เรื่องสั้น : คลิ้ง/วรชัย

ปีนั้น

นักเรียนที่สอบเปรียญธรรมสามประโยคได้ ทั้งสำนักเรียนมีเพียงสองรูปคือสามเณรคลิ้ง กับสามเณรวรชัย ทั้งสองมาจากวัดเล็กๆ ต่างอำเภอกัน เดินทางมาเรียนสำนักเรียนบาลีในวัดตัวจังหวัดที่เดียวกัน

หลังจากเข้าร่วมพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมสามประโยค โดยมีพระราชาคณะชั้นสมเด็จมาเป็นประธานมอบให้ ทางสำนักเรียนได้จัดให้มีงานฉลองตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อเป็นกำลังใจต่อความมุมานะอุตสาหะของสามเณรทั้งสองรูป

ก่อนวันฉลองพัดเปรียญธรรมสามประโยค สามเณรคลิ้งและสามเณรวรชัยเดินทางกลับวัดเดิมตัวเอง เพื่อไปนิมนต์อาจารย์มาร่วมยินดีด้วย

อาจารย์ของสามเณรคลิ้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เล็กๆ ชื่อว่าวัดดอนข่อย ตั้งอยู่กลางดอน รอบๆ เป็นทุ่งนา มีบ้านเรือนล้อมวัดราวๆ สิบกว่าหลัง ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดและดำรงอยู่ในสมณสารูปน่าเลื่อมใส ชาวบ้านจึงเคารพศรัทธาอาจารย์ของสามเณรคลิ้งเป็นอย่างมาก ท่านไม่มีสมณศักดิ์และตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นพระบ้านๆ ที่บวชนานและเคร่งครัดวินัยเท่านั้น จึงไม่เคยถูกนิมนต์ไปร่วมงานพิธีทักษิณานุประทานที่จัดโดยพระระดับท่านเจ้าคุณวัดไหน ดังนั้น พอลูกศิษย์คือสามเณรคลิ้งมาบอกให้ไปร่วมงานฉลองที่วัดในตัวจังหวัด มีพระเถระชั้นสูงจากวัดในกรุงเทพฯ มาเป็นประธาน ท่านก็ส่ายหน้า

“กูเป็นพระบ้านๆ อย่าไปให้ดูขัดหูขัดตาพิธีการเขาเลย แค่มึงอยากให้กูไปร่วม กูก็ดีใจแล้ว”

อาจารย์ของสามเณรคลิ้งบอกปฏิเสธศิษย์รักไปอย่างง่ายด้วยภาษาถิ่น ซึ่งสามเณรคลิ้งก็เข้าใจอาจารย์ดี เคยปรนนิบัติเป็นศิษย์ก้นกุฏิอยู่หนึ่งปี ถูกอบรมบ่มนิสัยเรื่องวินัยตั้งแต่วันบวชอย่างเข้มข้น ก่อนจะเดินทางไปเรียนบาลีที่วัดในตัวจังหวัดและสอบเปรียญธรรมสามประโยคได้สำเร็จ

วันงานฉลอง จึงมีแต่อาจารย์ของสามเณรวรชัยมาร่วม ทางนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดดังในตัวอำเภอ ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างรู้จักชื่อวัดเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่กล่าวขานเล่าลือกันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ ท่านขึ้นปกนิตยสารเกี่ยวกับพระเครื่องเรื่องปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์หลายปก ออกรูปเหมือนวัตถุมงคลให้บูชาเป็นที่นิยมของนักเล่นหาอย่างแพร่หลาย เสียงประทัดหน้าวัดดังไม่เคยหยุดตลอดปี มีผู้คนมาบนบานขอพรขอน้ำมนต์มิขาด วัดร่ำรวยมหาศาล แค่กิจการเก็บแผงร้านค้าบริเวณหน้าวัดเดือนหนึ่งๆ ได้เงินเทียบเคียงได้กับเจ้าของตลาดสดใหญ่ๆ โดยไม่รวมถึงยอดเงินที่จำหน่ายวัตถุมงคล เจ้าอาวาสมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ พ่วงด้วยตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ใหม่หมาด คือได้เป็นเจ้าคณะอำเภอ และจะมีการฉลองตำแหน่งดังว่าในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

