เรื่องสั้น | ในวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 °C

เป็นครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ที่มาก้มๆ เงยๆ ตรงอ่างล้างมือ น้ำจากก๊อกถูกวักราดต้นคอแล้วใช้หลังมือรองเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายแบบคร่าวๆ ต่อจากนั้นหยิบปรอท (Thermometer) จากกระเป๋าเสื้อออกมาดูเพื่อยืนยันว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ความพยายามที่จะปฏิบัติตามคำสั่งหมอทำท่าจะล้มเหลว ไร้สาระสิ้นดี วิธีรักษาแบบไม่มีในตำรา เผด็จการทางความคิด ไม่รับฟังคำอธิบายจากคนไข้ซึ่งรู้รายละเอียดการดำเนินโรคได้ดีกว่าหมอ หมอไม่ใช่เจ้าของไข้ คนไข้ต่างหากเป็นเจ้าของไข้ หมอต้องเชื่อฟัง แล้วก็เจ้า “ทฤษฎีจตุรธาตุ” หมอไปเอามาจากไหน ไม่อยากเชื่อว่าหมอกำลังคิดทำการปฏิวัติวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ทฤษฎีของหมอเทียบเคียงกับ “ทฤษฎีหมอแมะ” คงพอได้ นี่หมอจับมาพันกันจนยุ่ง แยกแยะไม่ออกระหว่างจตุรธาตุกับหมอแมะ

 

“ร่างกายคนเราประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ” หมออธิบาย “ธาตุทั้ง 4 ควรมีความสมดุล ในแต่ละธาตุแม้เป็นเอกเทศตามรูปคำแต่ย่อมเกิดผลข้างเคียงตามพลความเหนี่ยวนำคล้ายปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ หากเราไม่สามารถควบคุมให้มันอยู่ในสถานะเป็นกลางได้มันก็จะระเบิดออกมาอย่างรุนแรง”

“เหมือนจะง่ายนะครับหมอ สั่งให้ทำอะไรก็ทำแล้วทุกอย่าง อาการไม่ทุเลา มีวิธีอื่นอีกไหม”

“งดดูโทรทัศน์ งดเล่นเฟซบุ๊กหนึ่งอาทิตย์ ชีวิตจะดีขึ้น” หมอคิดว่านี่น่าจะเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการรักษาคนไข้รายนี้ วิธีดั้งเดิมที่หมอเคยใช้คือให้ยาคลายเครียด…

“อาการเป็นยังไง”

“อารมณ์ร้อนฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย อยากหาเรื่องครับหมอ”

“โรคสามัญประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ ความคิดฟุ้งซ่าน ไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องเดิมๆ ไปรับยาตรงนั้น”

เป็นเคส (case) ไม่ซับซ้อน พบได้ง่ายในคนทั่วไป กินยาแล้วก็หาย หมอคิดอย่างนี้

ยาเม็ดสีขาวที่พยาบาลจัดให้คงกินไม่ยาก เม็ดเล็กสำหรับคนกลัวการกินยา

“เว้นระยะสี่ชั่วโมงกินที วิธีใช้ดูที่ซอง, 170 บาทค่ะ”

ไม่เข้าใจจริงๆ ความเร่าร้อนของอารมณ์หงุดหงิดง่าย พานทำลายทุกอย่างที่ขวางหูขวางตา แม้แต่คน หมอบอกว่าโรคนี้รักษาหายขาดไม่ได้ ทำได้เพียงป้องกัน

“ดีขึ้นไหม” หมอถามเมื่อเห็นคนไข้หน้าเดิมเข้ามา คนไข้นิ่ง

“เล่าให้หมอฟังหน่อย”

“กินยาแล้วดีขึ้น ประเดี๋ยวก็เป็นอีก ผมจะกินยาเพิ่มได้เปล่า สี่ชั่วโมงนานไป”

“อันตรายนะ อย่าเที่ยวไปหามากินเอง ยาที่ให้ไปหมดหรือยัง”

“ใกล้แล้วครับ”

“หมอจัดเพิ่มให้ ไปรอรับยาตรงนั้น อ้อ…อย่ากินยาเกินขนาด”

