8 เล่มเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ในความเห็นคณะกรรมการ

การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือที่เรียกกันติดปากว่ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 นั้น มีผลงานกวีนิพนธ์ส่งให้พิจารณาทั้งหมด 66 เล่ม และมีเพียง 8 เล่ม ถูกคัดเข้าสู่รอบสุดท้าย

จากผลงานทั้งหมด คณะกรรมการระบุว่า มีกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ ส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก คือ 28 จาก 66 เล่ม ที่ผสมผสานแบบฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์อีก 8 เล่ม ขณะที่กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์มี 30 เล่ม

ทั้งนี้ ในแง่ของเนื้อหา มีการถ่ายทอดไว้หลายมุมมอง ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่างานกวีนิพนธ์ไทยยังคงก้าวไปข้างหน้า มีการพัฒนาต่อยอดจากขนบดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย

และยังเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้คน

และนี่คือความเห็นจากคณะกรรมการต่อผลงานทั้ง 8 เล่มดังกล่าว

“การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” งานเชิงปรัชญาไร้ฉันทลักษณ์ที่ ธัชชัย ธัญญาวัลย แสดงมุมมองความคิดร่วมสมัย นำเสนอด้วยท่าทีย้อนแย้ง หยิกหยอก และเย้ยหยัน ถ่ายทอดความหมายของคำด้วยมุมมองสองขั้วที่ขัดแย้ง สะท้อนความไม่เที่ยงของนิยามแห่งคำที่สามารถตีความได้ร้อยแปด

ถือเป็นกวีนิพนธ์ที่มีลีลาล้ำสมัย ท้าทายขนบดั้งเดิมของแนวคิดทางปรัชญาทัศนะต่อความโง่ ความฉลาด นิยามแห่งกวีนิพนธ์ ไปจนถึงความสำคัญของลีลาวรรณศิลป์ ซึ่งอาจเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งที่ลวงเราไปจากแก่นของภาษาและถ้อยคำ ซึ่งควรทำหน้าที่เพียงสื่อความคิด

กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงถือเป็นน้ำเสียงแปลกใหม่แห่งวงการกวีนิพนธ์ไทย

ขณะที่ “กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน” โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม เสนอให้เห็นปัญหาอันเกิดจากมายาคติเกี่ยวกับเส้นพรมแดน ทั้งในเรื่องของรัฐชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น ไปจนถึงกาลเวลา

ซึ่งกวีได้ใช้การหมุนเวียนของเวลาเป็นเครื่องมือใคร่ครวญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างกัน

“ด้วยก้าวของเราเอง” นั้น ธมกร ได้สะท้อนอารมณ์ ความคิดและความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่

อันเป็นเรื่องที่ควรอ่านและตรึกตรอง

เพื่อการก้าว…ด้วยก้าวของเรา

กวีผู้สูญเสียการมองเห็น รินศรัทธา กาญจนวตี เขียน “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน แยกกล่าวถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่าผลงานของเธอสามารถถ่ายทอดพลังบวก ที่ส่งถึงทั้งตัวของเธอเองและผู้อ่าน

เป็นกำลังใจให้ก้าวพ้นวิกฤตต่างๆ ในชีวิต ด้วยผัสสะที่งดงาม

ในฝั่งของ “ฝันของฝูงกระต่าย” โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ เขาได้นำเสนอแง่มุมต่อเหตุการณ์ในอดีตและปรากฏการณ์ทางสังคม ด้วยสำนวนที่กระตุกให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่พบเห็นในปัจจุบัน อาทิ การค้ามนุษย์ จริยธรรม ตัวตนของมนุษย์ในโลกออนไลน์ อำนาจ การศึกษา การเมือง ธรรมชาติ ทุนนิยม ฯลฯ ด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยต่อความไม่ยี่หระของผู้คนร่วมสมัย หรือฝูงกระต่ายในรวมบทกวีเล่มนี้

“บ้าน” ที่ อังคาร จันทาทิพย์ ถ่ายทอดในผลงาน “ระหว่างทางกลับบ้าน” นั้น ถูกมองผ่านหลายแง่มุม เป็นบ้านในหลากพื้นที่ หลายมิติ อาทิ บ้านของแรงงานข้ามชาติ บ้านของผู้ลี้ภัย ฯลฯ

บ้านที่มิได้เป็นเพียงที่พักอาศัย แต่ยังหมายรวมถึงความรัก ความผูกพัน ความทรงจำที่งดงาม

ระหว่างทางกลับบ้านจึงมีประเด็นมากมายให้ได้ทบทวนตัวเองและเรียนรู้ถึงผู้อื่นในขณะเดียวกัน

พร้อมกันนั้นยังจะได้เห็นภาพความเหลื่อมซ้อนของแบบแปลนโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปฉายภาพอยู่ในแบบแปลนของบ้านแต่ละหลังที่ก่อสร้างขึ้น

สำหรับ “ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้” ชญรัตน์ ชญารัตน์ ได้บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อเรื่องราวในสังคม ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตท่ามกลางความอึดอัด ปัญหา และความทุกข์ยาก ซึ่งเกิดจากการกระทำของตัวหรือที่ถูกกระทำจากค่านิยมและมาตรฐานของสังคมหรือผู้มีอำนาจสร้างขึ้น

โดยความโดดเด่นของบทกวีเล่มนี้อยู่ที่ความสามารถของผู้เขียนซึ่งใช้ลีลาการเขียนที่เคร่งเครียดจริงจัง ตีตรงประเด็น ผสานกับจินตนาการเพริศพราย ผู้อ่านจึงอาจรู้สึกเครียด หม่นมัว ในการอ่านครั้งแรก แต่กระนั้นก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความสวยงาม

และเมื่อมีการอ่านครั้งต่อไป ความคิดและอารมณ์ก็อาจแตกต่าง โดยบางคนอาจเห็นคล้อยตาม และหลงรักบทกวีนั้นๆ แต่บางคนอาจเห็นแย้งโกรธ และไม่ชอบทัศนะของผู้เขียน

ตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย ใน “ไฮโซ…เชียล Hi! So-Cial” ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย คือการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมออนไลน์เทียบเคียงกับชีวิตจริงในสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยในอดีต -โลกในวัยเยาว์ของผู้เขียน

เช่น การขายสินค้าออนไลน์ กับการเล่นขายขนม การสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อออนไลน์ หรือการพรางตนผ่านเฟซบุ๊ก ฯลฯ โดยใช้มุมมอง และน้ำเสียงแบบหยิกแกมหยอก จนกลายเป็นบทกวีที่มีสีสัน ชวนคิด ชวนติดตาม ผ่านลีลาภาษาที่ง่ายแต่งดงาม และมองความคมคายที่ซ่อนไว้ในความเรียบง่ายนั้น

ทั้งหมดนี้คือ ว่าที่เจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 ส่วนเล่มใดจะคว้าไปครอง ต้องรอติดตาม