เรื่องสั้น | กลับตาลปัตร

ชายสูงวัยนับถึงวันนี้ คือ 75 ปี ย่างเข้าสู่วัย 76 นั่งๆ นอนๆ บนเตียงหลังนี้มาได้หนึ่งปีเต็ม เปล่า-เปล่า เขาไม่ได้เป็นอัมพาต หรือแม้แต่อัมพฤกษ์ ยังเดินเหินได้ตามปรกติ เขาลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำตามปรกติ คืนละ 2-3 ครั้ง แล้วแต่ว่าวันไหนไวน์เข้าไปสักสองสามแก้ว อาจถึง 4 ครั้ง ส่วนวันธรรมดาสัก 2 ครั้ง คือตีสองครั้งหนึ่ง และตีสี่อีกครั้งหนึ่ง

เช้ามืดพระอาทิตย์ยังไม่โผล่ขึ้นมาบนขอบฟ้า คือครั้งตีสี่นี่แหละ จึงลุกขึ้นจากที่นอน เข้าห้องน้ำบ้วนปาก ล้างหน้า แล้วผลัดเครื่องแต่งตัวจากชุดนอนเป็นชุดกางเกงขาสั้น สวมเสื้อ “ทีเชิ้ต” หยิบโน่นจับนี่ พร้อมกับกายบริหารอีกสัก 10 นาที แล้วลงจากชั้นสองมาชั้นล่าง สวมถุงเท้า รองเท้ากีฬา เปิดประตูบ้านออกเดินไปที่ถนนปากซอย ประมาณตีห้า

บางเช้าพบคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่างอายุอานามบ้างสองสามปีเดินอยู่ก่อน บางเช้ามีผู้ออกมาสมทบหลังจากนั้น

ยกมือทักทายกันแล้ว กลุ่มเดินมาถึงตรงไหน เข้าขบวนตรงนั้น แล้วก้าวเดินพร้อมไปกับกลุ่มตลอดถนนซอยทางยาว 1 กิโลเมตร 300 เมตร

“วัดจากปากทางถนน ถึงตรงนี้ 500 เมตร จากตรงนี้ถึงท้ายซอย 800 เมตร ผิดไม่เกินสองเมตร” เจ้าของบริษัททำบัญชีวัย 74 ยืนยันทุกครั้งที่บางคนลืมแล้วอยากรู้ว่า ระยะทางเดินแต่ละรอบเป็นระยะทางเท่าไหร่ บางคนถามแทบทุกครั้งที่มีนัดพบหมอเช้าวันนั้น จะได้ตอบหมอถูกว่าเดินวันหรือเช้าละกี่มากน้อย

อีกคนออกจากบ้านในหมู่บ้านเดียวกับชายสูงวัย 75 ปี ข้าราชการตำรวจบำนาญ คุยให้ฟังถึงกิจกรรมยามตื่นนอนแทบทุกเช้า “วันนี้ตื่นตีสาม แล้วเผลอหลับ ตื่นอีกทีตีสี่ครึ่ง–พอดีปวดท้องเข้าห้องน้ำ เมื่อคืนกินอะไรเข้าไปไม่รู้ ถ่ายสองครั้ง ค่อยยังชั่ว เลยออกมาสายหน่อย”

ธรรมดาของชายข้าราชการตำรวจเกษียณปีนี้ย่างเข้าวัย 77 ยังแข็งแรง เดินเหินคล่อง หูตายังใช้ได้ดี แต่ลูกชายไม่ค่อยให้ขับรถยนต์ ขับได้ตอนกลางวัน ห้ามขับกลางคืน “กลางคืนตาไม่ค่อยดี มองไม่เหมือนเมื่อสองปีก่อน ลูกชายเลยให้ขับเฉพาะกลางวัน เมื่อวานยังไปนครนายก กลับมาค่ำ เข้ากรุงเทพฯ ยังพอขับไหว”

