มบอกเล่าประวัติศาสตร์วัดแห่งนี้ให้ได้ยินเป็นระยะๆ

จนนักท่องเที่ยวชายไทยคนหนึ่งเรียกใครสักคนว่า…แก้ว

“ค่ะ” ไกด์สาวชาวพม่าตอบ

แทนชนหันไปมองปลายเสียงของผู้หญิงคนนั้น ด้วยความแปลกใจว่า…เธอคือคนไทยหรือ…ถึงชื่อว่าแก้ว

“แก้ว” หันมายิ้มให้แทนชนเล็กน้อย ก่อนจะอธิบายให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย 5-6 คนที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 40-50 ปีทั้งหญิงและชายให้ฟังต่อว่า วัดมหาเตงดอจีแห่งนี้ อาคารสถาปัตยกรรมภายนอกสร้างราวปี 2174 และตามประวัติศาสตร์บอกว่ามหาอำมาตย์และเชลยชาวล้านนาที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่เมืองสะกายเป็นผู้สร้างวัด

ฉะนั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมภายนอกจึงมีอิทธิพลของราชวงศ์ญองยาน ก่อนจะมีการบูรณะอีกครั้งในสมัยราชวงศ์คองบอง จากนั้นอีกหลายร้อยปีวัดแห่งนี้ก็ขาดการบูรณะซ่อมแซม จนกลายเป็นวัดร้างที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย

กระทั่งเมื่อปี 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก เชลยชาวโยเดียทั้งหมดถูกกวาดต้อนมาถวายแด่พระเจ้ามังระ ณ กรุงรัตนปุระอังวะ ก่อนจะคัดแยกเชลยออกเป็นหลายกลุ่ม

กลุ่มพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงถูกให้ประทับอยู่ใกล้พระราชวังหลวง โดยพระเจ้ามังระโปรดให้สร้างวังขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อแยกออกมาต่างหาก ที่ไม่เพียงทุกพระองค์จะอยู่อย่างสุขสบาย หากยังมีบริวารรับใช้ตามฐานันดรศักดิ์ด้วย

“ถือว่าพระเจ้ามังระทรงเมตตามากนะคะ” นักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งกึ่งพูดกึ่งถาม

“ใช่ค่ะ” แก้วตอบ และอธิบายต่อว่า ส่วนกลุ่มของพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายชายให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระราชวัง โดยพระเจ้ามังระพระราชทานที่ดินทำกินให้ส่วนหนึ่ง
ส่วนกลุ่มเชลยช่างเขียนให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสะกาย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกรุงรัตนปุระอังวะ โดยมีแม่น้ำอิรวดีขวางกั้น

“แล้วสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรล่ะครับ” นักท่องเที่ยวชายคนหนึ่งถามขึ้นอย่างสงสัย

“เนื่องจากพระองค์ทรงผนวชขณะถูกกวาดต้อนมา พระเจ้ามังระจึงโปรดให้ประทับ ณ วัดเยตะพัน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงรัตนปุระอังวะ ตามประวัติศาสตร์บอกว่าพระองค์ทรงผนวชอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่า 16 ปี และระหว่างที่พระองค์ประทับ ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ทำจากไม้มะเดื่อด้วย”

“อ๋อ…จำได้แล้ว พระองค์มีชื่อเดิมว่าเจ้าฟ้าดอกเดื่อ” นักท่องเที่ยวชายอีกคนส่งเสียงขึ้นเหมือนจำความอะไรบางอย่างได้

“ใช่เลยค่ะ” แก้วตอบ พร้อมกับชม…เก่งมากค่ะ

“แล้วไงต่อครับ” นักท่องเที่ยวชายอีกคนรีบถาม

“หลังจากนั้นพอปี 2326 พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองย้ายราชธานีจากกรุงรัตนปุระอังวะมายังกรุงอมรปุระ ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากมัณฑะเลย์ที่พวกคุณลงที่สนามบินน่ะค่ะ พระองค์จึงสั่งให้ย้ายพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงให้มาประทับยังพระราชวังแห่งใหม่ในกรุงอมรปุระ”

“ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จมาประทับที่เมืองนี้ด้วย แต่จำพรรษาอยู่วัดปองเล ในกรุงอมรปุระ ปัจจุบันบริเวณนั้นถูกเรียกขานว่าย่านระแหงและย่านเมงตาสุ ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยอีกแห่งหนึ่งของเชลยชาวโยเดีย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่แถวนี้จะมีตลาดโยเดีย”

“ที่สำคัญ ตามหลักฐานมหาราชวงศ์ พงศาวดารพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง และหลักฐานในสมุดพม่ายังค่อนข้างสอดรับกันว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จสวรรคตในสมณเพศ ณ กรุงอมรปุระ เมื่อปี 2329 โดยมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติยศ ณ บริเวณเลงเซงกง หรือสุสานล้านช้าง รวมระยะเวลาที่พระองค์ทรงผนวชและประทับอยู่ในกรุงรัตนปุระอังวะและกรุงอมรปุระทั้งหมด 19 ปี”

“ฟังแล้วเศร้าใจจังค่ะ” นักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งเปรยขึ้นมาเบาๆ

แก้วเองก็พลอยรู้สึกหดหู่ตามไปด้วย เพราะประวัติศาสตร์ในอดีตมีหลายอย่างที่ไม่น่าจดจำ และก็มีหลายอย่างที่ไม่อยากกล่าวถึง เพราะลึกๆ แล้วเธอรู้ดีว่ารากฐานครอบครัวมาจากที่ใด

เหตุนี้เอง จึงทำให้เธอตัดสินใจเรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย โทประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เพราะเธอต้องการเรียนรู้ภาษาไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อว่าวันหนึ่งจะมาเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะตอนเรียนมหาวิทยาลัย นักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยวพม่าค่อนข้างมาก

“แล้วมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับวัดมหาเตงดอจี” เสียงคำถามของนักท่องเที่ยวชายคนหนึ่งปลุกให้เธอตื่นจากภวังค์

“อ๋อ…อย่างงี้ค่ะ หลังจากคัดแยกเชลยชาวโยเดียออกเป็นกลุ่มๆ นัยหนึ่งเพื่อเป็นการปูนบำเหน็จให้กับแม่ทัพนายกองที่ไปร่วมรบสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาจนมีชัยชนะ พระเจ้ามังระจึงพระราชทานเชลยชาวโยเดียให้กับพวกเขาเหล่านั้นเพื่อมาช่วยทำนุบำรุงบ้านเมืองของตัวเอง”

“ดังนั้น เชลยชาวโยเดียจึงกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น เมืองมินบู เมืองสาลิน และเมืองซูกาบ้าง และแต่ละเมืองที่เชลยชาวโยเดียอาศัยอยู่จะมีความถนัดในเชิงช่างแตกต่างกัน แต่สำหรับเมืองสะกาย ตามหลักฐานพม่ามีการบันทึกไว้ว่าพวกเขาน่าจะเป็นสกุลช่างเขียนจากอโยธยาที่สืบเชื้อสายมาจากสุกลช่างเขียนเมืองเพชร”

“เพชรบุรี” แทนชนมองหน้าไกด์สาวชาวพม่าอย่างสนใจในคำพูด

“ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้มากว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทุกคนเห็น น่าจะเป็นฝีมือเชลยช่างชาวโยเดีย เพราะลักษณะจิตรกรรมแบบนี้ไม่ค่อยพบเห็นตามวัดต่างๆ ของพม่า ที่สำคัญ ลวดลายศิลปกรรมต่างๆ ล้วนเป็นลวดลายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น”

นักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งจึงถามขึ้นว่า…ดูจากอะไร?

“ดูจากการเขียนลวดลายค่ะ เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดมหาเตงดอจีมีความแตกต่างจากศิลปะพม่าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการเขียน การใช้สีฝุ่น ทั้งยังมีเส้นแบ่ง หรือสินเทา แม้แต่ภาพพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาท ยังมีฐานสิงห์ชั้นเดียว อันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย”

“แม้แต่การวาดกรอบเหนือเศียรพระ หรือซุ้มเรือนแก้วที่มีคันทวยรองรับ ตรงนี้เป็นศิลปะของช่างเขียนชาวโยเดียทั้งสิ้น นอกจากนั้น การวาดเสาเล็กๆ ประดับกาบบนและกาบล่าง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตัวเรือนยอดปราสาทมีการวาดลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ ส่วนยอดปลีแบบนี้จะมีแต่เฉพาะศิลปะของโยเดีย”

