หลากทัศนะจากบรรดาศิลปิน เกี่ยวแก่ “อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ” บันทึกทั้งชีวิตของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”

ยามสนธยาของวันที่ 9 มีนาคม 2562 คือวาระในพิธีพระราชทานเพลิงศพ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 ณ วัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคลที่เคารพนับถือเสาหลักแห่งวงวรรณกรรมไทยผู้นี้เข้าร่วมไว้อาลัยมากมาย

ไม่เพียงเท่านั้น นักเขียนและศิลปินอย่างช่วง มูลพินิจ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, สราวุฒิ เฮ้งสวัสดิ์ รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์อย่างจิระ มะลิกุล ยังพร้อมใจกันบอกเล่าความทรงจำที่มีต่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ เชื่อมโยงไปยังหนังสือชีวประวัติของอาจินต์ในนาม “อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ”

เรียบเรียงโดย “แน่งน้อย ปัญจพรรค์” ศรีภรรยาของอาจินต์เอง

เริ่มจาก “ช่วง มูลพินิจ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2556 กล่าวถึงอาจินต์ว่าเป็นศิลปินรุ่นพี่ที่รู้จักกันมานาน รับรู้แนวทางของกันและกันเป็นอย่างดี

“คนทำงานศิลปะไม่ว่าแขนงไหน ประพันธ์เพลง บทกวี หรือจิตรกร ประติมากร สิ่งที่เขาคิดก็คือสิ่งที่เขาปรารถนา เวลาพี่อาจินต์มองอะไรก็จดเป็นถ้อยคำ ไม่จดในสมุดก็จดในความคิด”

ช่วงให้สัมภาษณ์ว่า เขาชื่นชอบผลงานของอาจินต์เป็นอย่างมาก เพราะทุกชิ้นงานเขียนขึ้นด้วยความรัก อีกทั้งมีการขมวดปมแบบโอ เฮนรี่ แต่เป็นโอ เฮนรี่ แบบไทยๆ และสำหรับหนังสือเล่มนี้ช่วงชื่นชมแน่งน้อยว่าเขียนได้ดีมาก เพราะทุกเนื้อหาเรียบเรียงความทรงจำของอาจินต์มาอย่างครบถ้วน

“พี่อาจินต์เป็นคนสำคัญนะ คนสำคัญในความหมายของคนทำงานที่วิเศษ แน่งน้อยเองก็เรียบเรียงได้วิเศษมาก น่าอ่านมาก” ช่วงยืนยัน

นอกจากความเห็นของช่วงแล้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2554 อย่าง “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ก็ยังเพิ่มเติมมุมมองในฐานะบรรณาธิการว่า ไม่เพียงอาจินต์จะเป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการ แต่เขายังรักความเป็นธรรม รักในเสรีภาพ และเป็นนักอนุรักษนิยมหัวก้าวหน้า

อีกทั้งผลงานของอาจินต์ล้วนเกิดจากความรักในภาษา ความรักในแผ่นดินถิ่นเกิด และความรักในการเห็นคนเท่ากัน สะท้อนได้จากตัวละครซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ถึงแม้เนื้อหาในงานวรรณกรรมจะไม่ใช้ภาษาพูดแบบนักสังคมนิยม แต่กลับพูดถึงคนใช้แรงงานที่อยู่กับหน้างานจริงๆ

“พี่อาจินต์เชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในการทำงานศิลปะเพราะมันมีความหลากหลาย มีพลังในตัวมันเอง และพี่อาจินต์ยังสร้างสนามให้นักเขียนเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ ใครที่รักในภาษา เขียนเรื่องส่งมาก็ได้ตีพิมพ์แทบทั้งนั้น เพราะพี่อาจินต์เป็นบรรณาธิการที่ให้โอกาสคน

“งานเขียนของพี่อาจินต์มีลักษณะแบบนักประพันธ์รุ่นก่อนซึ่งมีเสน่ห์อยู่ที่การใช้ภาษา เหตุผลนี้ทำให้ผมคิดว่ากำเนิดของฟ้าเมืองไทยเกิดจากความรักที่มีต่อศัพท์ภาษา ความรักที่มีต่อตัวหนังสือ”

และสำหรับบันทึกชีวประวัติเล่มล่าสุดของอาจินต์ สุชาติมองว่านี่คือ “อนุสรณ์แห่งความรัก” ของแน่งน้อยในฐานะ “lable of love”

“ผมรู้สึกทึ่งกับสิ่งที่แน่งน้อยใช้พลังแห่งความรักที่มีต่อพี่อาจินต์นะ เพราะเป็นหนังสือที่เรียบเรียงความทรงจำในยุคสมัยต่างๆ ของพี่อาจินต์ออกมาได้เกือบทั้งหมด” สุชาติฝากความประทับใจ

