ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
ช่วงนี้ดูติดจะต้องเลือกอะไรดีอยู่หน่อยๆ เที่ยวก่อนว่าถึงระหว่างซาวด์บาร์กับลำโพงแยกชิ้นไปแล้ว
เที่ยวนี้หยิบเรื่องชุดหูฟังหรือเฮดโฟนมาเป็นประเด็นต่อ
ด้วยทุกวันนี้ในตลาดมีชุดหูฟังให้เลือกมากมายหลายแบบ แต่หากแยกเป็นกลุ่มหลักๆ แล้วละก็ กว้างๆ เลยก็จะแตกออกได้แค่สองกลุ่มเท่านั้นเอง
คือแบบครอบหูหรือ Over-Ear Headphones ตัวใหญ่ๆ ที่มีสายคาดศีรษะลาดลงมาถึงฝาครอบปิดหู
กับแบบสอดเข้าช่องหูหรือ In-Ear Headphones ที่หลังๆ มักจะเรียกกันกันติดปากว่า Earbuds กันซะเป็นส่วนใหญ่
และในสองกลุ่มที่ว่าก็สามารถแยกออกไปได้อีกสองพวก เป็นพวกมีสายกับไม่มีสาย คือพวกที่ใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นต้นทางของสัญญาณเสียง อาทิ เครื่องเล่นเพลงหรือสมาร์ตโฟน
กับอีกพวกที่เชื่อมต่อกันระหว่างพวกอุปกรณ์ที่ว่ากับชุดหูฟังผ่านระบบของเทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านทาง Bluetooth
แต่ในสองพวกของแต่ละกลุ่มก็ยังมีแยกย่อยออกไปอีก โดยพวกครอบหูนั้นมีที่แตกต่างกันก็คือการออกแบบโครงสร้างในลักษณะที่เรียกว่า Open-Back กับแบบ Closed-Back
หลักๆ ของกลุ่มนี้ก็มีอยู่เท่านี้แหละครับ
ในขณะที่พวกเอียร์บัดส์นั้นมีแยกรายละเอียดตามลักษณะการใช้งาน ที่มาพร้อมคุณสมบัติอันแตกต่างกันไป สำหรับพวกที่ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไป ส่วนใหญ่ก็จะไม่แตกต่างกันสักกี่มากน้อย รวมทั้งรูปร่างหน้าตาที่ออกจะคล้ายๆ กัน
ขณะที่เอียร์บัดส์อีกประเภทที่กำลังมาแรงและนิยมใช้กันมาก คือ พวก Sport สำหรับใช้สวมใส่เวลาออกกำลังกาย พวกนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างไปจากพวกที่ใช้ในชีวิตประจำวันตามปกติ
อาทิ วัสดุที่ใช้ขึ้นรูปโครงสร้างเป็นแบบไม่ก่อให้เกิดแบคทีเรีย กันน้ำและความเปียกชื้นจากเหงื่อไคลระดับมาตรฐานสากล เป็นต้น
และแม้มีความหลากหลายทางด้านโครงสร้างและรูปทรง แต่ก็จะมีแนวทางการออกแบบที่ตรงกันอย่างหนึ่ง คือต้องสวมใส่กระชับและนุ่มสบายใช้งานติดต่อกันได้เป็นเวลานาน
เราจึงเห็นเอียร์บัดส์สำหรับใส่ออกกำลังกายมีหน้าตาที่ค่อนข้างแตกต่างกัน มีทั้งสอดเข้าหูแบบโดดๆ บ้างก็มีขอเกี่ยวใบหูเพื่อเพิ่มความกระชับ ไม่ให้หลุดง่าย ที่ออกแบบมาในลักษณะสวมคล้องคอก็มี, หลากหลายรูปแบบครับ
กับที่กล่าวไปข้างต้นว่ากันเฉพาะพวกที่ใช้งานทั่วๆ ไปนะครับ ไม่ก้าวล่วงไปถึงชุดหูฟังที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานเฉพาะกลุ่ม เป็นต้นว่า สำหรับเล่นเกม หรือสำหรับงานของโอเปอเรเตอร์ ที่มีรายละเอียดและความแตกต่างเฉพาะ เช่น มีก้านไมโครโฟนเพิ่มเข้ามา กลุ่มนี้ขอไม่พูดถึงนะครับ
ส่วนที่จ่าหัวเอาไว้ข้างต้นนั้น เจตนาจะพูดถึงก็เฉพาะชุดหูฟังแบบครอบหู ที่แม้จะเห็นว่ามีขนาดและรูปทรงต่างๆ มากมาย แต่ก็อย่างที่ได้บอกเอาไว้ข้างต้นนั้นและครับ ว่ามันมีโครงสร้างหรือแนวทางการออกแบบที่แตกต่างกันอยู่สองแบบเท่านั้นเอง
คือ แบบเปิดด้านหลัง (Open-Back)
กับแบบปิดด้านหลัง (Closed-Back)
ซึ่งประเด็นนี้แหละครับที่เจตนาตั้งคำถามเอาไว้ ว่าจะเลือกใช้แบบไหน, อะไรดี
ด้วยแต่ละแบบแม้ว่าอาจจะมองเห็นไม่ชัดในแง่ของความแตกต่างด้านรูปธรรม แต่ด้วยโครงสร้างของการออกแบบที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ต่างก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยอยู่ในตัว ซึ่งต้องนำมาพิจารณาว่าแบบไหนจึงจะเหมาะกับการใช้งานของเรา
ความแตกต่างทางด้านโครงสร้างหรือทางด้านกายสภาพของหูฟังทั้งสองแบบนั้น ค่อนข้างเรียบง่ายเพราะส่วนสำคัญมันอยู่ตรงบริเวณที่เป็นช่องระบายอากาศ กล่าวคือ ในแบบปิดหลังตัวขับเสียงหรือไดรเวอร์จะถูกแยกออกมาจากเอียร์-คัพที่ปิดสนิท
