โลกร้อนเพราะมือเรา : “น้ำท่วม” โจทย์สุดหิน

ดูข่าวซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมอรันตีพัดถล่มไต้หวันแล้วรู้สึกตื่นตะลึงกับพลังธรรมชาติ ขนาดตู้เหล็กคอนเทนเนอร์ ยังล้มกลิ้งกระเด็นเหมือนของเด็กเล่น เมื่อเจอกระแสลมความเร็ว 370 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ฝนตกเหมือนฟ้าถล่ม คลื่นยักษ์ในทะเลซัดถาโถมชายฝั่งลูกแล้วลูกเล่า

ข่าวนี้ย้ำเตือนให้ชาวโลกรู้ว่า เราเป็นแค่ส่วนเสี้ยวประกอบเล็กๆ ของธรรมชาติ

ซีเอ็นเอ็นเทียบความเร็วลมของซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมอรันตีว่าเร็วกว่ารถแข่งฟอร์มูล่าวัน

“เมอรันตี” เป็นไต้ฝุ่นที่มีพลังแรงสุดของปีนี้ และทำให้นักอุตุนิยมวิทยารู้สึกมึนตึ้บกับระบบพายุหมุนเขตร้อน (tropical system) ที่สามารถปั่นกระแสลมให้มีความเร็วสูงกว่า 180 ก.ม./ช.ม. ในห้วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

หรือนี่คือหนึ่งตัวอย่างของผลพวงจากน้ำมือร่วมกันปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศจนทำให้ภาวะโลกร้อนกระทบต่อภูมิอากาศโลก และเป็นเหตุให้พายุมีพลังแรงมากขึ้น?

บ้านเราเองก็หนีไม่พ้นกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก

อิทธิพลของพายุและลมมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ อีสานบางจังหวัดเจอวิกฤตน้ำท่วม

กรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าตั้งแต่กลางเดือนหน้าเป็นต้นไปเป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว

ความกดอากาศสูงจากจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ พื้นที่ตอนบนฝนลดลง อากาศเย็นในตอนเช้า

ส่วนภาคใต้ฝนตกหนาแน่นถึงหนักมากหลายพื้นที่

ต้องจับตาดูว่า ปีนี้ภาคใต้จะมีฝนถล่มจนเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีก่อนๆ อีกหรือเปล่า?

วิกฤตการณ์น้ำท่วมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ชาวโลกยังไม่รู้ว่าเริ่มต้นแก้ปัญหาตรงไหน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส หยิบยกกรณีตัวอย่างการเกิดน้ำท่วมใหญ่ของเมือง

“คาร์ไลล์” (Carlisle city) ตั้งอยู่ในแคว้นแคมเบรียทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ

“คาร์ไลล์” เป็นเมืองโบราณ มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี

กองทัพโรมันก็เคยยึดเมืองนี้ ตึกเก่าๆ สมัยอังกฤษรุ่งเรืองในยุควิกตอเรีย ยังคงยืนเด่นเป็นสง่า

ในปี 2548 เมืองคาร์ไลล์เกิดน้ำท่วมใหญ่ ฝนตกหนักอย่างไม่ลืมลืมตาทำให้น้ำไหลบ่าท่วมทั้งเมืองเกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล แต่ชาวเมืองพยายามปลอบใจตัวเองด้วยความเชื่อว่าทุกๆ 200 ปี คาร์ไลล์จะมีน้ำท่วมใหญ่สักครั้งหนึ่ง

ปรากฏว่า 4 ปีให้หลัง เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีก มาถึงหน้าหนาวปลายปีที่แล้ว พายุเดสมอนด์ถล่มเมืองคาร์ไลล์จมมิด

ปริมาณน้ำที่เอ่อทะลักท่วมจนบ้านเรือน โรงเรียน โรงงาน ถนนหนทางทำลายสถิติเดิมที่มีมาทั้งหมด

น้ำไหลหลากลงในแม่น้ำทั้งสามสายซึ่งโอบล้อมเมืองคาร์ไลล์ไว้มีปริมาณมากกว่าปกติถึง 30 เท่า

บ้าน 2,000 หลัง ร้านค้า สำนักงาน 500 แห่ง จมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่หลายพันคน

โรงงานขนมปัง McVitie ชื่อดัง หยุดเดินเครื่องเพราะน้ำท่วมเป็นครั้งที่สองในรอบ 11 ปี และต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานถึงสี่เดือนเพราะมวลน้ำเอ่อท่วมพื้นที่โรงงานมากถึง 45 ล้านลิตร

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุดได้ลบล้างความเชื่อเก่าๆ ของชาวเมืองคาร์ไลล์จนหมดสิ้น

