ควบ ‘มาสด้า CX-8’ พลังดีเซล ขับเองก็สนุก-นั่งหลังก็สบาย

สันติ จิรพรพนิต

ด้วยมีภารกิจต้องเดินทางไปต่างจังหวัด พร้อมสัมภาระรุงรังพอสมควร ทำให้ผมลังเลว่าจะเลือกทดสอบรถรุ่นไหนดี

เพราะปกติจะเลือกทดสอบกลุ่มเก๋งกลาง หรือเอสยูวี เพราะต้องการพื้นที่และพละกำลัง กรณีต้องไปเจอถนน 2 เลนสวน

สุดท้ายได้ตัวเลือกที่แทบลืมไปแล้วว่ายังไม่ได้ทดลองเลย

นั่นคือ “มาสด้า CX-8”

แม้จะล่าช้าไปสักนิดเนื่องจากโฉมปัจจุบันเปิดตัวมาพักใหญ่แล้ว แต่เมื่อไปค้นข้อมูลพบเรื่องน่าสนใจหลากหลาย

เพราะเต็มไปด้วยคำชมเรื่องความแรง และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร

ที่สำคัญคือออปชั่นความปลอดภัยและตัวช่วยเรื่องขับขี่อัดมาแน่นคัน

ว่าแล้วก็ชี้หมับไปที่ตัวท็อปเครื่องดีเซล 6 ที่นั่ง

แค่เห็นสเป๊กเครื่องยนต์รู้แล้วว่างานนี้เจอของจริง

รุ่นที่นำมาทดสอบใช้ขุมพลังสกายแอคทีฟคลีนดีเซล ขนาด 2.2 ลิตร (Skyactiv-D 2.2) เทอร์โบแปรผัน

กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ประหยัดน้ำมันถึง 17.5 กิโลเมตร/ลิตร

ติดตั้งระบบช่วยป้องกันล้อหมุนฟรีแบบ Off-Road (Off-Road Traction Assist) เพิ่มเติมในรุ่นที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ i-ACTIV AWD

ส่วนอีกบล็อกเครื่องยนต์สกายแอคทีฟเบนซิน ขนาด 2.5 ลิตร (Skyactiv-G 2.5) กำลังสูงสุด 194 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 258 นิวตัน-เมตร ประหยัดน้ำมันสูงสุด 13.2 กิโลเมตร/ลิตร

ทั้งแรงม้าและแรงบิดของเครื่องดีเซลหายห่วง ไม่ต้องกังวลเรื่องการเร่งแซง หรือหากต้องการทำความเร็ว

ที่สำคัญได้ความประหยัดพ่วงเข้ามาด้วย

แล้วก็ไม่ผิดคาดครับ เพราะตลอดทริปไป-กลับเมืองชายทะเล รวมถึงการขับไปโน่น นี่ นั่น

รวมถึงขาไปที่ผจญรถติดแบบบ้าระห่ำบนถนนมอเตอร์เวย์

น้ำมันเต็ม 1 ถังมีเหลือๆ

อัตราเร่งจัดจ้านในทุกย่านความเร็ว

ยิ่งเมื่อผมส่งผู้ร่วมทริปถึงที่พักแล้วมีเวลาว่าง นำรถออกมาทดสอบเพียงลำพัง เหยียบกันระเบิดระเบ้อ

ขับสวิงสวายไปมา และลองเข้าโค้งแรงๆ เบรกแรงๆ

ทุกจังหวะทำได้เนียนความรู้สึกดีเหลือเกิน

ที่จำเป็นจำต้องขับเพียงลำพังเนื่องจากเกรงว่าผู้โดยสารจะบ่นนั่นเอง

ขณะเดียวกันการขับแบบชีวิตปกติที่มีผู้โดยสารในรถ ตัวรถทำความเร็วได้ดีในทุกย่านเช่นกัน

แต่อาจมีติดนิดหน่อยตรงที่เมื่อผมทดลองใช้ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ “MRCC” แบบ Stop & Go ได้ถึงจุดหยุดนิ่งและเดินหน้าต่ออัตโนมัติตามรถคันหน้า ช่วงที่จราจรหนาแน่บนมอเตอร์เวย์

ผู้โดยสารบ่นนิดๆ ว่าเวลาเบรกกับออกตัวตามรถคันหน้าไม่เนียนเท่าไหร่

เรียกว่าไม่คุ้นกับลักษณะการขับรถของผมแบบปกตินั่นเอง ถึงกับถามว่าทำไมผมขับรถแปลกๆ

เพราะตามธรรมชาติแล้วผมเป็นคนขับรถที่ใช้เบรกค่อนข้างน้อย ยิ่งหากมีคนอื่นนั่งในรถไปด้วยยิ่งเพิ่มความระมัดระวังไม่ว่าจะตอนเบรกหรือเติมคันเร่ง

สุดท้ายต้องปลดระบบแล้วควบคุมด้วยเท้าของตัวเอง

นอกจากเรื่องระบบ “MRCC” ที่อาจเป็นความรู้สึกเฉพาะเพื่อนร่วมทริปของผมเท่านั้น ที่เหลือไม่มีคำติใดๆ

