ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
ปีนี้นับเป็นปีเฉลิมฉลองของค่าย Linn Products ในวาระครบรอบ 50 ปี ที่หากจะกล่าวในอีกแง่ก็อาจพูดได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่เครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP12 มีอายุอานามถึงครึ่งศตวรรษแล้วก็ได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ระบบเสียงต่างๆ หลายๆ รุ่น ที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกัน ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็ว่าได้เมื่อเดินทางมาถึงวันนี้ ล้วนกลายเป็นตำนานของแบรนด์นั้นๆ ไปแล้ว
แต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงของลินน์รุ่นนี้ยังคงมีลมหายใจและโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรอย่างกระฉับกระเฉง ด้วยมีพัฒนาการผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัยมาอย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้
เป็นวันนี้ที่ให้คุณรังสรรค์การเป็นเจ้าของมันผ่านความชอบที่เป็นส่วนตัวแบบ Create You Need หรือ Customize Your Own ได้เองด้วย
กำเนิดของเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้มีที่มาง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เริ่มจากการที่ Ivor Tiefenbrun ไม่พอใจกับระบบเสียงชุดใหม่ที่เขาเพิ่งซื้อมา แล้วพบว่าคลื่นเสียงจากลำโพงส่งผลกระทบต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงอย่างเป็นสำคัญ จากนั้นก็เลยตัดสินใจออกแบบมันซะเองเลย เพราะพื้นฐานของตนก็เป็นวิศวกรอยู่แล้ว
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น One of the Best Turntables of All Time และจัดอยู่อันดับสองของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทรงอิทธิพลต่อวงการมากที่สุด ที่บรรดาเหล่ากูรูทางด้านนี้แถบตะวันตกซึ่งมีทั้งนักวิพากษ์ นักวิจารณ์ รวมทั้งนักเขียนอาวุโส ร่วมสิบชีวิตได้ลงคะแนนเสียงให้
ส่วนที่ได้อันดับหนึ่งซึ่งได้เสียงโหวตอย่างท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ ด้วยทุกรายต่างออกปากยกเสียงให้เหมือนๆ กัน ก็คือ Acoustic Research XA ที่เป็นต้นแบบให้ใครต่อใครก้าวเดินตามจนทุกวันนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 โน่น
เมื่อแรกๆ หรือช่วงประมาณทศวรรษแรกของการกำเนิดแบรนด์ ลินน์จะมีสินค้าก็แต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเวลาจะไปงานโชว์เครื่องเสียงที่ไหน ก็จะจับคู่กับ Naim Audio ของ Julian Vereker ซึ่งมีฐานมั่นอยู่ที่มณฑล Wiltshire, UK แบบอาศัยเครื่อง (แอมปลิไฟเออร์) พึ่งลำโพง ของค่ายนี้ไปไหนไปด้วยออกงานร่วมกันเรื่อยมา
เพราะโดยพื้นเพของคุณไอเวอร์กับคุณจูเลียนนั้นเป็นเกลอกันมาก่อน แถมยังก่อร่างสร้างแบรนด์ขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้ๆ กันด้วย
กระทั่งแยกทางเดินกันแล้วนั่นละ ลินน์จึงเริ่มมีสินค้าประเภทอื่นๆ ตามมาโดยเริ่มที่ลำโพงก่อน
Linn Sondek LP12 มิเพียงเป็นแหล่งโปรแกรมขวัญใจนักเล่นทั่วโลกเท่านั้น หากนักเล่นเครื่องเสียงในบ้านเราก็ให้ความชื่นชมและชื่นชอบกันมาก ถึงขนาดรวมกลุ่มกันก่อตั้งเป็นชมรม Linn Club Thailand ขึ้นมานั่นเทียว
ชมรมลินน์ คลับนั้น ไม่มีเงื่อนไขอะไรในการเข้าร่วมกลุ่ม ขอเพียงเป็นผู้ใช้แท่นหรือเทิร์นลินน์เท่านั้นเป็นพอ ส่วนเครื่องอื่นๆ ในซิสเต็มจะวิลิศมาหราหรือว่าสมถะประมาณไหน, ไม่เกี่ยงความเป็นเพื่อนคนคอเดียวกัน
และมีซิสเต็มหนึ่งที่ผู้คนในชมรมนิยมใช้อยู่ไม่น้อย เพราะรวมๆ ค่าตัวเครื่องทั้งชุดแล้วแค่ค่อนแสนเท่านั้นเอง คืองบควักกระเป๋ายังไปไม่ถึงเลขหกหลัก ซึ่งยังพอจะอยู่ในเกณฑ์ทำความเข้าใจกับ ‘คนที่บ้าน’ ได้รู้เรื่อง แบบไม่ต้องเหนื่อยปากลำบากพูดสักกี่มากน้อยนัก
เพราะเงินกว่าครึ่งร่วมค่อนแสนกับการเล่นเครื่องเสียงในยุคนั้น สำหรับผู้คนทั่วไปแล้ว ไม่ใช่น้อยๆ เลยนะครับ
