เรื่องสั้น | ผู้ชายเดือนเมษา (1)

คะเนจากสายตา แม่น้ำโขงบริเวณนี้น่าจะกว้างเกือบๆ กิโลเมตร แสงแดดเดือนเมษายนเต้นระยิบบนผิวน้ำ ชายชราเดินไปยังราวตากผ้า เขาบีบที่หนีบผ้าเบาๆ กลับเสื้อยืดสีขาวให้อีกด้านโดนแสงแดด แล้วทำแบบเดียวกันนั้นกับกางเกงลูกฟูกสีเปลือกมังคุด และเสื้อแจ๊กเก็ตสีกรมท่าที่มีรอยปะชุนทั้งตัว

หมาไทยวัยฉกรรจ์เห่าในความหมายว่าน่าจะมีคนแปลกหน้ามาหยุดริมรั้วไม้ไผ่

“อะไรของเอ็งวะไอ้โทน”

เขาพูดกับหมา พูดเป็นปกติ ดูเหมือนจะพูดกับมันมากกว่าคนเสียด้วยซ้ำ

มองออกไปหน้าประตูบ้าน เขาเห็นชายหนุ่มร่างใหญ่คนหนึ่งยืนอยู่ เป็นคนที่เขาไม่เคยเห็น ไม่ใช่คนในหมู่บ้านนี้ และว่ากันจริงๆ นอกจากบุรุษไปรษณีย์ บ้านนี้ก็ไม่มีแขกเหรื่อมาหลายปี

“ไปดูซิ” เขาตบหลังหมา และเดินไปหน้าประตูด้วยกัน

“หวัดดีครับ” ชายหนุ่มหน้าตาท่าทางดูดียกมือไหว้

“เออ ว่ายังไง” ชายชราตอบห้วนๆ ใบหน้าเรียบเฉย

“ผมชื่อเมษาครับ ที่เคยส่งจดหมายมาหาคุณลุงเมื่อเดือนก่อน ที่บอกว่าจะขอสัมภาษณ์น่ะครับ”

“อ้าว ก็ตอบกลับไปแล้วนี่พ่อหนุ่มว่าไม่คุย ไม่สะดวก” ชายชราหันหลังเตรียมจะเดินกลับ

“ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณลุงดีครับ แต่…”

“แต่อะไร”

ไอ้โทนเริ่มเห่าเอาจริงเอาจังอีกครั้ง ชายชราต้องคอยปรามไว้

“ผมคิดว่าเราน่าจะมีความรู้สึกเดียวกัน ขอโทษครับ ผมอาจละลาบละล้วงและมารื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ แต่เข้าใจผมเถอะนะครับ ผมตามหาคุณลุงมานาน ผมรู้ว่าคุณลุงไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น คุณลุงเจ็บปวดกับมัน หลายคนก็เจ็บปวด แต่พ่อของผมตาย…”

ชายหนุ่มนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะเล่าต่อว่า พ่อของเขาคือคนถือธงที่โดนยิงล้มทั้งยืนเมื่อเวลา 21.08 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2553

สำหรับคนทั่วไป ไม่มีใครจำได้หรอก มันตั้ง 10 ปีมาแล้ว และคดีความที่ทำๆ กันไปก็เงียบเหมือนใบไม้ร่วง

ร่วงแล้วก็แล้วกันไป

“เข้ามาข้างในก่อนสิ”

ชายชราเปิดประตูรั้ว ไอ้โทนหยุดเห่า วิ่งไปดมกระเป๋ากล้องและถุงทะเลสีเขียวมอมแมม

สมุด ปากกา และเครื่องบันทึกเสียงเตรียมพร้อมไว้แล้วชั่วโมงกว่า ชายชรายังไม่พูดอะไรสักคำ

ร่วม 10 ปีเต็ม เขาไม่เคยเปิดเผยประวัติชีวิต ไม่แม้จะปริปากกับชาวบ้านละแวกนี้ว่าเป็นใครมาจากไหน ในสายตาคนอื่นๆ ชายชราเหมือนคนบ้า คนเพี้ยน ที่ไม่สนใจความเป็นไปของโลก บ้านเขามีไฟฟ้า แต่ก็เหมือนไม่มี เพราะยังหุงข้าวปรุงกับด้วยไม้ฟืน ใช้อินเตอร์เน็ต แต่ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของจดหมาย เขาเชื่ออย่างยิ่งด้วยซ้ำว่ายิ่งพรีมีทีฟเท่าไร ยิ่งถูกมองข้ามแค่ไหน สารนั้นย่อมปลอดภัยกว่า ทิ่มแทงกว่า ถ้าจะสื่อสาร

