มิติสถานที่และวาทกรรมอำนาจในชีวิต (ประจำวัน) ของจำลอง ฝั่งชลจิตร

มิติสถานที่และวาทกรรมอำนาจในชีวิต (ประจำวัน) ของจำลอง ฝั่งชลจิตร

ฟร็องซัวส์ โมริยัค (1885-1970) นักประพันธ์แนวสัจนิยมชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 1952 กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะสร้างนวนิยายได้ หากไม่รู้จัก “บ้าน” ที่จะเป็น “เวที” ให้แก่ตัวละคร ข้าพเจ้าจะต้องรู้จักโดยละเอียดทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นทางเดินที่เร้นลับของสวนใด ป่าใด ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ท้องถิ่นที่อยู่รอบใดๆ ข้าพเจ้าจะต้องคุ้นเคยรู้จักและต้องมิใช่การรู้จักแบบผิวเผิน…”

เห็นได้ว่า โมริยัคให้ความสำคัญแก่สถานที่ในนวนิยายของเขา เขาจะต้องรู้จักสถานที่และบริบทของสถานที่ที่เขากล่าวถึงในนวนิยายอย่างดี รู้จริง รู้ละเอียดและรู้ลึก เมื่อเขาพรรณนาสถานที่ลงบนหน้ากระดาษ ผู้อ่านย่อมสัมผัสความสมจริงที่เขาถ่ายทอดออกมาได้

บทความชิ้นนี้จะศึกษามิติสถานที่และวาทกรรมอำนาจในเรื่องสั้น “มีใครเห็นอะไรมั่ง” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น ชีวิตประจำวัน (เรื่องสั้นธรรมดา) โดยจะวิเคราะห์ว่าชีวิตประจำวันของตัวละครสัมผัสสัมพันธ์กับอะไรบ้าง

ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยระบุเวลาว่าเหตุการณ์ในเรื่องสั้นเกิดเมื่อสองปีก่อน หลังเที่ยงวันที่ 28 เมษายน อีกเดือนเต็มๆ จะครบรอบวันตายของชาญ หลังกรีดยาง ขายน้ำยาง แบ่งเงินให้เมีย กินข้าวแล้วจึงมารวมหัวตั้งวงดัมมี่ แจกไพ่เล่นตาแรกไม่ทันจบ ชาญถูกยิงตายด้วยปืน .38 จากนั้นวันที่ 9 มีนาคม กำนันถูกยิงถล่มด้วยปืนเอ็ม 16 และเช้าวันที่ 28 เมษายน คนจูงวัวชนของลูกชายกำนันถูกยิงด้วยปืน 11 ม.ม. ความตายทั้งสามเหตุการณ์ ไม่มีใครเห็นเงามือปืน แต่เห็นปืนในมือกับคำถาม “มีใครเห็นอะไรมั่ง”

มิติสถานที่ทั้งในวงดัมมี่และถนนในหมู่บ้าน สัมพันธ์กับมิติเวลาทั้งกลางคืน ชาวสวนลุกกรีดยาง รุ่งเช้าขายน้ำยางและความตายของตัวละครสามตัวที่สร้างคุณค่าทางอารมณ์ โดยเฉพาะกาลเทศะ “เส้นทาง” เชื่อมกับการพบปะในวงดัมมี่หรือบนถนนที่เกิดเหตุยิงคนจูงวัวชนตาย สะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางหรือถนนเป็นที่ที่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัยและทุกชนชั้นสัญจรผ่านไปมา ย่อมมีโอกาสพบปะหรือพูดคุยกันได้ อีกทั้งกาลเทศะดังกล่าวยังสร้างจินตภาพในเรื่องสั้นนี้ให้ผู้อ่านขบคิด วิเคราะห์หาเหตุผลความตายของทั้งสามตัวละครด้วย

ผู้เขียนให้ “ผม” หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นผู้เล่าเรื่องในสิ่งที่ตนประสบพบมาหรือผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลัก (character narrator) ที่อยู่ในเหตุการณ์ความตายถึงสองครั้ง หลังเที่ยงวันที่ 28 เมษายนเมื่อสองปีก่อนในวงดัมมี่และเช้าวันที่ 28 เมษายน ที่คนจูงวัวชนบนถนนถูกมือปืนคนเดียวกันยิงตาย

