เรื่องสั้น | ผู้ชายเดือนเมษา (จบ)

ความโกรธแค้นพุ่งขึ้นราวปรอทแตก มวลชนวิ่งหาน้ำล้างหน้าตากันจ้าละหวั่น ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว และชาวบ้านนับพันคนโดนลูกหลง ปวดแสบปวดร้อนทั่วใบหน้า นักท่องเที่ยวบนถนนข้าวสารแตกกระเจิง บาร์เบียร์ปิดหนีตายอลหม่าน

ลูกโป่งสวรรค์จำนวนหนึ่งถูกปล่อยขึ้นฟ้าด้วยหวังว่าจะรบกวนการบิน

บั้งไฟสว่างไสวกลางกรุง

และบางวินาที กระสุนนิรนามหลายนัดแทงทะลุแมลงปอยักษ์จนทำท่าจะเสียหลักปักหัวลงพื้น ยังดีที่นักบินประคับประคองเครื่องเอาตัวรอดไปได้

“อย่าบอกนะครับว่าคุณลุงเป็นคน…” เมษาพยากรณ์ตามเนื้อเรื่อง

“ทนไม่ไหวจริงๆ ว่ะไอ้หนุ่ม มันตั้งใจมาทำร้ายประชาชนมากเกินไป”

ชายชราคิดว่าโดนสวนกลับไปแรงๆ ผู้มีอำนาจจะยอมลดราวาศอก ที่ไหนได้ เขาสั่ง “กองทัพระดับสูง” รุกประชิดมวลชนทั้งทางด้านถนนดินสอและสี่แยกคอกวัว

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ณ ขณะนั้นตะวันตกดินไปนานแล้ว

แทนที่จะ “รอ” เขารีบ เขาลุย หวังให้จบในคืนเดียว ด้วยย่ามใจว่าคนส่วนใหญ่อยู่ราชประสงค์ แกนนำหลักๆ ทุกคนคุมเวทีอยู่ที่นั่น การชิงสลายในคืนนี้จึงเป็นแผนการเร่งด่วน ลุกลี้ลุกลน และขาดข้อมูลเชิงลึกว่ามวลชนปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง

คำว่า “ขอคืนพื้นที่” ที่โฆษณาผ่านจอทีวี มีความหมายที่พวกเขารู้กันภายในว่าอนุมัติให้ใช้กำลังทหารหลายกองพัน มีรถถัง รถฮัมวีย์ และอาวุธสงครามครบมือ

เขาไม่แคร์สิ่งมีชีวิตตาดำๆ ที่ทิ้งบ้านมานอนถนน มองไม่เห็นหัวคนพวกนี้เลย

เพลง “รักคนเสื้อแดง” ของแป๊ะ บางสนาน ดังกระหึ่มรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งทหารเปิดเพลงบรรเลง คล้ายหวังผ่อนคลายบรรยากาศการเผชิญหน้าที่ต่างฝ่ายต่างผลักดันกันไปมา แล้วจู่ๆ เสียงปืนก็แตกกัมปนาท ทั้งจากฟากคอกวัวและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

ผู้ชุมนุมล้มลงทีละคน

สองคน

สิบคน

ร้อยคน

ใครเจ็บถูกหามออกไป ใครที่ยังอยู่วิ่งเข้าไปแถวหน้า

กระโจนไปหากระสุนปืน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ไม่มีใครเกรงกลัวความตายแม้แต่น้อย

พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าจิตใจของเขาและเธอทำด้วยสิ่งใด

เลือดนองเต็มท้องถนน เสียงปืนกึกก้องไม่ขาดสาย เสียงคนเจ็บโหยหวน เสียงคนโกรธแค้นบ้าคลั่งตะโกนและวิ่งเข้าใส่ แกนนำสองคนคืออดีตนักร้องดังกับนายตำรวจยศพันโทยืนถือไมค์อยู่บนรถกระจายเสียง บางขณะนอนหมอบหลบวิถีกระสุน แต่ปากยังตะโกนบอกให้หยุดยิง หยุดฆ่าประชาชน