งานปีใหม่ สงกรานต์ หรือลอยกระทงที่ผู้คนสนุกสนานกัน เขาไม่แยแส สัปดาห์หนึ่งชายชราจะขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปจับจ่ายข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ครั้งหนึ่ง นอกนั้นก็หมกตัวอยู่กับบ้าน ปลูกผักปลูกหญ้าไปตามประสา

ในฤดูที่น้ำไม่เชี่ยวนัก บ่ายแก่ๆ เขามักจะออกไปพายเรือตกปลาเลาะริมฝั่ง โดยมีเจ้าโทนนั่งอยู่ไม่ห่าง

ไม่มีใครใช้เรือกันแล้ว ทั้งที่อยู่ติดแม่น้ำ การคมนาคมทางบกสะดวกสบายกว่า แต่ชายชราใช้มันจนชิน เขาเป็นลูกแม่น้ำโดยกำเนิด แม้ไม่ใช่แม่น้ำสายนี้ ทักษะฝีพายและความสามารถในการว่ายน้ำพอๆ กับปลา

ไม่มีใครเกลียดเขา แต่ก็ไม่มีใครรักเขา เพราะว่าไม่รู้จักพอที่จะรักหรือเกลียด อาจจะมองด้วยสายตาแปลกๆ บ้าง แต่ก็ไม่ถือสา คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์มากเกินกว่าจะมาสนใจตัวคนเป็นๆ หรือที่มองเห็นจับต้องได้จริงๆ

เมษาได้ที่อยู่ชายชรามาจากสำนักข่าว FRANCE 24 แม่ของเขาปรินต์ไฟล์ข่าวชิ้นนี้เก็บไว้ตั้งแต่เขายังอ่านหนังสือไม่ออก เป็นที่อยู่ที่ระบุเพียงชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดหนองคาย เมษาใช้ความพยายามตามหาตัวนักข่าวผู้เขียนรายงานพิเศษชิ้นนั้นเจอ แล้วชักแม่น้ำทั้งห้าว่าชายชราสำคัญอย่างไรกับชีวิต เทียวไล้เทียวขื่ออธิบายอยู่หลายครั้ง ในที่สุดนักข่าวชาวฝรั่งเศสผู้นั้นก็ใจอ่อน

เธอมอบภาพภาพหนึ่งให้ไว้เป็นที่ระลึก ก่อนจะบินกลับมาตุภูมิอย่างถาวร

นั่นเป็นครั้งแรกที่เมษาได้เห็นภาพ “ชายชุดดำ” ขณะเปิดเผยใบหน้าและรอยยิ้มอ่อนโยน

“เชี่ยวแก่กว่าฉัน 5 ปี เราเจอกันหลังเหตุการณ์ไม่กี่วัน ฉันขอสัมภาษณ์เขาไปเขียนวิเคราะห์การต่อสู้ของประชาชน ไม่นานถัดจากนั้นเขาก็หายตัวไป หากเธอตามตัวเขาเจอ ฝากบอกด้วยว่าฉัน เอ่อ… เฮเลนคิดถึง”

เมษามองภาพถ่ายในมือและเปรียบเทียบกับชายชราที่นั่งอยู่ตรงหน้า เขาเปลี่ยนไปมากทีเดียว เนื้อตัวผอมลง ผอม แต่ยังดูกระฉับกระเฉง ผมสั้นเกรียนนั้นขาวโพลน ดวงตาสีสนิมเหล็กมองไม่ออกว่าดุหรือเยือกเย็น มันปนๆ กันอยู่ในที เขาไม่ใช่คนยิ้มง่าย แต่ก็ไม่มีบุคลิกก้าวร้าวหรือเจ้ายศเจ้าอย่าง นอกจากริ้วรอยยับย่น เมษาสังเกตเห็นแผลเป็นหลายแห่งบริเวณใบหน้าและท่อนแขน

