เรื่องสั้น : ดินแดนแห่งนอด

ศุกร์ 13 พฤศจิกายน 2015

บ่ายสามโมง คาบสุดท้ายของวัน วิชาศิลปะ

“พวกเธอเห็นอะไรบ้างจากภาพนี้?”

ครูฟรองซีนถามเด็กๆ หลังจากที่ฉายภาพเขียนบนกระดานหน้าชั้นเรียน

“หลุยส์ เธอเห็นอะไร” หลุยส์ทำท่าอิดออดนิดหน่อยก่อนตอบว่า “ผมเห็นกลุ่มคนยากจน อาจเป็นพวกขอทานเพราะเสื้อผ้าขาดวิ่น กำลังแบกผู้หญิงที่อาจเป็นเมียของหัวหน้ากลุ่ม ที่คงจะเป็นคนแก่ๆ ผมขาวที่เดินนำหน้า”

“คนอื่นล่ะ เห็นอะไรเพิ่มเติมบ้าง”

“พวกเขาน่าจะเป็นพวกนักล่าสัตว์ คงเพิ่งกลับจากการล่า มีซากสัตว์ถูกแบกไปด้วย” โซฟีพูดเสริม

“พวกเด็กๆ ในรูป ท่าทางจะไม่ค่อยสบายนะครับ มีเด็กเล็กสองคนอยู่บนแคร่หามกับแม่ ท่าทางเหมือนหลับ แต่มีเด็กสาวคนหนึ่งถูกอุ้มอยู่ น่าจะไม่สบาย” ปีเตอร์พูด “พวกนี้อยู่ในที่แห้งแล้งกันดารมากเลย ไม่มีต้นไม้ในรูป”

“อับดุลล่ะ เห็นอย่างไรบ้าง”

“พี่ผมเคยพาไปดูภาพนี้แล้วครับ ที่มูเซ่ดอร์เซ่* ผมจำได้ ภาพของเคนกับลูกหลานของเขานะครับ ในคัมภีร์อัลกุรอาน เรียกชื่อเขาว่า ฆะบิล”

“ดีมากอับดุล ทีนี้เราก็พอจะเดาได้นะว่ากลุ่มคนพวกนี้เป็นใครภาพนี้ชื่อว่า “เคนหลบลี้คำสาปของพระยะโฮวาห์” เป็นภาพที่แสดงเรื่องราวของเคนจากพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งอย่างที่อับดุลพูดมา เรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลกับคัมภีร์อัลกุรอาน มีเนื้อความเหมือนกัน เพียงแต่เรียกขานชื่อต่างกันออกไป

ไหนโซฟีช่วยเล่าเรื่องของเคนในพระคัมภีร์ไบเบิลให้เพื่อนๆ ฟังหน่อยได้มั้ย คิมกับเสมนภาอาจจะยังไม่เคยได้ยิน”

เช้า ศุกร์ 13 พฤศจิกายน 2015

อับดุลทั้งดีใจและแปลกใจที่เห็นมุสตาฟาพี่ชายที่หายหน้าไปหลายเดือนโผล่เข้ามาทักทายในครัวที่บ้านแต่เช้า

“พี่กลับมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ” อับดุลถาม ในปากยังเคี้ยวไข่เจียวอยู่ “แล้วจะอยู่นานมั้ยครับ”

“พี่กลับมาทำธุระที่ปารีสนิดหน่อยน่ะ แล้วต้องไปเบลเยียมต่อ ว่าแต่เช้านี้พี่จะไปมูเซ่ดอร์เซ่สักหน่อย ไปด้วยกันมั้ย แป๊บเดียวเอง แล้วจะไปส่งที่โรงเรียน”

“ได้มั้ยฮะแม่” อับดุลถามพร้อมสายตาวิงวอน “เข้าสายหน่อยเดียวเอง”

“ไปก็ได้ แต่ต้องไม่ขาดเรียนนะ” แม่พยักหน้า พยายามที่จะเอาใจลูกทั้งสอง

“ขอบคุณฮะ ผมอิ่มแล้ว เราไปกันเถอะ” อับดุลรีบดื่มน้ำส้มแล้วหยิบเป้ขึ้นสะพายหลัง “อ้อ แล้วพี่กินข้าวเช้าหรือยัง”

“ฉันไม่ใช่เด็กแล้วนะ กาแฟแก้วเดียวก็พอถมถืด” มุสตาฟาพูดพลางเอามือขยี้ผมหยิกเป็นลอนของน้องชาย

“ทำไมพี่อยากไปมูเซ่ดอร์เซ่ ไปทำอะไรหรือครับ” มุสตาฟาถามขณะเดินไปลงรถไฟใต้ดิน

“พี่อยากไปดูภาพวาดภาพหนึ่ง”

“ภาพอะไรครับ”

“เดี๋ยวไปก็เห็น”

ทั้งคู่เดินจากสถานีรถไฟใต้ดินไปที่พิพิธภัณฑ์ เมื่อมายืนอยู่หน้าภาพ “เคนหลบลี้คำสาปของพระยะโฮวาห์”