“พี่เห็นอะไรมั่ง ไม่เห็น ผมตอบห้วนๆ พร้อมส่ายหน้า ช่างน่าแปลก— ครั้งนั้นผมกลับไม่ตื่นตกใจหรือกลัวจนปากคอสั่นเหมือนตอนชาญถูกยิง” (น.184)

ข้อความข้างต้น มี “ผม” อยู่และเห็นเหตุการณ์ แต่บอกว่าไม่เห็น สะท้อนได้ว่า ทุกคนมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดและรักตัวกลัวตาย การถูกความกลัวปิดปาก ไม่ใช่ผมไม่รู้ แต่ต้องทำเป็นไม่เห็น

ซึ่งเรื่องการยิงคนตายและวิถีนักเลงเป็นแบบฉบับของคนท้องถิ่นใต้หรือสังคมที่ผู้มีอิทธิพลมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย

มิติสถานที่และการแฝงนัย

“กลางดึกวันที่ 27 เมษายน ฝนแรกหน้าร้อนตกลงมาห่าใหญ่ คนสวนไม่ตื่นมาจุดตะเกียงเดินขึ้นเชิงภูเขาไปกรีดยาง หนึ่ง-ต้นยางเปียก หน้ายางเปียก น้ำยางปนน้ำไหลไม่ลงถ้วย สอง-ฝนใหม่กลิ่นหอมหวาน กบ เขียด แมลงต่างๆ ออกจากรู เสียงยืดแข้งขาขยับตัวขยับปีกเหมือนบทเพลงแห่งป่าเขาปลุกงูกะปะ งูเห่า งูสามเหลี่ยมนับร้อยนับพันโผล่จากที่ซ่อนมาเลื้อยไล่ล่าจับกินสัตว์เล็กๆ พวกนี้” (น.182)

ข้อความข้างต้น ผู้เขียนสะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวสวนยางได้อย่างเห็นภาพ เป็นการแฝงนัยเชิงสถานการณ์ (irony of situation) สร้างความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ปรากฏกับความเป็นจริง เมื่อฝนตก ชาวสวนไม่ลุกไปกรีดยางทำมาหากินตามปกติ เพราะต้นยางหน้ายางเปียก น้ำยางไม่ไหลลงถ้วย ตรงข้ามกับสัตว์มีพิษ พวกมันจะออกมาไล่ล่าหากินกบ เขียด แมลงต่างๆ เป็นอาหารตามวัฏจักรที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

เช่นเดียวกับพวกสัตว์ เช้าวันที่ 28 เมษายน มือปืนออกไล่ล่ายิงคนจูงวัวชนของลูกชายกำนันตาย นอกจากจะเป็นการแฝงนัยดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนยังให้ภาพของเลือดไหลซึมไปตามคราบน้ำฝน อันเป็นการหลอมรวมกันของวิถีการล่าเปรียบเทียบระหว่างคนกับสัตว์ด้วย

“นกอาจลืมแร้ว แต่แร้วไม่เคยลืมนก” (น.181)

ข้อความข้างต้น ผู้เขียนแฝงนัยด้วยถ้อยคำ (verbal irony) ที่ตัวละครพูดสิ่งตรงกันข้ามกับความหมายที่ต้องการสื่อ สะท้อนหลักธรรมกรรมตามสนองหรือการแก้แค้นจากเหตุการณ์มือปืนยิงชาญตายในวงดัมมี่และปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีให้ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์

วาทกรรมอำนาจในชีวิตประจำวัน

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2561:61) กล่าวว่า “การเมืองของวรรณกรรม หมายถึง การแทรกแซงในฐานะวรรณกรรมเข้าไปในกระบวนการปรับเปลี่ยนเวลา-สถานที่ เป็นการแทรกแซงเข้าไปในความสัมพันธ์ระหว่างปฏิบัติการกับรูปแบบของการมองเห็นและวิถีชีวิตของการพูดที่ทำหน้าที่ตัด/แบ่งโลกที่เรารับรู้ในด้านใดด้านหนึ่ง ความโดดเด่นของวรรณกรรมไม่ใช่เรื่องของการใช้ภาษาเฉพาะแบบ แต่เป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจแบบใหม่ของภาษา การทำงานแบบใหม่ของภาษาที่ทำให้บางอย่างที่เคยมองไม่เห็นมองเห็นหรือไม่เคยได้ยินได้ยิน…”