ข้ามฝั่งมาทางผู้กำกับฯ มือทอง “จิระ มะลิกุล” เขากล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเคยอ่านฉบับพิมพ์ครั้งแรกเพื่อหาข้อมูลประกอบการกำกับภาพยนตร์ “มหา”ลัยเหมืองแร่”

จิระกล่าวว่า เขาชื่นชอบวิธีที่อาจินต์บันทึกด้วยการพูดอัดเทปเพื่อให้แน่งน้อยเรียบเรียงเป็นภาษาเขียนอย่างมาก

“ไม่น่าเชื่อว่าเทป 34 ม้วนจะร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตตั้งแต่สมัยเริ่มต้น แถมยังบรรยายได้ละเอียดอย่างยิ่ง ใครเป็นแฟนหนังสือเครือฟ้าจะรู้สึกสนุกเพราะมีตัวละครที่อยู่ในนิตยสารเครือฟ้าอยู่ในหนังสือด้วย

“ช่วงท้ายเล่มที่พี่อาจินต์เข้าโรงพยาบาล พี่แน่งน้อยจะเป็นคนบันทึกต่อ ช่วงนี้เป็นช่วงที่พีกมาก แล้วก็จะพบว่าพี่แน่งน้อยเขียนได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพี่อาจินต์เลย”

ความเห็นของจิระคู่ขนานไปกับทัศนะของนักเขียนนามปากกา “นิ้วกลม” หรือ “สราวุฒิ เฮ้งสวัสดิ์” ที่เมื่อได้รับหนังสือก็อ่านรวดเดียวเกือบจบเล่ม

นิ้วกลมกล่าวว่า เป็นหนังสือที่อ่านได้ไหลลื่น ทุกบทตอนล้วนสะท้อนยุคสมัยของบ้านเมืองมาหลายทศวรรษ

“สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากงานเขียนของลุงอาจินต์ก็คือ เขาเป็นคนที่ให้เกียรติคน เป็นคนที่ชื่นชมคนอื่น แล้วยิ่งเมื่อได้มาอ่านสิ่งที่คนอื่นพูดถึงลุงอาจินต์ ยิ่งรู้สึกว่ามันยืนยันสิ่งนี้ทุกครั้ง

“หนังสือชีวประวัติของลุงอาจินต์มักจะขนานไปกับประวัติศาสตร์บ้านเมือง เราจะเห็นว่าคุณลุงทำงานตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีทีวีแล้วจบท้ายมาถึงสมัยที่คุณลุงใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งหมดคือการเดินทางมาไกลมาก ทั้งเรื่องบ้านเมือง สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก”

นิ้วกลมตั้งข้อสังเกตได้อย่างมีประเด็น

ทบท้ายด้วยทัศนะของ “แน่งน้อย ปัญจพรรค์” ผู้เรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือมาอย่างอุตสาหะ

แน่งน้อยเล่าความหลังว่า ชีวประวัติเล่มนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์สารคดีมาตั้งแต่ปี 2539 ก่อนจะพิมพ์ซ้ำอีกครั้งกับสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่กระแสภาพยนตร์เรื่อง “มหา”ลัยเหมืองแร่” กำลังมาแรง ซึ่งในการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้มีการเพิ่มเติมข้อมูลมากขึ้น

“ตอนนั้นอัพเดตข้อมูลซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2538 เพิ่มขึ้นอีก 9 ปี มาจนถึงปี 2547 ก็เพิ่มขึ้นมาอีก 10 ปี” แน่งน้อยกล่าว

ส่วนเหตุผลว่าทำไมหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดจึงสมบูรณ์กว่าการตีพิมพ์ทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นเพราะแน่งน้อยได้เพิ่มเติมเนื้อหาในช่วงชีวิตสุดท้ายของอาจินต์เมื่อครั้งย้ายไปพำนักที่กาญจนบุรีและโรงพยาบาลบางไผ่

“พอถึงปี 2562 หรืออีก 14 ปีต่อมา ก็เลยคิดว่าควรจะเอาหนังสือชีวประวัติมาอัพเดตอีกทีด้วยการเพิ่มเติมข้อมูล 14 ปีสุดท้าย จนกระทั่งกลายเป็นหนังสือเล่มนี้” แน่งน้อยอธิบายการเพิ่มเติมเนื้อหาได้อย่างเห็นภาพ

และนี่คือบทสรุปที่กล่าวได้ว่า เหตุใดหนังสือ “อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ” จึงเป็นบันทึกชีวิตของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่สมบูรณ์ที่สุด

แถมทั้งควรค่าแก่นักอ่านทุกรุ่นวัย ในฐานะเป็นชีวประวัติของนักเขียนอาวุโสที่ใช้ชีวิตคู่ขนานไปพร้อมกับสังคมร่วมสมัย