เรื่องสั้น | หากมิใช่ความจริงในฝัน ก็คงเป็นฝันในความจริง (1)

หากมิใช่ความจริงในฝัน ก็คงเป็นฝันในความจริง (1)

เสียง “ประตูไม้สีน้ำตาลอ่อน” เจ้าของตัวเลข 1203 กระแทกเข้ากับวงกบดังกังวาน จะเป็นสันดานหรืออะไรก็ตามแต่ ผมชอบปิดประดูแรงๆ เสียงดังของมันช่วยตอกย้ำให้ผมได้รู้ว่าผมปิดมันจริงๆ ไม่ได้ฝัน แต่คิดดูให้ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าเสียงประตูจะดังสนั่นโสตสักเพียงใดก็ตาม ก็ใช่จะยืนยันได้ว่ามันเป็นความจริง

โอ๊ะๆ มีคนแง้มประตูออกมาด้วยแฮะ แล้วก็สมกับที่ผมเลือกใช้คำว่าแง้มเสียจริงๆ เพราะช่องว่างระหว่างประตูกับวงกบที่คนคนนั้นแทรกดวงตาหนึ่งดวงอยู่ มันแคบเสียจนลูกแมวตัวเล็กๆ ก็คงลอดเข้าไปไม่ได้ จะด้วยความเกรงใจหรือเกรงกลัวก็ตามแต่ละที่ทำให้เขาไม่กล้าสู้หน้าผม ทั้งที่ผมเป็นคนผิดแท้ๆ

ปกติแล้วไม่มีใครถือสาหาความกับผมนักหรอกเรื่องปิดประตูเสียงดังเนี่ย ถ้าหากไม่ใช่คนใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา แต่ห้องเมื่อกี๊ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าย้ายมาเมื่อไหร่ ถึงอย่างไรก็ไม่สำคัญหรอกคุณ พอผมถลึงตากลับไปแป๊บเดียว ไอ้ช่องแคบๆ ที่แง้มอยู่นั้นก็รีบปิดตัวลงอย่างแผ่วเบา ส่วนที่ผมบอกคุณไปว่า “ปกติแล้วไม่มีใครถือสาหาความกับผมนักหรอกเรื่องปิดประตู” ก็คงเป็นเพราะผมอยู่ที่นี่มานานเหลือเกิน อยู่มาก่อนใครในอพาร์ตเมนต์นี้ทั้งสิ้น เจ๊ปุ๊กที่คอยนั่งเก็บเงินค่าเช่าพลางสบถคำหยาบคายถึงคนนั้นคนนี้ไปด้วยก็ยังมาอยู่ที่นี่ทีหลังผมซะอีก นับๆ ดูนี่ก็เข้าปีที่สามสิบแล้วที่ผมอยู่ตรงนี้ สภาพที่พักก็ดูทรุดโทรมเหลือเกิน มันเก่าลงทุกทีที่ผมแหงนหน้าขึ้นไปมอง ต่างจากวันแรกที่เข้ามาอยู่ลิบลับเลยละคุณ ตอนนั้นนะ ระบบอะไรมันดูไฮเทคไปเสียหมด ผมยังจำได้ดีตอนที่ต้องสแกนลายนิ้วมือเข้าอพาร์ตเมนต์วันแรก มันตื่นเต้นเสียจนเคอะเขิน ยิ่งเวลาที่ต้องบันทึกเสียงตัวเองลงฐานข้อมูลเสียงนั่นยิ่งไปกันใหญ่เลย เสียงผมสั่นซะจนไม่รู้ว่าวันอื่นพอผมมาบันทึกเสียงใหม่ เครื่องมันจะยอมรับว่าเป็นเสียงผมหรือเปล่า