วันนี้เช้าวันเสาร์ หกโมงครึ่ง ฟ้าสางมาสักพัก ชายวัยเข้าสู่หลัก 8 ต้นๆ อดีตนายทหาร ขี่จักรยานวนรอบถนนใหญ่มาสองรอบ จอดเทียบคณะแล้วลงมาร่วมเดินอีกสักรอบ

หากเป็นวันธรรมดา ไม่ใช่เสาร์-อาทิตย์ เขาจะออกจากหมู่บ้านตรงข้ามเดินร่วมวงตั้งแต่ตีห้า หรือก่อนนั้น อายุมากกว่าใคร พวกเราจึงพร้อมใจเรียก “ลุง” ไม่เรียกชื่อ

ชายสูงวัย 75 ปีมาอยู่หมู่บ้านนี้ หลังเกษียณจากบริษัทในตำแหน่งประธานฝ่ายพัฒนาบุคลากร ซึ่งเมื่อก่อนคือแผนกบุคคล มีหน้าที่รับสมัครพนักงาน กับอีกแผนกคือฝึกอบรม ก่อนเกษียณ สองแผนกนี้ปรับเปลี่ยนชื่อมาสองสามครั้ง บริษัทให้รวมระหว่างแผนกบุคคลและแผนกฝึกอบรมเข้าด้วยกัน เป็นฝ่ายบุคคลและฝึกอบรมบุคลากร

สุดท้ายก่อนที่เขาเกษียณสามปี เมื่อไปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลและฝึกอบรมบุคลากร เขาขอให้บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายพัฒนาบุคลากร ทำหน้าที่รับสมัครบุคคล ฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากร เพื่อให้การรับสมัครบุคคลมีคุณภาพ เป็นไปตามคุณสมบัติของงานที่รับสมัคร

รับสมัครเข้ามาแล้วต้องทดลองงาน เมื่อรับสมัครและทดลองงานได้จำนวนหนึ่ง จะจัดปฐมนิเทศครั้งหนึ่ง จากนั้น พนักงานต้องได้รับการพัฒนาเพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่รับผิดชอบมากกว่าเดิม หรือสับเปลี่ยนไปอีกหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นธรรมดาต้องเรียนรู้งาน ต้องศึกษางานและพัฒนาตนเองในระดับที่บริษัทต้องการ

หมู่บ้านของบริษัทนี้ ตั้งชื่อเป็นดอกไม้ มีหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ก่อนเกษียณ เขากับภริยาคิดกันว่า ลูกสองคนเติบโตเรียนมหาวิทยาลัยใกล้จบรับปริญญาคนหนึ่ง อีกคนเพิ่งเข้าเรียนปีหนึ่ง เห็นทีต้องขยับขยายบ้านให้มีอาณาบริเวณมากขึ้น

เดิมทั้งครอบครัวอาศัยบ้านตึกแถวที่พ่อตา คือบิดาของภรรยายกให้เนื่องจากเลิกกิจการแล้วและย้ายไปอยู่ที่อื่น เขาไม่ค่อยชอบอยู่บ้านตึกแถว ต้องเดินขึ้นเดินลงวันละสามชั้น อย่างน้อย 2 เที่ยว เช้าเย็น หรือมากกว่านั้น เมื่อเด็กถึงวัยรุ่นเคยอยู่มาก่อน แต่ภรรยาดูเหมือนติดที่ติดบ้าน ทั้งเป็นลูกคนจีนเห็นว่าการมีตึกแถวย่านการค้าน่าจะสร้างรายได้ในอนาคต

แต่เมื่อรับฟังเหตุผล ประกอบกับลูกโตขึ้น ควรมีห้องหับเป็นที่เป็นทางของตัวเอง จึงเริ่มตระเวนหาซื้อบ้านผ่อนส่งสักหลัง ในที่สุดมาได้ย่านนี้ เป็นหมู่บ้านสร้างใหม่ ราคาไม่สูงเกินไป ขนาดเล็กมีประมาณห้าหกสิบหลัง ที่สำคัญ อยู่ไม่ไกลจากถนนใหญ่ และใกล้ศูนย์การค้าสองสามแห่ง ส่วนตึกแถว ภรรยาจัดหาผู้เช่ามาเป็นรายได้แบ่งเบาภาระบ้านหลังใหม่

