เรื่องสั้นโนเบลชุด 19 ผู้รู้ราตรีนาน ก่อนกาลหลับใหล เมื่อหยุดอยู่กับที่ “ฉันจึงตาย”

…ตอนนั้นเอง หญิงชราบ่นงึมงำกับลูกสี่คนด้วยน้ำเสียงกระด้างเกรี้ยวกราดระคนโกรธเคืองว่า “นางอยากได้ห้องพักเป็นของตัวเองสักห้องหนึ่ง”

หญิงชราคนนี้นางชื่อเฮ็ตตี้ มีสายเลือดยิปซีอยู่ในตัวครึ่งหนึ่งจากแม่ของนาง

เฟรด เพนนีฟาเธอร์ ชอบภรรยาตรงที่นางแตกต่างจากพวกผู้หญิงทั่วไปที่เขารู้จัก เขาแต่งงานกับนางก็ด้วยเหตุผลนี้

แต่พวกลูกๆ ของนางกลับหวั่นเกรงว่าเลือดยิปซีจะสำแดงออกมา

An Old Woman and Her Cat (2013) เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของ “ดอริส เมย์ เลสซิง” ที่มีแปลในภาคภาษาไทยชื่อ “ผู้รู้ราตรีนาน ก่อนกาลหลับใหล” รวมอยู่ในเรื่องสั้นโนเบลชุด 19 ของสำนักพิมพ์นาคร

ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอ “สายเลือดยิปซี” ชนเผ่าเร่ร่อนผู้รักอิสระผ่านตัวละครอย่างนางเฮ็ตตี้ ที่แม้จะมีสายเลือดเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ก็มากพอให้นางเป็นที่รังเกียจและดูหมิ่นจากลูกๆ

แม้ว่าลูกสี่คนของนางจะมีเลือดยิปซีมาจากนางเองด้วยก็ตาม แต่มรดกจากพ่อ “เลือดคนอังกฤษ” ก็ยังเข้มข้นกว่า

และเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าที่จะบอกว่าตนมีสายเลือดยิปซี

หลังการเสียชีวิตของสามีและลูกๆ แต่งงานออกเรือนกันไปหมด จึงเหลือนางเพียงลำพังที่ไม่มีลูกคนไหนอยากรับไปเลี้ยงดู

“ทางสภาเทศบาลจัดการย้ายนางไปอยู่ในห้องพักขนาดเล็กหลังเดียวกัน นางทำงานขายอาหารในร้านละแวกนั้น แต่พบว่ามันน่าเบื่อ…”

ห้องพักขนาดเล็กที่อยู่ในความควบคุมและการเป็นพนักงานขายอาหารนั้น ก็เป็นอุปนิสัยที่ค้านกับวิถีคนยิปซีที่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร ไม่ชอบอยู่ใต้กฎเกณฑ์ ไม่ชอบตั้งรกรากที่ไหน (เรามักเห็นคนยิปซีอาศัยอยู่ในรถบ้าน รวมกันเป็นกลุ่ม เดินทางขึ้นเหนือลงใต้ไปตามสถานที่ต่างๆ เล่นดนตรีบ้าง ขายของเก่าบ้าง รับจ้างดูดวง ฯลฯ)

นางเฮ็ตตี้จึงไม่สามารถลงหลักปักฐานอยู่กับกฎระเบียบจัดสรรจากรัฐได้นาน

“นางเริ่มทำธุรกิจซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง…นางรักงานนี้มาก มันเป็นความคลั่งไคล้ก็ว่าได้”

ผู้เขียน “เน้นย้ำ” ความเป็นคนยิปซีอีกครั้งด้วยอาชีพการค้าขาย ความถนัดเฉพาะทางที่น่าจะอยู่ในสายเลือดไม่น้อยไปกว่าการเล่นดนตรีหรือการเดินทางไม่ชอบอยู่ติดที่นานๆ เหมือนในตอนแรกที่นางมักจะชอบ “ปลีกตัวบ่อยๆ คราวละหนึ่งชั่วโมงหรือกว่านั้น ไปที่ชานชาลาสถานีที่ซึ่งหัวรถจักรแล่นเข้าแล่นออก นางชอบกลิ่นอายของที่นั่น นางชอบมองดูผู้คนเดินขวักไขว่ “มาและไปจากต่างถิ่น”

“หัวรถจักรที่แล่นเข้าแล่นออก” และ “กลิ่นอายของที่นั่น” จึงเป็นสัญลักษณ์ของสัญชาตญาณและการเดินทางที่ชาวยิปซีมักชอบทำกัน

สิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำจึงเหมือนเป็นการตีตราลงหน้าผากชาวยิปซีไปโดยปริยาย ราวกับการมีสายเลือดหนึ่งใดอยู่ในตัวนั้นจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้

การสืบย้อนทำความรู้จักใครสักคน รากเหง้าที่มา การฟูมฟักเลี้ยงดู จึงวิเคราะห์ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