ประธานสงฆ์วันนั้นถูกนิมนต์มาจากวัดดังพระอารามหลวงในส่วนกลางกรุงเทพฯ มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม และมีตำแหน่งทางการปกครองเป็นเจ้าคณะภาค มีหน้าที่ปกครองวัดทั่วทั้ง 4 จังหวัดในแถบนี้ ซึ่งก็รวมถึงวัดที่ตั้งสำนักเรียนนี้ด้วย

ช่วงพิธีกรรมเป็นไปอย่างอลังการ ที่นั่งสำหรับประธานในพิธีถูกประดับประดาไม่ต่างกับบัลลังก์ประมุขพรรคในหนังจีนกำลังภายใน มีดอกไม้สดราคาแพงประดับทั่วศาลาการเปรียญ ผ้าม่านผ้าแพร พรม ชุดโต๊ะไม้สักฝังมุกสำหรับแขกกิตติมศักดิ์ระดับคุณหญิงคุณนาย ครอบครัวคหบดี

พอเสร็จพิธีกรรม อาจารย์ของสามเณรวรชัยซึ่งมีความคุ้นเคยกันดีกับประธานสงฆ์ เพราะเคยเข้าหาวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เลยเข้าไปหาพร้อมถือโอกาสนิมนต์ท่านมาเป็นประธานในงานฉลองตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอของตนในเดือนหน้าด้วย

เดือนถัดมา พระราชาคณะชั้นธรรมรูปเดิมได้เดินทางมายังวัดของอาจารย์สามเณรวรชัย และด้วยปัจจัยใส่ซองถวายจำนวนมากเสียจนคำขอให้รับลูกศิษย์ขึ้นไปอยู่วัดที่กรุงเทพฯ ด้วย กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย สามเณรวรชัยเลยได้อยู่วัดพระอารามหลวงมัชฌิมประเทศ เพียบพร้อม สมบูรณ์ สัปปายะทั้งที่เรียน ที่พัก และที่ขบฉัน ตั้งแต่บัดนั้น

ขณะเดียวกันสามเณรเปรียญอีกรูปคือสามเณรคลิ้ง กลับมืดแปดด้านสำหรับการหาวัดอยู่เพื่อเรียนในระดับประโยค ป.ธ.4 สำนักเรียนหัวเมืองต่างจังหวัดเปิดการเรียนการสอนวิชาบาลีแค่เพียงประโยคสามเท่านั้น หากจะเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไปให้ถึงประโยค ป.ธ.9 ต้องเดินทางไปเรียนที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว

ด้วยความเป็นเด็กชนบทไกลปืนเที่ยง ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้เดินทางเข้าเมืองหลวง เรียนจบได้ถึงเปรียญธรรมสามประโยคเจ้าตัวถือว่าเป็นบุญอักโขแล้ว สามเณรคลิ้งเลยตั้งใจจะยุติการศึกษาสายบาลีไว้เพียงแค่นั้น แต่อาจารย์ไม่ยอม

“มึงยังอายุน้อย เมื่อมีโอกาสได้ศึกษา ก็ควรจะทำให้ดีที่สุด…”

ว่าแล้วภิกษุชราก็ตัดสินใจพาสามเณรคลิ้งขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อหาวัดอยู่เรียนต่อด้วยตัวเอง

ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนก่อนบวช ใช้ชีวิตโลดโผน เคยขึ้นเหนือล่องใต้ เป็นนักเลงหัวไม้ ทันปล้นก็ปล้น ร่วมขบวนโจรใหญ่สร้างชื่อไปถึงเมืองเพชรบุรี เคยเที่ยวเมืองกรุงก็หลายครั้ง สถานที่ดังๆ วัดวาอารามต่างๆ เคยผ่านตามาแล้ว หัวลำโพง สนามหลวง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดสระเกศภูเขาทอง วัดชนะสงคราม วัดราชนัดดา วัดเทพธิดา วัดสุทัศน์ ฯลฯ นับแต่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตออกบวชจนถึงทุกวัน เวลาเปลี่ยนไปหลายสิบปี แต่วัดวาอารามเหล่านั้นคงไม่เคลื่อนไปไหน