“ส่วนอีกด้านเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบก แวดล้อมไปด้วยเครื่องสูงและเครื่องบูชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉัตร ธงทิว และแจกันดอกไม้ ส่วนเบื้องหลังบุษบกคือท้องฟ้าสีแดงชาด มีดอกไม้ทิพย์จากสวรรค์ร่วงหล่นลงมาบูชาพระ ถัดขึ้นไปเป็นสินเทาหยักฟันปลา”

“ตามทันไหมคะ” แก้วถามทุกคน

“ทันครับ ทันค่ะ” นักท่องเที่ยวตอบพร้อมกัน

เธอจึงชี้ให้ดูองค์ประกอบของลวดลายทั้ง 4 ด้าน พร้อมกับเล่าต่อว่า ลวดลายทั้งหมดจะโค้งเข้าหากัน ลักษณะแบบนี้พบมากในศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และลวดลายลักษณะเดียวกันนี้ยังพบในงานปูนปั้นและงานจิตรกรรมด้วย ส่วนพุ่มตรงกลางเรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายกระหนกช่อหางโตที่พัฒนามาจากดอกโบตั๋น

“จึงทำให้เชื่อได้ว่า ทั้งลวดลายและการเขียนพระพุทธรูปล้วนเป็นฝีมือเชลยช่างชาวโยเดียทั้งสิ้น แต่ถ้ามองอย่างพิจารณาจะเห็นว่าบางลวดลายไม่มีความคมชัดเท่าที่ควร มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีช่างฝึกหัดมาช่วยเขียนหรือลงสี ที่อาจพลาดสายตานายช่างคุมงานไปบ้าง”

ถึงตรงนี้ เธอจึงชี้หลักฐานภาพเขียนที่ไม่ชัดเจนให้นักท่องเที่ยวดูประกอบกัน ทุกคนพยักหน้าเหมือนเข้าใจในสิ่งที่เธออธิบาย จนทำให้เธอเล่าต่อว่า…แก้วคิดว่าพวกคุณคงเห็นลวดลายลักษณะแบบนี้ตามพระอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลายมาบ้าง ยิ่งถ้าพวกคุณเคยไปวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี

“โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง พวกคุณจะยิ่งตะลึง เพราะลักษณะการเขียนจะใช้สีฝุ่นแบบเดียวกันกับที่นี่ ทั้งสีที่ใช้ก็มีเพียงแดง ดำ ขาว เหลือง แถมยังลงพื้นด้วยสีขาว เพียงแต่ที่นี่อาจเพิ่มสีฟ้าอมเขียวเข้าไป ทั้งยังมีหยักฟันปลาเพื่อใช้สินเทาแบ่งภาพ ช่องว่างระหว่างเจดีย์และฉัตรล้วนบรรจุเรื่องราวพุทธประวัติเหมือนกัน”

“ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสกุลช่างเมืองเพชรมีโอกาสเข้ามาถวายงานรับใช้อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาตอนปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพราะพระมเหสี กรมหลวงพิพิธมนตรี หรือสมเด็จพระพันวัสสาน้อยเป็นบุตรีของนายทรงบาศ หรือเจ้าพระยาบำเรอภูธร ที่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชร”

“พูดง่ายๆ พระองค์เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ และสมเด็จพระเจ้าอุทมพร จนทำให้สกุลช่างเมืองเพชรอาจถูกคัดเลือกให้มาถวายงานรับใช้เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่เมืองสะกาย ทั้งยังมีความเป็นไปได้อีกว่าเชลยช่างชาวโยเดียเหล่านี้อาจถวายงานสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรตามรับสั่งก็ได้ เพราะพระองค์มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า”

“หรือไม่ก็อาจมาถวายงานรับใช้พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายชายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ประทับอยู่เมืองสะกาย เพราะคงเห็นว่าวัดมหาเตงดอจีแห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม และภายในพระอุโบสถไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะเชลยช่างชาวโยเดียอยากฝากฝีมือทิ้งไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า เพราะพวกเขาคงไม่มีโอกาสกลับไปอโยธยาอีกแล้ว” แก้วย้ำคำพูดอย่างหนักแน่น

