สัมพจนัยของคำว่า “ตีนหนาหน้าบาง” เรื่องสั้นของ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’

ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารและสามารถทำให้ผู้รับสารมีความรู้สึกนึกคิด หรือจินตภาพได้ตามลักษณะที่ภาษาสื่อสารออกมา

การใช้ภาษาในงานวรรณกรรมก็มีความจำเป็นที่ผู้ใช้ต้องเลือกสรรภาษาที่กระชับ สื่อความหมายหรือใช้ภาพพจน์เพื่อสื่อสารได้ตรงตามความประสงค์ของผู้เขียนเช่นเดียวกัน

บุญยงค์ เกศเทศ (2536 : 92) กล่าวว่า

“ภาษาเป็นพาหนะสำคัญที่จะนำความคิดของผู้เขียนไปสู่ผู้อ่าน ความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เขียนจึงเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง นับตั้งแต่การเลือกเฟ้นถ้อยคำ การผูกประโยค การลำดับความหรือการทำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งประทับใจ การใช้ภาษาที่ดีควรต้องมีความชัดเจน มีอำนาจในการปลุกเร้าอารมณ์ มีความไพเราะและมีความเหมาะเจาะในเนื้อหา”

บทความนี้จะวิเคราะห์ความหมายจากการใช้สัมพจนัยเกี่ยวกับคำว่า “ตีน” และ “หน้า” ในเรื่องสั้น “ตีนหนาหน้าบาง” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ (12 กรกฎาคม 2461-29 พฤศจิกายน 2557) อดีตนักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2533 พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “แจ่มรัศมีจันทร์” โดยสำนักพิมพ์มติชน (2551)

ความหมายของสัมพจนัยและตัวอย่างที่เกี่ยวกับคำว่า “ตีน” และ “หน้า”

สัมพจนัยหรือสมพจนัย (synecdoche) คือ การกล่าวถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมดเพียงบางส่วน แต่ให้มีความหมายคลุมทุกส่วน เช่น การกล่าวถึงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อแทนทั้งหมด ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จึงขอคารวะตีน “สะอาด”

ที่ด้านดาดเดินกรำงานดำปี๋

ที่ไม่ข้ามคนล้มข่มคนดี

และตีนที่บางกว่าหน้าบางคน

บทกวีข้างต้นเป็นตอนจบ “ความเรียงเรื่องตีน” ของจินตนา ปิ่นเฉลียว ที่ทั้ง “ตีน” และ “หน้า” เป็นการใช้สัมพจนัย หมายถึงคนที่เป็นเจ้าของ “ตีน” และ “หน้า” ดังกล่าว ขณะที่กวีชื่นชมเจ้าของ “ตีน” ที่เป็นคนและถึงแม้จะมีอาชีพการงานต่ำต้อยหรือเป็นคนไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทอง แต่กลับเป็นคนดีมีศีลธรรม ต่างจากเจ้าของ “ตีน” และ “หน้า” ที่บางครั้งบางคนมีภาพลักษณ์ดูดี แต่กลับเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก (สุรเดช โชติอุดมพันธ์, 2560 : 41-42)

เคยเฝ้าเย็นเช้าเปรมปรีดิ์

เป็นนิจฤๅมี

จะเคยทุเรศบาทา

บทกวีข้างต้น คำว่า “บาทา” ที่ปรากฏในเรื่อง “กุมารคำฉันท์” พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามณฑาและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล ตอนที่พระชาลีทรงรำพันก่อนเดินทางจากไปกับชูชก พระองค์ตรัสถึงกิจวัตรที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำคือ การเข้าเฝ้าพระเวสสันดร

การใช้สัมพจนัยในคำว่า “บาทา” ที่หมายถึงเท้า ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงพระบาทเท่านั้น แต่รวมไปถึงพระวรกายของพระเวสสันดรด้วย องค์กวีทรงใช้คำว่า “บาทา” แทนพระวรกายทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเคารพรักอย่างสูงสุดที่พระชาลีมีต่อพระเวสสันดร ด้วยการให้พระชาลีเข้าเฝ้าอยู่ที่พระบาท

ความเคารพรักนี้จึงตอกย้ำให้พระเวสสันดรทรงอาลัยในพระกุมารยิ่งขึ้น (อรรถพร ดีที่สุด, 2557 : 124)

จากบทกวีทั้งสองตัวอย่าง จะเห็นว่ากวีใช้ภาพพจน์สัมพจนัยเพื่ออธิบายแนวคิดส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ใช้อ้างถึงส่วนทั้งหมดของบางสิ่งนั้น เช่น การกล่าวถึง “บาทา” ที่หมายถึงเท้าของพระเวสสันดรในกุมารคำฉันท์ แต่รวมไปถึงพระวรกายของพระองค์ที่พระชาลีมาเข้าเฝ้าด้วย