คำสั่งของหมอฟังเหมือนคำขู่ อันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าตายแบบไม่ต้องดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดก็ดี คนไม่ได้กลัวความตาย ที่กลัวคือความเจ็บปวดทรมาน ห่วงอาลัย จินตนาการล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จินตนาการเป็นคุ้งเป็นแคว หลอนตัวเองทุกวัน คนไข้รายนี้ก็เช่นกัน วาดฝันว่าชีวิตมีแต่ความสุขความพึงพอใจ คนทุกคนจิตประเสริฐเลิศเลอ ไม่เห็นแก่ตัว ต่างคนต่างช่วยเหลือกัน จริงใจต่อกัน ความสันติยุติธรรมมีอยู่จริง เมื่อได้ยินคำว่า “ธรรมาภิบาล” รู้สึกซาบซึ้ง อารมณ์ร้อนร้ายก็ผ่อนคลายลงไปได้เยอะ

หมอบอกว่าโรคนี้รักษาไม่หายขาด แปลว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ไปจนตาย ทนทุกข์ทรมานอยู่กับมัน เป็นความสิ้นหวังทั้งเป็น ยอมแพ้อย่างราบคาบ ไม่ต้องรอใครมาโพสต์ให้กำลังใจ สู้ๆ นะ เพราะข้อความปลอบประโลมก็แค่พฤติกรรมเลียนแบบ แฟชั่น หาความจริงใจไม่ได้

“ทำได้เพียงป้องกัน” ถ้าป้องกันได้ก็เท่ากับว่าควบคุมมันไว้ แค่นี้ดีถมไปแล้ว…

“เป็นยังไงบ้าง ดีขึ้นแล้วใช่ไหม สีหน้าแววตาสดใสกว่าก่อน” หมอถามอย่างอารมณ์ดีเพราะหมอเห็นอย่างที่พูด ภูมิใจที่มาถูกทาง

“เอ่อ…หมอครับ วิธีป้องกันต้องใช้เงินเยอะไหม” ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ารักษาหาหมอ ทำงานกันทั้งชีวิต เก็บเงินทั้งชีวิต หาหมอครั้งเดียวหมดเนื้อหมดตัว ไม่ต้องอาย ถามไว้ก่อนปลอดภัย

“ไม่ถึงร้อย” หมอพูดหน้าเฉยเมย “ดีกว่านี้ก็สองสามร้อย เอาไง” แล้วบอกให้ออกไปรับ “วิธีป้องกัน” ที่พยาบาล “ป้องกันได้ผลดีกว่าเหรอครับหมอ” “สรรพคุณเหมือนกันเป๊ะ เอาไง” “เอาที่ไม่ถึงร้อยครับหมอ”

เมื่อมารับ “วิธีป้องกัน” คิดว่ามันเป็นยาชนิดหนึ่ง พยาบาลบอกราคา 70

“ของผมเหรอครับ” ถามเพราะไม่แน่ใจ

“ใช่ค่ะ” พยาบาลยืนยัน

“แล้วกินยังไง”

พยาบาลยิ้ม… “อม หรือเหน็บรักแร้ เอาแบบสะดวกก็ใส่กระเป๋าเสื้อแบบมีกระดุม จะได้ไม่หล่นแตก”…

“คุณหมอคะ ห้าโมงเย็น ผอ.นัดประชุมค่ะ”

“แก่ประชุมจัง” หมอทบทวนตัวเองหลายหน ตั้งแต่จบมาอยู่ที่นี่ หลายอย่างไม่เหมือนนิยายแฟนตาซีหรืออุดมการณ์วัยเยาว์ซึ่งล้วนแล้วด้วยภาพสวยงาม เดินวนเวียนอยู่ในพื้นที่ไม่กี่ตารางวา จำเจกับภาพหดหู่ เสียงบ่นของญาติคนไข้ เสียงปล่อยโฮแบบไม่เกรงใจเตียงข้างๆ ยืนสงบนิ่ง ปล่อยวางอย่างคนเข้าใจสามัญลักษณะ ฯลฯ ค่ำนี้พวกบ้านนัดไว้ว่ามีธุระ ชวนไปเป็นเพื่อน จะแก้ปัญหาอย่างไร พวกบ้านเป็นพยาบาลอยู่อีกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลกันมากนัก

“โหล…โทร.มาถามว่า ผมไม่ไปได้ไหม ติดประชุม”

หลังจากกดปิด หมอ-ยกมือขยี้ๆ หู ทั้งร้อนทั้งคัน อดทนฟังเสียงสวดชยันโตจากพวกบ้านด้วยอาการดุษณี แม้ว่าไม่ต่างอะไรเลยกับการอดทนนั่งฟังเสียงรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย โดยไม่หยุดพักระหว่างสถานี อยู่โรงพยาบาลก็เป็นเครื่องจักร อยู่บ้านก็เป็นหุ่นยนต์ โปรแกรมงานถูกวางไว้ถี่ยิบต่อเนื่องทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล

“คุณหมอคะ สี่โมงเย็นประชุมด่วนค่ะ”

“อ้าว…แล้วห้าโมงเย็นที่นัดไว้” หมอไม่แน่ใจว่าใช่เรื่องเดียวกันไหม “เลื่อนเวลาเหรอ” ความจริงหมอมีแผนวางไว้ในใจ ประชุมห้าโมงเย็น พวกบ้านนัดค่ำ โอกาสจะทำตามพวกบ้านขอก็ยังพอเห็นทาง อาชีพหมอหรือพยาบาลต้องมีความอดทนอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะพยาบาล หากอดทนได้แต่อดกลั้นไม่ได้ นางฟ้าในชุดขาวก็อาจทำให้โลกแตกได้ หมอเองเคยเห็นมากับตา

“สี่โมงเย็นประชุมผ่าตัดใหญ่ค่ะ”

แผนในใจหายวับ ผ่าตัดใหญ่เป็นมหากาพย์ ต้องระดมแพทย์เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาทำงานร่วมกัน ซึ่งต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง บางเคส (case) ถึง 12 ชั่วโมง

หันกลับไปอ่านฟิล์มต่อ ภาพจากการเอ็กซเรย์แสดงค่าอย่างหนึ่ง แผนกวิเคราะห์ชิ้นเนื้อรายงานผลมาอีกอย่างหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คนไข้เถียงว่าตนไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอย่างใด ก็แค่ปวดหัวตัวร้อนธรรมดา

แสงไฟหน้าจอโทรศัพท์สว่าง เสียงเครื่องสั่นครืดๆ หมอเอื้อมมือหยิบมันขึ้นมา

“เค้าบอกให้รถโรงเรียนพาลูกไปส่งที่โรงพยาบาล ตัวเองลงมารับไปไว้ที่ห้องด้วยนะ เค้าคงกลับดึก”

หมอนึกถึงสภาพที่ลูกต้องมาหลับคุดคู้ในห้องใดห้องหนึ่งเท่าที่พอจะหาได้ เด็กอนุบาล 2 จะต้องมานอนผิดที่ผิดกลิ่น แม้จะมีพี่พยาบาลเอ็นดูช่วยเหลือก็สู้ที่บ้านไม่ได้ ทั้งกว่าจะเสร็จภารกิจ ไม่ใช่แค่ดึก สว่างคาตาโน่นแหละ…

เส้นสีแดงขนาดเส้นด้ายอยู่ต่ำกว่า 40 ถือว่าเกณฑ์ปลอดภัย รู้สึกสบายอกสบายใจ จะว่าไปแล้วเครื่องป้องกันก็มีประโยชน์ไม่น้อย เป็นเพื่อนคู่คิดที่ซื่อสัตย์ คอยเตือนสติไม่ให้ทำความผิดพลั้งเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ สำหรับยาคลายเครียดเคยลองหยุดกินทีไร จิตใจรู้สึกแห้งโหย มันช่วยให้หลับง่าย หลับได้นาน เวลานอนไม่หลับทีไร ภาพและเสียงจากโทรทัศน์มักกวนใจ จูงให้คล้อยตามและไม่อยากคิดตาม รู้สึกว่ามนุษย์เดี๋ยวนี้วิปลาสกันไปหมด คิดจะหลอกลวงเขา พอถูกเขาหลอกเสียก่อนก็มาฟ้องชาวบ้าน วานตำรวจช่วย วิ่งเต้นหาเงินมาลงทุนธุรกิจกำไรมหาศาล ลงเงินนิดหน่อยกำไรเดือนละเป็นล้านๆ ครั้นไม่เป็นดังโฆษณาก็รวมตัวกันมาเรียกร้องให้รัฐช่วยเยียวยาขอเงินคืน เวลารวยก็งุบงิบรวยกันเงียบๆ รังเกียจตำรวจ ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่แบ่งเงินเข้ารัฐด้วยซ้ำ