มุสตาฟาถามน้องชาย “เป็นไง ชอบภาพนี้มั้ย”

“อืม ผมว่ามันดูน่ากลัวนะ แล้วคนพวกนี้เป็นใครล่ะครับ” อับดุลถาม

“เคนเป็นชื่อตามคัมภีร์ไบเบิล แต่ในอัลกุรอานเรียกเขาว่าฆะบิล เขาเป็นลูกชายคนโตของท่านนะบีอะดัม เมื่อฆะบิลกับน้องชาย ฮะบิล ถวายเครื่องสังเวยแด่พระอัลเลาะห์ พระเป็นเจ้าทรงเลือกเครื่องเซ่นสังเวยของฮะบิลซึ่งเป็นลูกตัวแรกของปศุสัตว์ที่เขาเลี้ยงดู ในขณะที่ทรงเมินเฉยกับเครื่องเซ่นของฆะบิลซึ่งเป็นพืชผักที่เขาปลูกจากผืนดิน เพราะเหตุนี้ฆะบิลจึงรู้สึกริษยาฮะบิล และลวงน้องชายไปสังหารแล้วฝังศพไว้ตรงที่อีกาบินมาทำรอยไว้”

“ถ้างั้น นี่ก็เป็นฆาตกรรมแรกของโลกน่ะสิครับ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับฆะบิล”

“พระอัลเลาะห์ทรงพิโรธมาก จึงสาปให้ฆะบิลและลูกหลานต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน ในดินแดนที่แห้งแล้งที่เรียกว่า ดินแดนแห่งนอด ก็ตามที่ภาพวาดแสดงไงล่ะ”

“อ้อ แล้วเป็นยังไงต่อครับ”

“ดูในภาพวาดนี้สิ ฆะบิลกับลูกหลานต้องเจ็บปวดเร่ร่อนไปในดินแดนแห้งแล้ง หวาดกลัวต่อคำสาปของพระอัลเลาะห์ ก็เพราะพระเป็นเจ้าทรงทำให้เขาเกิดความริษยาในใจ ถ้าเพียงแต่พระองค์จะทรงรับเครื่องสังเวยของทั้งคู่ เรื่องฆาตกรรมก็คงไม่เกิดขึ้น ใช่ไหมอับดุล”

อับดุลยักไหล่ “ผมก็ว่างั้นแหละครับ ฆะบิลกับพวกดูน่าสงสารนะครับ เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง แล้วทำไมพระอัลเลาะห์ถึงได้ลำเอียงล่ะครับ”

“พี่ว่า พระองค์คงต้องการทำลายมนุษย์กระมัง ทรงสร้างความรู้สึกริษยาและการทำลายล้างในใจของมนุษย์ เพาะเชื้อของบาปในมนุษย์ให้ทำลายกันเอง เพราะมนุษย์นั้นไม่เชื่อฟังพระองค์”

“แล้วฆะบิลได้ต่อว่าพระอัลเลาะห์ในเรื่องนี้มั้ยครับ”

“ก็ได้ยินมาว่าอย่างนั้นนะ” มุสตาฟายิ้ม “ฆะบิลอ้อนวอนต่อพระอัลเลาะห์เจ้าให้คุ้มครองเขาจากการถูกทำร้าย ซึ่งพระเจ้าอาจรู้สึกใจอ่อน เลยได้ทำเครื่องหมายที่ตัวของฆะบิล และรับรองว่าหากมีใครทำร้ายหรือฆ่าฆะบิล ผู้นั้นจะได้รับการแก้แค้นตอบแทนถึงเจ็ดเท่าทีเดียว”

“ฟังแล้วน่ากลัวพิลึกนะครับ” อับดุลพูดขณะมองภาพ

“เอาละ เราไปโรงเรียนกันได้แล้ว” มุสตาฟาดันหลังอับดุลเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ “พี่ส่งที่โรงเรียนแล้วจะไปทำธุระต่อ บอกแม่นะว่าคืนนี้พี่ไม่กลับไปนอนบ้าน เอ้อ แล้วแกก็อยู่บ้านเป็นเด็กดีนะ”

ในห้องเรียนวิชาศิลปะ

“เอาละ ขอบใจโซฟีที่เล่าเรื่องเคนกับอเบลให้พวกเราฟังนะ ทีนี้เรามาดูภาพกัน ภาพนี้วาดโดยศิลปินแฟร์นอน คอร์มอง** เมื่อปี ค.ศ.1880 แสดงให้เห็นชะตากรรมของเคนและลูกหลานของเขา ภายหลังจากที่พระเจ้าสาปเขาจากการทำสิ่งเลวร้าย คือการสังหารน้องชายด้วยความริษยา

ศิลปินวาดให้เห็นความหวาดกลัวต่อคำสาปปรากฏอยู่บนใบหน้าของทุกคน นักเรียนลองสังเกตแสงเงาบนพื้นที่ศิลปินจงใจวาดให้ยาว เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเส้นทางของเคนและลูกหลานกำลังมุ่งไปสู่เงามืด และห่างออกไปจากแสงสว่าง