ผมขออธิบายหน่อยหนึ่งว่าทำไมผมถึงต้องบันทึกเสียงตัวเอง บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับมัน แม้ว่าระบบนี้จะใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว คือผมจะมาแหกปากด้วยประโยคเดิมที่ผมเคยพูดกรอกใส่ไอ้เครื่องนั้นไว้ก็ต่อเมื่อกุญแจห้องผมหาย หรือไม่หายก็ตามแต่ละ แล้วผมต้องการกุญแจสำรอง ปกติถ้าเป็นธรรมเนียมแบบหอพักทั่วไป ผมคงต้องมาติดต่อกับเจ๊ปุ๊กเพื่อขอยืมกุญแจ ซึ่งผมต้องพยายามหาคำอรรถาธิบายเจ๋งๆ และต้องคอยหมุนตามอารมณ์ศิลปินอันแปรปรวนของแกกว่าจะเอากุญแจสำรองมาได้ ราวกับแม่งยึดครองกล่องดวงใจผมไว้อย่างนั้น ถึงได้มีอำนาจบาตรใหญ่นัก แทนที่ผมจะมายืนอ้อนวอน ผมก็เพียงยืนตรง หันหน้าเข้าหาเครื่องจ่ายกุญแจ สายตาทั้งสองข้างจดจ้องไปที่มอนิเตอร์ ยื่นนิ้วไปที่ปุ่มสีเหลืองทางขวา กดเลขห้องของผมลงไป ตามด้วยปุ่มเอ็นเทอร์ จากนั้นเริ่มเปล่งเสียงตามประโยคที่คุณเคยพูดไว้ในตอนแรก เช่น “ไอ้เตี้ยมีเมียเจ็ดคน” คุณก็ต้องพูดตามนั้น พูดให้ถูก จะไปบอกมีเมียแปดคนเก้าคนไม่ได้ เครื่องมันจะไม่ยอมรับคุณ ง่ายนิดเดียว แค่นี้คุณก็จะได้กุญแจสำรองไปเรียบร้อย โดยไม่ต้องเป็นกระโถนรองรับอารมณ์เจ๊ปุ๊กเสียก่อน จากนั้นก็อาจจะยื่นมือช้าๆ ไปรับกุญแจ สะบัดผมข้างซ้ายสักนิดหนึ่ง แล้วยักคิ้วให้เจ๊แกด้วยก็ได้ ก่อนที่คุณจะกดลิฟต์หนีไป แต่ก็อย่างว่าละคุณ คนอย่างผมมันพวกแอนตี้เทคโนโลยี ในขณะที่ใครๆ ต่างชื่นชมกับระบบนี้นัก ผมว่ามันก็ดีอยู่หรอก ถ้าวันดีคืนดีคุณไม่เสือกลืมประโยคเฮงซวยที่คุณดันไปอัดไว้ตอนเมาบ้าง หรือประหม่าจนเสียงสั่นบ้าง หรือเชื้อไวรัสลงคอบ้าง อะไรอย่างนี้ แต่ยังไงก็ยังดีกว่าไปเบิกกับเจ๊ปุ๊กละนะ ผมยอมรับ

อุ้ย! ขอโทษนะครับคุณ นี่ผมพล่ามมาไกลขนาดนี้เชียวหรือ ที่จริงผมเพียงแค่จะบอกคุณว่า สาเหตุที่ใครๆ ไม่กล้าต่อว่าผมนัก ก็เพราะผมอยู่ที่นี่มานานก่อนใคร อายุอานามก็ไม่ใช่น้อยๆ แล้ว “ระบบอาวุโส” นั่นไงคุณ ที่คอยเป็นเกราะคุ้มครองผมไว้ และทำให้ผมได้ใจขึ้นทุกที สังเกตดูนะ บ้านเมืองเรานี้แม้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่ก็เปลี่ยนไปแต่ในทางรูปธรรม ส่วนในเชิงนามธรรมนั้นผมว่าไม่ใคร่จะเปลี่ยนนัก อย่างเช่นระบบอาวุโสที่ผมเพิ่งพูดไปไงล่ะ มันยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และพยายามรั้งมันไว้โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์อะไรบ้าง อืม… แต่ผมรู้นะว่ามันมีประโยชน์อะไร อย่างน้อยๆ ก็กับผมคนหนึ่งละ… หรืออย่างเรื่องอื่น เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความใคร่ ความอะไรอีกสารพัดอย่างนั้น ผมก็เห็นมันอยู่คู่โลกมาตั้งแต่ผมจำความได้แล้ว เดี๋ยวๆ ผมนึกออกแล้วว่ามีสิ่งของแบบเป็นรูปธรรมอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดูท่าว่ามันยังคงอยู่คู่กับใครต่อใคร ท้าทายกาลเวลามาเนิ่นนานเหลือเกิน

