ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ตุลาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พัลลภ สามสี |
เผยแพร่ |
เชื่อว่านาทีนี้ชื่อของ “วีรพร นิติประภา” และนิยายชื่อยาว “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวรรณกรรมไทยไปแล้ว
ทันทีที่สิ้นเสียงประกาศของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ เรียกขานขนานนามให้วีรพรใหม่ว่า “นักเขียนดับเบิลซีไรต์”
ทั้งยังขยายความอีกว่า “เป็นนักเขียนหญิงคนแรกและคนเดียวที่ได้ดับเบิลซีไรต์”
ยังไม่พอ สถิติใหม่ยังไม่หมดเท่านั้น “เขียนนิยายเพียงสองเล่ม ก็ได้ซีไรต์ทั้งสองเล่ม” เป็นอีกนิยามที่เพิ่มเข้ามาอีก
ขณะที่แวดวงเพื่อนฝูงหยอกล้อเธอว่า “นี่มันเมอรีล สตรีป ราชินีแห่งออสการ์ชัดๆ”
และบางคนเรียกเธอว่า “กวีซีไรต์” (ฮา)
เสียงเยินยอและชื่นชมเหล่านี้ ถ้ามองแบบทฤษฎีของนิยายแล้ว “มันก็ช่างแหว่งวิ่นสิ้นดี” ทุกสิ่งล้วนมาจากการปะติดปะต่อความคิด ความรู้สึกของคนจำนวนมากที่มีต่อเรื่องเรื่องหนึ่ง
กับดักทางความคิดเช่นนี้ทำให้นิยายทำหน้าที่ยั่วล้อห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ไปไม่รู้จบ
เพื่อหนีหลุมพรางมายาคติดังกล่าว และเฟ้นหามุมมองใหม่ๆ ในการเขียนถึงหนังสือที่ถูกเลาะกระดูก ฉีกทึ้งเนื้อหา ถอดโครงสร้างมากางวิพากษ์ตลอดสามปีที่มันลืมตาดูโลก
(เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ จริงๆ สามารถเพิ่มเสียงชื่นชมต่องานเขียนของวีรพร นิติประภา ได้อีกว่า ก่อนได้รับรางวัลซีไรต์ นิยายทั้งสองเรื่องของเธอได้ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้อ่านมาอย่างหนักหน่วง มีการเขียนวิจารณ์ทั้งในพื้นที่ส่วนตัว เวทีเสวนา การสัมมนาทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ)
จึงคิดว่า ควรจะพูดในมุมที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน ไม่ปอปั้น และไม่แตะต้องตัวบทของนิยายมากจนเกินไป
ใจจึงประหวัดถึงโมงยามระหว่างการทำงานด้วยกันระหว่างบรรณาธิการและนักเขียน
เช่น เราเคยถกกันว่า ควรจะนิยามหรือจำแนกนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นแขนงไหนดี
วีรพรก็ตอบขำๆ มาว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์มังงะ” เพราะจะมีนักเขียนที่ไหนเอาความทรงจำมวลมนุษย์ไปยัดใส่ทรงจำของแมวตัวหนึ่ง เลยทำให้เรื่องราวของตัวละครในบ้านสกุลตั้งทั้งหลายดูจะวูบวาบและเว้าแหว่งไปตามประจุความคิดแบบแมวๆ
ความมังงะอันแสนมหัศจรรย์ของตัวละครในประวัติศาสตร์จริงๆ ที่วีรพรยกเอามาประกอบเป็นฉากหลังห้วงเวลาชีวิตของตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นเส้นแบ่งเวลาที่สมจริง
อย่างกรณีการหนีตายจากการปิดล้อมกลางลำน้ำเจ้าพระยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น แทบไม่ต่างจากความสามารถเหนือมนุษย์ของสายลับเจมส์ บอนด์ อันสร้างความประทับใจให้ผู้ที่ได้อ่านและฟังเรื่องนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตาหรืออิ๊อ๊ะสะดุดใจตั้งคำถามเลยว่า…เป็นไปได้อย่างไร
