เรื่อง (ที่คนอาจไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล

12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 หากศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” ยังมีชีวิตอยู่ เขาย่อมอายุ 100 ปีบริบูรณ์

ไม่แน่ใจนักอาจช้าเกินไปรึเปล่าที่มาพรั่งพรูเรื่องราวของเขาในเดือนสิงหาคมแล้ว

แต่กระนั้น ผมเชื่อว่าการรำลึกถึงใครสักคนคงมิพักจำเป็นต้องจำกัดให้ตรงช่วงวาระครบรอบเป๊ะๆ เพียงอย่างเดียวกระมัง

อีกทั้งสิ่งที่ผมจะบอกเล่าก็ดูเหมือนยังไม่ค่อยมีใครเอ่ยอ้างเท่าไหร่นัก

และเนื่องจากเสนีย์เป็นนักเขียนไทยผู้ครอบครองหัวใจของผมในฐานะคนโปรดคนหนึ่ง

จึงใคร่นำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (ที่คนไม่ค่อยจะรู้) สักเพียง 6 ข้อดังต่อไปนี้

1.เสนีย์ เสาวพงศ์ เกือบจะมีชื่อจริงที่ไม่ใช่ “ศักดิชัย บำรุงพงศ์”

ก่อนหน้าปีพุทธศักราช 2482 เสนีย์เคยมีชื่อจริงนับแต่แรกเกิด “บุญส่ง บำรุงพงศ์” ชื่อนี้เคยอยู่บนปกหนังสือ สตาลิน ผลงานแปลของเขา

ครั้นเมื่อจะเข้ารับราชการเลยต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เพราะยุคสมัยนั้นชายหญิงต้องใช้ชื่อให้เหมาะสมกับเพศ ให้สอดคล้องตามสมัยรัฐนิยม

แท้แล้ว ชื่อที่เสนีย์ตั้งใจจะยื่นขอเปลี่ยนได้แก่ “สักกะ บำรุงพงศ์”

แต่เจ้าพนักงานประจำอำเภอกลับบอกว่า “สักกะ” ไม่มีคำแปลจึงไม่ยอมให้ใช้

มิหนำซ้ำยังตั้งชื่อใหม่ให้เสนีย์เองเป็น “ศักดิชัย”

ซึ่งเสนีย์ก็ยอมรับโดยดีหาได้ขัดข้อง ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบต่อล้อต่อเถียง

อ้อ! เกือบลืมแล้วสิ พระอินทร์คือคำแปลความหมายของ “สักกะ” ถ้าไม่เชื่อลองเปิดพจนานุกรมดูครับ

2.เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 5 รับเงินรางวัลราวๆ 200 บาท

ช่วงปีพุทธศักราช 2479-2480 แน่ละ ตอนนั้นเสนีย์ยังใช้นามเดิมคือ “บุญส่ง” เพื่อนสนิทของเขาอย่างทองเติม เสมรสุต ได้เปิดร้านรับเหมาก่อสร้างโดยเช่าตึกแถวสองชั้นเพียงคูหาเดียวริมถนนบำรุงเมืองระหว่างสี่แยกแม้นศรีกับซอยโรงเลี้ยงเด็ก ติดป้ายชื่อร้านว่า “ศิษย์อุเทน”

อยู่มาวันหนึ่ง เสนีย์เดินทางพร้อมทองเติมและเพื่อนอีกคนไปตรวจงานรับเหมาสร้างบ้านไม้ชั้นเดียวในซอยประสานมิตร ถนนสุขุมวิทเพื่อส่งมอบให้เจ้าของ นับเป็นงานใหญ่ชิ้นแรกของร้าน

ในยุคที่ความเจริญของกรุงเทพฯ สิ้นสุดลงตรงแค่ทางรถไฟปลายถนนเพลินจิต อาณาบริเวณบ้านหลังดังกล่าวจึงมีสภาพถนนดินตัดผ่านทุ่งนา

พอทั้งสามจัดการธุระเสร็จเรียบร้อย ขากลับแวะซื้อล็อตเตอรี่หนึ่งฉบับ ราคา 1 บาท ซึ่งต้องลงชื่อและที่อยู่ในต้นขั้วด้วย จะเขียนชื่อจริงหรือชื่ออะไรก็ตามใจ

เสนีย์กับทองเติมและเพื่อนเลยเขียนระบุนาม “สามคนจากบางกะปิ ที่อยู่กลางทุ่งนา”

แล้วก็ถูกรางวัลที่ 5

3.เสนีย์ เสาวพงศ์ หลงใหลกีฬาชกมวย และเคยฝึกซ้อมที่จะเป็นนักมวย

เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยหัดชกมวยในตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น แต่ไม่เคยได้ขึ้นชิงชัยบนสังเวียนสักที เพราะเขาตัวเล็ก