ในเรื่องสั้น “มีใครเห็นอะไรมั่ง” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร “ผม” เล่าว่าชาญตายในวงดัมมี่หลังเที่ยงวันที่ 28 เมษายน ที่เกิดเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อน แสดงว่าชาญถูกมือปืนยิงตายก่อน

ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม กำนันถูกมือปืนยิงถล่มและเช้าวันที่ 28 เมษายน คนจูงวัวชนลูกชายของกำนันถูกมือปืนยิงตาย

อาจมองได้ว่า หลังกำนันตาย อำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นหมดไป เกิดการเปลี่ยนขั้ว มือปืนจึงยิงคนเลี้ยงวัวชนลูกชายของกำนัน และดูเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ปล่อยให้คดีเงียบหายไป ส่วนความตายของชาญเป็นการฆ่าล้างแค้น เพราะชาญเคยไปฆ่าญาติของมือปืน

จากสองเหตุการณ์ฆาตกรรม “ผม” เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงขาไพ่และชาวบ้านแปดเก้าคนบนถนนในหมู่บ้าน จึงสามารถเป็นพยานและรู้ว่ามือปืนคือใคร เพราะหมู่บ้านเล็กๆ ผู้คนรู้จักหน้าค่าตากันดีอยู่แล้ว

แต่ทุกคนกลับตอบคำถามมือปืนที่เอามือกุมปืนถาม “มีใครเห็นอะไรมั่ง” ว่า “ผมไม่เห็น” “ฉันเพิ่งมาถึง” และ “ฉันไม่ทันเห็น”

ขยายความได้ว่า สิ่งที่ทำเป็นไม่เห็นคือตัวมือปืน ความจริงพวกเขาเห็นปืนในมือจึงตอบไปเช่นนั้น สะท้อนได้ว่าปืนมีอำนาจบงการหรือปิดปากคนที่รู้เห็นให้เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พูดได้กับสิ่งที่เห็นได้ และสิ่งที่พูดไม่ได้กับสิ่งที่ไม่ควรรู้เห็น

การที่มือปืนถามว่า “มีใครเห็นอะไรมั่ง” ถึงสองเหตุการณ์ฆาตกรรม จึงเป็นวาทกรรมที่มือปืนได้สร้างและต้องการรักษาอำนาจนั้นไว้ เขาจึงยังลอยนวลอยู่ในสังคม

เพราะคนในสังคมเพิกเฉยและอาจเชื่อหรือเห็นพ้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “สมควรแล้ว” “ธุระไม่ใช่” “ไม่เอาไม่พูด” และ “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

กลายเป็นว่า “ผม” หรือเพื่อนขาไพ่และชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ต่าง “สมรู้” กับมือปืนในการสถาปนาวาทกรรมอำนาจขึ้นในหมู่บ้านของตน

เรื่องสั้น “มีใครเห็นอะไรมั่ง” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร แฝงสัญญะในงานเขียนระหว่างสิ่งที่พูดได้กับสิ่งที่มองเห็นได้ เป็นการเขียนเพื่อตั้งคำถาม ล้มล้างระบบการแบ่งแยกและแจกแจงการรับรู้ที่ดำรงอยู่เพื่อตีกรอบหรือสร้างขีดจำกัดว่าอะไรสามารถพูดได้หรือมองเห็นได้ สิ่งที่พูดได้ (the say able) กับสิ่งที่เห็นได้ (the visible) มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากมีสิทธิ์พูดการพูดนั้นก็ได้ยิน ได้รับการฟัง หรือได้รับการยอมรับก็เท่ากับว่าคนพูดมีสถานะมองเห็นได้ในสังคมนั่นเอง

แล้วผู้อ่านเห็นอะไรในเรื่องสั้นนี้บ้าง?