บุหรี่ใบจากหมดไปหลายมวนแล้ว เขายังนิ่ง ไม่เอื้อนเอ่ยถ้อยคำใด ตะวันบ่ายคล้อยโดนต้นประดู่ยักษ์บังมิด ไอ้โทนวิ่งเห่าคางคกใต้ต้นพิกุล กึ่งกล้ากึ่งกลัว กิ่งไผ่ที่ปกคลุมบ้านไม้ชั้นเดียวนั้นโยกเสียดสีเอียดออด มนัส จรรยงค์ นักเขียนยิ่งใหญ่ชาวไทยเพชรบุรีใช้โวหารเปรียบเปรยเสียงนี้ว่าเหมือนซอพระอินทร์

“กินเหล้าก่อนสิ” ชายชราพยักหน้า บอกให้เมษาหยิบเหล้าขาวหมักเองเทใส่จอกดินเผา

“ครับ” ชายหนุ่มบรรจงรินเหล้าใส่จอกทั้งสอง มองหน้าชายชรา รอให้เขายกก่อน

“กินเลยๆ” ชายชราพ่นควันไปพลาง “หนุ่มหรือแก่ก็คนเท่ากันนี่หว่า …เออ ไพร่ด้วยกัน”

เมษาหัวเราะกับความกังวลของตนเอง และรู้สึกร้อนท้องวาบเมื่อแอลกอฮอล์พื้นบ้านไหลเข้าสู่ร่าง

“ทำไมประชาชนถึงแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าครับคุณลุง” ชายหนุ่มกดปุ่มบันทึกเสียง เริ่มทำงาน

ชายชราดีดบุหรี่ทิ้งก่อนสาดเหล้าลงคอ พิงหลังบนเก้าอี้หวาย และค่อยๆ ลำดับภาพเหตุการณ์ในอดีตที่แม้ไม่เคยปริปากเล่า แต่เขาไม่มีวันลืม

ผ้าดำผูกตาเชี่ยวแน่นหนา สองมือถูกล็อกกุญแจและตีตรวนโซ่คล้องเท้า แต่เขารู้สึกได้ ตอนที่ทหารคนหนึ่งโยนดอกไม้ธูปเทียนใส่ตัว และบอกว่าถ้าไม่สารภาพ ก็ขอให้อโหสิกรรม

“มึงก็นักเลงเหมือนกันนะไอ้เหี้ย”

ทหารหนุ่มง้างท็อปบู๊ตเตะเข้าหน้าท้อง “ว่าไง โอกาสสุดท้ายแล้วนะโว้ย จะพูดหรือไม่พูด”

เชี่ยวไม่ได้เงียบเพราะจุก จุกจริงและเจ็บจริง แต่เขาจงใจเงียบ ไม่เล่ารายละเอียด ไม่ซัดทอดเพื่อน

“งั้นก็ขึ้นรถ ไอ้สัตว์ กูบอกแล้วว่าเสธ.เขาไม่เอามึงไว้”

ทหารใช้ด้ามปืนตบหน้าเชี่ยวแรงๆ ทีหนึ่งก่อนไขกุญแจที่ข้อเท้า ลากตัวถูลู่ถูกังขึ้นรถ และขับวนลงจากตึก ความรู้สึกเขาบ่งบอกแบบนั้น มันคงเป็นเซฟเฮาส์บนตึกสูงที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ มากกว่าสิบวันที่เขาถูกจับมาขังและซ้อมอย่างทารุณ ไม่ว่าเตะ ต่อย ทุบตีด้วยของแข็ง จนฟันหน้าหักทั้งแผง เอามีดกรีด เอาไฟฟ้าชอร์ต อย่างหลังสุดนี้เชี่ยวสลบไปสองครั้ง พอจะเริ่มครั้งที่สาม เขาถามตัวเองเป็นสิบๆ ร้อยๆ ครั้งว่าทำไมต้องทน ทำอะไรมาบ้าง พูดไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราวดีกว่า แต่ใจดื้อรั้นดวงนั้นปฏิเสธ

ใช่, เพื่อไม่ให้เสียลับ เขายอมเจ็บ-เจ็บจนตายก็ให้มันตายไป

จะแปลกอะไร ในเมื่อเขาเองก็เคยฆ่าคนอื่นตาย

บ้านเอื้ออาทรในนรกอาจยังไม่มีที่ว่าง

ในระหว่างการคุมขังและถูกซ้อม มีนายทหารหนุ่มคนหนึ่งคอยหาข้าวหาโอวัลตินมาให้เขากิน และฉากสุดท้ายในรถที่กำลังอุ้มคนปากแข็งทั้งหลายไปยิงทิ้ง ระหว่างทางขึ้นภูเขาที่ไหนสักแห่ง เชี่ยวชิงจังหวะผู้คุมเผลอพุ่งตัวจากรถลงหุบข้างทาง มีเสียงปืนรัวตามมาหลายนัด แต่หุบเหวนั้นมีก้อนหินใหญ่ๆ และต้นไม้หนาแน่น เขากลิ้งลงไปหมอบอยู่ในซอกหลืบที่ไหนสักแห่ง เอามือดันผ้าผูกตาออก สิบกว่าวันที่ไม่ได้เห็นแสงสว่าง ดวงตาเขามืดพร่าไปหลายนาที กว่าจะปรับให้มองเห็นเป็นปกติ