แต่เวลาฝึกซ้อมต้องจับคู่กับคนที่ตัวโตตัวสูงกว่า วิธีเดียวให้เจ็บน้อยที่สุดคือพยายามหลบให้เก่งไว้ ชกให้ไวกว่าอีกฝ่าย

เสนีย์โชคดีที่ไม่ค่อยถูกชกด้วยหมัด เลยไม่ปรากฏบาดแผลบนใบหน้าเท่าไหร่

สำหรับยอดนักมวยในดวงใจของเขาได้แก่ สิน สารเทียน, สมาน ดิลกวิลาศ, สมพงษ์ เวชสิทธิ์ และเหม ชิตปรีชา

อันที่จริง เสนีย์เคยเกือบจะได้ขึ้นชกรุ่นเล็กสุดแห่งยุคนั้นคือรุ่น จ. อยู่เหมือนกัน ทว่าพอชั่งน้ำหนักเกินเกณฑ์นิดหน่อยจึงพลาดโอกาส

กระนั้น เขายังไม่ลดละความพยายามโดยถ่ายยาลดน้ำหนักวันจะขึ้นชั่ง

พอพี่ชายของเขาทราบเรื่องจะเฆี่ยนไม่ยอมให้ถ่ายและห้ามปรามมิให้ชกมวยอีกต่อไป จนต้องเลิกใฝ่ฝันจะเป็นนักมวยในที่สุด

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เสนีย์ชอบมวยเหลือเกินเป็นทุนเดิม เขามักติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงหมัดมวยเสมอๆ

รวมถึงนำเอาประสบการณ์ในด้านหมัดมวยมาถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้น เช่น ในเรื่อง “ข้าวแกงจานเดียว” เป็นต้น

กระทั่งขณะดำรงตำแหน่งนักการทูตในประเทศอาร์เจนตินา เสนีย์ยังมีส่วนในการช่วยติดต่อประสานให้ยอดนักมวยสากลชาวอาร์เจนไตน์นามปาสกวัล นิโกลัส เปเรซ (Pascual Nicol?s P?rez) ได้เดินทางมาชกกับโผน กิ่งเพชร นักชกชาวไทย ณ เวทีมวยลุมพินี เมื่อคืนวันที่ 16 เมษายน ปีพุทธศักราช 2503

โดยโผนคว้าชัยชนะเหนือเปเรซได้สำเร็จกลายเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทย

4.เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยพบปะพูดคุยกับอ็อกตาวิโอ ปาซ นักเขียนรางวัลโนเบล

อ็อกตาวิโอ ปาซ (Octavio Paz) นักเขียนและนักการทูตชาวเม็กซิกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปีคริสต์ศักราช 1990 เคยเดินทางไปเป็นนักการทูตที่ประเทศอินเดีย

ตอนนั้นเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ดำรงตำแหน่งนักการทูตในแดนภารตะเช่นกัน (ช่วงพุทธศักราช 2505-2508) ทั้งสองสบโอกาสได้พบเจอและพูดคุยกัน แต่เสนีย์ไม่ค่อยได้เอ่ยถึงเรื่องการเขียนหนังสือเท่าที่ควร

และมิได้บอกปาซว่าเขาเองก็เป็นนักเขียน นักการทูต (และนักประพันธ์) ชาวไทยสนทนากับนักประพันธ์ (และนักการทูต) จากเม็กซิโก

แค่เพียงว่าเขาเคยอ่านงานเขียนของปาซที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วชอบมาก

5.เสนีย์ เสาวพงส์ เคยร่วมเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมศึกษา

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้สร้างผลงานวรรณกรรม สารคดี และบทความจิปาถะต่างๆ ไว้มากมาย แต่สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือเสนีย์เคยเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมสังคมศึกษา สำหรับประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย

นั่นคือ เรื่องเที่ยวรอบโลก ตอนเที่ยวละตินอเมริกา ซึ่งมีประเทศเม็กซิโก กลุ่มประเทศอเมริกากลาง และดินแดนในทะเลแคริบเบียน

โดยทางกรมวิชาการได้ขออนุมัติกระทรวงศึกษาธิการให้นางสาวชูสิริ จามรมาน และนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น

และทางกระทรวงได้แต่งตั้งนายเสนาะ ครองอาตม์ เป็นผู้ตรวจ จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 2,000 เล่ม เมื่อปีพุทธศักราช 2511