ยิ่งผู้โดยสารแถว 2 ได้ที่นั่งแบบ Captain seat ปรับไฟฟ้า พร้อมคอนโซลกลาง วางแขนสบายมากขึ้น

ทั้งยังมีระบบระบายอากาศเบาะนั่ง ซึ่งจัดให้ทั้งคู่หน้า และแถว 2 ทำให้เวลากลับขึ้นรถช่วงร้อนๆ สบายตัวเร็วขึ้น

ส่วนเรื่องความนุ่มนวลมีมาให้เหลือเฟือ เช่นเดียวกับเสียงภายนอกเล็ดลอดเข้าห้องโดยสารไม่มากนัก แม้จะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลก็ตาม

ส่วนผมในฐานะพลขับชอบใจในห้องโดยสารและการนั่งหลังพวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ต เรือนไมล์แบบ 3 วงกลม ตรงกลางเป็นระบบดิจิทัล ซ้าย-ขวาเป็นแบบเข็ม

จอตรงกลางแบบทัชสกรีน ขนาด 8 นิ้ว ควบคุมด้วย Center Commander

เชื่อมต่อ Mazda Connect อัพเดตข้อมูลข่าวสาร หรือรับ-ส่งข้อความจากสมาร์ตโฟนผ่านสัญญาณ Bluetooth ทั้ง Apple CarPlay แบบไร้สาย และ Android Auto

เปิดเพลงฟังเพลินๆ ผ่านลำโพง Bose รอบทิศทาง 10 ตำแหน่ง

คอนโซลดูหรูหราด้วยวัสดุแบบนุ่ม ตกแต่งด้วยวัสดุ Metal Wood ที่มาพร้อมเบาะหนัง Nappa สีแดง Deep Red

ระบบแอร์แยกโซน เจาะช่องแอร์สำหรับที่นั่งแถว 2 แบบแยกส่วน ปรับแรงลมและอุณหภูมิได้ตามความต้องการ

USB สำหรับชาร์จไฟทุกที่นั่ง

ด้านตัวช่วยขับขี่และความปลอดภัย i-Activsense จัดมาแน่นๆ

อาทิ กล้องมองภาพรอบคัน

ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ

ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาในขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert)

ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน

ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน

ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง ฯลฯ

ทุกรุ่นย่อยยังมาพร้อมระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง GVC Plus หนึ่งในเทคโนโลยีภายใต้ SKYACTIV-Vehicle Dynamics

ช่วยควบคุมสมรรถนะในการขับขี่ให้แม่นยำและสมดุล โดยเฉพาะในทางโค้งและในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น

ด้านภาพลักษณ์ภายนอกอธิบายแค่พอสังเขป เพราะคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากรถหลายๆ เซ็กเมนต์ ที่หน้าตาจะคล้ายกัน

การออกแบบ โคโดะ ดีไซน์ กระจังหน้าแบบใหม่ดูมีมิติมากขึ้น ใช้สี Gun Metallic

ไฟหน้าทรงเรียวเล็กแบบ LED พร้อมระบบอัจฉริยะ (Adaptive LED Headlamps) เพิ่มความปลอดภัยให้เพื่อนร่วมถนนที่ขับสวนทางมา และระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (High Beam Control)

รุ่นท็อปมีไฟตัดหมอกมาให้ด้วย อย่างเห็นแค่ดวงเล็กๆ นะครับ เพราะเปิดแล้วสว่างสะใจพอสมควร

ไฟท้ายออกแบบมีเอกลักษณ์ เรียกว่ามองผาดๆ ก็รู้แล้วว่ายี่ห้ออะไร

ติดตั้งราวหลังคาเพิ่มพื้นที่วางสัมภาระ มีซันรูฟมาให้

ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ ขนาด 19 นิ้ว

ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า กดปุ่มเดียวใช้งานได้เลย

พร้อมระบบแฮนด์ฟรี แบบคิกเซ็นเซอร์ เตะเท้าเข้าไปใต้ท้องรถประตูจะเปิด-ปิดเอง

ช่วงที่ขับเข้าจุดจอดรถใต้ดินแล้วไม่ทันสังเกต ปรากฏว่าไปจอดอยู่ใต้ท่อน้ำ ที่ต่ำจากเพดานพอสมควร

แต่เวลาเปิดประตูหลังไม่ต้องกังงวลว่าจะไปกระแทก เพราะเราสามารถกำหนดความสูงของบานประตูได้

ทำง่ายๆ ใช้มือบล็อกเอาไว้ออกแรงนิดหน่อย เซ็นเซอร์จะหยุดการเปิดไว้ในตำแหน่งนั้น

“มาสด้า CX-8” ถือเป็นทั้งรถครอบครัว หรือจะขับใช้งานในชีวิตประจำวันก็ไม่เทอะทะเกินไป แถมนั่งสบายเพราะพื้นฐานมาจากรถเก๋ง

สนนราคาตัวท็อปเครื่องดีเซล 2,199,000 บาท

ส่วนเครื่องดีเซลอีกรุ่นเป็นแบบ 7 ที่นั่ง ราคา 1,849,000 บาท

และเครื่องยนต์เบนซินมี 3 รุ่นย่อย แบบ 7 ที่นั่ง ราคา 1,549,000-1,619,000 และ 6 ที่นั่งราคา 1,699,000 บาท •

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]