ทำสัญญาซื้อแล้ว อีกปีเศษจึงสร้างเสร็จ เข้ามาอยู่ได้ ถึงวันนี้กว่า 10 ปีไปสักสองสามปี

เพื่อนบ้านใกล้กันมีหน้าที่การงานทั้งข้าราชการ ทั้งนักธุรกิจ และอาชีพหลากหลาย เข้ามาอยู่แล้วจึงพบว่า พื้นที่ถนนรอบหมู่บ้าน และถนนหน้าหมู่บ้าน เหมาะกับการออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ ทั้งยามเช้าและยามค่ำ

ที่สำคัญ ชายวัย 75 มีโอกาสได้ออกกำลังกายมากกว่าอยู่ที่เดิม ประกอบกับเมื่อออกเดินสักไม่นาน มีเพื่อนเดินเพื่อนคุยรวมแล้วเกือบ 10 คน

เพื่อนออกกำลังกายรุ่นนี้ บางคนว่าเป็นเพื่อนรุ่นสุดท้าย คงไม่มีเพื่อนรุ่นอื่นอีก นอกจากเพื่อนบ้านและเพื่อนเดิน ส่วนเพื่อนเก่า เช่น เพื่อนนักเรียนมัธยม เพื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อนที่ทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนเพิ่งรู้จักกันในโครงการอบรม เป็นเพื่อนที่ไม่ค่อยได้พบกันสักกี่มากน้อย

เพื่อนชุดนี้ อย่างน้อยพบกันแทบทุกเช้า บางครั้งพบกันเมื่อลูกหลานใครบวช แต่งงาน หรือญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต (อายุปูนนี้แล้วญาติผู้ใหญ่ คือพ่อ-แม่ หรือพี่ชาย พี่สาว)

นอกจากบำนาญที่เพื่อนบางคนได้รับจากการรับราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ บางคนยังไปทำงานให้กับบริษัทที่ต้องใช้วิชาชีพ เช่น ตรวจบัญชี เป็นต้น

บางคนหารายได้พิเศษ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ด้วยการเก็บขวดน้ำพลาสติก เก็บกระป๋องเบียร์ และเครื่องดื่ม เศษเหล็ก เศษโลหะ ซึ่งถูกทิ้งข้างถนนในซอยไว้ขายให้ร้านรับซื้อของเก่า มีรายได้เดือนหนึ่งน่าจะพอค่าอะไรพิเศษของตัวเองพอสมควร

คนนี้เก็บทั้งขวดพลาสติก ขวดแก้วเบียร์ กระป๋องเบียร์ กระป๋องเครื่องดื่ม รวมถึงกระดาษทั้งกล่องและกระดาษอื่น เป็นล่ำเป็นสัน มีรายได้เดือนหนึ่งนับพันบาททีเดียว

เดินกันไปคุยกันไป วิจารณ์นักการเมือง วิจารณ์รายการโทรทัศน์ ติดตามข่าวทั้งจากโทรทัศน์เมื่อคืน หนังสือพิมพ์เมื่อเช้ามาวิจารณ์หนักเบาพอหอมปากหอมคอ ก่อนแยกย้ายกลับเข้าบ้านปฏิบัติภารกิจประจำวัน 7 โมงตรง บางวันช้ากว่านั้น หากคุยถูกเรื่อง วิจารณ์ถูกคน

ทุกเช้า ก่อน 7 โมง มีพนักงานขายสินค้าในห้างใกล้ๆ ท้ายซอยติดถนนอีกฟากหนึ่ง เป็นผู้หญิงวัยรุ่นสองสามคนเดินเข้าซอยทะลุไปห้างทุกวัน แรกๆ ยังไม่ค่อยมองหน้ากัน ต่อเมื่อผู้เฒ่าบางคนชอบทักทายด้วยเสียงในฟิล์ม เว้าลาวบ้าง อีสานบ้าง แล้วเธอคนหนึ่งยิ้มตอบ ไม่พูดไม่จา เดินไปข้างหน้าเป็นปกติ