สามวันต่อมา หลังจากจัดเตรียมสัมภาระเอาผ้าจีวร สบง อะไรต่ออะไรใส่บาตร แล้วเอาบาตรใส่ลังเอาผ้าผลัดอาบน้ำม้วนกลมๆ ทำเป็นเชือกรัดลังจนแน่นหนา สองศิษย์-อาจารย์ก็เดินทางขึ้นเมืองหลวงด้วยรถไฟชั้นสาม และเนื่องจากวัยที่คล้อยค่ำของอดีตโจรที่ทิ้งปืนมาห่มผ้ากาสาวพัสตร์ สามเณรคลิ้งให้รู้สึกสงสารอาจารย์เป็นล้นพ้น รถไฟชั้นสามที่นั่งเป็นไม้แข็งทื่อ ผู้คนยัดแน่นกันเหมือนขบวนผู้อพยพหนีสงคราม

กว่ายี่สิบชั่วโมงที่ศิษย์-อาจารย์โคลงเคลงถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ดมกลิ่นห้องน้ำอยู่ในโบกี้เหล็กบุโรทั่ง จนที่สุดก็ถึงที่หมายปลายทางหัวลำโพงเอาย่างบ่ายสองโมงของอีกวัน เลยเป็นอันว่าทั้งสองรูปไม่ได้ฉันอะไรเลยทั้งเช้าทั้งเพล

สภาพเมืองกรุงสมัยที่อาจารย์ของสามเณรคลิ้งเข้ามาตอนวัยหนุ่มกับวันนี้แตกต่างกันชนิดเจ้าตัวมองแล้วหูตาพร่าพราย แค่เพียงโผล่หน้าออกมานอกสถานีหัวลำโพงก็ให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะแล้ว มีคนขับสามล้อสี่ห้าคนกรูมาล้อมหน้าล้อมหลังถามว่าจะไปไหน พอรู้จุดหมายปลายทางของทั้งสองเท่านั้นเอง ก็แย่งลังสัมภาระจากมือสามเณรคลิ้งไปยังรถของตนเหมือนมัดมือชก

ค่าโดยสารที่เสียให้กับคนขับรถสามล้อเป็นจำนวนเงินไล่ๆ กับค่ารถไฟชั้นสามที่เดินทางมาจากวัดบ้านนอก มันแพงมากเมื่อเทียบกับจำนวนปัจจัยที่มีอยู่ในซองของพระภิกษุชรา

สองศิษย์-อาจารย์ตั้งต้นที่สนามหลวง โดยทั้งสองไม่ลืมที่จะยืนนิ่งหันหน้าไปยังวัดพระแก้วแล้วยกมือไหว้ปฏิมาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ จากนั้นผู้เป็นอาจารย์ก็นำลูกศิษย์เดินเลาะไหล่ถนนราชดำเนินเพื่อหาวัดอยู่

อารามแรกที่เห็น ช่างยิ่งใหญ่สวยงามดั่งลอยเด่นอยู่ในความฝัน อุโบสถพระวิหารโอฬารใหญ่โต ลานวัดเป็นพื้นปูนเกลี้ยงเกลา ไม่เห็นดินเห็นหญ้า ปลูกต้นปาล์มประดับเรียงเป็นแถวมีระเบียบ เขตสังฆาวาสกับพุทธาวาสแยกกันอย่างชัดเจน ที่อยู่พระสงฆ์แยกเป็นคณะๆ