(เขียนมาถึงตรงนี้ก็พลันนึกถึงตอนเลือกสถานที่เปิดตัวหนังสือ ว่าต้องไม่ซ้ำใคร มีความเป็นจีน ที่สำคัญเป็นฉากหนึ่งในเรื่อง ก็เลยมาประจวบเหมาะที่ “ศาลเจ้าเกียนอันเกง” เพราะทราบมาว่าที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีรอยกระสุนเมื่อครั้งกบฏแมนฮัตตันพลัดหลงเข้ามาโดนตัวอาคาร และวีรพรยังกำหนดให้ที่นี่เป็นฉากวางจดหมายน้อยของกบฏทหารเรือที่จิตไสวมาหยิบไป)
อุบายในการเล่าประวัติศาสตร์ของคนเขียนประวัติศาสตร์จะถูกวีรพรซ้อนอุบายตั้งคำถามเช่นนี้อยู่ตลอดเรื่อง ทำให้ต้องเช็กข้อมูลและเทียบเคียงเหตุการณ์ต่างๆ ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน หลัง หรือพร้อมๆ กัน ทั้งในไทย จีน และโลก
เช่นในบทที่ 8 “หลิวเมืองจีนในแดนใต้” วีรพรได้จี้ให้คิดกรณีคนบ้ากินข้าวหลังสิ้นสงคราม กินอย่างเทิดทูนในคุณข้าว บางบ้านไหว้ข้าวก่อนกินเสียด้วยซ้ำ
เขาว่ากันมาก็ว่าตามไป ไม่ได้ฉุกคิดถึงต้นสายปลายเหตุจริงๆ ว่าเกิดขึ้นจากอะไร
(เขียนมาถึงตรงนี้ ก็ตระหนักได้ว่าบทนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะพูดถึงแก่นเรื่องของการคว้างคว้าหาที่ยึดเหนี่ยวของคนไร้แผ่นดิน ดังที่วีรพรบรรยายไว้ว่า “ชีวิตทั้งชีวิตของเขาหาได้มีแก่นสารมากไปกว่าดิ้นรนค้นหาสิ่งอันอาจทำใจให้รักได้ในโลกแล้ง และถาโถมรักไม่กี่สิ่งนั้นไปจนสุดหัวใจ เพียงเพื่อจะพลัดพรากจากพวกมันไปอีกและอีก …ซ้ำแล้วซ้ำอีก”)
ซึ่งต้องเช็กข้อมูลว่าช่วงนั้นตรงกับปีใดให้ชัดเจน
นอกจากความถูกต้องของข้อมูลประวัติศาสตร์แล้ว ความถูกต้องของตรรกะความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ทุ่มเถียงหารือกัน เช่น มะเร็งหัวใจ ซึ่งไม่เคยมีการแพทย์สำนักไหนอธิบายได้ว่ามี
แต่วีรพรก็ยืนยันหนักแน่นว่า มะเร็งแบบนี้มันเกาะกินหัวใจอันเปล่าดายคนอย่างจรัสศรีเท่านั้น
ในระหว่างการทำงานนั้นมีอีกสิ่งหนึ่งที่เคยตั้งข้อสังเกตกับวีรพร นั่นก็คือชื่อบททั้ง 34 บท ซึ่งให้ความรู้สึกประหนึ่งชื่อเรื่องของวรรณกรรมเยาวชนหรือนิยายขนาดสั้นชั้นดี – ปีกหยดน้ำตาแห้งของแมงเม่า – ห้องสายฝน – พระนครแห่งควันไฟ – โบตั๋นเบ่งบานชั่วนิรันดรในฟองแก้ว – รถไฟพระจันทร์ ฯลฯ
แต่ละชื่อสามารถนำเอาไปครอบลงหน้าเรื่องอีกเรื่อง และเล่าใหม่ได้เลยทันที
ไม่แปลกที่กรรมการซีไรต์จะรู้สึกว่าเป็นการเล่าแบบนิทาน และตัววีรพรเองก็เคยยอมรับว่านี่เป็นความตั้งใจหนึ่ง ซึ่งเธอบอกว่าอยากให้มันมีกลิ่นอายวรรณกรรมเยาวชนดาร์กๆ หรือดิสโทเปียหน่อยๆ ก็เท่านั้นเอง
นอกจากนี้ การคงแคแร็กเตอร์การเขียนที่ให้บทสนทนาเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องเล่าเหมือนตอนเขียนไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุยกันว่า เหมาะกับการเล่าเรื่องของเล่มนี้อย่างมาก เพราะมันทำงานได้อย่างทรงพลังมากกว่าเมื่อร้อยไปกับเนื้อหาของเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ซ้อนประวัติศาสตร์
ทำให้น้ำหนักของการเล่าเรื่องทรงพลังมากขึ้น