แต่สายเลือดจะยังคงอยู่ ส่งผลดำรงอยู่ในตัวของคนคนนั้น

หรือพูดได้ว่าเลือดพ่อเลือดแม่ที่ไหลเวียนในกายเราถ่ายทอดออกมาเป็นตัวเราและไม่มีวันขจัดออกไปได้

เราจึงรับทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีของพ่อ-แม่มาอย่างละครึ่ง พอเติบโตถึงจุดหนึ่ง เราจะเรียนรู้และเลือกนำมาปรับใช้ได้เอง

…แต่ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ลูกสี่คนของนางไม่มีใครเลือกนางเลยสักคน

นางจึงเลือกใช้ชีวิตอย่างคนเร่ร่อนกับรถเข็นเด็กเร่ขายเสื้อผ้าเก่า แม้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่นางก็ “ชอบที่จะเตร็ดเตร่ไปตามถนนรนแคมอันคึกคักมีชีวิตชีวา…” เสียงของผู้คน เสียงของการเจรจา เสียงของการรวมกลุ่มสังสรรค์ ความไม่เงียบเหงาจนเกินไปเหล่านี้

เป็นพลังชีวิตที่ทำให้นางมีชีวิตอยู่ต่อไป

จนกระทั่งได้มาพบ “ลูกแมวหลงทาง” ตัวหนึ่งแล้วนำกลับมาเลี้ยงดู นางตั้งชื่อให้มันว่า “ทิบบี้” มันจึงเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่เข้ามาสู่ชีวิตของนาง และเมื่อมันเติบใหญ่ก็ดูเหมือนมันจะทำหน้าที่หากินแทนเจ้านายของมันในยามยากอยู่หลายครั้งหลายครา โดยการคาบนกพิราบมาให้นางย่างกิน ไม่ต่างอะไรกับสามีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตอนที่เป็นคนงานก่อสร้างหาเลี้ยงครอบครัว

นางเลือกที่จะไม่อยู่บ้านพักของทางการหรือในสถานพักพิงของผู้ไร้บ้าน นางเลือกเพราะสายเลือดรักอิสระของนางเป็นเช่นนั้น นางคิดว่าบ้านที่ไม่มีคนอยู่ จึงเข้าไปอาศัยอยู่เพียงเท่านั้น

นางไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดแม้กฎหมายจะบอกว่าผิดก็ตาม คงเหมือนผลไม้บ้านคนอื่นที่ยื่นล้ำออกมานอกรั้วบ้าน หากนางคิดเด็ดกินผลสองผลก็คงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรสำหรับนาง

แต่หากเจ้าของบ้านมาเห็นก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย (ชาวยิปซีมักเป็นที่โจษจันว่าเป็นพวกชอบลักขโมยอยู่แล้ว) ทัศนคติดังกล่าวจึงมีรากฐานมาจากความคิดของชนชั้นที่สูงกว่าและเลือดที่ต่างกัน

หรือหากมองอีกด้านนอกตัวบท ดังคำกล่าวของโคลด เลวี สโทรส นักปรัชญาและนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ว่า “เขาไม่ได้เขียนหนังสือ แต่หนังสือต่างหากที่เขียนเขา” แล้วนำชุดคำไปเชื่อมโยงกับประวัติผู้เขียน ดอริส เลสซิง (1919-2013) ก็จะเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันว่าตัวเธอเองก็มีความดื้อรั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ชอบถูกการควบคุม เลือกที่จะจมอยู่กับหนังสือมากกว่าออกไปเรียนหนังสือ

อีกทั้งเธอยังเคยรณรงค์ต่อต้านการอาวุธนิวเคลียร์และเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้

ในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของเธอ To Room Nineteen (1978) ก็ยังสื่อสารออกมาทำนองว่าเธออยากมีห้องพักส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวที่จะไม่มีใครเข้ามาก้าวก่ายชีวิตของเธอ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นเรื่องนี้ แม้ดูภายนอกเหมือนเป็นคู่สามี-ภรรยาที่มีความสุขกับลูกสองคน แต่ในโลกส่วนตัวของเธอกลับพังทลาย (และในชีวิตจริงเธอก็หย่าร้างกับสามีคนแรกและมีลูกด้วยกันสองคนเหมือนกัน)

ส่วน “แมว” ที่ใส่เข้ามานั้น ก็ชัดเจนว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่เธอโปรดปรานถึงขนาดเขียนหนังสือเกี่ยวกับแมวออกมาแล้วหลายเล่ม เรื่องสั้น An Old Woman and Her ก็เป็นหนึ่งใน Cat Stories ที่บรรจุอยู่ในนั้น

หากถอดตามชุดคำของเลวี สโทรส ตอนเขียน An Old Woman and Her เลสซิงอาจไม่ได้เขียนหนังสือ แต่หนังสือต่างหากที่เขียนบทบาทให้เลสซิงสวมทับผ่านตัวละครโดดเดี่ยวอย่างนางเฮ็ตตี้ ที่มีสายเลือดยิปซี