เหตุที่ศักดิชัยหรือเสนีย์ได้รับหน้าที่ดังกล่าวอาจเพราะเขาเคยใช้ชีวิตนักการทูตในทวีปอเมริกาใต้นานหลายปี

ผมเองได้พลิกอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เพลิดเพลินดีครับ

เนื้อหาเข้าใจง่ายและมีภาพประกอบสีสันสะดุดตา

เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจเรียนรู้ภูมิภาคละตินอเมริกาเลยทีเดียว

6.ร้านหนังสือที่เสนีย์ เสาวพงศ์ ชอบแวะเวียนไปตอนหนุ่มๆ

ลูกค้าสำคัญคนหนึ่งของร้านหนังสือ “สำนักงานนายศิลปี” ริมถนนตีทองใกล้สี่แยกเฉลิมกรุงเห็นจะมิพ้นคนหนุ่มนามศักดิชัย บำรุงพงศ์

เจ้าของร้านหนังสือคือ ป่วน บูรณศิลปิน หรือ ป.บูรณปกรณ์ นักเขียนคนสำคัญแห่งยุคทศวรรษ 2470-2480

ส่วนภรรยาซึ่งเป็นผู้จัดการร้านหนังสือชื่อว่ากัณหา บูรณปกรณ์ เจ้าของนามปากกา ก. สุรางคนางค์ นักประพันธ์นวนิยายอย่างบ้านทรายทอง มาเป็นผู้จัดการร้านหนังสือ

ความน่าสนใจของร้านหนังสือ “สำนักงานนายศิลปี” อยู่ตรงที่การเป็นแหล่งจำหน่ายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก

ไม่เพียงหนังสืออ่านสนุกสารพัดเรื่อง ยังมีหนังสือซึ่งทางการมองว่าเข้าข่าย “หนังสือต้องห้าม” ด้วย เช่น ผลงานของพวกนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย วรรณกรรมของพวกนักเขียนจีนและนักเขียนโซเวียต

หนังสือเหล่านี้อาจหาจากร้านหนังสืออื่นๆ ไม่ได้เลย เพราะเจ้าของร้านเกรงกลัวกฎหมายทางการ

แต่หากลองแวะมาเดินดูตามชั้นวางหนังสือของ “สำนักงานนายศิลปี” อาจจะร้องว้าว

เสนีย์ เสาวพงศ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เคยไปเลือกดูหนังสือในร้านนี้ว่าทำให้เขามีโอกาสได้อ่านงานเขียนของโดโรเลส อีบารูรี (Dolores Ib?rruri) สตรีนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในสงครามกลางเมืองสเปน

รวมถึงได้อ่านงานเขียน What is to be done? ของเลนิน, วรรณกรรมของนักเขียนจีนอย่างหลู่ซิ่น และวรรณกรรมของนักเขียนรัสเซียอย่างฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky)

น่าจะยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง (ที่คนอาจไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งผมเองหมายใจจะเพียรสืบค้นต่อไป แต่ในส่วนที่นำมาบอกเล่าแล้ว หากทุกท่านสงสัยว่าเสาะหามาจากไหนกัน ก็ขอเชิญชวนลองอ่านหนังสือเหล่านี้ได้ครับ ข้อเขียน “จาก เสนีย์ เสาวพงศ์ ในวันนี้และพรุ่งนี้” ในนวนิยาย ความรักของวัลยา จัดพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยศูนย์หนังสือเชียงใหม่ในปีพุทธศักราช 2519, บทสัมภาษณ์ “สนทนาสามัญชน” ใน ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2528, หนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจนายทองเติม เสมรสุต ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2534, 72 ปี ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนสามัญชน และ 84 เสนีย์ เสาวพงศ์ ไฟยังเย็นในหัวใจ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หยิบยกมาแสดงไว้ทั้งหมดหาใช่ยึดโยงแค่ชีวประวัติของเสนีย์ เสาวพงศ์ เท่านั้นหรอก

แต่ยังสะท้อนให้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์ไทยในด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งนักประพันธ์เลื่องชื่อผ่านพบด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อตามนโยบายรัฐนิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กระแสความคลั่งไคล้กีฬามวยของเด็กหนุ่มชาวสยามในอดีต

รวมถึงกิจกรรมและข้าวของแห่งวันวานอย่างการซื้อหนังสือและซื้อล็อตเตอรี่

แน่ละ ประเด็กเล็กๆ เหล่านี้มองเผินๆ อาจดูไม่มีอะไร

ทว่าเชื่อเถอะครับ ล้วนสามารถนำไปศึกษาต่อยอดขยายความได้กว้างขวางเกินคาดทีเดียว