เวลานอนไม่หลับทีไรก็ต้องลุกขึ้นมาเล่นเฟซอันคลาคล่ำด้วยรูปเงาของฝูงคนออกมาระบายแรงอัดทับอารมณ์ ถาโถมเข้าหากันด้วยวาทกรรมกร่อนเกียรติ สาดซัดกันด้วยภาษาเปลือยเปล่า เล่นเล่ห์อักษรซ่อนความ แปลได้ก็แปลไป อาจตีความผิดกันเอง แถมด้วยความวิบัติบิดเบี้ยวของภาษาไทย

ภาพกับข้าวคาว-หวาน สีสันแล้วแต่ใครมอง สวัสดีวันจันทร์ยันวันอาทิตย์ ร้องหายอดไลก์ทั้งที่ไม่เคยไลก์ให้ใคร สะสมเพื่อนไม่เลือก เพียงให้มีจำนวนแตะ 5,000 เรื่องอะไรต่อมิอะไร จับโยนใส่หน้าบ้านเพื่อนจนรก

ตาหลับ สมองไม่หลับ พลิกซ้ายที ขวาที ในที่สุดก็ลุกขึ้นมาเปิดโทรทัศน์หรือไม่ก็ออนเฟซ ต่อให้ดึกดื่นแค่ไหนเจ้าตัวสื่อสาธารณะทั้งสองยังส่งสารขยะไม่เคยหยุด โฆษณาติดตามแบบไปไหนไปด้วย ตอดเล็กตอดน้อยก็เอา ช่วงเวลาดูโทรทัศน์กับออนเฟซ อุณหภูมิอารมณ์จะขึ้นสูง ดังนั้น อะไรก็ได้ทำให้หลับลึกและนาน อุณหภูมิก็เป็นปกติ เวลานี้ยาคลายเครียดช่วยได้ดี กินได้อีกวันเดียว…

“ตกลงลุงเป็นมะเร็งหรือเปล่าครับหมอ” คนไข้รายนี้กลับมาฟังผลการตรวจเป็นครั้งที่ 3 หมอมองหน้าคนไข้ ไม่พูดอะไร

“ไม่จริงนะครับหมอ ผมแค่ปวดหัวตัวร้อนธรรมดา ผมได้ยาสมุนไพรของหมอดัง เพื่อนเอามาฝาก แต่เดี๋ยวนี้ไปเอง เขาห้ามฝากกันแล้ว ผมไปหลายหน กินอยู่นี่แหละ”

“คุณหมอคะ คนไข้เตียง 22 ชัก หัวใจหยุดเต้นค่ะ” พยาบาลเข้ามาบอกด้วยท่าทางตื่นเต้นเหมือนไม่เคยเจอมาก่อน

“ใครทำ CPR (การปั๊มหัวใจ) หรือยัง” ผลุนผลันออกจากห้องโดยไม่รอคำตอบ ตรงไปที่เตียง 22 บอกให้ญาติคนไข้ถอยออกไป คนไข้เตียงถัดไปพยายามผงกหัวสังเกตการณ์ อุณหภูมิในห้องสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แอร์ทำงานหนักจนเครื่องตัด พยาบาลคนหนึ่งหันไปทางเคาน์เตอร์และชี้ไปที่ตัวเครื่อง ครู่หนึ่งความเย็นจึงกลับมาเป็นปกติ ตัวเลขแสดงค่าความเย็นที่หน้าปัดรีโมตอยู่ที่ 20 คนไข้หายใจได้ด้วยตัวเอง