และแน่นอนว่าความเป็นคนอังกฤษที่ไปเติบโตในโรดีเซียใต้ (ซิมบับเว) และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานหลายปี เมื่อกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ และมีนวนิยายเรื่องแรก The Grass Is Singing (1950, ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรดีเซียใต้ สมัยที่พ่อ-แม่ของเธอไปทำงานที่นั่น) ก็ดูว่าเธอจะซึมซับความเป็นคนนอกมากกว่าการเป็นนักล่าอาณานิคมเหมือนอย่างคนในบ้านเกิดเมืองนอนด้วยกัน

ในชีวิตจริงหลังการหย่าร้างสองครั้ง มีลูกจากสามีคนแรกสองคนและคนหลังอีกหนึ่งคน เลสซิงก็ไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหน (นักข่าวหลายสำนักต้องมาขอสัมภาษณ์เธอที่หน้าบ้านในตอนที่เธอได้รับรางวัลโนเบลปี 2007)

และโปรดปรานอยู่กับการอ่านเขียนและแมวสัตว์เลี้ยงคู่ใจของเธอมากกว่า

ก่อนที่จะมาเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี 2013 ด้วยวัย 94 ปี ที่บ้านพักในกรุงลอนดอน

ภาพที่ดูเหมือนหญิงชรากับชีวิตที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างเงียบๆ กลับถ่ายทอดร่องรอยความเจ็บปวดขมขื่นบางอย่างที่สะท้อนลึกลงในจิตใจของคนเร่ร่อนเลือดยิปซีกับแมวคู่ทุกข์ของนางและโบยตีชีวิตได้อย่างเจ็บปวด

ยิ่งในฉากที่ความหนาวเข้ามาเยือนเหน็บหนาวเข้าถึงกระดูกกับอ้อมกอดของชีวิตที่มีเพียงแมวหนึ่งตัวให้ซุกไออุ่นนั้น ช่างน่าเวทนาและอดสู ในบั้นปลายชีวิตวัยเจ็ดสิบที่ปรักหักพังไม่ต่างจากซากพังๆ ของบ้านรกร้างที่ตนแอบเข้าไปซุกอาศัยอยู่กับแมวที่สภาพทรุดโทรมไม่ต่างกัน

และตอนนั้นเองที่นางฝันถึงห้องพักสักห้องหนึ่งแล้วคิดถึงลูกๆ ที่ทอดทิ้งนางไป นางรู้ตัวดีว่าการเป็นคนเชื้อสายยิปซีนั้นไม่เป็นที่ต้องการและดูแปลกประหลาดในสายตาของคนอื่นๆ แต่นางเลือกเกิดไม่ได้และมันก็คือตัวนาง นางที่ให้กำเนิดลูกสี่คนขึ้นมา

“ฉันเป็นแม่ที่ดีของพวกแกมาโดยตลอด…ตอนพวกแกยังเล็กอยู่พวกแกจะได้สิ่งของทุกอย่างที่ดีที่สุดเสมอ!”

นางจึงตัดพ้อออกมาด้วยสภาพร่างกายที่ฝืนสังขารต่อไปไม่ไหว การเร่ร่อนย้ายไปซุกซ่อนตัวอยู่ตรงนั้นตรงนี้เพียงลำพัง ไม่สามารถฝืนทานวัยที่ร่วงโรยอ่อนล้าต่อไปได้อีก

เมื่อนางต้องหยุดอยู่กับที่ ท่ามกลางอากาศยามเช้าที่หนาวเย็นเยือกแข็ง ฤดูใบไม้ผลิคงอีกนานกว่าจะผ่านเข้ามา เวลานี้มันหนาวเกินไป เงียบเหงาเกินไป และความโดดเดี่ยวเดียวดายมันช่างทารุณโหดร้ายเหลือคณา ชีวิตคงมาได้เท่านี้ นางคิดเช่นนั้น ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจในคืนนั้นเอง

หลายสัปดาห์ต่อมาแมวชราของนางก็มีจุดจบไม่ต่างกัน

“มันแก่มากจริงๆ แถมสารรูปก็ทรุดโทรมสะบักสะบอมและมีกลิ่นสาบสาง เจ้าหน้าที่จึงตัดสินให้มันตายด้วยการฉีดยาและพูดอย่างที่เราพูดๆ กันว่า “ให้มันหลับไปเถอะ”

คำคำนี้ยังสะท้อนอะไรได้อีก นอกจากหญิงชราเลือดยิปซีที่ไม่มีใครต้องการกับแมวจรจัดแก่ๆ ตัวหนึ่งที่ไม่มีค่าอะไร อยู่หรือตายก็คงไม่ต่างกัน

“ให้มันหลับไปเถอะ”

คงจะเป็นคำพูดที่แสดงออกถึงความเมตตาของประเทศที่ได้ชื่อว่าทะนงตนที่สุดแล้ว