หรือการกล่าวถึง “ตีน” และ “หน้า” ในบทกวี “ความเรียงเรื่องตีน” ที่เป็นเพียงอวัยวะ แต่หมายถึงคนที่เป็นเจ้าของ “ตีน” และ “หน้า” นั้น

ซึ่งตัวอย่างนี้มีความใกล้เคียงกับเรื่องสั้น “ตีนหนาหน้าบาง” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งจะได้อธิบายในลำดับถัดไป

เรื่องสั้น “ตีนหนาหน้าบาง”ของเสนีย์ เสาวพงศ์

เรื่องสั้น “ตีนหนาหน้าบาง” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ให้ “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่องที่ตนประสบพบมาหรือผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลัก (character narrator) แบบแสดงทัศนะ ถึงการเป็นคนชอบเดินทางด้วยเท้าเพื่อจะได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหารการกินหรือกิจกรรมที่คนชนบททำในแต่ละวัน แบบค่ำไหนนอนนั่น แวะไหนก็ขอข้าวชาวบ้านกินแลกกับการช่วยเหลืองาน เป็นกระแสสำนึกของตัวละครที่เล่าถึงความแตกต่างของวิถีเมืองกับชนบทในช่วงปี 2494 ซึ่งเรื่องสั้นเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก

“ผมได้พบความจริงเปรียบเทียบข้อหนึ่งว่า ในกรุงนั้นมีคนตีนบางกว่าหน้าแยะ เมื่อนั่งเชิดอยู่บนรถยนต์หรือบนตึก หน้าของเขาทนต่อความสกปรกโสมม การทรยศคดโกง ความทุจริตและขี้ฉ้อตอแหลร้อยแปดที่ประชาชนเขาสาปแช่งโดยไม่สะดุ้งสะเทือนเลย หน้าของเขาหนาและทนได้ทุกสิ่ง ส่วนตีนของเขาบางจนไม่มีมลทิน ระหว่างพวกตีนบางหน้าหนากับพวกตีนหนาหน้าบาง ผมสมัครจะอยู่กับพวกหลัง” (น.236)

ข้อความข้างต้น เป็นการเปรียบเทียบคนกับความหมายของสัมพจนัยจากคำว่า “ตีนหนาหน้าบาง” ซึ่งเป็นพวกคนชนบทที่ทำงานด้วยความลำบาก แต่มีใบหน้าบางที่เต็มไปด้วยความซื่อใสและยางอาย

ต่างจากคน “ตีนบางหน้าหนา” ที่พบเห็นในเมืองที่ไม่เคยทำงานหนัก เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่มักจะเชิดหน้า มีชีวิตอยู่แบบหรูหรา พัวพันกับเรื่อง “ทุจริตและขี้ฉ้อร้อยแปด” เป็นคนหน้าหนาหน้าทนต่อคำสาปแช่ง และผมเลือกจะคบหาคนที่ “ตีนหนาหน้าบาง” มากกว่า ตามประสบการณ์ที่ได้รู้เห็นชีวิตจากการเดินทาง

“ผมไม่ได้เสียดสีหรือตั้งใจค่อนขอดคุณหรอกน่า ระหว่างพวกตีนบางหน้าหนากับพวกตีนหนาหน้าบาง ในเมืองยังมีคนอีกพวกหนึ่งคือพวกตีนบางหน้าบาง คนพวกนี้พอคบได้ เพราะเป็นคนใจยุติธรรมดีพอใช้ รักเกียรติยศ แต่เป็นคนใจน้อยและเอาใจยากสักหน่อย” (น.236)

ข้อความข้างต้น นอกจากพวก “ตีนบางหน้าหนา” กับ “ตีนหนาหน้าบาง” อย่างที่ผู้เขียนได้เปรียบเทียบความหมายและการใช้สัมพจนัยไว้ก่อนหน้าถึงความน่าคบ ไม่น่าคบแล้ว ยังมีอีกพวกที่พอจะคบหาได้บ้าง คือพวก “ตีนบางหน้าบาง” ที่เป็นคนในเมือง ไม่ได้ทำงานหนักหรือทำอะไรไม่เป็น แต่ยังมีคุณธรรม ความละอายต่อบาปหรือการทำชั่วมากกว่าพวก “ตีนบางหน้าหนา”

แต่ปัจจุบัน นอกจากคนสามจำพวกที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว ยังมีพวก “ตีนหนาหน้าหนา” เพิ่มมาอีกมีทั้งในเมืองและชนบท

คือพวกทำงานเอารัดเอาเปรียบคนอื่นหรือสิ่งอื่นอย่างหน้าด้านๆ

กับพวกที่ไม่ได้ทำงานหนัก แต่สวมใส่รองเท้าหนาหรือท็อปบู๊ตเข้ามาทำงาน

โดยอ้างวาทกรรมคำว่า “เพื่อบ้านเมืองและประชาชน” สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ทั้ง ส.ส.พรรคตีนเล็กหน้าหนา ที่ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.