อาจารย์พาสามเณรคลิ้งเข้าไปยังคณะแห่งหนึ่งที่ปากประตูเขียนว่า “คณะเจ้าอาวาส” ภายในดูลึกลับและใหญ่โตจนทั้งสองรู้สึกเหมือนร่างกายตัวเองลีบลงกะทันหัน พื้นคณะทั้งหมดเทด้วยซีเมนต์เย็นเท้า เสียงทักทายแรกที่ต้อนรับศิษย์-อาจารย์จากวัดบ้านนอกคือเสียงหมาพันธุ์ฝรั่งเห่าขรมอย่างหมายร้าย บางตัวเห่าจากในห้อง ไม่อาจออกมาข้างนอกได้เพราะถูกประตูแบบซี่กรงมีมุ้งลวดกั้นอยู่ บางตัวเป็นหมาไทยพันธุ์บางแก้วขนสลวยเป็นหมากินดีอยู่ดี พุ่งเข้ามาเห่าและทำท่าจะกระโจนกัด จนสามเณรคลิ้งต้องเอาลังสัมภาระเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาไล่ให้ออกห่าง กระทั่งได้ยินเสียงใครคนหนึ่งตวาดให้เหล่าหมาวัดเหล่านั้นหยุดเห่า

“มาธุระอะไร…”

เสียงถามน้ำเสียงมะนาวไม่มีน้ำสำเนียงภาษาไทยกลางดัดลิ้นกลบเกลื่อนสำเนียงถิ่นดังขึ้นแทรกเสียงหมาเห่า เจ้าของเสียงเป็นพระภิกษุวัยสักหกสิบเศษๆ นุ่งสบงแต่ท่อนบนสวมเพียงอังสะหลวมๆ หน้าตาผุดผ่องเปล่งปลั่งมีราศี

ถ้าวัดจากวัย อาจารย์ของสามเณรคลิ้งน่าจะแก่กว่าหลายปี ทว่าภิกษุชรากลับนำสามเณรลูกศิษย์นั่งคุกเข่าลงกับพื้น ที่มีกองปฏิกูลทั้งเป็นก้อนและคราบน้ำฉี่ของหมาวัดปล่อยไว้ทั่วไป นำกราบสามครั้งแล้วบอกจุดประสงค์ของการมาให้ผู้ยืนตรงหน้ารับรู้

“ที่อยู่เต็มหมดแล้ว ไปหาที่อื่น ไป๊…”

พูดเสร็จ พระเจ้าถิ่นก็หันหลังกลับเลิกแยแสอาคันตุกะทั้งสอง มุ่งความสนใจไปยังหมาพันธุ์ฝรั่งตัวหนึ่งที่ส่งเสียงเห่าอยู่ในห้องกุฏิ

ศิษย์-อาจารย์จากวัดบ้านนอกจึงชวนกันเดินออกมาจากที่นั่นด้วยความรู้สึกหดหู่เป็นยิ่งนัก โดยมีเสียงหมาเห่าไล่หลังดังลั่นตามมา

วัดต่อมา เป็นวัดของพระราชาคณะชั้นธรรมที่เคยไปเป็นประธานงานฉลองพัดที่ผ่านมา ทว่ากลับไม่เจอตัวท่านเจ้าอาวาส เจอแต่พระที่ทำหน้าที่เลขาฯ และพอรู้ว่ามาขออยู่อาศัยก็ถูกบอกปฏิเสธทันที โดยอ้างที่อยู่เต็มเช่นกัน

วัดที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่ทั้งสองเดินเข้าไป ล้วนถูกปฏิเสธในทำนองเดียวกัน จนสุดท้ายสามเณรคลิ้งตัดสินใจคุกเข่าลงแทบเท้าอาจารย์ ที่หน้าประตูวัดใหญ่พระอารามหลวงแห่งหนึ่ง ก่อนที่อาจารย์จะนำเดินเข้าไปอย่างไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจเดิม

“กลับเถอะครับอาจารย์ ผมไม่เรียนต่อแล้ว เรากลับวัดเรากันเถอะครับ ผมขอร้อง”

