มองผ่านสายตาคนนอก 12 เรื่องสั้นเด่นในมติชนสุดสัปดาห์

เมื่อหยิบมติชนสุดสัปดาห์ฉบับใหม่ขึ้นมา มิตรรักแฟนนักอ่านที่สนใจเสพเรื่องสั้นชั้นดีมีคุณภาพต้องพลิกไปหน้า 68 และยังเป็นเวทีเดียวบนหน้ากระดาษที่เหล่านักเขียนต่างสำแดงเดชกันอย่างสนุกมือ

ในรอบปี 2563 มีเรื่องสั้นได้ตีพิมพ์จำนวน 33 เรื่อง เนื้อหามีทุกแนว ทั้งไซไฟ การเมือง ปรัชญา ความขัดแย้ง เพศทางเลือก ฯลฯ ด้วยเทคนิคลีลาการนำเสนอแตกต่างกันไป

ในจำนวนนี้มีเรื่องสั้นขนาดยาว 5 ตอนจบ จำนวน 1 เรื่อง คือ คืนปีเสือ ของ จเด็จ กำจรเดช ตามมาด้วย 3 ตอนจำนวน 2 เรื่องคือ สุนทรีย์มืด ของ วิภาส ศรีทอง และหามิใช่ความจริงในฝัน ก็คงเป็นความฝันในความจริง ของ กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ ส่วนความยาว 2 ตอนจำนวน 11 เรื่อง และที่เหลือเป็น 1 ตอนจำนวน 18 เรื่อง

นักเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุด 2 เรื่อง จำนวน 6 นามปากกา ได้แก่ ฉมังฉาย, อนุสรณ์ มาราสา, ณ ชล คนธรรมดา, วิภาส ศรีทอง, นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ และเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

จึงขอหยิบเรื่องสั้นเด่นในสนามนี้มาทบทวนกัน 12 เรื่องโดยเรียงตามอักษรของชื่อเรื่อง

เริ่มจากเรื่อง “ก่อนเวลา 8.30 น.” ของ เขนน้ำ หลังเทา ฉายให้เห็นภาพความวุ่นวายบนท้องถนนที่ผู้ขับขี่รถต้องแข่งกับเวลา ปัญหาอุบัติเหตุจากสัญญาณไฟจราจรและการทำถนนเลี้ยวโค้งคร่าชีวิตผู้คน เล่าผ่านสายตาครูสาวที่ต้องไปให้ทันเวลาก่อนโรงเรียนขึ้นและโยงใยถึงต้นตอของปัญหา ที่แท้จริง นักเขียนเลือกใช้เทคนิคกระแสสำนึกคลุมเครือ

ส่วนเรื่อง “คืนปีเสือ” ของ จเด็จ กำจรเดช นักเล่าเรื่องตำนานศาลเจ้าพ่อเสือคติชนพื้นถิ่นของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ผ่านเทคนิคลูกเล่นของภาพยนตร์ทั้งการตัดสลับฉาก เปลี่ยมมุมกล้อง แถมยังเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าความเป็นมาของชนพื้นถิ่นหลายชั่วอายุคน สะกดคนอ่านทิ้งท้ายในแต่ละตอนให้ติดตามต่อไปด้วยความระทึกใจ ฝีมือนั้นราวกำลังเสกสร้างเสือปูนให้มีชีวิตอีกครั้ง

“ใครจะรู้ว่า?” ของ เนียนมาน โอฬารริก ตั้งประเด็นว่า การโพสต์ลงในโลกโซเชียลจนคนเสพแยกไม่ออกว่าอะไรคือข้อมูลที่เป็นจริงและข้อมูลเสมือน ผ่านเรื่องราวของเน็ตไอดอลนักร้องดังอย่างเช่น เจน โบว์ และนุ่น

ทิ้งท้ายไว้ด้วยเพลงแร็พให้คนอ่านร้องตามคึกคักในอารมณ์ยิ่งนัก

“ความป่วยไข้ของชายผู้จะกลายฐานะ” ของ ฉมังฉาย มีประเด็นปัญหาของชายสูงวัย เมียตายชอบเสพสื่อลามกออนไลน์จนเป็นโรควิตกกังวลสูงถึงกับนอนไม่หลับเมื่อสงสัยว่า แฟนของลูกชายว่าที่ลูกสะใภ้จะเป็นเหมือนผู้หญิงรักสนุกแบบนั้นไหม คนอ่านจะลุ้นไปด้วยว่าใช่หรือไม่ใช่ แล้วหันกลับมามองเราว่าตกอยู่ในอาการนี้บ้างหรือยัง

“เต็นท์ผ้าใบและอื่นๆ” ของ วัฒนพงษ์ แก้วนาพันธ์ เสนอภาพปัญหาการเมืองท้องถิ่นระดับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและความละโมบผ่านบุคลาธิษฐานในมุมมองของ เต็นท์ผ้าใบ เก้าอี้ ผ้าคลุมโต๊ะ โต๊ะ แม้จะเป็นเรื่องแนวขำขื่นแต่ยังรื่นรมย์เหมือนได้ดูหนังเรื่อง Toy Story ที่เครื่องใช้เก่าๆ กำลังถูกกำจัดทิ้งไป

“เธอแค่อยากกางขา” ของ อานนท์ นานมาแล้ว เล่าผ่านมุมมองของหญิงรักหญิงที่ต้องผ่านความสับสนในตัวเอง ตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็น “แม่บ้านที่ดีของสามี” ก่อนจะค้นหาตัวตนและก้าวผ่านมันไปได้อย่างไรในยุคที่เปิดกว้างกว่าในยุคสมัยของรุ่นแม่

