100 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ กับผู้หญิงในเรื่องสั้นของเขา

ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (นามเดิม บุญส่ง บำรุงพงศ์) นามแฝง เสนีย์ เสาวพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2461 ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และเสียชีวิตเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2557

ตรีศิลป์ บุญขจร ได้กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการฉลองอายุ 84 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์มติชนว่า

“เสนีย์ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยวรรณกรรมและเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของนวนิยายไทย ยิ่งกว่านั้นเสนีย์ยังเป็นนักเขียนที่ไม่ใช่แค่นักเขียนของสังคมไทย แต่เป็นนักเขียนของมนุษยชาติ สามารถทำนายอนาคตผ่านงานเขียนด้วยคุณค่าของงานที่เต็มไปด้วยญาณทัสนะ”

ดังนั้น นอกจากคุณค่าของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่มีต่อประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยแล้ว จึงไม่อาจมองข้ามความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมเพื่อชีวิตไปได้ ในสังคมไทยงานวรรณกรรมสมัยใหม่มีประวัติที่มักเกี่ยวพันกับการเมืองอยู่เสมอ บ้างก็ได้รับแรงกดดันจากการเมือง บ้างก็พยายามที่จะออกจากแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้น

โดย “ปีศาจ” นิยายที่มีชื่อเสียงของเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้หยิบยกปัญหาของภาคเกษตรกรรมไว้ในนวนิยายเพื่อชีวิตและเสริมสร้างจิตสำนึกที่มีต่อปัญหาสังคมหรือความรับผิดชอบต่อสังคม หากพิจารณาในแง่ของรูปแบบการนำเสนอแล้ว ถือว่าเป็นนวนิยายไทยที่นำเสนอเชิงสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนภาพปูมหลังของสังคมที่ยังคงลักษณะเนื้อแท้ของความเป็นสังคมแบบเก่า ที่แม้ว่าจะมีการปฏิรูปทางการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปี 2475 แล้วก็ตาม ชนชั้นอภิสิทธิ์ที่เป็นเพียงกลุ่มคนบางส่วนของสังคมก็ยังปกครองคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งปรากฏในเรื่องและไม่มีแม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามอยู่เป็นจำนวนมากเหล่านี้ ซึ่งก็คือชาวนานั่นเอง

ในบทความชิ้นนี้จะมุ่งนำเสนอพฤติกรรม คำพูดและความคิดของผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น ตีนหนา หน้าบาง หนองปรงก็ไม่สิ้นคนดีและสาวสมัย ตามลำดับ

ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในเล่ม “แจ่มรัศมีจันทร์” รวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์

เรื่องสั้น “ตีนหนา หน้าบาง” ผู้เขียนให้ “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่องในสิ่งที่ประสบพบมาหรือตัวละครหลัก (character narrator) แบบมิติเดียว (fiat character) ที่มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมซึ่งสามารถสรุปได้ไม่ยากเย็น เช่น “ผมเป็นคนชอบเดินทาง” ซึ่งเป็นประโยคเปิดเรื่องสั้นนี้

“ผม” หนุ่มชาวกรุง (ตีนบางคนหนึ่ง) ออกเดินทางและหลงเข้าไปในป่า ฝนตก หิวและจับไข้ จึงเข้าไปหลบในศาลาหลังหนึ่งซึ่งมีคนอยู่ก่อนและเป็นผู้หญิงที่เดินฝ่าละอองฝนไปหากล้วยมาให้เขากิน ช่วยถอดเสื้อผ้าเอาไปบิดและตากผึ่งไว้แล้วกลับมานั่งใกล้ๆ ให้เขากอด จึงได้รอดชีวิตจากความกรุณาของหญิงสาวชาวป่าตีนหนา หน้าบาง ที่พอเขาฟื้นไข้ก็ไม่พบเธอ จึงออกตามหา เพื่อจะกล่าวคำ “ขอบคุณ”

“จริงนะคุณ ในชีวิตของคนเรา เรามักพบคนที่ทำอะไรให้เพียงนิดหน่อย แต่ทวงบุญคุณเสียล้นเหลือ แต่มีบางคนที่ทำบุญให้แก่ชีวิตเราอย่างสำคัญที่สุด เพราะเขาใจสูงพอที่จะไม่ปรากฏตัวออกมาเรียกร้องบุญคุณนั้นเลย” (น.243)

ข้อความข้างต้น เป็นตอนจบของเรื่องที่อาจเป็นสูตรสำเร็จเชิงสำนึกทางศีลธรรม แต่เป็นการเปรียบเทียบถึงความขัดแย้งของชื่อเรื่องให้ผู้อ่านขบคิดระหว่างคำว่า “ตีนหนา หน้าบาง” กับ “ตีนบาง หน้าหนา” ที่เล่นคำให้มีความหมายแฝงเชิงโชคล้อ (irony of fate) ถึงน้ำใจของหญิงสาวชาวป่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