ด้วยแววตาที่จริงจัง น้ำตาที่ไหลออกมาอาบแก้ม ตั้งแต่ปลงผมห่มผ้าเหลืองมา เพียงครั้งนี้เท่านั้นที่สามเณรคลิ้งร้องไห้

ภิกษุชราอดีตจอมโจรกลับใจเข้าใจความรู้สึกของศิษย์รักเป็นอย่างดี จึงไม่พูดอะไร พยักหน้าเบาๆ แล้วทั้งสองก็นั่งรถสามล้อไปยังสถานีหัวลำโพง และค่ำคืนนั้นได้ใช้ม้านั่งที่ริมชานชาลาสถานีเป็นกุฏิพักผ่อน เพราะรถไฟขบวนล่องใต้ไม่มีแล้ว ต้องรอวันรุ่งขึ้นในเที่ยวบ่ายสองโมง

ปีนี้

ในยุคที่คนรุ่นใหม่ต้องการศึกษาธรรมะ อันเป็นแก่นแท้มากกว่ารูปแบบพิธีกรรม จากพระปฏิบัติจริง และเป็นที่ประจักษ์ต่อปัญญาชน มิใช่พุทธกระแสหลักที่หนาด้วยกระพี้พิธีกรรมและยศชั้นสมณศักดิ์ เอือมระอาต่อผู้ห่มเหลืองไม่อิ่มในลาภสักการะ ส่งเสียงออดอ้อนผ่านเครื่องขยาย โยมจ๊ะ โยมจ๋า ใครหนอจะเป็นเทพบุตร เทพธิดา เจ้าภาพกระเบื้องมุงพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ใครหนอจะเป็นว่าที่มหาเศรษฐีในชาติหน้า เป็นเจ้าภาพแผ่นหินอ่อนปูพื้นพระวิหาร เอือมระอาต่อภาพลักษณ์พระที่เป็นเครื่องหมายผู้สละ แต่กลับปรุงเปรอเสริมแต้มกิเลสชนิดที่ชาวบ้านเองยังเทียบไม่ได้ กุฏิที่อยู่รโหฐานติดแอร์ปูพรมเนื้อดีราวกับบ้านเจ้าสัวนายธนาคาร ยานพาหนะระดับเมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดงานฉลองตำแหน่งใหญ่โตเอิกเกริกชนิดฆราวาสยังอาย ใช้โทรศัพท์มือถือเรือนละหลายๆ หมื่น ขณะชาวบ้านที่ใส่บาตรหาเช้ากินค่ำ ทำงานหาเงินเลือดตาแทบกระเด็น

วัดดอนข่อยจึงเป็นพุทธทางเลือกสำหรับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่มุ่งใฝ่ธรรมจริงๆ ด้วยความสงบจากร่มรื่นแมกไม้ธรรมชาติ ไม่เน้นสิ่งปลูกสร้าง เน้นสุขที่เกิดจากความสงบ โดยยึดพระพุทธพจน์ที่ว่า สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี และความสงบอื่นใดไม่เทียบเท่าจากที่เกิดโดยธรรมชาติ ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงประสูติ ออกผนวช ปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหา ตรัสรู้ธรรม แสดงธรรม และปรินิพพาน บนดิน ติดดิน ใต้ต้นไม้ วัดดอนข่อยโดยการนำของพระมหาคลิ้ง พระภิกษุนักปฏิบัติวัยห้าสิบเศษๆ จึงนำความจริงตามพุทธประวัติข้อนี้มาปรับใช้ในการเผยแผ่ธรรม

หลังจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนมรณภาพตามอายุสังขาร ชาวบ้านจัดฌาปนกิจอย่างเรียบง่ายและได้นำอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ไต้ฐานพระพุทธรูปปูนปั้น โดยพระพุทธรูปปูนปั้นนี้อดีตเจ้าอาวาสได้ลงมือปั้นด้วยตัวเอง ท่านได้กล่าวกับมหาคลิ้งซึ่งตอนนั้นยังเป็นสามเณรว่า เวลาปั้นพระพุทธรูป จิตจะสงบ เป็นการทำสมาธิ ทำด้วยจิตเป็นพุทธบูชา ดังนั้น พระพุทธรูปปูนปั้นฝีมืออดีตเจ้าอาวาส มีพระพักตร์สงบเปี่ยมสุข มองดูแล้วจิตใจเป็นสุขยิ่งนัก ประดิษฐานไว้ใต้ต้นข่อยใหญ่