นักเขียนถ่ายภาพเลิฟซีนได้ละมุนทีเดียว

“ผู้ชายเดือนเมษา” ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นำเรื่องราวของชายชราละทิ้งเรื่องราวนักต่อสู้เหตุการณ์เดือนเมษายน 2553 ไปใช้ชีวิตเงียบๆ ริมฝั่งโขง ผ่านนักสารคดีวัยหนุ่มที่ต้องการสืบค้นข้อเท็จจริง ด้วยชั้นเชิงของผู้เขียนทำให้เรารู้สึกว่ากำลังอ่านเรื่องจริง มีพลังในการต่อต้านอำนาจรัฐ พร้อมทั้งเสนอวิธีการต่อสู้กับเผด็จการในยุคนี้

“เพศแปลง” ของ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เล่าเรื่องการดำเนินชีวิตหลังเกษียณนัดพบกันที่ร้านกาแฟเจ๊กเฮง ต่างมารำลึกถึงความหลังและติดตามอาการป่วยไข้ “มีแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ออกมาดื่มกาแฟ กินปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวสังขยาห่อละแปดบาท คุยกับเพื่อนร่วมรุ่นอายุ รุ่นโรงเรียนเดียวกันสองสามชั่วโมงเช้าที่รับอากาศร้อนตามธรรมชาติกับพัดลมเพดานพัดหึ่งๆ ก่อนขึ้นรถติดแอร์กลับเข้าบ้านติดแอร์ทั้งวัน” และแน่นอนว่าคนเขียนถ่ายทอดกลิ่นอายของร้าน มิตรภาพและหักมุมด้วยเรื่องขำอมยิ้มตรงประเด็นกับชื่อเรื่อง

“พายุแห่งโชคชะตา” ของ วนิดา คุตตวัส เสนอภาพสงครามตะวันออกกลางในประเด็นสตอกโฮล์มซินโดรม (Stockholm Syndrome) ผ่านชีวิตของหมอโมฮัมหมัด ทำไมนักล่าจึงต้องพลีชีพตนเองหลังก่อการร้าย

มันเป็นเรื่องราวของโชคชะตาหรืออุดมคติของนักต่อสู้ทางการเมืองกันแน่

“แม่อยากไปไหว้พระ” ของจรัญ ยั่งยืน เขียนถึงเบื้องหลังความศรัทธาของหญิงชราที่ชอบไปทำบุญไหว้พระตามวัด เริ่มจากสมพงษ์ลูกชายเอาใจแม่พาไปวัด “หลังจากปิดทองเสร็จ แม่ก็ไปทำบุญโลงศพ บอกว่าตายแล้วจะได้มีคนซื้อโลงให้ ไปเติมน้ำมันตะเกียงหวังว่าจะมีชีวิตยืนยาวถึง 90 ปี ต่อด้วยไถ่ชีวิตโคกระบือโดยเอาหญ้าให้มันกินและเอามือลูบหัวมันเบาๆ” หลังจากนั้นแม่จะไปไหนต่อ คนเขียนเล่าเรื่องเรียบง่าย มีเสน่ห์แต่กระตุกคิดทบทวนอะไรคือเป้าหมายของการไปวัด

“รอยแยกบนดวงจันทร์” ของ สันติพล ยวงใย เขียนแนวไซไฟว่า โลกในอนาคตที่ปฏิเสธความเชื่อของพระเจ้า แล้วฮัมจะไปรับศพพ่อที่ฝังไว้ในกุโบร์บนดวงจันทร์ทำไมกัน ผู้เขียนเสนอถึงบางสิ่งที่ขาดหายไปในโลกอนาคต

“สุนทรีย์มืด” ของ วิภาส ศรีทอง เล่าเรื่องด้วยสไตล์น้ำเสียงหม่นมัวของสังคมที่ทำให้ตัวละครเพื่อนสนิท 2 คน ที่ผ่านการใช้ชีวิตแบบผู้แพ้ตั้งแต่เรียนไม่จบ ถูกโกงค่าเรื่อง เพื่อนๆ ที่ทำงานไม่ยอมรับ พวกเขาจึงต้องหาสถานที่ลี้ลับหลบหลีกไปเยียวยาใจตนเอง แล้วมันอยู่ตรงไหนกันหรือ

“หล่อนไม่เคยเห็นผี” ของปานศักดิ์ นาแสวง ทำหน้าที่ราวจิตรกรวาดภาพความงามของชนบทด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตสมัยที่ยังนับถือผีคอยปกปักษ์รักษาท้องนา ต้นไม้ ภูเขา ครอบครัว ตัดสลับประเพณีเชิญผีนางด้ง นางลุ่ม และนางช้าง

ผู้เขียนมักจะฉายภาพซ้ำความงามของธรรมชาติเพื่อสะกิดใจคนอ่าน แล้วคนยังจะเชื่อเรื่องผีดีๆ กันอีกไหม

ไม่ใช่มีแค่เรื่องสั้นเด่นเพียง 12 เรื่องเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ให้ติดตามอ่านตามรสนิยมที่บรรณาธิการคัดเฟ้นมาประเคนคนอ่านหลายแนว สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมสมัยหรือประเด็นดังๆ ของสังคม และเป็นสนามอันทรงเกียรติของเหล่านักเขียน

เหมือนที่นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ แนะนำไว้ในเรื่องสั้น “จงเอามันออกมา” ว่า “มันก็จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกคนในสังคมให้รู้ว่า ในโลกใบกว้าง มันยังมีชั้นเชิง มีศิลปะที่งดงามทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ”

ว่าแต่ว่า วันนี้คุณพลิกไปหน้า 68 ของมติชนสุดสัปดาห์แล้วหรือยัง

*ภาณุพงษ์ คงจันทร์ สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์