ขณะที่แบบเปิดด้านหลังไดรเวอร์จะมีตะแกรงหรือช่องระบายอากาศ เพื่อให้อากาศสามารถผ่านได้อย่างเป็นอิสระรอบๆ ตัวขับเสียง ไม่ว่าจะเป็นไดรเวอร์แบบไดนามิก, อิเล็กโทรสแตติก หรือแบบแผง (Planar Driver) ก็ตาม การออกแบบในลักษณะนี้จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
ซึ่งจากประสบการณ์ทั้งการใช้งานเองและเท่าที่อ่านพบจากรายงานทดสอบต่างๆ พอจะกล่าวได้ว่าหูฟังแบบเปิดด้านหลังให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า
ทั้งยังพบว่าหูฟังที่ได้รับการยกย่องว่าให้เสียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมเหนือชั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบเปิดด้านหลังทั้งสิ้น
ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะไดรเวอร์สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ เต็มประสิทธิภาพ เพราะปราศจากสิ่งกีดขวาง จึงทำงานได้เสมือนไร้สภาวะกดดัน น้ำเสียงที่ให้ออกมาจึงสัมผัสได้ถึงความโปร่ง สบาย และทอดออกไปได้กว้างขวาง
ขณะที่หูฟังแบบปิดด้านหลังนั้นน้ำเสียงที่ได้ยินคล้ายจะเป็นเสียงอยู่ในกล่อง แต่ก็รับรู้ได้ว่ามีเสียงเบสส์ที่ต่ำลึกกว่าหูฟังแบบเปิดด้านหลัง
และนี้ก็เป็นจุดเด่นประการหนึ่งของหูฟังแบบปิดด้านหลัง ที่ทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักฟังที่ชอบเสียงเบสหนักๆ เป็นหลัก
ซึ่งจะว่าไปหูฟังแบบปิดด้านหลังที่ให้เสียงดีๆ ก็มีให้พบเจอได้ไม่น้อย
แต่เท่าที่สังเกตพวกรุ่นใหญ่ๆ ของแต่ละค่าย หรือพวกเรือธงของแต่ละแบรนด์ในกลุ่มไฮ-เอนด์ที่เอาดีทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น Focal, Sennheiser หรือ Audeze จะเป็นแบบเปิดด้านหลังมากกว่า
ข้อดีอีกประการของหูฟังแบบเปิดด้านหลังก็คือ ขณะสวมใส่ครอบหูมันได้มีการระบายอากาศไปในตัว คือแบบเปิดหลังอากาศสามารถถ่ายเทได้ดี เพราะตะแกรงที่ด้านหลังไดรเวอร์ไม่เพียงระบายอากาศให้ตัวขับเสียงเท่านั้น มันยังช่วยระบายอากาศบริเวณหูให้กับเราด้วย ทำให้สวมใส่ได้นานแบบมิพักต้องกังวลเหมือนชุดครอบหูแบบปิดด้านหลัง ที่ใบหูเสมือนถูกกดทับสนิทตลอดเวลา หากไม่ได้ใช้งานอยู่ในห้องควบคุมอุณหภูมิ ก็จะเกิดความร้อนและมีเหงื่อออกตามมา ต้องถอดพักเป็นระยะๆ ไม่สามารถสวมใส่ติดต่อกันได้เป็นเวลานานๆ
ทางด้านน้ำหนักนั้นโดยเฉลี่ยแล้วชุดหูฟังแบบเปิดด้านหลังจะมีน้ำหนักเบากว่า สวมใส่ได้นานติดต่อกันสบายกว่า ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะมีองค์ประกอบของวัสดุที่ใช้น้อยกว่านั่นเอง โดยเฉพะในส่วนของเอียร์-คัพ ที่ด้วยความเป็นแบบปิดขณะทำงานจึงเกิดเสียงสะท้อนภายในได้
ดังนั้น การออกแบบจำเป็นต้องเพิ่มวัสดุซับเสียงเข้ามา เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับชุดหูฟังไปในตัว
มาดูข้อดีของหูฟังแบบปิดด้านหลังกันบ้าง สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของหูฟังแบบนี้ก็คือเรื่องป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก มันสามารถทำได้ดีกว่าแบบเปิดหลังมาก เพราะฉะนั้น มันจึงให้เราได้อยู่กับเสียงดนตรีอย่างเป็นอิสระ ปราศจากเสียงรบกวนนานา ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางความจอแจวุ่นวายแค่ไหนก็ตาม ยังให้ความรู้สึกได้เสมือนอยู่ในโลกส่วนตัวกับดนตรีอย่างแท้จริง
ทำให้ในแง่ของการเป็นชุดหูฟังสำหรับใช้พกพาของนักเดินทางแล้ว หูฟังแบบปิดด้านหลังจะได้รับความนิยมมากกว่า
จากที่กล่าวมาคงยากบอก ว่าควรเลือกใช้แบบไหน เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานเป็นหลัก คือขึ้นอยู่กับว่าลักษณะการใช้งานเป็นอย่างไร เป็นต้นว่ามีไว้เพื่อใช้ฟังเพลงอยู่กับบ้านเป็นหลัก หรือออกไปไหนต้องมีติดตัวไปด้วยแบบขาดไม่ได้
นั้น, ก็ต้องลองพิจารณาดูเอาครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022