“คอลิน ธอร์น” ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำของมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองคาร์ไลล์ แสดงให้เห็นถึงความถี่และพลังแรงของพายุบ่งชัดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

“เรื่องที่ต้องคิดนั่นคือ เมืองต่างๆ ทั่วโลกจะรับมืออย่างไรกับพายุและน้ำท่วม” ธอร์นให้ความเห็น

หลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ผู้บริหารเมืองคาร์ไลล์ พยายามแก้ปัญหาในหลายๆ วิธี เช่น สร้างพนังกั้นน้ำเพิ่มเติม ปลูกต้นไม้เป็นแนวกั้นเหมือนเขื่อนชะลอน้ำ รวมถึงหาพื้นที่ก่อสร้างแก้มลิงทำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

เมืองคาร์ไลล์ยังเตรียมแผนขุดลอกแม่น้ำ สร้างสะพานอีกหลายแห่งและใช้โมเดลจัดการน้ำให้เหมือนกับเนเธอร์แลนด์

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของอังกฤษ จัดงบประมาณสำหรับโครงการป้องกันน้ำท่วมเมืองคาร์ไลล์ประมาณ 1 พันล้านบาท

แต่กระนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพป้องกันน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน?

“เดเนียล จอห์นส์” หัวหน้าคณะกรรมการการปรับตัวเพื่อรับภาวะโลกร้อน เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษบอกว่า การลงทุนเพื่อควบคุมน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญก็จริงอยู่แต่ไม่ใช่เป็นข้อสรุปทางแก้ปัญหา

วิกฤตการณ์น้ำท่วม “คาร์ไลล์” สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ถนนหนทางและเศรษฐกิจทั้งยังทำให้ประชาชนเกิดความเครียด วิตกจริต บางคนถึงขั้นขายบ้านทิ้งทั้งๆ ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเพราะไม่อยากเจอภาพวิกฤตหลอนซ้ำ

นิวยอร์ก ไทม์ส” ยังหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างเมืองชายฝั่งแถบมหาสมุทรแอตแลนติกและริมอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐหลายแห่ง เผชิญกับวิกฤตทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม อย่างเช่น เกาะไทบี้ รัฐจอร์เจีย เมืองฟอร์ต ลอเดอร์เดล และเมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา

เกาะไทบี้ อยู่ใกล้ๆ กับเมืองซาวานนาห์

ซาวานนาห์ เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ฮอลลีวู้ดเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังดังเรื่องฟอร์เรสต์ กัมพ์ ที่มี “ทอม แฮงก์” เป็นดารานำ

ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ทุกปี เกาะไทบี้ ต้องเจอกับพายุเฮอร์ริเคนและพายุฤดูร้อน

ตั้งแต่ปี 2471เป็นต้นมา พายุและคลื่นยักษ์หรือสตรอมเซิร์จซัดเมืองนี้อย่างหนักหน่วงรุนแรงไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง

ระยะหลังๆ ถนนที่เข้าถึงเกาะไทบี้ จมใต้ทะเลทุกครั้งที่มีพายุกระหน่ำเนื่องจากมีคลื่นลมแรงกว่าในอดีต

บริษัทประกันภัย คิดเบี้ยประกันสูงแพงกว่าพื้นที่อื่นเพราะถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

ผู้บริหารเกาะไทบี้ตระหนักดีว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย พายุและคลื่นลมจะทำลายเมืองนี้ย่อยยับอย่างแน่นอน จึงจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบตั้งแต่การแจ้งเตือนภัย แบ่งพื้นที่สำหรับอพยพประชาชน สร้างแหล่งพักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัย

ส่วนผู้บริหารเมืองฟอร์ต ลอเดอร์เดล และเมืองไมอามี่ ทุ่มงบประมาณหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลให้สูงขึ้นและจัดซื้อรถสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสูบน้ำที่ทะลักท่วมบ้านเรือน ถนนหนทางริมชายฝั่งให้เร็วที่สุด

แต่แผนป้องกันภัยน้ำท่วมล้มเหลวเพราะพายุฝน กระแสลม และคลื่นน้ำทะเลเพิ่มระดับความรุนแรงจนต้านไม่อยู่ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

วิกฤตการณ์น้ำท่วมลุกลามกลายเป็นเกมการเมืองระดับชาติ เพราะชาวอเมริกันอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพากันวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพของผู้บริหารเมือง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐผู้สมัครทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างหยิบเอาจุดอ่อนเรื่องน้ำท่วมมาโจมตีใส่กันอย่างเมามัน