“ใจเย็นๆ เราคนไทยด้วยกัน …อย่ายิงๆๆ”

เปล่าประโยชน์ ทหาร (ที่ทางการพยายามอธิบายอย่างน้ำขุ่นๆ ว่ายิงเพื่อป้องกันตัว ยิงและถอย ยิงขึ้นฟ้า ยิงกระสุนปลอม) ยิงประชาชนบาดเจ็บไปกว่า 800 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร่วม 20 คน รวมทั้งนักข่าวรอยเตอร์สเลือดซามูไรนามฮิโรยูกิ มูราโมโตะ

เมษาอ้าปากกำลังจะถามถึงจุดเปลี่ยนของค่ำคืน

“เสื้อตัวนั้นแหละ” ชายชราชี้ไปที่แจ๊กเก็ตเก่าขาดที่แขวนอยู่บนราว “ยัดกระสุนไปเต็มสองข้าง ปืนกระบอกหนึ่ง หามุมเหมาะๆ ได้ก็ใส่เลย…”

ช่างภาพที่เกาะสถานการณ์อยู่ด้านสะพานเฉลิมวันชาติเล่าผ่านเฟซบุ๊กว่า หลังเสียงปืนนิรนามลงซ้ำๆ ตรงจุดสำคัญ ทัพทหารก็แตกพ่าย หลายคนมีอาการคล้ายเจอผี บ้างหิ้วปืนวิ่งหนี รองเท้าหลุดลุ่ย เลือดหยดเป็นทาง บ้างทรุดหมอบร้องโอดโอย รถถังถูกจอดทิ้งอยู่หน้าโรงเรียน ปืนถูกยึด ทหารหนุ่ม 39 นายถูกมหาประชาชนจับตัวไว้

“มีคนชี้เป้ามั้ยครับ ทำไมถึงรู้ว่า…”

“ไม่มี มืดขนาดนั้น ชี้ยังไงก็ไม่รู้หรอก คงเป็นเวรเป็นกรรมมากกว่า ทำกับประชาชนไว้เยอะก็ต้องโดนเอาคืนบ้าง ทีใครทีมัน”

ชายชราเทเหล้าให้เมษา และจุดบุหรี่มวนใหม่

บทสนทนาเว้นวรรคยาวนาน

“คุณลุง…”

“เรียกลุงเฉยๆ ก็พอ”

“จากเหตุการณ์คืนนั้น…” ชายหนุ่มลังเลว่าจะถามดีไหม

“คุณลุง เอ่อ ลุงคิดว่าตัวเองทำผิดมั้ยครับ”

“ผิดสิวะ ฆ่าคนทำไมจะไม่ผิด” ชายชราตอบเร็วและอัดบุหรี่ยาว แหงนหน้ามองฟ้าอัสดง

“แต่ลุงฆ่าเพื่อให้เขาหยุดฆ่าประชาชน”

มีการประเมินกันในกลุ่มผู้ชุมนุมว่าถ้าไม่มีชายชุดดำ คนจะล้มตายอีกมหาศาล ตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะฝ่ายอำนาจรัฐระดมสรรพกำลังและอาวุธมาเต็มที่ ชัดเจนว่าการมาครั้งนี้คือการฆ่าและฆ่า มีการประเมินตัวเลขคนตายเอาไว้ล่วงหน้าด้วยซ้ำว่าถ้าต่ำกว่า 500 คน ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย

ดูหัวใจคน…

ดูสิ่งที่เขาวางแผนจะลงมือทำ…

“ลุงฆ่าเพื่อปกป้องประชาชน” ชายชราย้ำหนักแน่น

“แต่เขาว่าลุงเป็นผู้ก่อการร้าย ใครๆ ก็พูดแบบนั้น พูดมา 20 ปีแล้ว”