สังเกตดูโทนการใช้สีเป็นแบบโมโนโครมหรือสีเดียวกันทั้งภาพ และฝีแปรงที่น่าเร้าใจเหมือนสไตล์การวาดของกุสดาฟ กูร์แบ คอร์มองวาดภาพนี้โดยใช้หุ่นคนจริงสำหรับภาพของแต่ละคนภายในสตูดิโอเพื่อความถูกต้องสมจริงทางกายภาพ

นักเรียนคงเห็นได้ว่า คอร์มองสร้างภาพให้มีลักษณะของยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะในช่วงเวลาที่เขาวาดเป็นช่วงที่ภาพวาดยุคหินเพิ่งจะถูกค้นพบในฝรั่งเศส ดังนั้น คอร์มองจึงสร้างภาพนี้ขึ้นโดยถ่ายทอดจินตนาการของเขาเกี่ยวกับมนุษย์ยุคหินที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติและดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ด้วยการใส่เสื้อผ้าหนังสัตว์ขาดรุ่งริ่ง เดินเท้าเปล่า และผิวหนังหยาบกระด้าง คอร์มองได้ยกบทกวีของวิกเตอร์ ฮูโก มาใส่ไว้เป็นการบรรยายภาพด้วย หลุยส์ลองอ่านให้เพื่อนฟังหน่อย”

“พร้อมกับลูกหลานในอาภรณ์หนังสัตว์

กระเซอะกระเซิงซีดเผือดตัวสั่น

หลีกลี้หนีหน้าพระยะโฮวาห์ผู้สาปสรร

เมื่อสุริยาลาลับ เหล่าผู้หวาดหวั่นนั้น

บรรลุถึงเชิงภูผาแห่งทุ่งกว้างโดยพลัน”

“ขอบใจมากหลุยส์ เสียงกระดิ่งสัญญาณหมดเวลาพอดี ทุกคนกลับบ้านได้ แล้วอย่าลืมไปดูภาพจริงที่มูเซ่ดอร์เซ่ด้วยนะ”

คํ่า ศุกร์ 13 พฤศจิกายน

“อับดุล สามทุ่มครึ่งแล้ว ขึ้นนอนได้แล้วนะลูก” เสียงแม่ตะโกนจากห้องครัว

“พรุ่งนี้วันเสาร์นะฮะ อ้าว มีข่าวพิเศษออกทีวีทุกช่องตอนนี้ฮะแม่” อับดุลตะโกนบอกแม่

เสียงจากโทรทัศน์ พร้อมภาพเหตุการณ์

“เกิดระเบิดขึ้นที่สนามกีฬาสตัดเดอฟรองซ์ ที่กำลังจะมีการแข่งขันฟุตบอลนัดสุดท้ายของถ้วยยูฟ่ายูโรระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ตามมาด้วยระเบิดฆ่าตัวตายอีกสองลูก ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออล-ลองด์ ของฝรั่งเศสที่ไปร่วมชมการแข่งขันได้ถูกพาตัวไปยังที่ปลอดภัย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเกิดการกราดยิงอีกหลายแห่งในเขต 10 และเขต 11 ของกรุงปารีส มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ภัตตาคารเลอเปอติทกัมโพช บาร์อีกสองแห่ง และตามท้องถนนในกรุงปารีส รวมทั้งการกราดยิงผู้คนกว่า 1,500 คนที่กำลังชมคอนเสิร์ตของวงอีเกิลออฟเดทเมทัล ที่บาตาคลองคอนเสิร์ตฮอลล์ ประมาณการว่าขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 130 คน และบาดเจ็บสาหัสอีกกว่าร้อยคน ตำรวจยังพบระเบิดเวลาซุกไว้ในเป้ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซ่ แต่ระเบิดไม่ทำงาน ขณะนี้มีรายงานไม่ยืนยันว่าพบรอยนิ้วมือที่เป้ตรงกับคนร้ายที่ระเบิดฆ่าตัวตายรายหนึ่งที่มีประวัติว่าเคยเดินทางไปซีเรีย ชื่อมุสตาฟา ขณะนี้กองกำลังไอเอสได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มไอเอสเพื่อล้างแค้นการที่ฝรั่งเศสเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในซีเรีย ประธานาธิบดีออลลองด์ประกาศว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นปฏิบัติการสงคราม…”

“แม่ฮะ พี่มุสตาฟา” อับดุลอยากร้องตะโกน แต่เสียงนั้นกลับแผ่วเบาสิ้นหวัง

*มูเซ่ดอร์เซ่ (Musee d”Orsay) พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ปรับปรุงจากสถานีรถไฟออร์เซ่ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1986 งานแสดงส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ของฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ.1848 ถึง ค.ศ.1915

**Fernand Cormon (24 December 1845-20 March 1924) ศิลปินนักวาดภาพชาวฝรั่งเศส วาดภาพ “The Flight of Cain and his family” ในปี ค.ศ.1880