หมอกลับเข้าห้อง ลุงนั่งจ้องฟิล์มเอ็กซเรย์ที่หมอค้างไว้กับแผงไฟ

“ใครเป็นอะไรครับหมอ” ถามอย่างกับรู้จักทุกคน

“หัวใจหยุดเต้น”

“ตายมั้ยครับ”

“ไม่…แต่ลุงกำลังจะ…เอ่อ…ลุงฟังหมอนะ โรคทุกชนิดรักษาหาย ไม่ว่ามันจะร้ายแรงแค่ไหน ถ้ารู้ตัวก่อนแล้วรีบรักษา ถ้าลุงคิดจะรักษา…”

วันนี้ทั้งวัน หมอเหมือนนักรบกลางสมรภูมิเดือดที่อีกฝ่ายพรั่งพร้อมสรรพกำลัง เมื่อวานก็หนักไม่แพ้วันนี้ พรุ่งนี้ก็คงหนักเช่นกัน และเมื่อใดที่คิดไปถึงบรรยากาศที่บ้าน หมอก็ไม่ต่างกับนักรบผู้พาเอาความบอบช้ำกลับเข้าค่าย

หมอนึกถึงลุง ดื้อรั้น อวดดี โผงผาง ไม่รู้ตัวเอง ถ้าเป็นอาจารย์ใหญ่ก็ไม่ขอฝากตัวเป็นศิษย์ หมอนึกถึงเหตุการณ์เตียง 22, ปฏิเสธไม่ได้ เตียง 23-24 หรือเตียงไหนๆ ก็เคยมี และจะมีอีก มนุษย์เฝ้าพยายามยื้อและซื้อชีวิตตัวเองให้ยืนบนโลกได้นานที่สุด ประดิษฐกรรมทางการแพทย์ถูกสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการไม่อยากตาย อยากเป็นอมตะ แต่เฉพาะคนที่มีทรัพย์สินเงินทอง ถึงที่สุดแล้วจะก้าวไปข้างหน้าหรือก้าวถอยหลัง ต่างพ่ายแพ้ความตายกันหมด

หมอนึกถึงเพื่อนร่วมอาชีพขวนขวายเรียนกฎหมายไว้ป้องกันตัวเองเวลาถูกฟ้องร้องราวกับตำรวจหาเสื้อเกราะมาใส่เวลาปฏิบัติหน้าที่

หมอเห็นนกออกบินหากิ่งไม้ใบหญ้ามาถักสานรังอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อรอการวางไข่ การป้อนอาหารให้ลูกนกที่แย่งกันอ้าปากรอ กว่าพวกมันจะออกบินไปหาอาหารด้วยตัวเองคงอีกนาน พ่อ-แม่ของพวกมันต้องเหนื่อยน่าดู

หมอคิด

“ท่านผู้ชมครับ มีข่าวด่วนรายงานเข้ามาสดๆ ร้อนๆ” เขารีบหยิบรีโมตมากดเปลี่ยนช่องไม่อยากรู้ข่าวด่วน ไม่เคยเป็นเรื่องบันเทิงใจ ภาพจากช่องนี้ รถยนต์ทหารตกลงไปหงายท้องอยู่ข้างทาง เขาเปลี่ยนไปอีกช่อง คนอ่านข่าวรายงานว่ามีชาวบ้านถูกยิง ทหารได้รับแจ้งจึงรีบเข้ามาช่วยเหลือ แล้วระเบิดที่ถูกฝังไว้ก็ทำงาน

“วิธีการเดิมๆ ครับท่านผู้ชม” รีโมตกดปิด วิธีการเดิมๆ คืออย่างไร ไม่บอกก็รู้ ที่รู้มานานแล้วนั้นยังสดๆ ร้อนๆ ทุกวัน

รู้สึกว่าหน้าอกคล้ายถูกบีบ ต้นคอร้อนผ่าว ปลดกระดุมกระเป๋าเสื้อหยิบปรอทออกมาเพ่งดูใกล้ๆ เส้นสีแดงนิ่งอยู่ที่ตัวเลข 39.5