ส่วนเรื่องของการฉีกคำนั้นอาจจะน้อยลงกว่าเล่มแรก เพราะไม่ได้เล่นกับความเป็นมายาคติ หากแต่เล่นกับ “ความจริง” มากกว่า
แต่กระนั้นก็ยังคงจังหวะจะโคนประหนึ่งบทกวีไว้ได้อย่างสละสลวย (หรือนี่คือที่มาของคนที่เรียกวีรพรว่า กวีซีไรต์ (ฮา))
ลักษณะการใช้ภาษาของวีรพรนั้น ยิ่งอ่านมากยิ่งเสียหลัก เพราะตัวหนังสือฉึบฉับเหล่านั้นยิ่งกว่าหนวดนับไม่ถ้วนของปลาหมึกยักษ์ในภาพวาด “ความฝันของเมียชาวประมง” ที่จะค่อยๆ แวดล้อมตัวเรา ซึมเซาะจนจินตนาการบรรเจิดไปถึงไหนๆ และกลืนกินวิธีการเขียนของเราไปโดยไม่รู้ตัว
ลองสังเกตดูก็ได้ว่า ใครที่รีวิวงานเขียนของวีรพร ไม่มากก็น้อยจะหยิบเอาสำนวนของเธอมาเขียนตามอย่างไม่รู้ตัว
การบ้านอันหนักหน่วงในการทำให้ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” เป็นที่ชื่นชอบของคนอ่าน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ได้สร้างมาตรฐานในใจคนอ่านไปแล้ว
เพราะเขียนเล่มแรกก็คว้ารางวัลซีไรต์มาทันที มีนายทุนและผู้กำกับสนใจนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกต่างหาก
และตัวพุทธศักราชอัสดงฯ เอง ทั้งยาวกว่า ตัวละครมากกว่า เนื้อหาหนักแน่นกว่า ซับซ้อนมากกว่า และเล่นกับภาพใหญ่มากกว่า
ดังนั้น ปกเรื่องนี้ต้องขายตัวเองให้ได้มากที่สุดและขยายเนื้อหาออกมาให้กระแทกผู้คนแค่เพียงแว้บเห็นผ่านตา
และเมื่อหยิบมาอ่านแล้ว ข้อความบนปกต้องบอกเล่าเนื้อในได้อย่างว่องไวและกระชับเช่นกัน
ดังนั้น การนำเสนอแบบ “คอนราจ” จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดกับเนื้อในนิยายที่เล่าถึงประวัติศาสตร์กะพร่องกะแพร่งตัดแปะไปกับเรื่องราวส่วนตัวอันเป็นจักรวาลเล็กๆ ของตัวละครทุกตัวที่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวกวัดกันเช่นนี้
และตลอดตั้งแต่บรรทัดแรกยันสุดท้าย สิ่งที่ตรวจสอบกันเสมอก็คือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” จะต้องไม่โพ้นทะเล ไม่ซ้ำรอยนักเขียนอื่นที่เคยเขียนถึงเรื่องจีน-ไทยมาก่อน จะต้องไม่คลิเช่ และมั่นใจว่าทุกองค์ประกอบสร้างผลักดันให้เนื้อความเรื่องพื้นที่ ทั้งในความหมายทางภูมิศาสตร์และอคติในใจมนุษย์ถูกขับเน้นออกมาอย่างเจริดจรัสสว่างไสวและจรุงใจไปกับอรรถรสการอ่านในฐานะ “นิยาย” เล่มหนึ่ง
การทำงานบนตัวอักษรกับวีรพรสนุกสนานเสมอมา บางคราทิ้งข้อความกันไว้ตีสี่ตีห้าว่า ด้วยหวังว่าสายๆ ค่อยมาตอบ
แต่ปรากฏว่าแค่เสี้ยววินาทีก็ตอบกันไปมา จนต้องไล่ไปพักผ่อนนอนเอาแรง จะว่าเวลาเร่งให้ต้องแล้วเสร็จตามเดตไลน์ก็ไม่เชิง
แต่เป็นเพราะเราต่างตื่นเต้นที่จะเห็นมันเป็นรูปเป็นร่าง อยากเห็นตัวละครทุกตัวออกไปทักทายคนอ่าน
อ่อ…ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราคุยกันเล่นๆ เสมอว่า วีรพรน่าทำกวีสักเล่มนะ เพราะไหนๆ คนก็ชอบเรียกว่า “กวีซีไรต์” กันนัก (ฮา)
หมายเหตุมติชนสุดสัปดาห์ : พัลลภ สามสี เป็นบรรณาธิการหนังสือนวนิยาย “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ของวีรพร นิติประภา