“ประตู”

ประตูยังไงล่ะคุณ ประตูไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเปิด-ปิดด้วยลูกบิด ประตูแบบที่ทำให้ผมสามารถกระแทกกระทั้นสนองอารมณ์ของผมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ใช่แล้ว…

ห้องเรียน 1203 วิชา “สถานการณ์โลกปัจจุบัน” อาคารเรียนรวม 9 มหาวิทยาลัยงองู กรุงเทพมหานคร วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2599 เวลา 09:29 น.

ศ.ดร.วิทย์ มหาไวทยาการ และนักศึกษาชาย 6 คน นักศึกษาหญิงอีก 14 คน อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียสจากเครื่องปรับอากาศ ทุกสิ่งทุกอย่างคงเงียบงัน ถ้าหากไม่มีเสียงถกเถียงจากมนุษย์ 21 คนนี้ อากาศกำลังเย็นสบาย สวนทางกับอุณหภูมิทางวิชาการที่เกิดขึ้น และต่อไปนี้คือบทสนทนาเหล่านั้น

ศ.ดร.วิทย์ : จะเห็นได้ว่าโลกเรากำลังเดินเข้าสู่สภาวะวิกฤตในหลายๆ ทาง ไม่ว่าด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แนวโน้มอันน่าสะพรึงกลัวเหล่านี้ฝังตัวอยู่และเติบโตขึ้นอย่างแนบเนียน ท่ามกลางความบันเทิงเริงรมย์ในโลกศิวิไลซ์ ประชาชนยังคงตื่นตาตื่นใจไปกับการวิวัฒน์ของเทคโนโลยีและตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้สื่อมวลชนทั่วโลกจะพากันหวั่นวิตกว่าจะเกิดสงครามใหญ่ขึ้น แต่จากประวัติศาสตร์หลายร้อยปีที่ผ่านมาได้ให้บทเรียนกับเราว่าสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นกลับสงบ สถานการณ์ที่มิได้ล่อแหลมต่อการปะทะกลับกลายเป็นสงคราม

นักศึกษาชาย 1 : ผมอยากให้ยกตัวอย่างด้วยครับ

ศ.ดร.วิทย์ : ตัวอย่างของภาวะที่ล่อแหลมแต่ไม่เป็นสงคราม เช่น สงครามเย็น ซึ่งไม่มีการเปิดศึกกันในรูปแบบของการรบกันโดยตรงระหว่างกองทัพสหรัฐกับกองทัพสหภาพโซเวียต สถานการณ์นิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี วิกฤตการณ์ในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี ในส่วนสงครามที่เกิดขึ้นนั้นกลับบังเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด หรือสามารถแสวงหาวิถีทางในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีได้ ท้ายที่สุดแล้ว เรากลับได้รับคำตอบเป็นความรุนแรง เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเปิดฉากขึ้นจากการที่อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีตัดสินใจบุกเข้าโจมตีบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา สงครามโลกครั้งที่สองเกิดจากเยอรมนีเข้ายึดโปแลนด์ และฟากเอเชีย ญี่ปุ่นเข้ายึดชาติต่างๆ ในเอเชีย สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา สงครามอิรักกับคูเวต ต่อเนื่องไปจนถึงสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามในการโค่นล้มประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิช สงครามในการล้มล้างรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน หากพิจารณาลงไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขที่บ่งชี้ความเป็นไปในสงครามอยู่ที่ความสมน้ำสมเนื้อของศักยภาพกองทัพคู่กรณี มากกว่าปมเงื่อนแห่งความขัดแย้งเสียอีก ความขัดแย้งยังบังเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่มันจะสุกงอมเป็นสงครามหรือไม่นั้น ก็ต่อเมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีกำลังกดข่มอีกฝ่ายหนึ่งต่างหาก และการต่อสู้กันของรัฐที่พอฟัดพอเหวี่ยงยิ่งเป็นกรณีตัวอย่างให้ชาวโลกได้เห็นถึงความสูญเปล่าในการเปิดศึก เอาละ พวกคุณพอจะอธิบายได้หรือไม่ว่าอะไรคือสาเหตุของสงคราม