สองมือรองน้ำจากก๊อกแล้วราดลงบนหัว ทำซ้ำๆ จนคอเสื้อเริ่มเปียกจึงเปลี่ยนท่าด้วยการมุดหัวเข้าไปใต้ก๊อก ปล่อยให้มันไหลชะโชกอย่างเมามัน หลังจากนั้นหยิบปรอทออกมาดู มันน่าจะลดลงได้อีก, เส้นสีแดงนิ่งอยู่ที่ 39.5 สะบัดปรอทตามอย่างหมอแล้วดูใหม่ เท่าเดิม มุดหัวลงไปใหม่ เสียงครอกๆ ฟอดๆ พร้อมกับตะไคร่น้ำพุ่งใส่หัว จากนั้นก็มีแต่เสียงลมพ่นฟู่ๆ

หยิบปรอทมาดู

“สี่สิบ…” อันตรายแล้ว รีบเปลี่ยนเสื้อ คิดว่าเวลานี้ต้องพบหมอด่วนๆ, หยิบปรอทจะใส่กระเป๋าเสื้อเพื่อให้แน่ใจว่ายังไม่ถึงเส้นวิกฤตจึงส่องดูอีกครั้ง มันลงมาอยู่ที่ 39.5 อีกแล้ว ยังไงก็ต้องไป…

“หมอครับ” หมอรู้สึกแปลกใจ คนไข้รายนี้ไม่เคยกล่าวทักก่อน ศึกหนักแน่ หมอควรเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม

“ปรอทน่าจะเสีย” หยิบออกมาส่องดูเกือบชิดหน้า เส้นสีแดงนิ่งอยู่ที่ 39.5 วางปรอทไว้บนโต๊ะ, หมอเอื้อมไปหยิบมาพลิกๆ เคาะๆ

เส้นสีแดงนิ่งอยู่ที่ 40 ปริ่มๆ

“ยาคลายเครียดหมดแล้วซี” หมอถาม

“เพิ่งหมดวันนี้…มีอะไรเหรอหมอ”

“ต้องรักษาระดับอุณหภูมิอย่าให้เกิน 40” หมอชูปรอทให้ดูก่อนส่งให้คนไข้

เส้นสีแดงนิ่งอยู่ที่ 39.5 จึงถามว่าหมอเห็นเท่าไหร่

“แตะที่ 40 เดี๋ยวรับยาไปกินแล้วนอนยาวๆ ตื่นขึ้นมาค่อยดูอีกที”

“ปรอทมันเสียนะหมอ เปลี่ยนอันใหม่ให้ที”

“ตามใจนะ”

เกินครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ได้ขึ้นรถเมล์ คันที่ผ่านไปก่อนหน้านี้คนแน่นมาก สองจิตสองใจขึ้นดีหรือไม่ ถ้าขึ้นไปติดหลังคนที่ยังถูกอัดอยู่ข้างหน้าแล้วจะไม่ถูกประตูหนีบเอาหรือ อย่าเสี่ยงดีกว่า แท็กซี่คันที่ 4 5 6 7…ผ่านไป มีเหตุผลอันควรเห็นใจโชเฟอร์ เสียแต่ว่าทุกคนพูดประโยคเดียวกัน ป้ายไฟ “ว่าง” ไม่ใช่หลักประกันที่จะได้กลับบ้านเร็ว ใครที่มายืนรออยู่นานแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะได้สิทธิ์ในฐานะผู้มาก่อน…

วางแบงก์ชื้นเหงื่อไว้บนโต๊ะ การเดินเป็นการออกกำลังอย่างดีที่สุด เขาว่ากันอย่างนั้น ค่าแท็กซี่ร้อยกว่าบาทไม่ต้องเสีย เดินไปก็ท่องคำขวัญให้กำลังใจตัวเองไป เงินยังอยู่ เงินยังอยู่ แท็กซี่จะอดตายก็เรื่องของแท็กซี่ เลือกมาก เรื่องมาก ครั้นมีชาวบ้านเอารถออกมารับจ้างด้วยความเต็มใจ ไปทุกที่ที่มีถนน ก็ยกพวกปิดล้อมทำร้ายคน ทุบตีรถของเขา