และ ส.ว.หนังหนาที่มาจากการแต่งตั้งจากพวกเดียวกัน ซึ่งมีสัดส่วนกลุ่มทหารถึง 101 คน

ต่อมาผมออกเดินทางไปต่างจังหวัด หลังจากนิยามคนสามจำพวกที่น่าคบและคบไม่ได้ แล้วก็ประสบกับเหตุการณ์พายุใหญ่และฝนเทลงมาอย่างหนัก ผมทั้งหิวและหนาวจึงเข้าไปหลบฝนอยู่ในศาลาร้าง และก็พบกับหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่ง จึงขออาหารเพราะความหิว หล่อนจึงเดินฝ่าสายฝนไปหากล้วยสุกมาให้หวีหนึ่ง เมื่อกระเพาะถูกเติมด้วยกล้วยไปสี่ห้าลูก ความหนาวก็เข้ามาแทนที่ หญิงสาวคนดังกล่าวบอกให้ผมถอดเสื้อเอาไปบิดและตากผึ่งไว้ จากนั้นก็กอด หล่อนให้ผมกอดและหล่อนก็กอดผมแบบไม่คิดอะไรในเชิงชู้สาว แต่เป็นการแบ่งปันความอบอุ่นเพื่อช่วยผมให้มีชีวิตรอด

เมื่อฟ้าสาง หญิงสาวชาวบ้านคนนั้นก็ลุกขึ้น เอามือสากๆ ลูบหน้าผมและจากไป ผมคิดว่าหล่อนจะกลับมาอีกจึงล้มตัวลงนอน แต่สายแล้ว ผมคอยหล่อนอยู่ แต่ก็ไม่เห็นมาและไม่รู้ด้วยว่าจะไปตามหาได้จากที่ใด

“จริงนะคุณ ในชีวิตของคนเรา เรามักพบคนที่ทำอะไรให้เพียงนิดหน่อย แต่ทวงบุญคุณเสียล้นเหลือ แต่มีบางคนที่ทำบุญคุณให้แก่ชีวิตเราอย่างสำคัญที่สุด แล้วก็ทรมานเรา โดยไม่ให้โอกาสที่เราจะตอบแทนบุญคุณนั้นได้ เพราะเขาใจสูงพอที่จะไม่ปรากฏตัวเรียกร้องบุญคุณนั้นเลย” (น.243)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของตัวละครที่สรุปทัศนะจากประสบการณ์ชีวิตและอธิบายความรู้สึกหลังจากรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือของหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่ง ที่จากไปโดยไม่ร่ำลาหรือได้รับคำขอบคุณในน้ำใจ

และดูเหมือนหล่อนจะไม่ได้เรียกร้องหรือทวงบุญคุณใดๆ ด้วยซ้ำ เป็นการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะเห็นว่าการกระทำนั้นคือมนุษยธรรมที่มนุษย์ควรมีและมอบให้กันยามทุกข์โศกหรือประสบเคราะห์กรรม อีกทั้งยังเป็นน้ำใจที่ยังหาได้ในชนบท

ต่างจากบางคนที่ทำอะไรให้เล็กน้อย “แต่ทวงบุญคุณเสียเหลือเกิน” ซึ่งเป็นเหตุการณ์จากความทรงจำผนวกกับข้อคิดที่ผู้เขียนต้องการให้ผมยืนยันความหมายของคนที่ “ตีนหนาหน้าบาง” ตามชื่อเรื่องสั้นนั่นเอง

เรื่องสั้น “ตีนหนาหน้าบาง” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นอกจากจะสะท้อนความหมายของสัมพจนัยจากคำว่า “ตีน” และ “หน้า” ของคนทั้งสามจำพวกเปรียบเทียบคนในเมืองกับชนบทถึงความน่าคบและคบไม่ได้แล้ว ยังตั้งคำถามเป็นนัยให้ “คุณ” หรือ “ผู้อ่าน” ขบคิดว่าควรจะเลือกคบคนโดยดูที่ “ตีน” หรือ “หน้า” กับความหนาและบาง หรือเลือกตัดสินหรือคบคนที่ภายนอกหรือจากคุณธรรม

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างของ “ผม” ให้เห็นถึงมนุษยธรรมที่มนุษย์ควรมีต่อมนุษย์ด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน มีความรักเมตตาแบบที่ไม่ทวงหรือลำเลิกบุญคุณ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบันที่เสื่อมศีลธรรมลงทุกวัน

โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลานี้ที่เต็มไปด้วยคน “ตีนหนาหน้าด้าน” สร้างภาพว่าเสียสละเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองอย่างไม่ละอายต่อเสียงเรียกร้องหรือความต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชน!

บรรณานุกรม

บุญยงค์ เกศเทศ. (2536). แลลอดวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2560). ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามแฝง). (2551). แจ่มรัศมีจันทร์. กรุงเทพฯ : มติชน.

อรรถพร ดีที่สุด. (2557). กลวิธีการใช้ภาพพจน์ในกุมารคำฉันท์. วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 11(2) : 117-132.