High End Munich 2023 | Europe’s Biggest Hi-Fi Show

กลับมาคึกคักเป็นปีที่สองหลังจากต้องเว้นวรรคไปจากเหตุที่คุณก็รู้ว่าเพราะอะไร

งานหนนี้เพิ่งจัดไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา งานมีสี่วันเต็มแต่สองวันแรกเปิดให้เข้าเฉพาะ Trade Visitor หรือผู้เข้าชมทางการค้า อันหมายถึงตัวแทนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายจากทั่วทุกมุมโลก

อีกสองวันหลังที่เป็นเสาร์/อาทิตย์จึงค่อยเปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาชม ซึ่งดูท่าว่าน่าจะชมได้ไม่ถ้วนทั่ว เพราะมีผู้นำสินค้ามาจัดแสดงถึงกว่า 550 รายจาก 54 ประเทศ กับกว่า 1,000 แบรนด์

นอกเสียจากว่าจะมาดูแบบชะโงกทัวร์ คือแค่เดินผ่านหน้าห้องแล้วชะโงกเข้าไปดูแบบผ่านๆ เหมือนบางบริษัททัวร์บ้านเรานิยมใช้กับลูกทัวร์เวลานำชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทางแถบยุโรป แบบดูผ่านบานกระจกหน้าต่างรถ โดยไม่ต้องลงไปให้เสียเวลา (ไปที่อื่นต่อ) นั่นแหละครับ

อย่างที่เคยบอกครับว่างานโชว์เครื่องเสียงไฮ-เอ็นด์ที่มิวนิกนั้น จากแต่เดิมปีแรกๆ เป็นงานเล็กๆ ด้านงานแสดงสินค้าของผู้ผลิตในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องเสียงแถบยุโรปเมื่อสี่ทศวรรษก่อน มาถึงวันนี้เป็นงานที่ผู้ผลิตระดับ ‘ตัวจริงเสียงจริง’ ของวงการจากทั่วทุกมุมโลกบอกว่า – ไม่ไปโชว์ไม่ได้, ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับคนค้าคนขายเครื่องเสียงทั่วโลก ที่บอกว่า – ไม่ไปดูไม่ได้

และกับปีนี้เป็นงานครบรอบ 40 ปี ผู้คนที่มาเที่ยวชมงานจึงมีค่อนข้างมาก ข่าวว่ากว่าสองหมื่นคนเลยทีเดียว

จากที่ได้ติดตามรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ที่ไปสังเกตการณ์งานนี้ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจไม่น้อย เลยใคร่รวบรวมหลากหลายสิ่งจากที่หลายๆ สื่อพูดถึงทำนองเดียวกัน นำมาเล่าสู่กันต่อ โดยเฉพาะกับสินค้าที่มีผู้นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา เนื่องเพราะอีกไม่นานก็คงเข้ามาให้สัมผัสจับต้องได้กันแบบตัวเป็นๆ แน่

ซึ่งมีอะไรบ้างก็ขอไล่เรียงไปตามนี้ครับ

Thorens

เริ่มด้วยเครื่องที่หลายๆ สื่อยกมาพูดถึงคล้ายกับเป็นไฮไลต์ของงานตรงกัน นั่นคือเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็น The New Reference ของ Thorens ซึ่งเปิดตัวในงานด้วยวาระครบรอบ 140 ปี เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีความล้ำสมัยด้วยความทะเยอทะยานในการออกแบบยิ่งนัก โดยโปรเจ็กต์นี้ทีมวิศวกรได้ทำงานร่วมกับ Helmut Thiele ดีไซเนอร์รุ่นเก๋าระดับตำนานที่เคยทำงานให้โธเรนส์มาก่อน รวมทั้งยังเกี่ยวข้องอยู่กับเครื่องเสียงอีกหลายๆ แบรนด์ด้วย

ว่ากันว่าการออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ ได้จับประเด็นด้วยการเริ่มต้นแบบนับหนึ่งใหม่กันเลย โดยเริ่มที่ระบบป้องกันการสั่นสะเทือน ซึ่งใช้เทคโนโลยีการแยกแรงสั่นสะเทือนแบบแอ็กทีฟ ที่คิดค้นขึ้นโดย Seismion บริษัทสัญชาติเยอรมัน โดยที่การออกแบบแยกการสั่นสะเทือนลักษณะนี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในเครื่องเล่นแผ่นเสียงใดๆ และผลที่ได้ก็คือการเป็นแท่นที่ปลอดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนต่างๆ อย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ตัวแท่นยังถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งโทนอาร์มได้ถึงสามชุด โดยมีติดมาให้กับแท่นพร้อมสรรพสองชุด คือ Model TP160 ขนาดความยาว 12 นิ้ว ของโธเรนส์เองซึ่งได้พัฒนาและปรับปรุงขึ้นใหม่ กับ Thiele TA01 ขนาดความยาว 10 นิ้ว พร้อมมีพื้นที่สำหรับติดตั้งโทนอาร์มขนาด 9 นิ้ว ได้อีกหนึ่งชุด

Gunter Kurten ผู้เป็นเจ้าของและกรรมการผู้จัดการของโธเรนส์ได้กล่าวถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ว่า นี้คือความภาคภูมิใจอย่างยิ่งยวดของเรา ในการนำเสนอชิ้นงานอันทรงคุณค่าออกมาในวาระครบรอบ 140 ปี ซึ่งก็คือเครื่องที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ

และอีกเครื่องที่ใครๆ ก็พูดถึงของค่ายนี้ เพราะดูออกจะใกล้ตัวกว่านั่นก็คือ Model TD 124 DD ที่ออกแบบและผลิตออกมาในวาระพิเศษเดียวกัน ทำออกมาแบบ Limited Edition ซึ่งเป็นการนำรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสองปีก่อนมาอัพเกรดด้วย R&D ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา

ทำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้เป็น ‘เครื่องเล่นอันใหม่หมดจดของบรรพบุรุษผู้เลื่องชื่อ’ เพราะต้นแบบที่แท้จริงก็คือ Model TD 124 ที่ออกตลาดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 และเป็นเครื่องวินเทจที่นักเล่นยังคงตามหากันจนทุกวันนี้

Dali Epikore 11

อีกหนึ่งดาวเด่นในงานนี้ที่ใครๆ ก็พูดถึง คือ Dali Epikore 11 ลำโพงตั้งพื้นที่ออกแบบและผลิตมาในวาระครบรอบสี่ทศวรรษของแบรนด์ ซึ่งได้นำความโดดเด่นของเทคโนโลยีที่ใช้ในรุ่นเรือธง Model Kore ที่มีค่าตัว 70,000 ปอนด์ เข้ามาผนวกไว้ในลำโพงรุ่นนี้ด้วย โดยหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่นำมาใช้ก็คือ SMC Gen-2 ที่ได้เปิดตัวครั้งแรกกับ Kore ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านวัสดุและหลักการทำงานเกี่ยวกับแม่เหล็ก ที่นำมาใช้ในชุดตัวขับเสียงเบส ตัวขับเสียงกลาง และใช้ในแกนเหนี่ยวนำของครอสส์โอเวอร์ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการต่อต้านการทำงานของวอยซ์-คอยล์ อันเนื่องมาจากกระแสไหลวนในระบบแม่เหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนได้

การนำเทคโนโลยี SMC Gen-2 เข้ามาใช้ ทำให้นอกจากจะส่งผลให้ความผิดเพี้ยนต่ำลงแล้ว ยังช่วยให้ได้ไดนามิกที่ดีขึ้นด้วย

Dali Epikore 11 ใช้ทวีตเตอร์ โมดูล แบบ EVO-K Hybrid ซึ่งประกอบไปด้วยซอฟต์ โดม ขนาด 1-3/8 นิ้ว ทำงานร่วมกับแผง HF Ribbon Element, มิดเรนจ์ Epikore ขึ้นรูปกรวยด้วยกระดาษผสมเยื่อไม้ ขนาด 6-1/2 นิ้ว, หนึ่งตัว และวูฟเฟอร์ Epikore ขนาด 8 นิ้ว, สี่ตัว

Chord Ultima Integrated Amp

อีกเครื่องจากค่ายในสหราชอาณาจักรที่หลายๆ คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งได้นำมาเปิดตัวให้ชมกันเป็นครั้งแรกในงานนี้ ได้แก่ Chord Ultima Integrated Amp. ที่ได้ผสมผสานรูปลักษณ์ของยานอวกาศเข้ากับการทำงานที่ถูกต้องแม่นยำอย่างเหนือชั้น โดย Chord Electronics ตั้งเป้าให้เป็นเครื่องที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอินติเกรตเต็ด แอมป์ ระดับนี้ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน

มาพร้อมกำลังขับ 125 วัตต์, ที่โหลด 8 โอห์ม ผนวกด้วยภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย แบบพิเศษชนิด Ultra-High Frequency ที่นอกจากจะมีค่าความผิดเพี้ยนต่ำขั้นสุดแล้ว ยังมีเสียงรบกวนต่ำเป็นพิเศษอีกด้วย เป็นเครื่องที่มีลักษณะทางกายภาพของระบบเครือข่าย (Topology) อันทรงประสิทธิภาพในการแก้ไขข้อผิดพลาดขั้นสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คอยตรวจสอบและแก้ไขสัญญาณก่อนขั้นตอนเอาต์พุต เพื่อให้ได้ความแม่นยำของสัญญาณที่ดีขึ้น อันนำมาซึ่งความเที่ยงตรงของเสียงอย่างถึงที่สุด

Chord Ultima แอมปลิไฟเออร์เครื่องแรกในรอบเจ็ดปีของแบรนด์ มาพร้อมภาคอินพุตสี่ชุด ประกอบไปด้วย Balanced Input หนึ่งชุด และ Unbalanced Input สามชุด ที่ปลอดการรบกวนจากคลื่น RF : Radio Frequency อย่างสิ้นเชิง แต่ละชุดถูกควบคุมและแยกการทำงานกันอย่างเป็นอิสระ รวมทั้งการใช้รีเลย์แบบปิดผนึกที่ควบคุมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ และพร้อมทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ผ่านทางภาคปรี-เอาต์ แบบบาลานซ์ สำหรับต่อเข้ากับเพาเวอร์-แอมป์ที่นำมาใช้งานร่วมกัน

งานโลหะทั้งหมดได้รับการขึ้นรูปอย่างแม่นยำด้วยอะลูมิเนียมเกรดเดียวกับเครื่องบิน รวมทั้งขารองแท่นเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ แผงโลหะด้านหน้ามีความหนาถึง 28 มิลลิเมตร

เที่ยวหน้าว่ากันต่อครับ •

 

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]