ชุดที่ว่านอกจาก Sondek LP12 (ซึ่งต้องติดโทนอาร์ม Ittok เท่านั้น ด้วยเวลานั้นลินน์มีโทนอาร์มรุ่นเล็กอีกรุ่น คือ Basik) แล้ว ตัวหลักอีกสองของซิสเต็มนี้ก็คือ Naim Nait อินติเกรตเต็ด แอมป์ กับลำโพง Linn Kan ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดด้วยกันทั้งคู่ คือแอมป์นั้นหน้ากว้างประมาณคืบ ส่วนลำโพงสอง-ทาง, ก็สูงกว่าคืบนิดหน่อย ตัวแปรการใช้เงินเพื่อได้มาซึ่งเครื่องเสียงชุดนี้จะมากน้อยกว่ากัน ก็อยู่ตรงการเลือกหัวเข็มกับชุดสายลำโพงครับ
เพราะชุดสายนำสัญญาณจาก Ittok มาที่แอมป์พร้อมสายกราวด์ มีเป็นชุดมาพร้อมโทนอาร์มอยู่แล้ว
ซิสเต็มนี้เป็นชุดเครื่องเสียงในฝันของใครหลายๆ คนในยุคนั้น โดยเฉพาะพวกที่ล้อๆ กัน ว่ารสนิยมสูงรายได้ต่ำนั่นแหละครับ ส่วนใหญ่พอจะรับแอมป์กับลำโพงได้ เพราะแต่ละอย่างราคาหมื่นกว่าๆ เท่านั้นเอง มาชะงักก็อีตรงชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี่ละ ยิ่งพอบวกค่าหัวเข็มกับชุดสายลำโพงให้พอสมน้ำสมเนื้อเข้าไปอีก ก็เกินครึ่งแสนไปพอประมาณ
กระทั่งหลังจากนั้นไม่นานเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rega Planar 3 เดินทางเข้ามาบ้านเรา ก็เป็นที่ฮือฮากันมาก ด้วยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างให้ความชื่นชมอย่างล้นหลาม นิตยสารเครื่องเสียงฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะแถบยุโรปยกให้เป็น Best Budget ระดับ 5-ดาว และสิ่งหนึ่งที่บรรดาเหล่ากูรูแถบนั้นชื่นชมมากก็คือโทนอาร์มที่ติดมากับแท่น
จนในที่สุดทาง Rega Research ต้องทำออกมาแยกขายต่างหาก คือ Model RB-100
และด้วยความที่มีเสียงชมอย่างล้นหลามนี่เอง ที่ทำให้งานประชาสัมพันธ์เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ชิ้นหนึ่งออกมาในทำนอง – เรายินดีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ดีเป็นอันดับสอง, ซึ่งโดยนัยอันเป็นที่รู้ๆ กันทั่วแบบยอมรับโดยดุษณีก็คือ ต่างพากันยกให้ Sondek LP12 เป็นเต้ยทางด้านนี้นั่นเอง
การมาถึงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากรีการุ่นนี้เอง ที่ทำให้บรรดานักเล่นรสนิยมสูงรายได้ต่ำออกอาการยินดีปรีดากันทั่ว เพราะมีราคาแค่หมื่นกว่าๆ เท่านั้น การเป็นเจ้าของชุดเครื่องเสียงในฝันจึงมีความเป็นไปได้อย่างจริงจังแล้ว เพียงลดสเปกเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากอันดับหนึ่งมาเป็นอันดับสองแทน ซึ่งหาใช่เรื่องขี้เหร่แต่อย่างใด ทั้งยังสามารถจบด้วยราคาทั้งชุดไม่เกินครึ่งแสนนี่, ส่วนใหญ่บอกพอรับไหวแบบสบายๆ ครับ
นั้นเอง, ที่ทำให้ยุคหนึ่งเมื่อร่วมสี่สิบปีมาแล้ว ซิสเต็มที่ประกอบไปด้วย Rega Planar 3, Naim Nait และ Linn Kan ได้รับความนิยมสูงมาก
จากที่บอกเอาไว้ข้างต้น ว่ากำเนิดของเครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP12 มาจากที่คุณไอเวอร์พบว่าคลื่นเสียงจากลำโพงมีผลกระทบต่อการทำงานของเทิร์นเทเบิลที่มีความอ่อนไหวสูงนั้น ผลตามมาประการหนึ่งก็คือ ลินน์เป็นรายแรกๆ ที่ออกมาแนะนำคนเล่นเครื่องเสียงว่า ทุกครั้งที่ไปฟังการทดสอบเครื่องเสียง ไม่ว่าจะทดสอบแอมป์ ทดสอบลำโพง หรือทดสอบแหล่งโปรแกรมอะไรก็ตาม ขอให้มีลำโพงคู่เดียวในการฟังทดสอบนั้นๆ อย่าให้มีลำโพงอื่นๆ อยู่ภายในห้องด้วยอีกแม้แต่เพียงคู่เดียว เพราะถึงจะไม่ได้เปิดให้มันทำงาน แต่คลื่นเสียงบางความถี่จากลำโพงที่ใช้ในการทดสอบสามารถทำให้กรวยลำโพงที่ตั้งวางเฉยๆ ในห้องสร้างคลื่นเสียงออกมาสมทบกับเสียงที่กำลังฟังได้
และนั่นทำให้เสียงที่ได้ยินขณะฟังทดสอบในห้อง ไม่ใช่เสียงบริสุทธิ์แบบเต็มร้อยจากซิสเต็มที่กำลังฟังอยู่ ซึ่งกับเรื่องนี้มีหลายห้องฟังของผู้นำเข้าบ้านเรายุคนั้นนำมาใช้ในเวลาทำ Demo’ ให้ลูกค้าฟังด้วย
ครับ, ยุคนั้นเล่นเครื่องเสียงกันด้วยหลักการ ความประณีตพิถีพิถัน ด้วยเหตุและผลของความเป็นไปได้ ไม่ใช่เล่นกันแบบ Voodoo Audio ที่นิยมกันมากในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน
เที่ยวหน้าคุยเรื่องแถวๆ นี้ และที่เกี่ยวกับครบรอบครึ่งศตวรรษของลินน์ต่อกันอีกหน่อยครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022