ส่วนเรื่องสั้น “หนองปรงก็ไม่สิ้นคนดี” ผู้เขียนใช้ผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ (omniscient) ที่เป็นเพียง “เสียง” วิจารณ์หรือตัดสินตัวละคร โดยวิธีสร้างลักษณะนิสัยของตัวละครโดยผู้เล่าเรื่อง ซึ่งแฝงอารมณ์ขัน แต่อาจมีตอนจบที่รวบรัดเกินไป

“อ่อน” หญิงสาวชาวบ้านหรืออรอนงค์ ผู้ไปทำงานเป็นสาวใช้ในบางกอก แต่งเนื้อตัวหรูหราอย่างกะลิเก กลับมาเยี่ยมยายอ่วมผู้เป็นแม่ซึ่งป่วย ตอนเช้าอ่อนหรืออรเอาเสื่อกับหมอนไปนอนอาบแดดเลียนแบบแหม่ม จึงมีคนเดินไปมาหลังบ้านกันคึ่กคั่ก

ผู้เขียนสะท้อนสังคมไทยสมัย “พัฒนา” คือการอพยพแรงงานจากชนบทเข้าไปกรุงเทพฯ อันเป็นผลจากนโยบายทางเศรษฐกิจและความเจริญทางวัตถุที่มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองหลวง และยังให้ภาพปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมตะวันตก ผ่านการอาบแดดของตัวละคร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตีนบาง หน้าหนา

ที่สุดท้ายเกิดนึกขึ้นได้ ตัดสินใจไม่กลับไปทำงานต่อที่บางกอก เลือกจะอยู่กับแม่ อยู่ที่บ้านเกิด ที่บรรจุความรัก ความผูกพัน ความทรงจำและธรรมชาติในสายเลือด มากกว่าจะจากไปใช้แรงงานอยู่ที่อื่น

ในเรื่องสั้น “สาวสมัย” ผู้เขียนให้ “ข้าพเจ้า” เป็นผู้เล่าเรื่องที่ประสบพบมา (character narrator) โดยใช้ศิลปะการสร้างตัวละครทางอ้อมให้ผู้อ่านรู้จักนิสัยใจคอจากบทสนทนาและความคิดของตัวละคร

ข้าพเจ้ามาเยี่ยมเพื่อน หลังจากห่างเหินไปนานและได้พบพูดคุยกับหนุ่ย เด็กหญิงที่เติบโตบรรลุนิติภาวะแล้ว ในประเด็นเรื่องการแต่งงาน

“สำหรับหนุ่ย ชีวิตจะต้องเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด การสร้างบุคลิกภาพของผัวและเมีย… หนุ่ยต้องการความรักที่แท้และยั่งยืน ความรักเดียว-และด้วยหัวใจเดียวของผู้ชายที่เคารพค่าและความเสมอภาคของผู้หญิง” (น.312-313)

จากข้อความข้างต้น สิ่งแวดล้อมทางครอบครัวหรือการศึกษา ได้สร้างบุคลิกลักษณะและความคิดบางอย่างในสมองของเด็กที่อยู่ในวัยบริสุทธิ์ อันเป็นผลผลิตจากความกระตือรือร้นในการคิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและอนาคตของตนให้ดีขึ้น ซึ่งทัศนะดังกล่าวมีความน่าสนใจความเป็น “สาวสมัย” ที่ส่งผ่านบุคลิกลักษณะดังกล่าวไปถึงตัวละครหญิงในนวนิยายของเสนีย์ เสาวพงศ์

สรุปได้ว่า จากหญิงสาวชาวป่าผู้มีตีนหนา หน้าบาง ถึงอ่อนหรืออรผู้มีตีนบาง หน้าหนา และหนุ่ย สาวสมัย ทำให้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวละครที่มีการ “พัฒนา” ทางความคิดและจิตใจในเรื่องสั้น ให้น่าศึกษาบทบาทความคิดและการกระทำของ “สตรี” ต่อไป โดยเฉพาะตัวละครเอกในนวนิยาย เช่น มาเนีย ใน “ชัยชนะของคนแพ้” วัลยา ใน “ความรักของวัลยา” รัชนีและกิ่งเทียน ใน “ปีศาจ” ซูซานน่า ใน “ไฟเย็น” และรสสุคนธ์ ใน “ดิน น้ำ และดอกไม้” ที่ต้องการความทัดเทียมทางเพศผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบไทยๆ ไปสู่ความเป็นสังคมยุคใหม่ที่มีบุคลิกเป็น “ผู้นำ” การเปลี่ยนแปลง