นอนขดตัวลีบอยู่เป็นชั่วโมง เชี่ยวตัดสินใจปีนกลับขึ้นถนนอีกครั้ง อยู่ที่นี่ก็ตาย ปีนขึ้นไป-ถ้าโชคร้ายก็แค่ตาย เขาซมซานพาร่างชุ่มเลือดของตัวเองขึ้นไปตายดาบหน้า

ได้ยินเสียงรถแว่วอยู่ไกลๆ แต่เขารู้สึกไกลยิ่งกว่า กว่าจะป่ายปีนขึ้นไปถึง

พลบค่ำ ทางขึ้นเขาค่อนข้างเปลี่ยว แต่มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งก็มีใจแวะจอดสอบถาม เขาไม่มีอะไรจะเสียแล้ว จึงบอกไปทุกอย่าง โชคเข้าข้างอีกครั้ง ชายหนุ่มข้าราชการป่าไม้คนนั้นมีความคิดทางการเมืองแบบเดียวกัน เขาอาสาพาไปหลบซ่อนและให้ข้าวให้น้ำ

เมื่อร่างกายเริ่มฟื้นคืนสภาพ เชี่ยวค่อยๆ หาทางติดต่อพรรคพวกทีละคน ใช้เวลาไม่นานนัก เขาก็หนีออกนอกประเทศ ซุ่มซ่อนอยู่สองปีเพื่อรอเวลาให้การเมืองในประเทศเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ตัวละครบางตัวเปลี่ยนจริง แต่โครงสร้างโบราณแข็งแรงเหลือเกิน แข็งแรงซ้ำยังมีเครือข่ายหนาแน่น เป็นระบบระเบียบเพราะผ่านการจัดวางมานาน มีทหาร มีนักวิชาการสอพลอที่พร้อมจะเป็นมือเป็นตีนให้ นั่นยังไม่นับรวมถึงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมอันผุกร่อน

เชี่ยวย้อนเข้าประเทศอีกครั้ง ตั้งใจว่าจะมาแก้แค้น เอาให้หนัก เอาให้สาสม แต่วันเวลาริมฝั่งแม่น้ำบ่มเพาะให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด

มือ หัวใจ และประสบการณ์ระดับเขาแล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก หากปรารถนาชีวิตใคร แต่เชี่ยวเข้าใจแล้วว่ามันไม่ยั่งยืน การฆ่านั้นจบเร็วจริง แต่เริ่มใหม่ง่าย การต่อสู้ที่หวังผลยั่งยืนจึงต้องสู้ด้วยอุดมการณ์ ค่อยๆ ซึมอย่างช้าๆ ซึมด้วยเรื่องเล่า บทเพลง บทกวี วันหนึ่งเมื่อปักธงลงลึกในใจคนแล้ว ใครก็ล้างไม่ออก ตรงกันข้าม อุดมการณ์นั้นมีแต่จะถูกเผยแพร่ บอกต่อ โดยไม่ต้องลงทุนสักบาท หนังสือบางเล่มเคยบอกเขาว่าศิลป์มันกินลึก

โดยธรรมชาติ คนที่ “ตาสว่าง” แล้ว นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ มีลูก เขาต้องบอกลูก มีหลาน บอกหลาน ตาสว่างเดินทางรวดเร็วกว่าแสงสว่าง

เชี่ยวรู้-ตาสว่างอย่างเดียวไม่พอ ใจต้องสว่างด้วย

ใจสว่างคือต้องอดทนเป็น อดทนไม่เป็น รบกี่ครั้งก็พ่ายแพ้

“ถามว่าทำไมถึงแพ้น่ะหรือ” ชายชรารินเหล้าจอกใหม่ สบตาเมษา

“ก็ประชาชนไม่มีอาวุธ แต่ไปสู้กับคนมีอำนาจ มีกฎหมาย มีกองทัพ มีอาวุธ มันจะไปเหลืออะไร” เขาคว่ำจอกเทใส่ปาก

“สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ… ไม่เคยฟัง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ของวัฒน์ วรรลยางกูร รึไง”

ชายหนุ่มส่ายหน้า

“เออๆ มันผ่านมาเนิ่นนานแล้ว นานมาก คนกรุงเทพฯ เขาไม่ฟังเพลงแบบนี้ มันดิบไป รุนแรงไป”

ชายชรานึกถึงเพลง “ขอความสุขกลับคืนมา” ที่ศิลปินเป็นร้อยร่วมใจกันขับขาน ก่อนที่ลูกหลานคนชั้นกลางจะกุลีกุจอออกมาถือไม้กวาด นุ่งผ้ากันเปื้อน สวมหมวก บีบน้ำยา (และบีบน้ำตา) ทำความสะอาด ช่วยกันชะล้างย่านราชประสงค์จนใหม่เอี่ยม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ไม่มีอะไรจริงๆ รวมทั้งร่องรอยหลักฐานการฆ่า

คดีความอันควรจะครึกโครมจึงเงียบ เพราะคนชั้นกลางนอกจากจะออกใบอนุญาตฆ่าแล้วยังช่วยฉีดน้ำยาดับกลิ่นศพ ทำลายหลักฐานทุกวิถีทาง หลายคนทำลายไปด้วยความไร้เดียงสา

“สู้กับคนมีอาวุธ เราต้องมีอาวุธ แต่ต้องดูเงื่อนไขนะ การต่อสู้ของประชาชนใช้ใจอย่างเดียวไม่ได้”

แล้วชายชราก็เล่าเงื่อนไขตอนนั้นให้ฟังว่าสาเหตุที่ต้องจับอาวุธเพราะฤดูร้อนปีกลายประชาชนโดน “กองทัพระดับสูง” ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมดินแดง

เชี่ยวอยู่ตรงนั้น และรวบรวมสมัครพรรคพวกจากวันนั้น

แนวคิดประชาธิปไตยและความเจ็บในใจทำให้พวกเขาหลอมรวมเป็นหนึ่ง มีการนัดหมาย วางแผนกันเป็นระยะว่าต่อจากนี้ไปจะไม่ยอมให้ประชาชนถูกฆ่าอยู่ฝ่ายเดียว

การชุมนุมกลางเดือนมีนาคม 2553 ดำเนินไปภายใต้การเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดของเชี่ยวและเพื่อน พวกเขานึกไม่ถึงว่าประชาชนจะออกจากบ้านมามากมายขนาดนี้ มาด้วยหัวใจเด็ดเดี่ยวขนาดนี้ แน่นอนว่าปริมาณยิ่งมากก็ยิ่งมีแรงกดดันสูง เมื่อกดดันสูง ฝ่ายที่ถูกกดดันย่อมอยู่นิ่งไม่ได้ ในที่สุดสิ่งที่เชี่ยววิเคราะห์ไว้ก็เป็นจริง

ทั้งที่ไม่เคยฝันใฝ่อยากให้มันเป็นจริง

7 เมษายน รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แปลไทยเป็นไทยว่าฝ่ายการเมืองส่งมอบอำนาจให้ทหารเข้ามาจัดการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

เมื่อมีปืน เลือดประชาชนก็มีอันต้องไหลนองพื้นถนน

ศพแรกของ “สิบเมษา” เกิดขึ้นตั้งแต่บ่าย บริเวณหน้ากองทัพบก ทหารใช้กระสุนจริงยิงใส่ประชาชน

ทีวีหลายช่องรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอนการปราบจลาจลทุกอย่าง ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ไม่มีคนเจ็บ ไม่มีคนตาย ไม่มีการใช้แก๊สน้ำตา

โอเค คนมันเยอะ ม็อบมันใหญ่ เขาและเธออาจมองไม่ทั่ว เห็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น

ตกเย็น ภาพที่ทุกคนไม่เคยนึกไม่เคยฝันก็ปรากฏต่อหน้ามวลชนเรือนหมื่น กลางถนนราชดำเนิน

เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม

พวกเขาทำกับผู้คนที่คิดแตกต่างดังคล้ายว่าเป็นสัตว์ สัตว์เดรัจฉานที่จะทิ่มจะแทงอย่างไรก็ได้