ระหว่างทางกลับบ้าน พยายามเบียดชิดฟุตปาธด้านในให้มากที่สุด ดูจากภาพข่าวในโทรทัศน์ไม่ชัดเท่ากับได้มาเห็นของจริง ถ้าฟุตปาธกว้างกว่านี้ รถยนต์คงปีนขึ้นมาวิ่งแข่งกับมอเตอร์ไซค์พร้อมกับเสียงแตรสั้นๆ ยาวๆ ไปตลอดทาง

ทางม้าลายไม่มีก็ได้ มันแค่เครื่องหมายทำไว้หลอกคนให้ตายใจ ช่วงไหนถนนเลนกว้างต้องระวังตัวแจ วิ่งหยุดวิ่งหยุดกว่าจะถึงอีกฝั่ง อกสั่นขวัญแขวน ข้ามทางม้าลายทีเหมือนเดินข้ามร่องน้ำตื่นๆ ที่มีจระเข้พร้อมจะโผล่มางับเวลาไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ต่างกันตรงว่า จระเข้มันไม่ส่งเสียงคำรามขู่เหมือนพวกรถยนต์

น้ำหมดไปหลายขวด ในสถานการณ์นอกบ้านเช่นนี้ ไว้ใจตัวเองยังไม่ได้ ทุกสิ่งอย่างเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างหมอว่า จึงต้องเสิร์ฟน้ำกันแบบไม่ต้องเสียดาย ราดหัวร้อนให้หายร้อน พอรู้สึกร้อนก็ราดอีก เอาปรอทออกมาดู อยู่ในสภาวะน่าพอใจ เสื้อผ้าเปียกน้ำ เดินสองสามป้ายรถเมล์ก็แห้ง นึกถึงหมอแล้วเจ็บใจ หัวร้อนขึ้นมาทันที ทำได้แค่นี้ ให้ยาคลายเครียด ให้ปรอทมาพกติดตัว เลี้ยงไข้แน่นอน

เอาปรอทออกมาดูอีกครั้ง เพราะรู้สึกหน้ามืด เจ้ากรรม มันหลุดมือหล่นลงไปในท่อน้ำทิ้ง ก้มลงไปดู มืดจนมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากกลิ่นฉุนและไอร้อนลอยขึ้นมากระทบหน้าถึงกับผงะ

มีเรื่องต้องกลับมาหาหมออีกจนได้ คิดเปลี่ยนหมอ เอาที่ใกล้บ้าน เบื่อการเริ่มต้นใหม่ หมอจะเหมือนกันทุกคนหรือเปล่า รู้ตัวดีว่าตัวเองจุกจิกจู้จี้ หมอที่ทนกับคนไข้เรื่องมากมีน้อยเต็มที ข่าวหมอชกคนไข้อาจมีอยู่ไม่น้อย…

สองวันติด หมอไม่กลับบ้าน พวกบ้านโทร.มาบอก ลูกตัวร้อน

“ตัวเป็นพยาบาลไม่รู้หรือจะต้องทำอย่างไร” ระยะหลังเรื่องจากบ้านทวีมากขึ้น ลูกคือเงื่อนไขบังคับ ข่มใจเตือนตัวเองเสมอ ลูกไม่ใช่ภาระ แต่คนมีหน้าที่ สุดแต่จะทำหน้าที่อะไร วงจรของหน้าที่หมุนไปทางเดียวเสมอ

มานั่งหน้าห้องตรวจรอหมอเรียก อยากรู้ในห้องทำอะไรกันอยู่ พยาบาลหน้าห้องยืนใจเย็น คนไข้อีกคนเป็นหญิง ประคองลูกอยู่บนตัก เขามานั่งรออยู่ก่อนตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ นั่นหมายความว่ายังต้องรออีกหนึ่งคิว ไม่เป็นไร เด็ก สตรี และคนชรา ควรยกไว้ในฐานะพิเศษ

ประตูห้องตรวจเปิด ลุงคนหนึ่งเดินออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ถือซองฟิล์มสีน้ำตาลแนบลำตัว

“ทำตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัดก็หายได้ หนูเป็นกำลังใจให้นะคะ สู้ๆ ค่ะคุณลุง” พยาบาลหน้าห้องตรวจพูดให้กำลังใจ คนไข้แม่-ลูกเข้าในห้อง ไม่แน่ชัดว่าคนไหนมาตรวจ

เวลาผ่านไปไม่ถึงห้านาที เสียงภายในห้องเริ่มดังขึ้นทีละนิด กิริยิาท่าทาง จังหวะการพูด แน่นอนได้ยินเสียงย่อมเห็นภาพ วันนี้เสียงคุ้นเคยกลับไม่คุ้นเคย ระดับความดังลดลงอย่างน่าผิดสังเกต รู้สึกได้ถึงความไม่องอาจ และเมื่อดังขึ้นอีก เริ่มจับอารมณ์ของเจ้าของเสียงได้, มองหน้าพยาบาลหน้าห้อง

นางฟ้าในชุดสีขาวส่งยิ้มให้ “ไม่มีอะไร” เธอพูดแทบกระซิบ

เสียงคล้ายของหนักตกดังอยู่ในห้องตรวจ มองหน้าพยาบาลอีก เธอยิ้ม “ไม่มีอะไรหรอกค่ะ”

“คนไข้ประจำหรือครับ”

“คนไข้ส่วนตัวค่ะ

“สนิทกับหมอหรือครับ”

“แฟนคุณหมอค่ะ”

ช่างเป็นวันโลกาวินาศ ไม่ราบรื่นเอาเสียเลย นึกตำหนิตัวเองว่ามาผิดวันผิดเวลา ประจวบเหมาะเสียนี่กระไร ถ้าเจ้าปรอทคู่ใจไม่หลุดมือตกท่อก็คงไม่ต้องมานั่งรอนานๆ และรับรู้เรื่องราวสามัญ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา, เมื่อได้รับอนุญาตให้พบหมอ

“สวัสดีครับคุณหมอ…สบายดีนะครับ” ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่ว่าเป็นใครก็รู้ว่าควรพูดอย่างไรเพื่อให้อุณหภูมิห้องลดลงด่วนๆ

“มารับยาใช่ไหม” หมอจดรายการยาลงกระดาษแผ่นเล็กๆ ไม่รอคำตอบ

“ด้วยก็ได้ครับ แต่ที่มาเพราะจะขอเครื่องป้องกันอันใหม่ครับ คุณหมอ”

“เสียอีกแล้วละซี” หมอเดาว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เปล่า

“หล่นท่อครับ คุณหมอ อยากได้ที่มันไม่ลื่น แพงอีกนิดก็ได้ครับ คุณหมอ”

“ลื่นไม่ลื่น อยู่ที่มือเราถือ หมอให้อันที่ใหญ่ขึ้น” หมอสั่งให้พยาบาลเอามาให้เลือก

หยิบวาง หยิบวาง ไม่มีอันที่ถูกใจ ในขณะที่หมอเริ่มเอือมระอา

“เอาไปอัน คนไข้อื่นรออยู่”

“อันนี้ก็ได้ ตั้งระดับไว้แล้วหรือยังครับ คุณหมอ”

“ไม่ใช่นาฬิกานี่ครับคุณ”

“สองคนก่อนหน้าผมเป็นใครหรือครับ คุณหมอ”

“เอาอันนี้นะ” หมอตัดบทแล้วหยิบมาถือไว้

“เดี๋ยว ผมขอทดสอบดูก่อน” รับจากมือหมอมาถือไว้ครู่หนึ่ง พูดเบาๆ ว่า 38 ถ้วน

“ดีแล้ว…”

“หมอแน่ใจนะ มันจะไม่หล่นท่ออีก เอ่อ…มีอันอื่นให้เลือกไหมครับ คุณหมอ”

หมอเอื้อมไปหยิบจากมือคนไข้มากำไว้ อยากทำอะไรสักอย่างสองอย่างเพื่อสั่งสอนคนไข้รายนี้…

เส้นสีแดงขนาดเส้นด้ายกำลังขยับขึ้น ขยับขึ้น…และมันสูงทะลุ 40 C…