“ไอ้หนุ่ม” ชายชราจ้องหน้าเมษาตาไม่กะพริบ “เรียนนิเทศฯ มา นายก็รู้นี่หว่าว่าคนมีอำนาจ มีสื่อ เขาพูดอะไรก็ได้ ยิ่งกับสื่อตอแหลที่รอรับเศษเงินรัฐบาลอย่างในยุคนั้น มันอุ้มโอ๋กันอยู่ทุกทาง”

ชายชรายังจำได้ดี รุ่งเช้าวันที่ 11 เมษายน แทนที่สื่อมวลชนจะมองการเจ็บการตายของประชาชนเป็นหลัก พวกเขาพร้อมใจกันชูประเด็นเรื่องชายชุดดำ และวาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” ก็เกิดขึ้นในนาทีนั้น

จากฝ่ายฆาตกรและทรราช ผู้มีอำนาจพลิกเกมไปเล่นในบทโจทก์ ไล่ตามล้างตามเช็ดชายชุดดำไม่เลิก ทุ่มงบประมาณมหาศาล ขยายวันเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเป็นปี โดยมีดีเอสไอเป็นหน่วยสนับสนุน

“เราฆ่า เราก็บอกว่าเราฆ่า เราผิด เราก็พูดว่าเราผิด แล้วฝ่ายโน้นล่ะ เขาเคยยอมรับอะไรบ้าง”

เมษาพยักหน้า อ่านหนังสือหนังหามามาก เขาไม่เคยมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเลยว่าใครฆ่าประชาชน วางแผนอย่างไร ใช้อาวุธแบบไหน เสียกระสุนไปทั้งหมดเท่าไร และทำไมถึงขั้นต้องเลือกวิธีเข่นฆ่า ฆาตกรรมเกิดขึ้นกลางเมือง แต่เกิดขึ้นแล้วก็แล้วกัน ไม่มีการชำระสะสาง ไม่สืบสาวไปหาตัวการใหญ่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น

“ผู้ก่อการร้ายเหรอ…” ชายชราหยันชะตาชีวิต

“ทหารมาเป็นกองทัพ มีอาวุธสงครามพร้อม ไม่ผิด ไม่มีใครพูดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ควบคุมฝูงชน ใครเขาใช้ทหารปราบจลาจล บ้านเมืองไหนเขาใช้อาวุธสงคราม เรามันประชาชนเหมือนกัน หนุ่มเอ่ย พูดคำสองคำก็เข้าใจ ยังไม่ต้องพูดว่าบาดเจ็บมาไม่น้อยกว่ากัน เจ็บมาตลอด ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ เมษาเลือด ไล่มาจนถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ และ 19 พฤษภาฯ ถามจริงๆ เถอะวะ เขาเคยบรรจุเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนไว้ในแบบเรียนบ้างมั้ย ใครผิด ใครถูก ใครสั่ง ใครทำ เราจะได้ศึกษาอดีตเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต …ไม่มีเลย ไม่มี มีแต่ทำเงียบๆ ไว้ แล้วก็แล้วไป ลืมๆ ไป คนไทยรักกัน คนไทยให้อภัย ใครไม่รักพ่อให้ออกจากบ้านนี้ไป…” ดวงตาเขาแข็งกร้าวขึ้นมา ก่อนจะนิ่ง ส่ายหน้า