ต่อมามหาคลิ้งและชาวบ้านได้ยึดเอาพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้สำหรับเป็นพระประธานของวัด เป็นจุดศูนย์รวมลานดินประชุมเวลาพระมหาคลิ้งแสดงธรรมแก่ผู้สนใจธรรม

คืนนี้

จันทร์เพ็ญวิสาขปุณณมีลอยเด่นฉาบทาทั่วทั้งฟ้ายามราตรีสว่างเย็นตา หลังจากเสร็จสิ้นบรรยายธรรม ปรารภเอาวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้สนใจรับฟังเสร็จ และทุกคนต่างแยกย้ายกันไปพักยังภายในกลดใต้ร่มไม้แห่งตน หรือบางคนต้องการนั่งสมาธิเดินจงกรมฝึกจิตก็ปฏิบัติตามใจพึงประสงค์ พระมหาคลิ้งเดินย่ำเท้าเป็นจังหวะแผ่วเบาไปตามลานทรายสำหรับใช้จงกรม กระแสจิตได้ระลึกถึงเพื่อนร่วมวัยที่ชื่อวรชัย ผู้ตกเป็นข่าวผิดข้อหาร้ายแรงทางพระธรรมวินัย ถึงขั้นปาราชิกขาดจากความเป็นพระ รวมถึงทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ตัวเองหลังจากตัดสินใจกลับบ้านนอกกับอาจารย์คราวนั้น และเปลี่ยนผันมาเดินทางสายวิปัสสนาธุระ ยุติการเรียนบาลีไว้แค่ประโยคสาม ข่าวของวรชัยก็มีมาให้ได้ยินเป็นระลอก และบางครั้งก็เห็นชื่อทางหนังสือแจ้งจากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองส่วนกลางที่ส่งมายังทุกวัดในเขตปกครองให้รับทราบ ชื่อวรชัยเปลี่ยนไปตามสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวง ต่อจากเจ้าอาวาสรูปที่เคยรับวรชัยเข้าอยู่วัด และตำแหน่งสุดท้ายของวรชัยคือกรรมการมหาเถรสมาคม ทุกครั้งที่ได้รับข่าว ตนจะร่วมส่งจิตมุทิตาเพื่อนที่เดินสายการศึกษาคันถธุระ ซึ่งเป็นดั่งปีกอีกข้างของกงล้อธรรมจักร ให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาวัดวาอารามวงการสงฆ์ไทยในทางที่ถูกที่ควร กระทั่งมีข่าวจับสึกไล่ล่าพระเถระที่พัวพันกับการทุจริตเงินทอนวัด และหนึ่งในนั้นมีชื่อของวรชัยปรากฏอยู่ด้วย

กระแสความคิดถึงเพื่อนเก่าวนเวียนไปมาในจิตของมหาคลิ้ง ขณะก้าวเท้าช้าๆ บนพื้นทรายตามจังหวะ ยกส้น ยก ย่าง ลง ถูก กด และจังหวะสุดท้ายตอนฝ่าเท้าสัมผัสพื้นทรายอย่างเต็มเท้า กระแสจิตมหาคลิ้งวูบประหวัดถึงรสผัสสะพื้นปูนซีเมนต์วันตามอาจารย์เข้าไปขออยู่วัดแห่งหนึ่งที่ใช้กุฏิเลี้ยงหมา แต่ชั่ววูบเดียวเท่านั้น สติก็ดึงกระแสจิตทั้งหมดกลับมาปัจจุบันขณะ

พร้อมๆ กับกำหนดให้แน่วนิ่งอยู่กับการเดินจงกรมตรงหน้า ภายใต้แสงจันทร์สว่างเย็นเป็นสุข