นักศึกษาชาย 1 : วัฒนธรรม แล้วก็ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ครับ

นักศึกษาชาย 2 : ลัทธิ ศาสนา ความเชื่อครับ

นักศึกษาหญิง 1 : เศรษฐกิจค่ะ

นักศึกษาชาย 3 : พรมแดนครับ แล้วก็…เรื่องเอกราช

นักศึกษาหญิง 2 : การเมืองค่ะ

นักศึกษาหญิง 3 : แหล่งพลังงานหรือเปล่าคะ และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ

ศ.ดร.วิทย์ส่ายหน้าปฏิเสธตลอดทุกคำตอบของนักศึกษา จากนั้นจึงเริ่มเอื้อนเอ่ยบทสนทนา

“ไม่ ไม่ นั่นเป็นสาเหตุหลักของแต่ละสงคราม ผมกำลังต้องการรากเหง้าของปัญหาจริงๆ ที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในทุกๆ ที่ ทุกระดับ ไม่ว่าจะในสงครามใดทั้งสิ้น ตั้งแต่ระดับสงครามโลกไปจนถึงเด็กนักเรียนยกพวกตีกัน”

ไร้ซึ่งคำตอบใดๆ ศ.ดร.วิทย์กล่าวขึ้นมาอีกครั้ง

“พวกคุณลองพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรคือรากเหง้าที่แท้จริงอันก่อให้เกิดความขัดแย้ง แล้วความขัดแย้งนั้นบานปลายจนนำไปสู่สงคราม จริงๆ แล้วสงครามเริ่มต้นที่ใด และมันควรจะจบลงตรงไหน จบลงอย่างไร และจบลงด้วยน้ำมือใคร ใช่หรือไม่ว่าตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจสัจธรรมอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ พวกเราก็คงจำต้องก้มหน้ารับผลแห่งสงครามไปอีกนานชั่วกัปชั่วกัลป์”

เสียงนักศึกษาทั้งชั้นเงียบเชียบลง สักพักหนึ่งใบหน้าของ ศ.ดร.วิทย์ก็เริ่มอมยิ้มน้อยๆ และชี้มือข้างขวาไปที่หน้าอกด้านซ้ายของตัวเอง จากนั้นวาดมือออกมาข้างหน้าช้าๆ หมุนมือไปมา วนเป็นวงกลมรอบแล้วรอบเล่า จนกระทั่งมือข้างซ้ายเข้ามาหมุนวนผสมโรง วนรอบบ้าง กระแทกบ้าง กำมือเข้าด้วยกันบ้าง ดูแล้วยุ่งเหยิงวุ่นวายยิ่งนัก แล้วมือทั้งสองข้างก็กระเด็นออกจากกัน มือซ้ายลดต่ำลงกลับไปแนบอยู่ข้างลำตัวดังเดิม ส่วนมือขวาวนกลับมาอย่างเชื่องช้า กลับมาหยุดอยู่ที่หน้าอกด้านซ้ายของตัวเองอีกครั้ง

นาทีต่อมา ศ.ดร.วิทย์พิมพ์ข้อความจากคีย์บอร์ดในเครื่องโน้ตบุ๊กของตัวเอง เมื่อเขากดปุ่มเอ็นเทอร์ก็บังเกิดถ้อยคำหนึ่งประโยคขึ้นบนจอโปรเจ็กเตอร์สีฟ้าอ่อนหน้าชั้นเรียน ตัวอักษรขนาดใหญ่สีแดงเลือดนกปรากฏขึ้นชัดเจน เขาสั่งเลิกเรียนและเดินออกไป นักศึกษาทุกคนเก็บข้าวของ ต่างลุกขึ้นแยกย้ายไปอย่างรวดเร็ว ทิ้งไว้แต่เพียงห้องเรียนอันว่างเปล่า และจอโปรเจ็กเตอร์ที่ยังคงแสดงข้อความอยู่ว่า

“สมรภูมิที่แท้จริงอยู่ในใจ”?