“ผู้ก่อการร้ายเหรอวะ… ทำไมไม่มีใครเผารถถัง รถฮัมวีย์ที่ยึดไว้ได้ และปืนเป็นสิบๆ กระบอกนั่น ทำไมถึงยอมแบกเอาไปคืน ทหาร 39 นายที่จับได้ หักคอทิ้งก็สิ้นเรื่อง มวลชนมีเป็นหมื่น ช่วยกันเขกกะโหลกคนละทีก็ตายห่าหมดแล้ว ทำไมเราไม่ทำ ทั้งที่เขาเพิ่งฆ่าพี่น้องเราตาย ศพวางบนเวทีเป็นกองๆ คาวเลือดเหม็นจนแทบจะอ้วก ทำไมเราไม่แก้แค้น ทำไมถึงยอมส่งตัวทหารพวกนั้นกลับกรมกอง ลองคิดดูเอาเถอะว่าความจริงคืออะไร ใครกันแน่ที่เหี้ยมโหดอำมหิต …แล้วก็พูดจริงๆ นะ พูดอย่างไม่อาย” ชายชราหยุดอัดบุหรี่ยาวๆ อีกครั้ง

“กองสลากฯ นี่ลุงเป็นคนตะโกนบอกเองว่าเผาทิ้งซะ เก็บไว้ทำไม เผาให้เรียบ” มือเหี่ยวๆ ของเขาบีบจอกเหล้าแน่น

“เชื่อมั้ยว่าไม่มีใครเอาด้วยสักคน ผู้ชุมนุมเขาห้ามกันเองด้วยซ้ำ เตือนกันเองว่าอย่าทำลายทรัพย์สินราชการ เรามาเรียกร้องให้ยุบสภา ไม่ได้มาเผาบ้านเผาเมือง แล้วยังไงล่ะ สุดท้าย พอทหารเข้ายึดเวทีราชประสงค์สำเร็จ เขาก็ยัดข้อหาเผาบ้านเผาเมืองให้จนได้ สื่อบางสำนักเร่งปั๊มฉบับพิเศษออกมาขายในสองสามวันถัดมา พาดหัวตัวไม้ว่าก่อการร้าย แดงเผาเมือง …ดูเขาพูด เรื่องใหญ่ขนาดนั้น ท่ามกลางหมอกควันอันคลุมเครือขนาดนั้น และคดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงยังไม่ปรากฏว่าใครทำ แต่เขาสรุปแล้ว สรุปเหมือนตัวเองยืนอยู่ข้างๆ คนลงมือเผา เห็นมากับตา”

ผ่านมา 20 ปี ชายชรายังแค้นสื่อค่ายนั้นไม่หาย

“สิบเมษาถือว่าประชาชนเป็นฝ่ายชนะมั้ยครับลุง”

“พูดแบบนั้นก็ไม่ผิด แต่มันก็ไม่ถูกหรอกที่พี่น้องเราต้องมาตาย”

“แล้วทำไม 19 พฤษภาฯ ประชาชนถึงพ่ายแพ้”

“ก็ประชาชนไม่มีอาวุธ มีแต่ความเชื่อว่าทหารแตงโมจะออกมาช่วย”

“แล้วมีมั้ยครับ”

“มี แต่ไม่กล้าออกมา”

“ทำไมชายชุดดำไม่ออกมาอีก”

“ลุงไม่รู้เหตุผลของคนอื่น แต่ตัวลุงโดนจับไปก่อนหน้านั้นหลายวัน โดนจับและโดนพวกมันซ้อมซะ…”

“ถ้ายังอยู่ ลุงจะสู้มั้ยครับ”

“สู้ แต่คนไม่กี่คนจะไปสู้อะไรกับทหารทั้งกองทัพ พวกเขาได้เปรียบทุกอย่าง มีทั้งอาวุธปืนและอาวุธสื่อสารมวลชน ขณะที่ฝ่ายประชาชนถูกปิดหมด วิทยุ ทีวี ไม่ต้องพูดถึง แม้แต่เว็บไซต์ยังโดนปิดไปเป็นหมื่นๆ”

“นอกจากไม่มีอาวุธ และรอทหารแตงโม มีเหตุผลอื่นๆ อีกมั้ยครับที่ทำให้ประชาชนตายมากขนาดนั้น”

“นึกว่าจะมีคนออกมาห้าม”

“มีมั้ยครับ”

“หมาสักตัวยังไม่มี”