วันหนึ่ง หลานลุงบวช แจกซองแล้วพูดคุยถึงค่าใช้จ่ายการบวช ว่าทุกวันนี้ไม่ต้องยุ่งยาก ใช้เงินอย่างเดียว เครื่องอัฐบริขาร ทางวัดจัดให้เสร็จ ตามราคากำหนด ทั้งพระอุปปัชฌาย์ พระคู่สวด พระอันดับ อาหารเลี้ยงพระ เลี้ยงแขก จ้างโต๊ะจีน จะกี่โต๊ะ แขกกี่คนว่ากันตามนั้น

ค่าเครื่องอัฐบริขารเป็นไปตามกำหนด ค่าพระเมื่อก่อนตามศรัทธา แต่เดี๋ยวนี้มีกำหนดอัตราไว้เสร็จ ถึงไม่สูงนัก แต่ต้องเตรียมเงินไว้ให้พอ ไม่รู้ว่าญาติโยมเพื่อนฝูงใส่ซองพอกันไหม ไม่เป็นไร เมื่อตั้งใจให้หลานบวชต้องเตรียมตัวไว้ล่างหน้า ดีที่มีเจ้าภาพจัดเงินโปรยทานให้แล้ว

“อีกสองสามวันจะสึกแล้ว เร็วนะ” เพื่อนในซอยเดียวกับลุงปรารภ เป็นอีกหัวข้อสนทนาหนึ่งเช้านั้น

ถึงวันสึก รุ่งขึ้น ลุงมาร่วมเดิน บทสนทนาเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายการลาสิกขา หรือสึกพระ ทุกวันนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่านั้นเท่านี้ ตายตัว ลุงเล่าแจ้งแถลงไข

“พระที่สึกให้ต้องทำบุญใส่ซองเป็นเงินเท่านั้น พระอันดับที่นั่งให้ครบองค์ รูปละเท่านี้ เจ้าหน้าที่อีก 2 คน” ลุงบอกถึงค่าใช้จ่ายการสึกพระ “เมื่อก่อนไม่เห็นว่าต้องเสียเท่านั้นเท่านี้ นอกจากทำบุญเอง เท่าไหร่ท่านไม่ได้กำหนด เดี๋ยวนี้ทำอะไรเป็นเงินเป็นทองมีอัตรากำหนดไว้หมด”

“ไหนเห็นสมเด็จพระสังฆราชท่านบอกไม่ให้พระรับเงินไง” อีกคนแสดงความเห็น

“คงเป็นเรื่องของทางวัดกำหนดไว้น่ะ ไม่งั้นวัดจะมีเงินใช้จ่ายเหรอ” อีกคนออกความเห็นพร้อมกับแจงว่า “ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เดือนหนึ่งหลายตังค์ แล้วยังค่ารถ ค่าเดินทางอีกล่ะ”

“เฮ้อ เป็นพุทธพาณิชย์กันไปหมด” ใครคนหนึ่งปรารภ ระหว่างวิจารณ์ถึงเรื่องการทำบุญเหมือนได้บาป พอดีกับหนูผู้หญิงคนนั้นเดินสวนเข้ามาจากปากซอย เมื่อถึงกลุ่มผู้สูงวัย เธอส่งกระป๋องเบียร์เปล่าที่ถือติดมือมาสองกระป๋อง

“เห็นทิ้งไว้ตรงนั้น” ยื่นให้ลุงแล้วยิ้มเดินตรงไปทางห้าง

ลุงรับกระป๋องเบียร์ทั้งสองกระป๋องมาไว้ในมือ มองดูแล้วเปรยขึ้นว่า

“เออ ดีเหมือนกัน นินทาพระ นินทาวัด เหมือนทำบาป”

“แต่หนูคนนี้กลับทำบุญทำทานให้เรา”