จนทำให้แทนชนที่แอบฟังอยู่ถึงกับต้องมนต์สะกด เพราะสิ่งที่ไกด์สาวชาวพม่าอธิบาย ไม่เพียงต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บาดแผล ยังทำให้เขานึกถึงตัวเอง เพราะเขาเองก็เป็นคนเพชรบุรี ทั้งยังเคยไปชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธารามมาก่อนด้วย

เขารู้สึกว่าตัวละครต่างๆ ที่เคยได้ยิน ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งๆ ที่เขาพอจะมีความรู้เรื่องราวเหล่านี้อยู่บ้าง จากการอธิบายของอาจารย์ก่อนมาที่นี่ แต่สำหรับสิ่งที่ไกด์สาวชาวพม่าเล่าให้นักท่องเที่ยวชาวไทยฟัง กลับแตกต่างจากสิ่งที่เขารู้มา และไม่เฉพาะแต่เขาคนเดียวเท่านั้น

กรุ๊ปนักท่องเที่ยวชาวไทยคงรู้สึกดุจเดียวกัน

หาไม่พวกเขาคงไม่ก้มลงกราบ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพม่าที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดมหาเตงดอจีอย่างยาวนาน

ไม่เว้นแม้แต่ไกด์สาว

บ่ายคล้อยมากแล้ว ลมเย็นๆ ของช่วงปลายฝนต้นหนาวพัดผ่านเข้ามาทางประตูพระอุโบสถ จนแทนชนสัมผัสได้ถึงความหนาวเหน็บ ที่แม้อากาศภายนอกจะไม่เย็นเท่ากับฤดูหนาวจริงๆ ก็ตาม

แต่กลับทำให้ร่างกายและหัวใจของเขารู้สึกยะเยือกขึ้นมา อาจเป็นเพราะข้อมูลของไกด์สาวชาวพม่าที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะตัวเขาปรากฏกายอยู่ในสถานที่จริงของประวัติศาสตร์

ถึงตอนนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยพร้อมไกด์สาวชาวพม่าทยอยเดินออกจากพระอุโบสถกันทีละคน แต่กระนั้น ก็มีบางคนมาหยุดดูภาพที่แทนชนสเกตช์

บางคนชมว่าสวย

บางคนบอกภาพมีความวิจิตรบรรจงมาก แต่ไม่มีใครสักคนรู้เลยว่าเขาเองก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เพราะแทนชนนุ่งโสร่งเหมือนคนพม่า อีกทั้งรูปร่างหน้าตาผิวพรรณก็ละม้ายไปทางคนท้องถิ่น จึงไม่มีใครสงสัย

แทนชนเองก็ไม่อยากบอก เพราะขณะนั้นเขามีความรู้สึกสงสารสกุลช่างเมืองเพชรที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่นี่ แม้จะรู้จากไกด์สาวชาวพม่าว่าสภาพความเป็นอยู่อาจไม่ลำบากเท่าใดนัก แต่นั่นแหละที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา

ไม่ใช่เพชรบุรี ไม่ใช่อโยธยา แต่เป็นบ้านของผู้ชนะศึกสงครามที่เผาบ้านเผาเมืองของตัวเองเสียจนย่อยยับ แทนชนไม่รู้หรอกว่าพวกเขารู้สึกเช่นใด ไม่รู้หรอกว่าขณะที่พวกเขากำลังเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่นั้นรู้สึกเศร้าใจบ้างหรือเปล่า

แต่ตอนนี้น้ำตาของแทนชนไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

เขาเก็บแผ่นรองวาดรูปและภาพต่างๆ ใส่กระเป๋าพลาสติกสี่เหลี่ยมผืนผ้าใบใหญ่สีดำที่สถาปนิกชอบใช้ลงทีละภาพ ขณะเดียวกันเขาก็เก็บดินสอ ยางลบ และวัสดุอื่นๆ ลงใส่เป้

เขามองภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดมหาเตงดอจีอย่างพินิจพิจารณา ก่อนจะก้มลงกราบพระประธานภายในพระอุโบสถ และอธิษฐานอะไรบางอย่าง

พรุ่งนี้เขาต้องมาที่นี่อีก

ต้องมาจนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น

ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่วัน