ชายหนุ่มเงียบไปครู่หนึ่ง เขาก้มมองจอกว่างเปล่าและเทเหล้าให้ชายชรา

“เหตุผลอื่นล่ะครับ”

“ถอยไม่เป็น”

“ยังไงครับ”

“เวลาสู้ ทุกคนต้องการชัยชนะ แต่เราไม่ดูประวัติศาสตร์ว่าการชุมนุมทุกครั้ง เราโดนสลายทุกครั้ง ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจังเลยว่าถ้าโดนสลายต้องถอยยังไง แกนนำไม่ต้องห่วงหรอก พวกนั้นเอาตัวรอดได้ แม้ว่าบางส่วนอาจโดนจับหรือมอบตัว แต่ประชาชนมือเปล่า เราต้องเตรียมตัว รุกเป็น ถอยเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย ประเด็นคือเราต้องเข้าใจว่าฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้โหดเหี้ยม มันยิงจริงๆ แม้กับประชาชนมือเปล่า ขนาดถือธงชาติและสวมเสื้อเรารักในหลวง มันยังยิง…”

ชายหนุ่มนักนิเทศศาสตร์หน้าแดง นิ่ง นาน ทั้งที่ยังมีอีกหลายคำถามคาใจ เขาไม่รู้จะพูดอะไร สุดท้ายก็เทเหล้าดื่มสองสามจอกติดๆ

“ขอโทษที”

ชายชราตบไหล่เมษา ก่อนลุกขึ้นเดินไปหาน้ำดื่มมาให้

“เอาน้ำตามหน่อย โลกไม่ได้มีแต่เหล้าหรอกนะพ่อหนุ่ม”

เวลา 18.20 น. ที่สถานีรถไฟจังหวัดหนองคาย รถด่วนขบวน 70 เปิดหวูดส่งสัญญาณเตรียมออกเดินทาง

ชายชรายกเหล้าจอกสุดท้ายชนจอกกับเมษา สีหน้าแววตาชายชราสงบนิ่ง ขณะที่ชายหนุ่มดูกังวล

“เรา เอ่อ… ผมควรจะทำอะไรดีครับลุงในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้”

“ซ้อมยิงปืน”

“ไหนลุงบอกว่าเงื่อนไขตอนนี้ไม่เหมาะ”

“แต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน ลุงเลิกจับปืนมานานแล้ว”

“ที่ผ่านมาลุงทำอะไรบ้าง”

“เขียนบทกวี”

“อย่างเดียวเลยเหรอ”

“เฮ้ย บทกวีไม่ใช่เรื่องจะเอาชนะมันได้ง่ายๆ”

“ปืนกับบทกวีไม่น่าเกี่ยวกันนะครับ”

“คนอื่นคิดยังไงไม่รู้ สำหรับลุง ปืนคือความแข็งแรง บทกวีคือความอ่อนโยน โลกประกอบด้วยสองสิ่งนี้ ผู้ชายที่โตแล้วจึงควรเรียนรู้ทั้งสองอย่าง และใช้มันให้เป็น โดยเฉพาะปืน …ใช้เป็นแปลว่า ถ้าไม่จำเป็น อย่าใช้”

เมษาเตรียมจะซักอีก แต่รถไฟจวนเจียนเคลื่อนขบวนเต็มที ชายหนุ่มปรี่เข้าไปยกมือไหว้ที่อกชายชรา คว้ากระเป๋าสัมภาระ ก่อนก้าวขึ้นรถ เขาหันมาถามเป็นครั้งสุดท้ายว่า-ลุงได้ค่าจ้างเท่าไหร่ ในวันที่สิบเมษา

ชายชรายิ้มออกมาเป็นครั้งแรก ก่อนกล่าวประโยคสุดท้าย

“นอกจากทำงานกับกินเหล้า เราต้องศึกษาประชาชนให้มากขึ้นนะหนุ่มนะ”