The Dragon 11.4.6 Soundbar By Nakamichi

The Dragon 11.4.6 Soundbar By Nakamichi

 

ในงานแสดงผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิส์สำหรับผู้บริโภคที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลก หรือ CES : Consumer Electronics Show ที่สหรัฐ หนล่าสุด

มีเครื่องเสียงอยู่ชิ้นหนึ่งได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีเพียงสื่อที่เน้นไปทางระบบภาพและเสียงโดยตรงเท่านั้นที่นำมาพูดถึง

ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ซึ่งมักรายงานภาพรวมของงานเป็นหลักนั้น สังเกตดูแทบทุกค่ายได้มองข้ามไป เพราะให้ความสนใจกับความใหม่เชิงนวัตกรรมของอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีเรื่องราวให้เลือกพูดถึงได้มากกว่า

ก็อย่างที่เคยบอกไปนั่นแหละครับ ว่าจากที่เป็นพระเอกของงานในยุคแรกๆ ซึ่งจัดกันปีละสองครั้ง หลังเหลือจัดเพียงแค่ปีละหนเฉพาะช่วงต้นปีเมื่อสักกว่าสองทศวรรษมาแล้ว เครื่องเสียงได้กลายเป็นไม้ประดับลำดับท้ายๆ ของงานนี้ไปแล้วล่ะครับ

ส่วนงานเครื่องเสียงที่จัดกันแบบเน้นๆ ว่ากันเฉพาะทางแบบระบบเสียงและภาพโดยตรง และเป็นที่นิยมของผู้คนในวงการ เวลานี้จะไปอยู่ทางแถบยุโรปอย่างเยอรมนีกับอังกฤษเป็นหลัก

สําหรับเครื่องเสียงจากงาน CES ชิ้นที่ว่า ก็คือที่จ่าหัวเอาไว้นั่นแหละครับ เป็นลำโพงทีวี (ที่มิใช่ชิ้นเดียว) เพราะรองรับหรือทำงานกับระบบเสียงได้มากถึง 21 แชนเนล ในรูปแบบ 11.4.6 ซึ่งแน่นอนว่าได้ถูกออกแบบมาเพื่อฟอร์แม็ทเสียงมัลติ-แชนเนลสำหรับ Surround Sound Home Theatre System ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดอย่าง Dolby Atmos และ DTS : X Pro นั่นเอง

โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Nakamichi Dragon Soundbar

แรกที่เห็นชื่อ Dragon คู่กับแบรนด์นากามิชิโดยที่ยังไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียดอะไรก่อนนี่ บอกกับตัวเองในทันทีว่าซาวด์บาร์ตัวนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่

เนื่องเพราะตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรเครื่องเสียง (ก่อตั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วงปลายทศวรรษ 40s แต่เริ่มใช้เป็นชื่อแบรนด์กับอุปกรณ์เครื่องเสียงเมื่อต้นทศวรรษที่ 70s) นากามิชิมีเครื่องในตระกูลนี้ออกมาเพียงสามเครื่อง กับอุปกรณ์เครื่องเล่นสามประเภทที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง

และแต่ละเครื่องหาใช่เพียงแค่คือความโดดเด่นแห่งยุคสมัยของมันในระดับที่กล่าวได้ว่าล้วนคือ Audio Breakthrough เท่านั้น หากทุกเครื่องยังคงเป็นที่แสวงหาของนักเล่นกลุ่มวินเทจมาตราบจนทุกวันนี้

โดยที่บางเครื่องยังสามารถทำเงินได้มากถึงหลายพันดอลลาร์ในตลาดเครื่องเสียงวินเทจของอเมริกาเหนือเมื่อปีที่ผ่านมา

ทั้งสามเครื่องประกอบไปด้วย Dragon Cassette Deck ออกตลาดเมื่อปี ค.ศ.1982 โดดเด่นด้วยวงจรแก้ไขมุมอะซิมุธของหัวเทปโดยอัตโนมัติ (Auto Azimuth Correction) และได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเล่นที่ให้ความเที่ยงตรงมีความแม่นยำสูง

จากนั้นในปี ค.ศ.1985 ก็สร้างความฮือฮาให้กับวงการอีกครั้งด้วยการนำเสนอ Dragon CT – Computing Turntable ที่ให้การทำงานของรอบหมุนด้วยความเที่ยงตรงพร้อมระดับเสียงที่สมบูรณ์แบบอย่างถึงที่สุด

และเครื่องสุดท้ายในตระกูลนี้ต้องย้อนไปยังปี ค.ศ.1966 ที่เครื่องเล่นแผ่นซีดีแบบแยกชิ้น Dragon CD Player ได้ก้าวเข้าสู่ยุทธจักรในลักษณะ 3 ชิ้น/ชุด ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่อง CD Changer ที่มีกลักใส่แผ่น (ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Music Bank ที่มีนวัตกรรมด้านระบบป้องกันการสั่นสะเทือน หรือ Anti-Vibration System ที่โดดเด่นมากในเวลานั้น) ให้เล่นได้ติดต่อกันคราวละเจ็ดแผ่นแบบต่อเนื่อง พร้อมภาคการทำงานที่แยกต่างหากอีกสองเครื่อง คือ ภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (DAC : Digital to Analogue Converter) และภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย

ซึ่งซิสเต็มนี้ได้ทำออกมาเพียง 200 ชุดเท่านั้น

สําหรับ Dragon Soundbar ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดของลำโพงซึ่งสามารถรองรับระบบเสียงเซอร์ราวน์ดในแบบ 11.4.6 แชนเนล ซิสเต็มนี้ นากามิชิบอกว่าได้ใช้เลาในการวิจัยและพัฒนานานถึงห้าปี ก่อนที่จะนำมาเปิดตัวในงาน CES หนล่าสุดเมื่อต้นปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่บริษัทมีอายุครบรอบปีที่ 75

ลำโพงทั้งระบบของ Dragon Soundbar ประกอบไปด้วย Main Unit หรือแท่งซาวด์บาร์หนึ่งชิ้น ลำโพง Quad Wireless Sub-Woofer สองตู้ และลำโพง 3D Omni-Motion Reference Surround อีกสองตู้ ซึ่งทั้งหมดทำงานร่วมกันผ่านระบบไร้สายได้อย่างสะดวกแบบ Plug & Play

สำหรับลำโพงตัวหลักหรือแท่งซาวด์บาร์นั้น มีโครงสร้างขึ้นรูปด้วยโลหะเหล็กกล้าปลอดสนิม มีความยาวถึง 58 นิ้ว กับความลึก 7.7 นิ้ว จึงใหญ่ (กว้างหรือยาวรวมทั้งลึก) กว่า Sennheiser Ambeo Soundbar Max ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่เกินเบอร์ของยุทธจักรในเวลานี้ แต่เบากว่าเพราะหนักเพียง 14 กิโลกรัม

ขณะที่ซาวด์บาร์ แมกซ์ หนักเกือบ 20 กิโลกรัม ดูกายภาพแล้วน่าจะเหมาะสำหรับการใช้งานกับทีวีที่มีขนาดจอภาพ 75 นิ้วขึ้นไปครับ

ชุดตัวขับเสียงหรือไดรเวอร์ทั้งหมดที่ใช้ในซิสเต็มมีมากถึง 31 ตัว โดยมี Up-Firing Driver ที่ยิงเสียงขึ้นด้านบนจำนวนหกตัว โดยสี่ตัวติดตั้งเอาไว้ที่แท่งซาวด์บาร์ ส่วนอีกสองตัวติดตั้งที่ด้านบนของลำโพง 3D Surround ตู้ละตัว

ความน่าสนใจของไดรเวอร์ที่ยิงเสียงขึ้นด้านบนนี้ อยู่ที่สี่ตัวซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนของแท่งซาวด์บาร์ ซึ่งวางอยู่ที่ตำแหน่งปลายด้านซ้าย/ขา ฝั่งละสองตัว โดยแต่ละตัวของแต่ละฝั่งนั้นได้ถูกออกแบบให้ติดตั้งในลักษณะ Dual-Angled ที่เอียงทำมุม 10 และ 20 องศา และใช้หลักการทำงานแบบ AHD : Adaptive Height Dispersion Processing ที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะ เพื่อให้การยิงเสียงในแนวตั้งของระดับชั้นเสียงที่อยู่เหนือศีรษะนั้นมีความแม่นยำสูงสุด และให้รับรู้ถึงความถูกต้องของตำแหน่งเสียงได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันลำโพงให้บรรยากาศเสียงรายรอบซึ่งเป็นแบบ Bipolar Surround นั้น ได้ติดตั้งกลไกพิเศษที่เรียกว่า Perfect Height Rotatable ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว เพื่อให้ขณะทำงานมันสามารถยิงเสียงออกมาในลักษณะกระจายรอบตัวแบบ 180 องศา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในห้องได้อย่างทั่วถึง โดยไม่มีเงื่อนไขของสภาพอะคูสติกรวมทั้งรูปทรงของห้องตลอดจนตำแหน่งนั่งฟังมาเป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด

แท่งซาวด์บาร์และลำโพงเซอร์ราวด์ทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดีด้วยทวีตเตอร์แบบ Air Motion Transformer ซึ่งติดตั้งเอาไว้ที่ลำโพงซอร์ราวด์สี่ตัว และที่แผงหน้าของเมน-ยูนิตอีกสามตัว

ในส่วนของ Wireless Sub-Woofer นั้น แต่ละตู้ใช้วูฟเฟอร์สองตัวติดตั้งเอาไว้ในรูปแบบ Isobaric Configuration ที่เสริมการทำงานซึ่งกันและกัน สามารถผลักคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ออกมาได้ด้วยพลังอันมหาศาล

โดยชุดตัวขับเสียงทั้งหมด 31 ตัวนี้ จะถูกขับโดยดิจิทัล แอมป์ ที่มีกำลังขับรวม 3,000 Wrms สามารถให้ระดับความดังเสียงออกมาได้ถึง 125 dB

Nakamichi Dragon Soundbar ยืนยันว่าสามารถรองรับ Dolby Surround ได้ทุกรูปแบบ ทั้ง Digital Plus, TrueHD และ Atmos ควบคู่ไปกับ Dolby Vision สำหรับการทำงานไร้สายผ่าน Bluetooth นั้น เป็นแบบ aptX HD ที่มีคุณภาพสูงสุดของ Qualcomm

เปิดตัวในงานที่ US$ 3,499 มีกำหนดลงตลาดปลายปีนี้ครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]